เซมินารี
หน่วย 26: วัน 1, 3 นีไฟ 17


หน่วย 26: วัน 1

3 นีไฟ 17

คำนำ

เมื่อวันแรกของพระองค์ กับชาวนีไฟสิ้นสุดลง พระเยซูคริสต์ทรงเห็นว่าคนจำนวนมากไม่เข้าใจถ่องแท้ ในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนพวกเขา ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสอนพวกเขาให้รู้วิธีรับความเข้าใจเพิ่มเติม ผู้คนร้องไห้เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะไป โดยเปี่ยมด้วยความสงสารพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงอยู่กับพวกเขานานขึ้น พระองค์ทรงรักษาผู้ป่วย ทรงอวยพรเด็กๆ และทรงสวดอ้อนวอนเพื่อพวกเขา ฝูงชนรู้สึกถึงปีติและความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอดขณะพวกเขาปฏิสัมพันธ์กับพระองค์

3 นีไฟ 17:1–3

พระเยซูทรงบัญชาผู้คนให้ไตร่ตรองพระวจนะของพระองค์และสวดอ้อนวอนขอความเข้าใจ

ท่านตอบสนองอย่างไรเมื่อท่านบังเอิญพบคำสอนหนึ่งในพระคัมภีร์หรือจากผู้นำศาสนจักรที่ท่านไม่เข้าใจ วงกลมทั้งหมดที่ ใช่:

  • ฉันก็แค่ ไม่สนใจคำสอนนั้น

  • ฉันขอให้อีกคนหนึ่งช่วยให้ฉันเข้าใจ

  • ฉันค่อยๆ ตรึกตรองคำสอนนั้น

  • ฉันทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ ให้ทรงช่วยให้ฉันเข้าใจ

เหตุการณ์ที่บันทึกไว้ ใน 3 นีไฟ 17 เกิดขึ้นเมื่อใกล้สิ้นสุดวันแรกของพระเยซูคริสต์กับฝูงชนชาวนีไฟ อ่าน 3 นีไฟ 17:1–3 ทำเครื่องหมายสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดรับสั่งให้ชาวนีไฟทำเพื่อจะเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงสอนพวกเขาได้ดีขึ้น พิจารณาว่าการกลับบ้านไป ไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนสามารถช่วยให้ท่านเข้าใจความจริงพระกิตติคุณได้ดีขึ้นอย่างไร

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายความหมายของการไตร่ตรอง อ่านคำกล่าวต่อไปนี้และใช้ปากกาเน้นข้อความหรือวลีที่พูดถึงความหมายของการไตร่ตรอง “การอ่าน ศึกษา และไตร่ตรองไม่เหมือนกัน เราอ่านพระคำและเราอาจได้แนวคิด เราศึกษาและค้นพบรูปแบบและความเชื่อมโยงในพระคัมภีร์ แต่เมื่อเราไตร่ตรองเราเชื้อเชิญการเปิดเผยโดยพระวิญญาณ การไตร่ตรองสำหรับข้าพเจ้าคือการคิดและสวดอ้อนวอนหลังจากอ่านและศึกษาพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วนแล้ว” (“รับใช้ด้วยพระวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 76)

ดู 3 นีไฟ 17:3 อย่างละเอียดและสังเกตว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนผู้คนให้ “เตรียมจิตใจ [ของพวกเขา]” เพื่อรับประสบการณ์ครั้งต่อไปกับพระองค์ ก่อนศึกษาต่อ ให้ ไตร่ตรองว่าท่านจะตอบคำถามต่อไปนี้อย่างไร ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมจิตใจก่อนมาโบสถ์ ก่อนมาเรียนเซมินารี ก่อนฟังการประชุมใหญ่สามัญ และก่อนศึกษาพระคัมภีร์ ท่านคิดว่าการเตรียมจิตใจจะสร้างความแตกต่างอะไรบ้างในสิ่งที่ท่านได้จากโอกาสการเรียนรู้เหล่านั้น

หลักธรรมหนึ่งที่เราเรียนรู้จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้คือ โดยการไตร่ตรองและการสวดอ้อนวอนพระบิดา เราจะได้รับความเข้าใจมากขึ้น (ท่านอาจต้องการเขียนสิ่งนี้ลงในพระคัมภีร์ของท่านใกล้กับ 3 นีไฟ 17:1–3)

  1. เพื่อช่วยท่านประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ ให้เลือกหนึ่งข้อหรือทั้งสองข้อด้านล่างและนำมาปฏิบัติในชีวิตท่านช่วงสัปดาห์ที่จะมาถึง เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่าท่านทำอะไร เขียนด้วยว่าการกระทำนี้ได้เพิ่มพูนสิ่งที่ท่านเรียนรู้ในศาสนจักร เซมินารี หรือการประชุมใหญ่สามัญหรือจากพระคัมภีร์อย่างไร จงพร้อมแบ่งปันกิจกรรมสมุดบันทึกนี้กับครูของท่านและวางแผนปรับปรุงด้านใดด้านหนึ่งเหล่านี้ต่อไปในระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง

    1. ฉันจะเตรียมจิตใจก่อนไปโบสถ์หรือไปเรียนเซมินารี

    2. ฉันจะไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ยินในโบสถ์หรือเซมินารี

3 นีไฟ 17:4–25

พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาผู้ป่วยในบรรดาชาวนีไฟและทรงอวยพรเด็กๆ ของพวกเขา

ภาพ
พระคริสต์ทรงอวยพรเด็กๆ ชาวนีไฟ

นึกถึงเวลาที่ท่านรู้สึกอิ่มเอิบและเปี่ยมด้วยปีติจนท่านไม่ต้องการให้ประสบการณ์นี้สิ้นสุด อ่าน 3 นีไฟ 17:4–5 เพื่อดูว่าชาวนีไฟมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าพระองค์จะเสด็จกลับไปหาพระบิดาของพระองค์

พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบสนองความปรารถนาของชาวนีไฟด้วยความสงสารยิ่ง กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจถ่องแท้มากขึ้นถึงความรักที่พระเยซูคริสต์ทรงมีต่อเราทุกคน อีกทั้งสามารถช่วยให้ท่านค้นพบความจริงในพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระอุปนิสัยและธรรมชาติวิสัยของพระเยซูคริสต์

  1. เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน เว้นที่ว่างใต้ข้ออ้างอิงแต่ละข้อเพื่อเขียนข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ 3 นีไฟ 17:6–10; 3 นีไฟ 17:11–18; 3 นีไฟ 17:19–25 ศึกษาพระคัมภีร์แต่ละข้อเหล่านี้โดยมองหาความจริงเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระผู้ช่วยให้รอด—พระองค์ทรงเป็นอย่างไร หาความจริงอย่างน้อยสามข้อ ความจริงหนึ่งข้อสำหรับพระคัมภีร์อ้างอิงแต่ละข้อ และบันทึกไว้ใต้ข้ออ้างอิงที่เหมาะสม

เหตุการณ์สะเทือนอารมณ์และอ่อนโยนที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอนคือพระเยซูทรงอวยพรเด็กเล็กๆ ผู้อยู่ ในโอกาสนั้น เหตุการณ์ตอนนี้ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติวิสัยและพระอุปนิสัยของพระเยซูคริสต์ ก่อนอ้างเรื่องราวของพระผู้ช่วยให้รอดและเด็กๆ จาก 3 นีไฟ 17:11–12, 21–25 ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์กล่าวว่า “ ในเรื่องราวการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดในบรรดาชาวนีไฟ เราสามารถมองเข้าไป ในจิตวิญญาณของพระองค์ บางทีอาจจะมองได้ลึกซึ้งกว่าที่อื่น” (“Teach the Children,” Ensign, Feb. 2000, 16–17)

สังเกตว่าฝูงชนนำผู้ป่วยและคนมีทุกข์มาหาพระผู้ช่วยให้รอด รวมถึงคน “มีทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง” (3 นีไฟ 17:9) ความทุกข์เหล่านี้อาจเป็นทุกข์ทางกาย อารมณ์ หรือจิตใจก็ ได้ ไตร่ตรองด้านต่างๆ ที่ท่านอาจ “มีทุกข์” พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยให้ท่านพ้นทุกข์เหล่านี้ได้อย่างไรถ้าพระองค์ประทานพรท่านเป็นส่วนตัว

  1. ทบทวนหลักธรรมเกี่ยวกับการไตร่ตรองที่ท่านเรียนรู้ตอนต้นบทเรียนนี้ วิธีหนึ่งในการไตร่ตรองคือนึกภาพตัวท่านอยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่บรรยายไว้ในเรื่องราวพระคัมภีร์ ใช้เวลาสักครู่นึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรถ้าท่านเป็นผู้ร่วมเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ใน 3 นีไฟ 17 เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน อธิบายว่าท่านคิดว่าท่านจะได้ยิน เห็น และรู้สึกอะไรในโอกาสนั้นและท่านจะเรียนรู้อะไรจากพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจต้องการพูดถึงพรที่ท่านอาจจะขอจากพระผู้ช่วยให้รอดด้วย

นึกถึงประโยคหนึ่งซึ่งบอกความจริงที่ท่านเรียนรู้จาก 3 นีไฟ 17:6–25 เขียนประโยคนั้นตรงช่องว่างริมหน้าในพระคัมภีร์ของท่านใกล้ข้อเหล่านี้หรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน ความจริงประการหนึ่งจากพระคัมภีร์เหล่านี้คือ พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกสงสารเรามาก เหตุใดจึงสำคัญที่ท่านต้องรู้ความจริงเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระผู้ช่วยให้รอดตามที่ท่านได้เรียนรู้จากข้อเหล่านี้

อ่านข้อความต่อไปนี้เกี่ยวกับศรัทธา “เพื่อให้ศรัทธาของท่านนำท่านไปสู่ความรอด ศรัทธานั้นต้องมุ่งไปที่พระเจ้าพระเยซูคริสต์ … ท่านใช้ศรัทธาในพระคริสต์ได้เมื่อท่านมีความเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ มีแนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระองค์ และมีความรู้ว่าท่านกำลังพยายามดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุ-กรมพระกิตติคุณ [2004], 213)

  1. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน การเข้าใจธรรมชาติวิสัยที่มีพระเมตตาสงสารของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้ท่านใช้ศรัทธาในพระองค์อย่างไร

  2. แบ่งปันบางสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจาก 3 นีไฟ 17 กับอีกคนหนึ่ง เขียนชื่อบุคคลนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านและสรุปสิ่งที่ท่านพูดกับเขา

ถึงแม้เราไม่เคยมีประสบการณ์อย่างที่ชาวนีไฟมีกับพระเยซูคริสต์ แต่วันนั้นจะมาถึงเมื่อเราแต่ละคนจะเห็นและได้ยินพระองค์ ไตร่ตรองบทเรียนนี้ตลอดวันถัดไป หรือสองวัน นึกถึงพระเมตตาสงสารของพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่ท่านสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับความปรารถนา ความอ่อนแอ ความปวดร้าวใจ และการทดลองของท่าน

  1. เขียนต่อท้ายงานมอบหมายของวันนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่า:

    ฉันได้ศึกษา 3 นีไฟ 17 และศึกษาเสร็จวันที่ (วันเดือนปี)

    คำถาม ความคิด และข้อคิดเพิ่มเติมที่ฉันอยากแบ่งปันกับครู: