การประชุมใหญ่สามัญ
ใจผูกพันกันในความชอบธรรมและความเป็นหนึ่งเดียว
การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2020


ใจผูกพันกันในความชอบธรรมและความเป็นหนึ่งเดียว

ณ จุดสำคัญ 200 ปีนี้ในประวัติศาสนจักรของเรา ขอให้เราอุทิศตนดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและเป็นหนึ่งเดียวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ความชอบธรรมและความเป็นหนึ่งเดียวสำคัญอย่างลึกซึ้ง1 เมื่อผู้คนรักพระผู้เป็นเจ้าสุดหัวใจและพากเพียรอย่างชอบธรรมเพื่อเป็นเหมือนพระองค์ การวิวาทและความขัดแย้งในสังคมจะมีน้อยลง ความเป็นหนึ่งเดียวจะมีมากขึ้น ข้าพเจ้าชอบเรื่องจริงที่เป็นตัวอย่างเรื่องนี้

นายพลโธมัส แอล. เคนเป็นชายหนุ่มคนละความเชื่อกับเรา เขาช่วยเหลือและคุ้มครองวิสุทธิชนขณะที่คนเหล่านั้นต้องหนีออกจากนอวู เขาเป็นผู้แก้ต่างให้ศาสนจักรอยู่นานหลายปี2

ในปี 1872 นายพลเคนกับเอลิซาเบธ วูด เคน ภรรยาผู้มากด้วยพรสวรรค์ และบุตรชายสองคนเดินทางจากบ้านในเพนน์ซิลเวเนียมาซอลท์เลคซิตี้ พวกเขาเดินทางลงใต้ไปเซนต์จอร์จ ยูทาห์พร้อมกับบริคัม ยังก์และคณะ เอลิซาเบธมาเยือนยูทาห์ครั้งแรกด้วยความกังขาเกี่ยวกับบรรดาสตรี เธอประหลาดใจกับบางสิ่งที่เธอเรียนรู้ เช่น เธอพบว่าในยูทาห์สตรีสามารถประกอบอาชีพใดก็ได้เพื่อหาเลี้ยงชีพ3 เธอพบเช่นกันว่าสมาชิกศาสนจักรมีเมตตาและเข้าใจเกี่ยวกับชนพื้นเมืองอเมริกัน4

ระหว่างการเดินทางพวกเขาพักอยู่ในฟิลมอร์ที่บ้านของโธมัส อาร์. กับมาทิลดา โรบิสัน คิงก์5

เอลิซาเบธเขียนว่าขณะมาทิลดาเตรียมอาหารให้ประธานยังก์กับคณะ ชาวอเมริกันอินเดียนห้าคนเข้ามาในห้อง แม้ไม่ได้รับเชิญ แต่เห็นได้ชัดว่าพวกเขาคาดหวังจะร่วมวงด้วย ซิสเตอร์คิงก์พูดกับพวกเขา “เป็นภาษาพื้นเมือง” พวกเขานั่งห่มผ้าด้วยสีหน้าพอใจ เอลิซาเบธถามบุตรคนหนึ่งของครอบครัวคิงก์ว่า “คุณแม่ของคุณพูดอะไรกับคนเหล่านั้น?”

บุตรชายของมาทิลดาตอบว่า “คุณแม่พูดว่า ‘คนแปลกหน้ากลุ่มนี้มาก่อน และฉันมีอาหารเผื่อพวกเขาเท่านั้น แต่อาหารของพวกคุณตอนนี้กำลังทำอยู่ พอเสร็จแล้วฉันจะเรียก’”

เอลิซาเบธถามว่า “เธอจะทำอย่างนั้นจริงๆ หรือ หรือแค่ให้เศษอาหารพวกเขากินที่ประตูครัว?”6

บุตรชายของมาทิลดาตอบว่า “คุณแม่จะเสิร์ฟให้พวกเขาเหมือนที่เสิร์ฟให้คุณและให้พวกเขานั่งโต๊ะด้วย”

เธอทำอย่างนั้น และ “พวกเขากินเรียบร้อยมาก” เอลิซาเบธอธิบายว่าหญิงเจ้าของบ้านคนนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในความเห็นของเธอ7 ความเป็นหนึ่งเดียวเพิ่มขึ้นเมื่อผู้คนได้รับการปฏิบัติด้วยการให้เกียรติและความเคารพถึงแม้ลักษณะภายนอกของพวกเขาแตกต่างกัน

