สถาบัน
บทที่ 12 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ค้นพบความจริงอันบริสุทธิ์ในคำสอนของพระเยซูคริสต์


“บทที่ 12 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ค้นพบความจริงอันบริสุทธิ์ในคำสอนของพระเยซูคริสต์,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)

“บทที่ 12 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 12 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ค้นพบความจริงอันบริสุทธิ์ในคำสอนของพระเยซูคริสต์

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “หลักคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ทรงพลังมาก หลักคำสอนเหล่านั้นเปลี่ยนชีวิตทุกคนที่เข้าใจและหมายมั่นนำหลักคำสอนมาปฏิบัติในชีวิต” (“ความจริงอันบริสุทธิ์ หลักคำสอนอันบริสุทธิ์ และการเปิดเผยอันบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 6) ในบทนี้ นักเรียนจะมีโอกาสแบ่งปันว่าชีวิตพวกเขาได้รับอิทธิพลจากคำสอนของพระเยซูคริสต์อย่างไร พวกเขาจะสนทนาความหมายของพระกิตติคุณและรับเชิญให้พิจารณาสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อให้จดจ่อกับการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณมากขึ้นได้เช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พระเยซูคริสต์ทรงสอนความจริงที่เปลี่ยนชีวิต

ท่านอาจให้ดูภาพประกอบหรือภาพอื่นที่ท่านเลือกในการสอนของพระเยซูคริสต์ และเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันเหตุผลที่เป็นไปได้ว่าเหตุใด “[พระเยซูคริสต์ทรงเป็น] ครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีชีวิตอยู่หรือจะมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อไป” (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “การสั่งสอน การประกาศ การรักษา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2003, 33)

ภาพ
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ โดย จัสติน คุนซ์

เพื่อกระตุ้นการสนทนาที่มีความหมาย ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้:

  • คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดมีผลต่อคนที่ได้ยินพระองค์สอนอย่างไร? (ท่านอาจทบทวนตัวอย่างที่พบใน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) คำสอนของพระองค์มีผลกระทบต่อชีวิตท่านอย่างไร?

  • เราต้องทำอะไรถ้าเราต้องการให้คำสอนของพระเยซูคริสต์มีอิทธิพลลึกซึ้งและยั่งยืนในชีวิตเรา? (ท่านอาจต้องการทบทวน ยอห์น 3:21; 7:17; 13:17 และ คำกล่าวของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน จากนั้นท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนระบุหลักธรรมทำนองนี้: เมื่อเราปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า เราจะรู้ความจริงของคำสอนเหล่านั้น เพิ่มความสว่าง และพบเจอกับความสุข)

เตือนนักเรียนว่าใน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน พวกเขาจะได้รับเชิญให้เลือกคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่มีอิทธิพลต่อชีวิตพวกเขา พวกเขายังอาจมองหาคำสอนที่คิดว่าอาจเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาได้เช่นกัน ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีทบทวนข้อพระคัมภีร์และ คำถามที่เกี่ยวข้องสามข้อ ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน กระตุ้นให้นักเรียนที่ยังไม่ได้ทำกิจกรรมมองหาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่พวกเขาจะแบ่งปันได้

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่พวกเขาเลือกและคำตอบของคำถามอย่างน้อยหนึ่งข้อจากคำถามสามข้อของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน ท่านสามารถทำกิจกรรมนี้เป็นชั้นเรียนหรือแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และขอให้พวกเขาผลัดกันแบ่งปัน

พระเยซูคริสต์ทรงสอนชาวนีไฟถึงความหมายของพระกิตติคุณของพระองค์

อ่านสถานการณ์สมมติต่อไปนี้ด้วยกัน:

อมีเลียเพิ่งกลับมาแข็งขันในศาสนจักรหลังจากห่างหายไปหลายปี แม้ว่าผู้คนจะใจดีกับเธอ แต่เธอก็มักจะรู้สึกท้อแท้และหมดกำลังใจระหว่างการฟังผู้พูดและบทเรียน วันหนึ่งเธอพูดกับท่านด้วยความหงุดหงิดว่า “วันก่อนฉันได้ยินคนพูดว่าพระกิตติคุณหมายถึง ‘ข่าวประเสริฐ’ แต่ฉันไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย พระกิตติคุณฟังดูซับซ้อน และมีความคาดหวังมากมาย ฉันรู้สึกว่าพระกิตติคุณเป็นภาระมากกว่าพร”

  • เหตุการณ์อะไรอาจเกิดขึ้นระหว่างการฟังผู้พูด บทเรียน หรือการสนทนาพระกิตติคุณที่อาจทำให้บางคนรู้สึกเหมือนอมีเลีย?

  • อมีเลียอาจมีความเข้าใจผิดอะไรบ้างเกี่ยวกับความหมายและจุดประสงค์ของพระกิตติคุณ?

ปรับปรุงการสอนและการเรียนรู้ของเรา

เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน หลังจากประสบผลอันเลวร้ายของการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิต สมาชิกศาสนจักรในสมัยของแอลมาผู้ยังคงซื่อสัตย์ “แน่วแน่และไม่หวั่นไหว” (แอลมา 1:25) ในความเชื่อของพวกเขาและตระหนักว่า “ผู้สั่งสอนไม่ดีไปกว่าผู้ฟัง, ทั้งผู้สอนก็ไม่ดีไปกว่าผู้เรียนแต่อย่างใด; และดังนั้นพวกเขาจึงเท่าเทียมกัน” (แอลมา 1:26) ขณะที่ท่านปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ท่านจะเปิดรับการเรียนรู้ไปพร้อมกันและเรียนรู้จากพวกเขามากขึ้น ไตร่ตรองว่านักเรียนของท่านจะรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านแสดงความสนใจอย่างแท้จริงในสิ่งที่พวกเขาคิดและรู้สึก

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน 3 นีไฟ 27:13–14, 19–21 และมองหาองค์ประกอบสำคัญของพระกิตติคุณตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน

เพื่อส่งเสริมการสนทนาที่มีความหมาย ท่านอาจถามคำถามทำนองนี้:

  • ตามที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัส อะไรคือองค์ประกอบพื้นฐานและพรสุดท้ายของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์? (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้: เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจ รับบัพติศมา รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราสามารถยืนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าในวันสุดท้ายโดยปราศจากมลทิน)

  • การให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางของพระกิตติคุณเปลี่ยนวิธีที่อมีเลียมองและรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร? การจดจ่อที่พระผู้ช่วยให้รอดมีอิทธิพลต่อวิธีที่ท่านคิดและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างไร?

  • เราสามารถเผชิญความท้าทายอะไรบ้างเมื่อเราสูญเสียการจดจ่อที่พระเยซูคริสต์และองค์ประกอบพื้นฐานของพระกิตติคุณของพระองค์? (ท่านอาจต้องการทบทวน คำกล่าวของบราเดอร์แดเนียล เค. จัดด์ ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) อะไรทำให้ท่านสูญเสียการจดจ่อที่หลักพื้นฐานของพระกิตติคุณ? อะไรช่วยให้ท่านจดจ่ออยู่กับหลักพื้นฐานได้มากที่สุด?

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน คำกล่าวของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนและบันทึกสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อเน้นที่หลักธรรมพื้นฐานและการประยุกต์ใช้พระกิตติคุณให้ดีขึ้น

ท่านอาจถามได้เช่นกันว่านักเรียนบางคนเต็มใจแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อมุ่งเน้นสิ่งที่สำคัญที่สุดขณะพวกเขาพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณหรือไม่

เพื่อเป็นการสรุป ท่านหรือนักเรียนสามารถเป็นพยานถึงความงดงามและพลังของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระเยซูคริสต์

สำหรับครั้งต่อไป