สถาบัน
บทที่ 11 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ได้รับพรจากศาสนจักรของพระเจ้า


“บทที่ 11 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ได้รับพรจากศาสนจักรของพระเจ้า,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)

“บทที่ 11 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ภาพ
คนหนุ่มสาวกำลังยิ้มอยู่ที่โบสถ์

บทที่ 11 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

ได้รับพรจากศาสนจักรของพระเจ้า

ในช่วงเวลาที่การเข้าโบสถ์ในหลายนิกายกำลังลดลงในหลายๆ ที่ทั่วโลก การแสวงหาความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า เหตุใด พระเยซูคริสต์จึงทรงสถาปนาศาสนจักรระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระองค์และฟื้นฟูศาสนจักรนั้นในยุคสุดท้ายอาจมีความสำคัญเป็นพิเศษ ขณะศึกษา ให้คิดว่าศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเจ้านำหรือสามารถนำเป้าหมาย ความเข้มแข็ง และปีติที่เพิ่มขึ้นมาสู่ชีวิตท่านได้อย่างไร

หมวดที่ 1

พรพิเศษใดที่สามารถรับได้ผ่านการเป็นสมาชิกในศาสนจักรของพระเจ้าเท่านั้น?

อัครสาวกเปาโลสอนว่าศาสนจักรของพระเจ้า “สร้างขึ้นบนรากฐานของบรรดาอัครทูตและบรรดาผู้เผยพระวจนะ มีพระเยซูคริสต์เป็นศิลาหัวมุม” (เอเฟซัส 2:20) ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระเยซูคริสต์ทรงเลือกชายสิบสองคนและแต่งตั้งพวกเขาให้เป็นอัครสาวก พระองค์ทรงมอบสิทธิอำนาจและกุญแจของฐานะปุโรหิตให้พวกเขาเพื่อพวกเขาจะได้นำศาสนจักรของพระองค์ สอนพระกิตติคุณของพระองค์ เป็นพยานถึงการดำรงอยู่จริงของพระองค์ และกระทำในพระนามของพระองค์ (ดู มัทธิว 10:1, 7–8; 16:19; กิจการ 1:21–22; หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23)

หลังจากพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์ยังทรงนำศาสนจักรของพระองค์ผ่านอัครสาวก ซึ่งก็คือผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตเพื่อกำกับดูแลงานแห่งความรอด อย่างไรก็ตาม หลายคนต่อต้านผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงเรียก และสมาชิกศาสนจักรเริ่มหลงผิด หลังอัครสาวกสิ้นชีวิต “มนุษย์ทำให้หลักธรรมพระกิตติคุณผิดแผกไปจากเดิม ทำการเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีสิทธิอำนาจกับองค์กรศาสนจักรและศาสนพิธีฐานะปุโรหิต เพราะการละทิ้งความเชื่อแพร่ไปทั่ว พระเจ้าจึงทรงถอดถอนสิทธิอำนาจและกุญแจของฐานะปุโรหิตไปจากแผ่นดินโลก” (Gospel Topics, “การละทิ้งความเชื่อ,” topics.ChurchofJesusChrist.org) สิ่งนี้เรียกว่าการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่

สภาพของการละทิ้งความเชื่อนี้ดำเนินต่อไปจนกระทั่งพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธในปี 1820 (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:16–20) ไม่กี่ปีหลังจากการทรงปรากฏนี้ พระเยซูคริสต์ทรงส่งผู้ส่งสารจากสวรรค์ไปหาโจเซฟ สมิธ ซึ่งได้มอบสิทธิอำนาจและกุญแจฐานะปุโรหิตแก่เขา (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:68–72; หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:11–16; 128:19–21) พระเยซูคริสต์ทรงเรียกอัครสาวกใหม่และสถาปนาศาสนจักรของพระองค์บนแผ่นดินโลกอีกครั้งโดยผ่านสิทธิอำนาจอันสูงส่งนี้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:30)

ภาพ
การฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค โดย วอลเตอร์ เรน

ปัจจุบัน ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองถือสิทธิอำนาจและกุญแจฐานะปุโรหิตทั้งหมดที่จำเป็นต่อการกำกับดูแลศาสนจักรของพระเจ้า สิ่งนี้สำคัญเป็นพิเศษสำหรับเราแต่ละคนที่ต้องการเป็นคนดีขึ้นและเข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้น

