การประชุมใหญ่สามัญ
วัฒนธรรมของพระคริสต์
การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2020


วัฒนธรรมของพระคริสต์

เราทุกคนสามารถชื่นชมส่วนที่ดีที่สุดของวัฒนธรรมทางโลกของแต่ละคนและมีส่วนเต็มที่ในวัฒนธรรมนิรันดร์ที่มาจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

เราอยู่ร่วมกันในโลกที่ช่างล้ำเลิศ อันเป็นที่อยู่ของผู้คน ภาษา ประเพณี และประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย—กระจายออกไปมากกว่าหลายร้อยประเทศและหลายพันกลุ่ม ซึ่งต่างมีความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม มนุษยชาติมีหลายสิ่งให้ภาคภูมิใจและสรรเสริญ ถึงแม้พฤติกรรมจากการเรียนรู้—สิ่งที่เรารับรู้จากวัฒนธรรมที่เราเติบโตมา—จะเป็นพลังสำคัญยิ่งในชีวิต แต่บางครั้งก็สามารถเป็นอุปสรรคสำคัญได้ด้วย

อาจดูเหมือนว่าวัฒนธรรมฝังลึกอยู่ในความคิดและพฤติกรรมของเราจนเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนแปลง สุดท้ายแล้วความรู้สึกส่วนใหญ่ของเรานั่นเองที่นิยามตัวเรา และเรารู้สึกถึงความเป็นเอกลักษณ์จากความรู้สึกนั้น อาจเป็นเพราะอิทธิพลแรงกล้าเช่นนั้นที่ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นความอ่อนแอที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือข้อบกพร่องในวัฒนธรรมตนเอง ส่งผลให้เราไม่เต็มใจละทิ้งประเพณีบางอย่างของบรรพบุรุษ การยึดติดมากเกินไปกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอาจนำไปสู่การปฏิเสธแนวคิด คุณลักษณะ และพฤติกรรมที่มีคุณค่าหรือแม้แต่เคร่งศีลธรรม

ไม่นานหลายปีก่อนข้าพเจ้ารู้จักสุภาพบุรุษแสนดีคนหนึ่งที่ช่วยแสดงให้เห็นถึงหลักธรรมสากลข้อนี้เรื่องการขาดวิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรม ข้าพเจ้าพบเขาครั้งแรกในสิงคโปร์เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอนประจำบ้านของครอบครัวเขา เขาเป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านภาษาสันสกฤตและภาษาทมิฬ โดยมีพื้นเพมาจากตอนใต้ของอินเดีย ภรรยาและบุตรชายสองคนของเขาเป็นสมาชิกศาสนจักร แต่เขาไม่เคยเข้าร่วมหรือฟังคำสอนของพระกิตติคุณมากนัก เขามีความสุขกับพัฒนาการของภรรยากับบุตรชายและสนับสนุนเต็มที่ในหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขาในศาสนจักร

เมื่อข้าพเจ้าเสนอที่จะสอนหลักธรรมพระกิตติคุณและแบ่งปันความเชื่อของเรากับเขา เขาคัดค้านในตอนแรก ข้าพเจ้าใช้เวลาพอสมควรที่จะรู้สาเหตุ: เขารู้สึกว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้เขาเป็นคนทรยศต่ออดีต ผู้คน และประวัติศาสตร์ของเขา! ตามวิธีคิดของเขา นั่นคือการปฏิเสธทุกสิ่งที่เขาเป็น ทุกสิ่งที่ครอบครัวสอนให้เป็น และมรดกความเป็นคนอินเดียของเขาเอง ตลอดสองสามเดือนต่อมา เราพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ข้าพเจ้าอัศจรรย์ใจ (แม้จะไม่แปลกใจ!) ที่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สามารถเปิดตาเขาไปสู่มุมมองที่ต่างออกไป

ส่วนใหญ่ในวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี สร้างสรรค์และทำลาย

ปัญหาของโลกเราหลายประการเป็นผลโดยตรงมาจากความขัดแย้งระหว่างคนจากแนวคิดและประเพณีที่แตกต่างกันซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมของคนเหล่านั้น แต่โดยแท้แล้วความขัดแย้งและความสับสนวุ่นวาย ทั้งมวล จะจางหายไปอย่างรวดเร็วหากโลกเพียงแต่ยอมรับวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เราทุกคนล้วนเคยมีเมื่อไม่นานมานี้ วัฒนธรรมนี้ย้อนกลับไปที่การดำรงอยู่ก่อนเกิดของเรา ซึ่งคือวัฒนธรรมของอาดัมกับเอโนค เป็นวัฒนธรรมที่สถาปนาบนพื้นฐานคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในความเรืองโรจน์แห่งเวลา และมีให้ชายและหญิงทั้งปวงอีกครั้งในสมัยของเรา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนือทุกวัฒนธรรมและมาจากแผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุขที่ลิขิตโดยพระผู้เป็นเจ้าและสนับสนุนโดยพระคริสต์ สร้างความสามัคคีมิใช่แบ่งแยก เยียวยามิใช่ทำร้าย