ในฐานะผู้นำ เราไม่ได้เชื่ออย่างงมงายว่าความสัมพันธ์ทุกอย่างในอดีตสมบูรณ์แบบ ทุกคนประพฤติตนเหมือนพระคริสต์ หรือการตัดสินใจทั้งหมดถูกต้อง แต่ศาสนาของเราสอนว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระบิดาในสวรรค์ และเรานมัสการพระองค์และพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ความปรารถนาของเราคือขอให้ใจและความคิดเราผูกพันกันในความชอบธรรมและความเป็นหนึ่งเดียว และเพื่อเราจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์8

ความชอบธรรม เป็นคำที่กินความกว้าง แต่แน่นอนที่สุดว่าต้องมีการดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้ารวมอยู่ด้วย9 สิ่งนี้ทำให้เรามีคุณสมบัติคู่ควรรับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบเป็นเส้นทางพันธสัญญาและอวยพรให้เรามีพระวิญญาณนำทางชีวิต10

การเป็นคนชอบธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เราแต่ละคนมีพรทุกประการในชีวิตตอนนี้ เราอาจไม่ได้แต่งงานหรือไม่มีบุตรหรือไม่มีพรอื่นที่เรากำลังปรารถนา แต่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าคนชอบธรรมที่ซื่อสัตย์ “จะพำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าในสภาพแห่งความสุขอันไม่รู้จบ”11

ความเป็นหนึ่งเดียว เป็นคำที่กินความกว้างเช่นกัน แต่แน่นอนที่สุดว่าเป็นแบบอย่างของพระบัญญัติสำคัญข้อแรกและข้อสองคือรักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์ของเรา12 ทั้งยังแสดงถึงชาวไซอันที่ใจและความคิด “ผูกพันกันในความเป็นหนึ่งเดียว” ด้วย13

บริบทสำหรับข่าวสารของข้าพเจ้าเป็นการเปรียบเทียบและบทเรียนจากพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์

200 ปีมาแล้วตั้งแต่พระบิดาและพระบุตรทรงมาปรากฏครั้งแรกและทรงเริ่มการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในปี 1820 เรื่องราวใน 4 นีไฟ ในพระคัมภีร์มอรมอนมีช่วงเวลา 200 ปีคล้ายกันหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงมาปรากฏและทรงสถาปนาศาสนจักรในทวีปอเมริกาสมัยโบราณ

บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เราอ่านใน 4 นีไฟพูดถึงกลุ่มคนที่ไม่มีความริษยา การวิวาท ความวุ่นวาย การพูดเท็จ ฆาตกรรม หรือกามตัณหาใดๆ บันทึกกล่าวว่าเพราะความชอบธรรมนี้ “แน่แท้แล้วไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้ในบรรดาผู้คนทั้งปวงที่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมา”14

เกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียว 4 นีไฟ อ่านว่า “ไม่มีความขัดแย้งในแผ่นดิน, เพราะความรักของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในใจผู้คน”15

น่าเสียดายที่ 4 นีไฟ พูดต่อจากนั้นถึงการเปลี่ยนแปลงฉับพลันที่เริ่มต้นใน “ปีที่สองร้อยหนึ่ง”16 เมื่อความชั่วช้าสามานย์และการแบ่งแยกทำลายความชอบธรรมและความเป็นหนึ่งเดียว ความรุนแรงของความเลวทรามเวลานั้นภายหลังต่ำช้ามาก จนในที่สุดมอรมอนศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่คร่ำครวญกับโมโรไนบุตรชายว่า:

“แต่โอ้ลูกพ่อ, เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้คนเช่นนี้, ซึ่งความเบิกบานของพวกเขาอยู่กับความน่าชิงชังถึงขนาดนั้น—

“เราจะหวังได้อย่างไรว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงยั้งพระหัตถ์ในการพิพากษาลงโทษเรา?”17