เมื่อพูดถึงความสำคัญของการเข้าโบสถ์สำหรับ “ผู้มีจิตศรัทธา” ทุกคน ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “การเข้าโบสถ์และร่วมกิจกรรมในโบสถ์ช่วยให้เราเป็นคนดีขึ้นและเป็นอิทธิพลที่ดีขึ้นต่อชีวิตผู้อื่น” (“ความจำเป็นที่ต้องมีศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 24) จากนั้นท่านพูดว่า

ภาพ
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์

แน่นอนเรายืนยันว่าพระคัมภีร์ทั้งอดีตและปัจจุบันสอนชัดเจนถึงที่มาและความจำเป็นที่ต้องมีศาสนจักรซึ่งกำกับดูแลโดยและด้วยสิทธิอำนาจของพระเจ้า พระเยซูคริสต์ เราเป็นพยานเช่นกันว่าศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์สถาปนาขึ้นเพื่อสอนความสมบูรณ์ของหลักคำสอนของพระองค์และปฏิบัติหน้าที่ด้วยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตเพื่อประกอบศาสนพิธีที่จำเป็นต่อการเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า [ดู ยอห์น 3:5] สมาชิกที่ไม่มาโบสถ์และอาศัยเพียงพลังทางวิญญาณส่วนตัวกำลังแยกตัวออกจากองค์ประกอบสำคัญของพระกิตติคุณ อันได้แก่ อำนาจและพรของฐานะปุโรหิต ความสมบูรณ์ของหลักคำสอนที่ได้รับการฟื้นฟู ตลอดจนแรงจูงใจและโอกาสให้ประยุกต์ใช้หลักคำสอนนั้น พวกเขาเสียโอกาสที่จะคู่ควรต่อการทำให้ครอบครัวดำเนินต่อไปชั่วนิรันดร์ (“ความจำเป็นที่ต้องมีศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 25)

ภาพ
การแต่งตั้งฐานะปุโรหิต

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเช่นกันว่า:

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

หากอำนาจฐานะปุโรหิตไม่มีอยู่บนแผ่นดินโลก ปฏิปักษ์คงมีอิสระที่จะตระเวนครอบครองอย่างไม่มีทางหยุดยั้ง จะไม่มีของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะนำทางและให้ความกระจ่างแก่เรา ไม่มีศาสดาพยากรณ์ที่จะพูดในพระนามของพระเจ้า ไม่มีพระวิหารที่เราจะทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์และเป็นนิรันดร์ได้ ไม่มีสิทธิอำนาจที่จะให้พรหรือบัพติศมา ที่จะรักษาหรือปลอบโยน (“Blessings of the Priesthood,” Ensign, Nov. 1995, 32)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านจะอธิบายให้คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับเราฟังถึงพรพิเศษที่มีให้สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายอย่างไร?

หมวดที่ 2

การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในศาสนจักรจะเป็นพรแก่ฉันและผู้อื่นได้อย่างไร?

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับพรของการมีส่วนร่วมในศาสนจักร

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

เราจำเป็นต้องรู้ว่าจุดประสงค์สูงสุดของพระผู้เป็นเจ้าคือความก้าวหน้าของเรา … สิ่งนั้นเรียกร้องมากกว่าการเป็นคนดีหรือมีความรู้สึกเข้มแข็งทางวิญญาณ สิ่งนี้เรียกร้องศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมาโดยน้ำและโดยพระวิญญาณ และอดทนในศรัทธาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่มีใครทำสิ่งนี้ได้อย่างเต็มที่โดยลำพัง ดังนั้นเหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่พระเจ้าทรงจัดตั้งศาสนจักรคือเพื่อสร้างประชาคมวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่จะสนับสนุนกันใน “ทางคับแคบและแคบนี้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์” [2 นีไฟ 31:18] (“เหตุใดจึงต้องมีศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 108)

อัครสาวกเปาโลสอนว่าการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนวิสุทธิชนทำให้เราเข้มแข็งและสามารถดึงเราเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน เอเฟซัส 4:11–14 และพิจารณาทำเครื่องหมายวิธีต่างๆ ที่การมีส่วนร่วมในศาสนจักรของพระเจ้าจะเป็นพรแก่ชีวิตท่าน

เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันยังอธิบายด้วยว่าประสบการณ์กับสมาชิกคนอื่นๆ ของศาสนจักรมอบโอกาสที่จำเป็นในการประยุกต์ใช้พระกิตติคุณของพระเจ้าให้แก่เรา

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

ในฐานะพระวรกายของพระคริสต์ สมาชิกศาสนจักรปฏิบัติต่อกันในความเป็นจริงของชีวิตประจำวัน เราทุกคนไม่ดีพร้อม เราอาจทำให้คนอื่นขุ่นเคืองและถูกทำให้ขุ่นเคือง บ่อยครั้งเราทดสอบกันด้วยพฤติกรรมแปลกๆ ส่วนตัวของเรา ในพระวรกายของพระคริสต์เราต้องไปไกลกว่าแนวคิดและถ้อยคำสูงส่งและมีประสบการณ์ “ที่เกิดขึ้นจริง” ขณะเรียนรู้ที่จะ “อยู่ด้วยกันด้วยความรัก” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:45] (“เหตุใดจึงต้องมีศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 108)

ภาพ
ไอคอน บันทึก

บันทึกความคิดของท่าน

เราสามารถได้รับประสบการณ์ “ที่ตนเองประสบ” ในการสร้างอาณาจักรของพระเจ้าผ่านการเรียกของศาสนจักร งานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจ การรับใช้ผู้อื่น หรือเรียนรู้ที่จะเข้ากับคนที่แตกต่างจากเราได้ นึกถึงประสบการณ์ “ที่ตนเองประสบ” ที่ท่านเคยพบหรือพบเจออยู่ในวอร์ดหรือสาขาของท่าน เลือกประสบการณ์หนึ่งอย่างและเขียนว่าประสบการณ์นั้นช่วยให้ท่านประยุกต์ใช้คำสอนของพระกิตติคุณและเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร หากท่านไม่ได้ไปโบสถ์ ให้ลองบันทึกว่าท่านและคนในวอร์ดหรือสาขาจะได้รับพรอย่างไรหากท่านเริ่มไปโบสถ์

หมวดที่ 3

ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้วอร์ดหรือสาขาของฉันเป็นสถานที่ซึ่งต้อนรับทุกคนมากขึ้น?

ลองนึกดูว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้รับการปฏิบัติอย่างอบอุ่นและจริงใจเมื่อไปโบสถ์ ท่านเคยช่วยคนในวอร์ดหรือสาขาของท่านให้รู้สึกเช่นนั้นเมื่อใด?

ภาพ
คนสองคนกำลังคุยกันอยู่ที่โบสถ์
ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

โมโรไนสอนถึงความสำคัญของการผูกมิตรในศาสนจักร อ่าน โมโรไน 6:4–5 และพิจารณาว่าท่านจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในวอร์ดหรือสาขาได้อย่างไร

พิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ของการผูกมิตรที่ซิสเตอร์แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์ อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญได้แบ่งปันไว้:

ภาพ
ซิสเตอร์แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์

[มาเรีย] มีเพื่อนหลายคนที่ไม่ค่อยแข็งขันหรือยังไม่ได้ยินข่าวสารพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ทุกวันเธอใช้ศรัทธาและสวดอ้อนวอนเพื่อให้รู้ว่าใครต้องการความช่วยเหลือจากเธอ จากนั้นเธอก็ทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับ เธอโทรศัพท์หาคนอื่นๆ แสดงความรัก และบอกเพื่อนๆ ว่า “เราต้องการคุณ” เธอมีการสังสรรค์ในครอบครัวในอะพาร์ตเมนต์ของเธอทุกสัปดาห์และเชิญเพื่อนบ้าน สมาชิก และผู้สอนศาสนาให้มาเข้าร่วม—และเธอก็เลี้ยงอาหารพวกเขา เธอเชิญพวกเขามาที่โบสถ์ เฝ้ามอง และนั่งข้างพวกเขาเมื่อพวกเขามาถึง (“เรามีเหตุผลสำคัญที่จะชื่นชมยินดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 116)

ภาพ
ไอคอน ลงมือทำ

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านสามารถอวยพรใครในวอร์ดหรือสาขาของท่านได้โดยการยื่นมือช่วยเหลือ? ท่านจะทำอะไรเพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพวกเขาไปโบสถ์? ท่านอาจรับชม “เชื้อเชิญให้ผู้อื่น ‘มาดู’” (1:39) เพื่อดูตัวอย่างวิธีผูกมิตร