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สอนเราว่ามีจุดประสงค์ในชีวิต การที่เราอยู่ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ของจักรวาล! เรามีเหตุผลที่อยู่ที่นี่

วัฒนธรรมนี้หยั่งรากในประจักษ์พยานว่าพระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงมีอยู่จริง พระองค์ทรงมีตัวตนและรักเราแต่ละคนเป็นรายบุคคล เราคือ “งานและรัศมีภาพ [ของพระองค์]”1 วัฒนธรรมนี้สนับสนุนแนวความคิดเรื่องคุณค่าเท่าเทียมกัน ไม่รู้จักชนชั้นวรรณะ สุดท้ายแล้วเราทุกคนเป็นพี่น้องกัน เป็นบุตรธิดาของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์—อย่างแท้จริง ไม่มีอคติหรือความคิด “แบ่งพวกเขาพวกเรา” ในวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนือทุกวัฒนธรรม เราทุกคนเป็น “พวกเรา” เราทุกคนเป็น “พวกเขา” เราเชื่อว่าเรามีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อกันและกัน ต่อศาสนจักร และต่อโลกของเรา หน้าที่และความรับผิดชอบเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของเรา

จิตกุศล การเอาใจใส่แบบพระคริสต์ที่แท้จริง เป็นพื้นฐานสำคัญของวัฒนธรรมนี้ เรารู้สึกห่วงใยอย่างแท้จริงต่อความต้องการของเพื่อนมนุษย์ทั้งทางโลกและทางวิญญาณ และทำตามความรู้สึกเหล่านั้น สิ่งนี้ขจัดอคติและความเกลียดชัง

เราชื่นชมกับวัฒนธรรมการเปิดเผย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่พระคำของพระผู้เป็นเจ้าตามที่ศาสดาพยากรณ์ได้รับ (และยืนยันเป็นการส่วนตัวต่อเราแต่ละคนได้โดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์) มนุษยชาติทั้งปวงสามารถรู้พระประสงค์และพระดำริของพระผู้เป็นเจ้าได้

วัฒนธรรมนี้สนับสนุนหลักธรรมแห่งสิทธิ์เสรี ความสามารถในการเลือกสำคัญยิ่งยวดสำหรับการพัฒนาและความสุขของเรา การเลือกอย่างฉลาดนั้นจำเป็น

นี่คือวัฒนธรรมของการเรียนรู้และการศึกษา เราแสวงหาความรู้และปัญญาและส่วนที่ดีที่สุดในทุกสิ่ง

นี่คือวัฒนธรรมแห่งศรัทธาและการเชื่อฟัง ศรัทธาในพระเยซูคริสต์คือหลักธรรมแรกของวัฒนธรรมเราและการเชื่อฟังคำสอนและพระบัญญัติของพระองค์คือผลลัพธ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการควบคุมตนเอง

นี่คือวัฒนธรรมแห่งการสวดอ้อนวอน เราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าจะไม่เพียงทรงฟังเราเท่านั้นแต่จะทรงช่วยเราด้วย

นี่คือวัฒนธรรมแห่งพันธสัญญาและศาสนพิธี มาตรฐานทางศีลธรรมสูงส่ง การเสียสละ การให้อภัยและการกลับใจ และการดูแลวิหารแห่งร่างกายเรา ทั้งหมดนี้เป็นพยานถึงคำมั่นสัญญาของเราต่อพระผู้เป็นเจ้า

นี่คือวัฒนธรรมที่ปกครองโดยฐานะปุโรหิต สิทธิอำนาจที่จะกระทำในพระนามของพระผู้เป็นเจ้า พลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระองค์ วัฒนธรรมนี้จรรโลงใจและทำให้แต่ละคนเป็นคน ผู้นำ มารดา บิดา และคู่ครองที่ดีขึ้น—และชำระบ้านให้บริสุทธิ์

ปาฏิหาริย์ที่แท้จริงอยู่ในวัฒนธรรมนี้ซึ่งเก่าแก่ที่สุดเหนือทุกวัฒนธรรม หล่อหลอมจากศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พลังอำนาจฐานะปุโรหิต การสวดอ้อนวอน การพัฒนาตนเอง การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริง และการให้อภัย

นี่คือวัฒนธรรมแห่งงานเผยแผ่ศาสนา ค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่

ในวัฒนธรรมของพระคริสต์ สตรียกระดับขึ้นสู่สถานะที่เหมาะสมและเป็นนิรันดร์ สตรีไม่ได้มิใช่เบี้ยล่างของบุรุษดังที่เป็นอยู่ในหลายวัฒนธรรมในโลกปัจจุบัน แต่เป็นหุ้นส่วนเต็มที่เท่าเทียมกันที่นี่และในโลกที่จะมาถึง

