สถาบัน
บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ค้นพบความหวังในพระผู้ทรงเป็นความสว่างและชีวิตของโลก


“บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ค้นพบความหวังในพระผู้ทรงเป็นความสว่างและชีวิตของโลก,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)

“บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ค้นพบความหวังในพระผู้ทรงเป็นความสว่างและชีวิตของโลก

นักเรียนอาจรู้สึกมืดมน ท้อแท้ และสิ้นหวังได้ด้วยเหตุผลหลายประการ ในทางกลับกัน พวกเขาอาจรู้สึกเปี่ยมด้วยพลังแห่งความหวัง เมื่อจดจ่ออยู่กับพระเยซูคริสต์ พระผู้ทรงเป็นความสว่างของโลก บทเรียนนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนพิจารณาสิ่งที่ตนทำได้เพื่อเพิ่มพูนความหวังในพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พระเยซูคริสต์ทรงประกาศว่าพระองค์คือความสว่างและชีวิตของโลก

ท่านอาจแสดงภาพต่อไปนี้เพื่อเริ่มต้นบทเรียน

ภาพ
คนหนุ่มสาวกำลังหลบซ่อนจากแสงสว่าง

อ่านออกเสียง ยอห์น 8:12 และ โมไซยาห์ 16:9 ให้นักเรียนสังเกตดูว่า พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยให้เราเอาชนะความมืดได้อย่างไร แสดงความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: ขณะที่เราติดตามพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงเป็นความสว่างและชีวิตของชีวิตเรา

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทั้งความสว่างและชีวิตของชีวิตเราอย่างไร? (หากจำเป็น เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนข้อความของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องของบทเรียนนี้ ท่านอาจแสดงและอ่านออกเสียงคำถามด้านล่างนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามเหล่านี้ขณะชมวีดิทัศน์ “The Light That Shineth in Darkness (แสงสว่างที่ส่องในความมืด)” (2:19)

  • การติดตามพระเยซูคริสต์ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นความสว่างและชีวิตของโลกนั้นน่าจะเป็นพร เสริมสร้างความเข้มแข็ง และให้ความช่วยเหลือท่านอย่างไร?

  • ท่านประสบกับความสว่างและชีวิตที่พระเยซูคริสต์ประทานให้เมื่อใด? สิ่งนั้นทำให้เกิดหรืออาจทำให้เกิดความแตกต่างใดในชีวิตท่าน?

หลังจากชมวีดิทัศน์แล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนบันทึกความคิดที่ตนมีต่อคำถามเหล่านั้น ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทั้งชั้นสนทนาคำตอบของตนเอง หรืออาจจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย

ท่านอาจแสดงภาพพระวิหารซอลท์เลคประกอบ พร้อมกับอ่านข้อความของซิสเตอร์แชรอน ยูแบงค์ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนด้วยกัน หรือท่านอาจเปิดตอนหนึ่งของวีดิทัศน์ (0:00–1:17) จากคำปราศรัยของเธอ “พระคริสต์: แสงสว่างที่ส่องในความมืด” (เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 73–74)

ภาพ
พระวิหารซอลท์เลค
  • ศัตรูจะใช้วิธีใดบ้างในการ “ทำให้แสงสว่างของเราเลือนราง ลัดวงจรการเชื่อมต่อ” หรือตัดขาดเราจากแสงสว่างของพระผู้ช่วยให้รอด? (แชรอน ยูแบงค์, “พระคริสต์: แสงสว่างที่ส่องในความมืด,” 73)

  • เราจะเชื่อมต่อหรือรักษาการเชื่อมต่อกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างและชีวิตที่แท้จริงได้ด้วยวิธีใดบ้าง? (ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนบันทึกสิ่งที่ตนเองอาจทำได้)

ความหวังเพิ่มพูนขึ้นขณะที่เราจดจ่ออยู่กับพระเยซูคริสต์

แสดงความจริงต่อไปนี้จาก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก”: พระเยซูคริสต์ “ทรงเป็นความสว่าง ทรงเป็นชีวิต และความหวังของโลก”

หากนักเรียนต้องการ ท่านสามารถช่วยนักเรียนได้โดยการทบทวนนิยามของความหวังและข้อความที่สองของเอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน จากนั้นท่านอาจจะถามว่า