ในสมัยการประทานนี้ ถึงแม้เราจะอยู่ในช่วงเวลาพิเศษ แต่โลกไม่ได้รับพรให้มีความชอบธรรมและความเป็นหนึ่งเดียวดังบรรยายไว้ใน 4 นีไฟ เราอยู่ในช่วงเวลาของการแบ่งแยกอย่างรุนแรงเป็นพิเศษ แต่หลายล้านคนที่ยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้อุทิศตนเพื่อจะบรรลุทั้งความชอบธรรมและความเป็นหนึ่งเดียว เราทุกคนรู้ตัวว่าเราทำดีขึ้นได้ และนั่นเป็นความท้าทายของเราในวันนี้ เราสามารถเป็นแรงยกและเป็นพรแก่สังคมโดยรวม ณ จุดสำคัญ 200 ปีนี้ในประวัติศาสนจักรของเรา ขอให้เราอุทิศตนในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเจ้าที่จะดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและเป็นหนึ่งเดียวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันขอให้เรา “แสดงความเป็นสุภาพชน ความปรองดองระหว่างเชื้อชาติกับชาติพันธุ์ และความเคารพกันมากขึ้น”18 นี่หมายถึงการรักกันและรักพระผู้เป็นเจ้า ยอมรับทุกคนเป็นพี่น้อง และเป็นชาวไซอันจริงๆ

เนื่องด้วยหลักคำสอนแบบทุกคนถ้วนหน้าของเรา เราจึงสามารถเป็นโอเอซิสของความเป็นหนึ่งเดียวและเชิดชูความหลากหลาย ความเป็นหนึ่งเดียวและความหลากหลายไม่ใช่สิ่งตรงข้าม เราบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นได้เมื่อเราส่งเสริมบรรยากาศของการยอมรับและเคารพความหลากหลาย ในช่วงที่ข้าพเจ้ารับใช้ในฝ่ายประธานสเตคแซนแฟรนซิสโก แคลิฟอร์เนีย เรามีกลุ่มนมัสการภาษาสเปน ตองกา ซามัว ตากาล็อก และจีนกลาง วอร์ดภาษาอังกฤษของเราประกอบด้วยคนจากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม มีความรัก ความชอบธรรม และความเป็นหนึ่งเดียว

วอร์ดและสาขาในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกำหนดตามภูมิศาสตร์หรือภาษา19 ไม่ใช่ตามเชื้อชาติหรือวัฒนธรรม ไม่มีการระบุเชื้อชาติในบันทึกสมาชิกภาพ

ยุคแรกในพระคัมภีร์มอรมอน ประมาณ 550 ปีก่อนการประสูติของพระคริสต์ เราได้รับการสอนพระบัญญัติพื้นฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุตรธิดาของพระบิดาในสวรรค์ ทุกคนพึงรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า และพระองค์ทรงเชื้อเชิญทุกคนมารับส่วนพระคุณความดีของพระองค์ “และพระองค์ไม่ทรงปฏิเสธผู้ใดที่มาหาพระองค์เลย, ไม่ว่าดำและขาว, ทาสและไท, ชายและหญิง; และพระองค์ทรงคำนึงถึงคนนอกศาสนา; และทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า, ทั้งชาวยิวและคนต่างชาติ”20

การปฏิบัติศาสนกิจและข่าวสารของพระผู้ช่วยให้รอดประกาศเสมอว่าคนทุกเชื้อชาติและสีผิวเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน ในหลักคำสอนของเรา เราเชื่อว่าในสหรัฐซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพสำหรับการฟื้นฟู รัฐธรรมนูญสหรัฐ21และเอกสารที่เกี่ยวข้อง22ซึ่งเขียนโดยคนไม่ดีพร้อม ได้รับการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นพรแก่คนทั้งปวง ตามที่เราอ่านในหลักคำสอนและพันธสัญญา เอกสารเหล่านี้ได้รับการ “สถาปนา, และควรธำรงรักษาไว้เพื่อสิทธิและการคุ้มครอง เนื้อหนังทั้งปวง, ตามหลักธรรมอันเที่ยงธรรมและศักดิ์สิทธิ์”23 สองข้อจากหลักธรรมเหล่านี้คือสิทธิ์เสรีและภาระรับผิดชอบต่อบาปของตน พระเจ้าทรงประกาศว่า:

“ฉะนั้น, จึงไม่ถูกต้องที่มนุษย์คนใดจะอยู่ในความเป็นทาสแก่กัน.