วัฒนธรรมนี้เห็นพ้องกับความศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัว ครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานของนิรันดร ความสมบูรณ์พร้อมของครอบครัวคุ้มค่าแก่การเสียสละใดๆ เนื่องจาก “ไม่มีความสำเร็จใดชดเชยความล้มเหลวในบ้านได้”2 ดังที่สอนกันมา บ้านเป็นสถานที่ซึ่งเราทำงานที่ดีที่สุดและเป็นสถานที่ซึ่งเราได้รับความสุขยิ่งใหญ่ที่สุด

ในวัฒนธรรมของพระคริสต์ มีมุมมอง—และจุดศูนย์รวมกับทิศทางนิรันดร์ วัฒนธรรมนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีค่ายั่งยืน! วัฒนธรรมนี้มาจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นนิรันดร์และอธิบายคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเราว่าทำไม อะไร ที่ไหน (ครอบคลุมทุกคน ไม่ผูกขาด) เนื่องจากวัฒนธรรมนี้เป็นผลมาจากการประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด จึงช่วยมอบยารักษาที่โลกเรากำลังต้องการเป็นอย่างมาก

ช่างเป็นพรที่ได้มีส่วนในวิถีชีวิตที่ยิ่งใหญ่และสูงส่งนี้! การเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้ย่อมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ศาสดาพยากรณ์สอนว่าเราจำเป็นต้องทิ้งสิ่งใดก็ตามในวัฒนธรรมเดิมของเราที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของพระคริสต์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทิ้ง ทุกสิ่ง ศาสดาพยากรณ์เน้นด้วยว่าเราทุกคนได้รับการเชื้อเชิญให้นำศรัทธา พรสวรรค์ และความรู้ของเรา—ทุกสิ่งที่ดีในชีวิตและวัฒนธรรมของเราแต่ละคน—มากับ เราด้วย และให้ศาสนจักร “เพิ่มเติม” ให้เราผ่านทางข่าวสารพระกิตติคุณ3

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายแทบไม่ใช่สังคมตะวันตกหรือปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมของชาวอเมริกัน นี่คือศาสนจักรนานาชาติและเจตนาจะเป็นเช่นนั้นเสมอ ยิ่งกว่านั้นคือมาจากสวรรค์ สมาชิกใหม่จากทั่วโลกนำความมั่งคั่ง ความหลากหลาย และความตื่นเต้นมาสู่ครอบครัวที่กำลังเติบโตไม่หยุดของเรา วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกแห่งยังคงเฉลิมฉลองและให้เกียรติมรดกและวีรบุรุษของตน แต่ตอนนี้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมด้วยเช่นกัน วัฒนธรรมของพระคริสต์ช่วยให้เราเห็นตนเองดังที่เป็นจริง และเมื่อมองผ่านเลนส์แห่งนิรันดร สร้างสมดุลด้วยความชอบธรรม วัฒนธรรมนี้จะเพิ่มพูนความสามารถของเราในการทำให้แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุขเกิดสัมฤทธิผล

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนข้าพเจ้า? เขาได้รับการสอนบทเรียนและเข้าร่วมศาสนจักร ครอบครัวเขาได้รับการผนึกเพื่อกาลเวลาและชั่วนิรันดรในพระวิหารซิดนีย์ ออสเตรเลีย เขาทิ้งไปบ้างเล็กน้อย—และเขาได้โอกาสสำหรับทุกสิ่ง เขาค้นพบว่าเขายังคงสามารถฉลองประวัติศาสตร์ของเขา ยังคงภาคภูมิในบรรพชนของเขา รวมทั้งดนตรี การเต้นรำ วรรณกรรม อาหาร และแผ่นดินของเขา ตลอดจนผู้คนในนั้น เขาพบว่าไม่มีปัญหาในการผสานส่วนที่ดีที่สุดของวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเข้ากับวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เขาค้นพบว่าการนำสิ่งที่สอดคล้องกับความจริงและความชอบธรรมจากชีวิตเก่ามาสู่ชีวิตใหม่เป็นการเพิ่มมิตรสัมพันธ์กับวิสุทธิชนและช่วยรวมทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกันในสังคมสวรรค์

อันที่จริง เราทุกคนสามารถชื่นชมส่วนที่ดีที่สุดของวัฒนธรรมทางโลกของเราแต่ละคนและยังคงมีส่วนเต็มที่ในวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุด—วัฒนธรรมพื้นฐานดั้งเดิมที่เป็นนิรันดร์อันมาจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ช่างเป็นมรดกอันน่าอัศจรรย์ที่เรามีร่วมกัน ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. โมเสส 1:39.

  2. เจ. อี. แม็คคัลลอค, ใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: เดวิด โอ. แมคเคย์ (2011), 154.

  3. ดู คำสอนของประธานศาสนจักร: จอร์จ อัลเบิร์ต สมิธ (2011), xxviii; กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “รากฐานอันอัศจรรย์แห่งศรัทธาของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 78–81.