บทที่ 87
หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:43–61
คำนำ
วันที่ 22 และ 23 กันยายน ค.ศ. 1832 โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยซึ่งบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 84 ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตตามที่สนทนาในบทก่อน พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนให้รู้ความสำคัญของการเอาใจใส่พระคำของพระผู้เป็นเจ้าด้วย พระองค์ทรงตีสอนพวกเขาที่ปฏิบัติเล่นๆ กับพระคัมภีร์มอรมอน พระบัญญัติและการเปิดเผยอื่น
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:43–53
พระเจ้าทรงสอนความสำคัญของการเอาใจใส่พระคำของพระผู้เป็นเจ้า
เตือนความจำนักเรียนเรื่องเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้เมื่อต้นปีว่าจะ ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน เชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาว่าพวกเขาทำดีเพียงใดกับเป้าหมายนี้ หลังจากนักเรียนพิจารณาแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
ท่านประสบความท้าทายอะไรบ้างขณะพยายามศึกษาพระคัมภีร์ในแต่ละวัน (ขณะที่นักเรียนตอบ จงยอมรับว่าการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันจนเป็นนิสัยอาจทำได้ยาก)
-
เหตุใดท่านจึงเลือกศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันทั้งที่บางครั้งทำได้ยาก
อธิบายว่าในบทเรียนวันนี้นักเรียนจะเรียนรู้ความจริงจากหลักคำสอนและพันธสัญญา 84 ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาพยายามศึกษาพระคัมภีร์ต่อไป
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:43–44 ในใจ ระบุคำและวลีที่สอนความสำคัญของการศึกษาและประยุกต์ใช้พระคำของพระเจ้า
-
ท่านพบคำและวลีใดที่สอนความสำคัญของการศึกษาและประยุกต์ใช้พระคำของพระเจ้า (นักเรียนอาจกล่าวถึงคำและวลีเช่น “บัญญัติ” “ใส่ใจอย่างเข้มงวดกวดขัน” และ “ดำเนินชีวิตตามพระคำทุกคำ”)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:45–46 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาคำและวลีในข้อนี้ที่มีความหมายเหมือนกับ “พระคำของพระเจ้า”
-
ท่านพบคำและวลีอะไรบ้าง (คำตอบควรได้แก่ “ความจริง” “ความสว่าง” “พระวิญญาณ” “พระวิญญาณของพระเยซูคริสต์” และ “สุรเสียงของพระวิญญาณ”)
เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราใส่ใจอย่างเข้มงวดกวดขันต่อพระคำของพระเจ้า เมื่อนั้น …
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:45–46 ในใจ
-
จากสิ่งที่ท่านพบใน ข้อ 45–46 ท่านจะเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนว่าอย่างไร (นักเรียนอาจเสนอคำตอบต่างกัน เติมหลักธรรมบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อถ่ายทอดหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราใส่ใจอย่างเข้มงวดกวดขันต่อพระคำของพระเจ้า เมื่อนั้นพระวิญญาณของพระคริสต์จะทรงให้ความสว่างแก่เรา)
ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่วลี “พระวิญญาณของพระเยซูคริสต์” ใน ข้อ 45 อธิบายว่าอีกวลีหนึ่งที่มีความหมายเหมือนกันคือ “ความสว่างของพระคริสต์” ความสว่างของพระคริสต์เป็น “อิทธิพลเพื่อความดีในชีวิตของคนทั้งปวง … [อย่างไรก็ดี ] ไม่ควรสับสนระหว่างความสว่างของพระคริสต์กับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความสว่างของพระคริสต์ไม่ใช่บุคคล พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นบุคคล” (แน่วแน่ต่อศรัทธา [2004], 122) ความสว่างของพระคริสต์อยู่ภายในแต่ละบุคคลและให้ “ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี [หรือ] มโนธรรม” อีกทั้ง “นำเราให้ควบคุมการกระทำของตน—เว้นแต่เราจะข่มไว้หรือไม่นำพา” (บอยด์ เค. แพคเกอร์, “ความสว่างของพระคริสต์,” เลียโฮนา, เม.ย. 2005, 9)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:47–48 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าเราจะได้รับพรอย่างไรหากเราสดับฟังพระวิญญาณของพระเยซูคริสต์
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 47 เราจะได้รับพรอะไรหากเราสดับฟังพระวิญญาณของพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรรับรู้หลักธรรมต่อไปนี้: หากเราสดับฟังพระวิญญาณของพระเยซูคริสต์ เราจะมาหาพระบิดา เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 48 พระบิดาจะทรงทำอะไรเมื่อเรามาหาพระองค์ (พระองค์จะทรงสอนเรา)
-
ใน ข้อ 48 เราอ่านว่าพระบิดาจะทรงสอนเราไม่เพียงเพื่อเห็นแก่เราเท่านั้นแต่เพื่อเห็นแก่โลกทั้งโลกด้วย ข้อความนี้มีความหมายต่อท่านอย่างไร
ชี้ให้เห็นว่านอกจากจะมีความสว่างของพระคริสต์แล้ว แต่ละบุคคลจะได้รับความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์หลังจากพวกเขาเข้าสู่พันธสัญญาแห่งบัพติศมาด้วย โดยผ่านของประทานนี้พวกเขาจะได้รับความสว่างเพิ่มเติมและได้รับการนำทางให้กลับไปที่ประทับของพระบิดาเพื่อรับชีวิตนิรันดร์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งปิดไฟในห้องเรียนและกลับไปนั่งที่ (พึงแน่ใจว่ามีแสงสว่างในห้องมากพอที่นักเรียนจะเดินกลับไปนั่งได้อย่างปลอดภัย) เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาต้องเดินในความมืดสนิท ขอให้นักเรียนสองสามคนบรรยายประสบการณ์นี้ว่าเป็นอย่างไร จากนั้นให้เปิดไฟ
อธิบายว่าพระคัมภีร์กล่าวถึงความมืดบ่อยครั้งเพื่ออธิบายเชิงสัญลักษณ์ถึงสภาพทางวิญญาณ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:49–53 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าพระเจ้าตรัสว่าใครอยู่ในความมืดทางวิญญาณและเหตุใดพวกเขาจึงอยู่ในสภาพนั้น
-
ใครอยู่ในความมืด เหตุใดพวกเขาจึงอยู่ในความมืด
ชี้ให้เห็นว่าในข้อเหล่านี้ คนที่พระเจ้าตรัสว่าอยู่ในความมืดคือคนที่อยู่ใต้พันธนาการแห่งบาป นี่หมายความว่าพวกเขาติดอยู่ในผลของบาปเพราะพวกเขาไม่กลับใจ
-
การดำเนินชีวิตภายใต้พันธนาการแห่งบาปเหมือนกับการอยู่ในความมืดอย่างไร
หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:54–61
พระเจ้าทรงตีสอนวิสุทธิชนเพราะปฏิบัติเล่นๆ กับพระคัมภีร์มอรมอน
อธิบายว่านอกจากจะพูดว่าโลกอยู่ในความมืดแล้ว พระเจ้าตรัสว่าความคิดของสมาชิกศาสนจักรถูกทำให้มืดด้วย
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:54–56 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาเหตุผลสองประการว่าเหตุใดความคิดของสมาชิกศาสนจักรจึงถูกทำให้มืด
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 54เหตุใดความคิดของสมาชิกศาสนจักรจึงถูกทำให้มืด
-
การปฏิบัติเล่นๆ กับบางสิ่งหมายความว่าอย่างไร (เมินเฉยหรือปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไม่เคารพหรือไม่ระมัดระวัง) ความไม่เชื่อหรือการปฏิบัติเล่นๆ กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามารถทำให้ความคิดของบุคคลหนึ่งมืดได้อย่างไร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:57 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่วิสุทธิชนปฏิบัติเล่นๆ
-
วิสุทธิชนปฏิบัติเล่นๆ กับอะไร (พระคัมภีร์มอรมอนและ “พระบัญญัติก่อนๆ” หรือการเปิดเผยก่อนหน้านี้ รวมทั้งที่อยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล)
-
ตามที่ท่านเรียนรู้จาก ข้อ 54–58เราจะประสบผลอะไรบ้างหากเราปฏิบัติเล่นๆ กับพระคำของพระผู้เป็นเจ้า (นักเรียนควรกล่าวว่า หากเราปฏิบัติเล่นๆ กับพระคำของพระผู้เป็นเจ้า ความคิดเราจะถูกทำให้มืดและเราจะถูกนำมาอยู่ภายใต้การกล่าวโทษ ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน
“ผลนิรันดร์ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเราต่อหนังสือเล่มนี้หรือไม่ ใช่ เป็นพรของเราหรือไม่ก็เป็นการกล่าวโทษเรา
“วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคนควรทำให้การศึกษาพระคัมภีร์เล่มนี้เป็นการแสวงหาชั่วชีวิต มิฉะนั้นแล้ว เขากำลังทำให้จิตวิญญาณตนตกอยู่ในอันตรายและเพิกเฉยสิ่งซึ่งจะให้ความเป็นหนึ่งเดียวทางวิญญาณและสติปัญญาแก่เขาทั้งชีวิต มีความแตกต่างระหว่างผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่สร้างบนศิลาของพระคริสต์ผ่านพระคัมภีร์มอรมอนและจับราวเหล็ก กับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น” (“The Book of Mormon Is the Word of God,” Ensign, Jan. 1988, 5)
“ขอเราอย่าคงอยู่ภายใต้การกล่าวโทษพร้อมด้วยแส้และการพิพากษาโดยปฏิบัติเล่นๆ กับของประทานมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่นี้ที่พระเจ้าประทานแก่เรา แต่ขอให้เราได้รับคำสัญญาที่มากับการสั่งสมของประทานนั้นในใจเรา” (“The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,” Ensign, Nov. 1986, 7)
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขากำลังปฏิบัติอย่างไรกับพระคัมภีร์มอรมอนและพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้การศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนเป็นการแสวงหาชั่วชีวิต
ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:57ในใจ
-
พระเจ้าตรัสว่าวิสุทธิชนต้องทำอะไรนอกเหนือการกลับใจจากการปฏิบัติเล่นๆ กับพระคำของพระองค์ (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่านอกจากระลึกถึงพระคัมภีร์มอรมอนและ “พระบัญญัติก่อนๆ” ที่พระเจ้าประทานแล้ว วิสุทธิชนต้องทำสิ่งที่เขียนไว้ในนั้นด้วย)
-
ท่านจะสรุปสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้เราทำกับพระคัมภีร์มอรมอนว่าอย่างไร (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย แต่พึงเน้นดังนี้: เราต้องศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนอย่างซื่อสัตย์และดำเนินชีวิตตามคำสอนในนั้น เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)
แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่แบ่งปันคำตอบของคำถามต่อไปนี้
-
ใครเป็นแบบอย่างที่ดีต่อท่านในเรื่องการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนและการดำเนินชีวิตตามคำสอนในนั้น
เพื่อสรุปบทเรียนนี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:60–61 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาคำแนะนำเพิ่มเติมที่พระเจ้าประทานแก่ผู้รับพระคำของพระองค์ผ่านพระคัมภีร์มอรมอน หลังจากอ่านสองข้อนี้ ชี้ให้เห็นว่าตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 61คนที่รับพระคำของพระเจ้าในพระคัมภีร์มอรมอนต้องเป็นพยานต่อผู้อื่นด้วย
เชิญนักเรียนสองสามคนเป็นพยานว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรเมื่อพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนและพยายามดำเนินชีวิตตามความจริงที่สอนในนั้น (ท่านอาจจะให้เวลานักเรียนนึกถึงประสบการณ์ของพวกเขาสักครู่ก่อนขอให้พวกเขาตอบ)
เตือนความจำนักเรียนเรื่องเป้าหมายศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันของพวกเขา เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
เป็นพยานว่านักเรียนจะใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นเมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตตามความจริงที่สนทนาในชั้นเรียนวันนี้