  • เราจะได้รับพรอย่างไร เมื่อเรามองไปที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ว่าเป็นแหล่งกำเนิดความหวังอันสูงสุดของเรา? เหตุใดการรู้กว่าความหวังเป็นของประทานจึงเป็นประโยชน์?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคนรู้จักสักคนที่อาจกำลังรู้สึกท้อแท้ เศร้าโศก โดดเดี่ยว หนักใจ หรือวิตกกังวล เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน โมโรไน 7:40–42 และ อีเธอร์ 12:4 เพื่อมองหาความจริงเกี่ยวกับความหวังในพระคริสต์ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงวิธีเผชิญชีวิตของเราได้

หลังจากให้นักเรียนใช้เวลาศึกษาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนบางคนมาแบ่งปันความจริงที่ตนค้นพบและวิธีที่ความจริงเหล่านี้อาจจะเพิ่มความหวังของใครสักคนในพระคริสต์

ท่านอาจบอกให้นักเรียนเปิดไปที่เรื่องราวจากพระคัมภีร์ที่ตนเลือกศึกษาจากหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน ให้เวลานักเรียนทบทวนสิ่งที่ตนศึกษาสักครู่ แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย และขอให้นักเรียนแบ่งปันเรื่องราวจากพระคัมภีร์และสิ่งที่ตนเรียนรู้เกี่ยวกับความหวังในพระคริสต์จากเรื่องราวนั้น

ท่านอาจแสดงข้อความต่อไปนี้เพียงบางส่วนหรือทั้งหมดจากประธานอุคท์ดอร์ฟซึ่งขณะนั้นรับใช้ในฝ่ายประธานสูงสุด เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงนัยสำคัญของการมีความหวังในพระคริสต์ หลังจากใช้เวลาอ่านและไตร่ตรองข้อความนี้แล้ว ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนหนึ่งหรือสองคนมาเป็นพยานให้กับความหวังของตนในพระเยซูคริสต์และผลที่ความหวังนั้นมีต่อชีวิตของตน

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

ข้าพเจ้าประกาศพร้อมเยเรมีย์ว่า “คน … ได้รับพระพร คือผู้ที่ความวางใจของเขาอยู่ในพระเจ้า” [เยเรมีย์ 17:7]

ข้าพเจ้าประกาศพร้อมโยเอลว่า “พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยแก่ประชากรของพระองค์ เป็นที่กำบังแข็งแกร่งแก่คนอิสราเอล” [โยเอล 3:16]

ข้าพเจ้าประกาศพร้อมนีไฟว่า “ต้องมุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์ โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง ดังนั้น หากท่านจะมุ่งหน้า ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว ดูเถิด พระบิดาตรัสดังนี้: เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์” [2 นีไฟ 31:20] …

สำหรับผู้ทนทุกข์ทั้งหลาย—สำหรับผู้คนที่รู้สึกท้อแท้กังวล หรือว้าเหว่—ข้าพเจ้าพูดด้วยความรักและความห่วงใยท่านอย่างสุดซึ้งว่าอย่ายอมแพ้

อย่ายอมจำนน

อย่าให้ความสิ้นหวังเอาชนะวิญญาณของท่าน

จงน้อมรับและพึ่งพาความหวังของอิสราเอล เพราะความรักของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าจะแทรกผ่านความมืดทั้งหมด สลายความเศร้าโศก และทำให้ใจทุกดวงยินดี (“พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 29)

เชื้อเชิญให้นักเรียนใคร่ครวญถึงคำถามต่อไปนี้และบันทึกข้อคิด สิ่งที่ประทับใจ หรือสิ่งที่รู้สึก:

  • วันนี้ท่านเรียนรู้อะไรที่อาจช่วยให้ท่านค้นพบความหวังในยามทุกข์ยากหรือสิ้นหวัง?

  • เรื่องง่ายๆ ที่ท่านทำได้เพื่อเพิ่มศรัทธาและความหวังในพระเยซูคริสต์มีอะไรบ้าง?

สำหรับครั้งต่อไป

เพื่อเป็นการช่วยเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับคาบสุดท้ายของหลักสูตรนี้ ท่านอาจส่งข้อความต่อไปนี้ให้นักเรียนในระหว่างสัปดาห์: ขณะที่ท่านศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนซึ่งเราจะใช้ในคาบสุดท้าย ให้ท่านไตร่ตรองดูว่าท่านเรียนรู้อะไรจากหลักสูตรนี้บ้าง สิ่งที่ท่านเรียนรู้มีอิทธิพลอย่างไรต่อความเข้าใจและศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์?