“และเพื่อจุดมุ่งหมายนี้ เราจึงสถาปนารัฐธรรมนูญของแผ่นดินนี้, โดยมือของคนมีปัญญาผู้ที่เรายกขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายนี้เอง, และไถ่แผ่นดินโดยการนองเลือด”24

การเปิดเผยนี้ได้รับในปี 1838 เมื่อวิสุทธิชนในมิสซูรีประสบการข่มเหงอย่างหนัก หัวบทบางส่วนของ หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 101 อ่านว่า: “กลุ่มคนร้ายขับไล่พวกเขาให้จากบ้านของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสัน … การขู่จะเอาชีวิต [สมาชิก] ในศาสนจักรมีมาก”25

นี่เป็นเวลาของความตึงเครียดในหลายๆ ด้าน ชาวมิสซูรีจำนวนมากถือว่าชนพื้นเมืองอเมริกันเป็นศัตรูตัวฉกาจและต้องการกำจัดพวกเขาออกจากแผ่นดิน นอกจากนี้ ผู้ตั้งถิ่นฐานหลายคนในมิสซูรียังเป็นเจ้าของทาสและรู้สึกว่าตนถูกคุกคามจากคนที่คัดค้านระบบทาส

ในทางกลับกัน หลักคำสอนของเราเคารพชนพื้นเมืองอเมริกันและความปรารถนาของเราคือสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้พวกเขา ในเรื่องการเป็นทาส พระคัมภีร์ของเราบอกชัดเจนว่าไม่ควรมีใครเป็นทาสกัน26

ในที่สุดวิสุทธิชนถูกขับไล่อย่างเหี้ยมโหดให้ออกจากมิสซูรี27 จากนั้นก็ถูกบีบให้ย้ายไปตะวันตก28 วิสุทธิชนรุ่งเรืองและพบสันติสุขที่มากับความชอบธรรม ความเป็นหนึ่งเดียว และการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ข้าพเจ้าปลื้มปีติในคำสวดอ้อนวอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่บันทึกไว้ในหนังสือกิตติคุณของยอห์น พระผู้ช่วยให้รอดทรงยอมรับว่าพระบิดาทรงใช้พระองค์มา และว่าพระองค์ซึ่งเป็นพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำงานที่พระบิดาทรงใช้มาเสร็จสิ้นแล้ว พระองค์ทรงสวดอ้อนวอนให้เหล่าสาวกและคนที่จะเชื่อในพระคริสต์: “เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นพระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย”29 ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือสิ่งที่พระคริสต์ทรงสวดอ้อนวอนขอก่อนทรงถูกทรยศและถูกตรึงกางเขน

ในปีแรกหลังการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ดังบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 38 พระเจ้าตรัสถึงสงครามและความชั่วร้าย และทรงประกาศว่า “เรากล่าวแก่เจ้า, จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน; และหากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเจ้าก็มิใช่ของเรา”30

วัฒนธรรมของศาสนจักรเรามาจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ สาส์นของอัครสาวกเปาโลถึงชาวโรมัน ลึกซึ้ง31 ศาสนจักรยุคแรกในโรมประกอบด้วยชาวยิวและคนต่างชาติ ชาวยิวยุคแรกนี้มีวัฒนธรรมยิวและ “ได้รับการปลดแอก เริ่มขยายเผ่าพันธุ์และเจริญรุ่งเรือง”32

คนต่างชาติในโรมมีวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเฮลเลนิสติค ซึ่งอัครสาวกเปาโลเข้าใจดีเพราะประสบการณ์ของท่านที่เอเธนส์และโครินธ์

เปาโลอธิบายพระกิตติคุณของพระ‍เยซู‍คริสต์ครอบคลุมทุกด้าน ท่านบันทึกแง่มุมต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชาวยิวและคนต่างชาติ33ที่ขัดกับพระกิตติคุณที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ โดยหลักๆ แล้วท่านขอให้พวกเขาแต่ละคนทิ้งอุปสรรคทางวัฒนธรรมจากความเชื่อและวัฒนธรรมของตนที่ไม่สอดคล้องกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เปาโลตักเตือนชาวยิวและคนต่างชาติให้รักษาพระบัญญัติ รักกันและกัน และยืนยันว่าความชอบธรรมนำไปสู่ความรอด34

วัฒนธรรมพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไม่ใช่วัฒนธรรมคนต่างชาติหรือวัฒนธรรมชาวยิว ไม่ได้มีสีผิวหรือที่อาศัยเป็นตัวกำหนด แม้เราชื่นชมวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ แต่เราควรทิ้งแง่มุมของวัฒนธรรมเหล่านั้นที่ขัดกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ สมาชิกและผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ของเรามักมาจากภูมิหลังทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมแตกต่างกัน ถ้าเราทำตามคำตักเตือนของประธานเนลสันให้รวบรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจาย เราจะพบว่าเราแตกต่างกันพอๆ กับชาวยิวและคนต่างชาติในสมัยของเปาโล แต่เราเป็นหนึ่งเดียวได้ในความรักและศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ สาส์นของเปาโลถึงชาวโรมันวางหลักธรรมให้เราทำตามวัฒนธรรมและหลักคำสอนของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นต้นแบบให้เราแม้ในทุกวันนี้35 ศาสนพิธีของพระวิหารทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวในวิธีพิเศษและเปิดโอกาสให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกๆ ด้านที่มีความสำคัญนิรันดร์

เรายกย่องสมาชิกผู้บุกเบิกของเราทั่วโลก ไม่ใช่เพราะพวกเขาดีพร้อม แต่เพราะพวกเขาเอาชนะความยากลำบาก เสียสละ มุ่งมาดปรารถนาจะเป็นเหมือนพระคริสต์ และพยายามสร้างศรัทธาและเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระผู้ช่วยให้รอด ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอดทำให้พวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หลักธรรมข้อนี้จริงสำหรับท่านและข้าพเจ้าทุกวันนี้

คำขอร้องอันดังถึงสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือขอให้พากเพียรเป็นชาวไซอันผู้มีใจเดียวและความคิดเดียวและพำนักในความชอบธรรม36

คำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าคือขอให้เราเป็นคนชอบธรรม เป็นหนึ่งเดียวกัน และจดจ่อเต็มที่กับการรับใช้และการนมัสการพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดของเรา ผู้ที่ข้าพเจ้าเป็นพยาน ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27.

  2. การรับใช้สมาชิกของโธมัส เคนถูกพูดถึงมาตลอดว่า “เป็นการเสียสละโดยไม่คำนึงถึงตนเองของนักอุดมคติวัยหนุ่มผู้เห็นความอยุติธรรมอันเนื่องจากคนหมู่มากผู้โหดร้ายและมุ่งร้ายกระทำต่อคนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงทางศาสนา” (คำนำใน Elizabeth Wood Kane, Twelve Mormon Homes Visited in Succession on a Journey through Utah to Arizona, ed. Everett L. Cooley [1974], viii).

  3. ดู Kane, Twelve Mormon Homes, 5.

  4. ดู Kane, Twelve Mormon Homes, 40.

  5. ดู Lowell C. (Ben) Bennion and Thomas R. Carter, “Touring Polygamous Utah with Elizabeth W. Kane, Winter 1872–1873,” BYU Studies, vol. 48, no. 4 (2009), 162.

  6. ดูเหมือนเอลิซาเบธจะสันนิษฐานว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่สมัยนั้นจะให้อาหารเหลือแก่ชาวอเมริกันอินเดียนและปฏิบัติต่อพวกเขาต่างจากแขกคนอื่นๆ

  7. ดู Kane, Twelve Mormon Homes, 64–65. น่าสังเกตว่าชนพื้นเมืองอเมริกันจำนวนมากรวมทั้งหัวหน้าชนเผ่าหลายคนกลายเป็นสมาชิกของศาสนจักร ดู John Alton Peterson, Utah’s Black Hawk War (1998) 61; Scott R. Christensen, Sagwitch: Shoshone Chieftain, Mormon Elder, 1822–1887 (1999), 190–195 ด้วย.

  8. ในสมัยการประทานนี้ “เราจะรวบรวมคนชอบธรรมจากบรรดาประชาชาติทั้งปวง, และจะมาสู่ไซอัน, พลางขับขานบทเพลงแห่งปีติอันเป็นนิจ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:71).

  9. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:3–5. พระคัมภีร์ยกให้การดูแลคนจนและคนขัดสนให้เป็นองค์ประกอบจำเป็นของความชอบธรรม

  10. ดู แอลมา 36:30; ดู 1 นีไฟ 2:20; โมไซยาห์ 1:7. ส่วนสุดท้ายของ แอลมา 36:30 อ่านว่า “ตราบเท่าที่ลูกจะไม่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าลูกจะถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระองค์. บัดนี้นี่เป็นไปตามพระวจนะของพระองค์.”

  11. โมไซยาห์ 2:41. ประธานโลเรนโซ สโนว์ (1814–1901) สอนว่า: “จะไม่มีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคนใดที่สิ้นชีวิตหลังจากดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์แล้วสูญเสียสิ่งใดเพราะไม่ได้ทำบางอย่างที่โอกาสไม่เอื้ออำนวยให้เขาทำ อีกนัยหนึ่ง ถ้าชายหนุ่มหรือหญิงสาวไม่มีโอกาสแต่งงาน และพวกเขาดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์จนถึงวันที่พวกเขาสิ้นชีวิต พวกเขาจะได้รับพรทุกประการ ความสูงส่งและรัศมีภาพที่ชายหรือหญิงใดจะมีได้ถ้าพวกเขามีโอกาสนี้และปรับปรุงโอกาส นั่นเป็นสิ่งที่แน่นอนและเชื่อถือได้” (คำสอนของประธานศาสนจักร: โลเรนโซ สโนว์ [2012], 130). ดู ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “ความสุขจากการดำเนินชีวิตตามแผนแห่งความสุขอันยิ่งใหญ่,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 87.

  12. ดู 1 ยอห์น 5:2.

  13. โมไซยาห์ 18:21; ดู โมเสส 7:18 ด้วย.

  14. 4 นีไฟ 1:16.

  15. 4 นีไฟ 1:15.

  16. 4 นีไฟ 1:24.

  17. โมโรไน 9:13–14.

  18. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน ใน “First Presidency and NAACP Leaders Call for Greater Civility, Racial Harmony,” May 17, 2018, newsroom.ChurchofJesusChrist.org; ดู “President Nelson Remarks at Worldwide Priesthood Celebration,” June 1, 2018, newsroom.ChurchofJesusChrist.org ด้วย.

  19. หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:11 อ่านว่า “มนุษย์ทุกคนจะได้ยินความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณ … และในภาษาของเขาเอง” ด้วยเหตุนี้จึงมักอนุมัติให้มีกลุ่มนมัสการภาษาต่างๆ

  20. 2 นีไฟ 26:33.

  21. ดู รัฐธรรมนูญของสหรัฐ.

  22. ดู United States Declaration of Independence (1776); Constitution of the United States, Amendments I–X (Bill of Rights), National Archives website, archives.gov/founding-docs.

  23. หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:77; เน้นตัวเอน.

  24. หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:79–80.

  25. หลักคำสอนและพันธสัญญา 101, หัวบทภาค.

  26. ดู Saints: The Story of the Church of Jesus Christ in the Latter Days, vol. 1, The Standard of Truth, 1815–1846 (2018), 172–74; James B. Allen and Glen M. Leonard, The Story of the Latter-day Saints, 2nd ed. (1992), 93–94; Ronald W. Walker, “Seeking the ‘Remnant’: The Native American during the Joseph Smith Period,” Journal of Mormon History vol. 19, no. 1 (Spring 1993): 14–16.

  27. ดู Saints, 1:359–83; William G. Hartley, “The Saints’ Forced Exodus from Missouri, 1839,” in Richard Neitzel Holzapfel and Kent P. Jackson, eds., Joseph Smith, the Prophet and Seer (2010), 347–89; Alexander L. Baugh, “The Mormons Must Be Treated as Enemies,” in Susan Easton Black and Andrew C. Skinner, eds., Joseph: Exploring the Life and Ministry of the Prophet (2005), 284–95.

  28. ดู Saints: The Story of the Church of Jesus Christ in the Latter Days, vol. 2, No Unhallowed Hand, 1846–1893 (2020), 3–68; Richard E. Bennett, We’ll Find the Place: The Mormon Exodus, 1846–1848 (1997); William W. Slaughter and Michael Landon, Trail of Hope: The Story of the Mormon Trail (1997).

  29. ยอห์น 17:21.

  30. หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27.

  31. สาส์นถึงชาวโรมันครอบคลุมการประกาศหลักคำสอน ในพันธสัญญาใหม่มีเฉพาะหนังสือโรมเท่านั้นที่พูดถึงการชดใช้ ข้าพเจ้าเริ่มซาบซึ้งกับสาส์นถึงชาวโรมันเรื่องการผนึกผู้คนเป็นหนึ่งเดียวผ่านพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เมื่อข้าพเจ้ารับใช้เป็นประธานสเตคกับสมาชิกจากหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมซึ่งพูดภาษาต่างๆ กัน

  32. Frederic W. Farrar, The Life and Work of St. Paul (1898), 446.

  33. ดู Farrar, The Life and Work of St. Paul, 450.

  34. ดู โรม 13.

  35. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “วัฒนธรรมพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, มี.ค. 2012, 22–25; ดู Richard G. Scott, “Removing Barriers to Happiness,” Ensign, Apr. 1998, 85–87 ด้วย.

  36. ดู โมเสส 7:18.