เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 13: พันธสัญญาบัพติศมา สะบาโต และศีลระลึก


บทที่ 13

พันธสัญญาบัพติศมา สะบาโต และศีลระลึก

คำนำ

โดยผ่านศาสนพิธีแห่งบัพติศมา ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ทำพันธสัญญาว่าจะรับพระนามของพระองค์ไว้กับพวกเขา ในบทนี้ นักเรียนจะเรียนรู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนสอนว่าสมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์ต้องมารวมกันในวันสะบาโตและชื่นชมสิทธิพิเศษอันศักดิ์สิทธิ์ของการรับส่วนศีลระลึก เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราต่อพันธสัญญาบัพติศมาของเราและเชื้อเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้อยู่กับเรา

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • แอล. ทอม เพอร์รีย์, “สะบาโตและศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011 หน้า 6–10

  • รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “สะบาโตคือวันปีติยินดี,”   เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 129–132

  • ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 21–25

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 18:8–10; 25:23–24

การรับพระนามของพระคริสต์ไว้กับตัวเรา

ขอให้นักเรียนสองสามคนบอกสิ่งที่มีความหมายและที่พวกเขาจำได้เกี่ยวกับบัพติศมาของพวกเขา—ตัวอย่างเช่น พิธีบัพติศมา ศาสนพิธีบัพติศมา หรือความคิดและความรู้สึกที่พวกเขามี จากนั้นให้เวลานักเรียนไตร่ตรองครู่หนึ่งว่าพวกเขารู้สึกดีเพียงใดที่ได้รักษาพันธสัญญาบัพติศมา

เตือนนักเรียนว่าแอลมาสอนเรื่องพันธสัญญาบัพติศมาที่ผืนน้ำแห่งมอรมอน จากนั้นขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 18:8–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่าเราทำพันธสัญญาจะทำอะไรเมื่อเรารับบัพติศมา

เขียนบน กระดาน ดังนี้

เมื่อเรารับบัพติศมา เราทำพันธสัญญาว่า …

  • เราทำพันธสัญญาอะไรเมื่อเรารับบัพติศมา (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานเพื่อเติมข้อความให้สมบูรณ์ เมื่อเรารับบัพติศมา เราทำพันธสัญญาว่าจะแบกภาระของกันและกัน ยืนเป็นพยานของพระผู้เป็นเจ้า รับใช้พระองค์ และรักษาพระบัญญัติของพระองค์)

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของพระคัมภีร์ข้อถัดไปโดยอธิบายว่าหลังจากแอลมากับผู้คนของเขาไปสมทบกับผู้เชื่อในเซราเฮ็มลา แอลมาจึงจัดตั้งที่ชุมนุมของผู้เชื่อ เชิญนักศึกษาสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมไซยาห์ 25:23–24 และขอให้ชั้นเรียนมองหาข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพันธสัญญาบัพติศมาของเรา หลังจากนักเรียนสนทนาสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามว่า

  • ผู้คนได้รับพรเนื่องด้วยการรับบัพติศมาและการเข้าร่วมศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร (ช่วยให้นักเรียนเห็นหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรารับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเราและดำเนินชีวิตตามนั้น พระเจ้าจะทรงเทพระวิญญาณของพระองค์ลงมาให้เรา)

  • เมื่อท่านดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาบัพติศมา ชีวิตท่านได้รับผลอย่างไรจากการเทพระวิญญาณของพระเจ้าลงมาให้ท่าน

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพันธสัญญาบัพติศมาจะเพิ่มพลังความมุ่งมั่นของพวกเขาว่าจะเป็นผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ในการตัดสินใจและการกระทำของพวกเขาได้อย่างไร

อพยพ 31:13, 16–17; โมไซยาห์ 18:17, 23–25; โมโรไน 6:4–6

การนมัสการในวันสะบาโต

อธิบายว่าพระคัมภีร์มอรมอนแสดงให้เห็นวิธีการบางอย่างที่สมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์จะรักษาพันธสัญญาบัพติศมา

มอบหมายให้นักเรียนครึ่งห้องศึกษา โมไซยาห์ 18:17, 23–25 ส่วนอีกครึ่งห้องศึกษา โมโรไน 6:4–6 เสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำหรือวลีที่พูดถึงการนมัสการที่ผู้ติดตามพระคริสต์ถือปฏิบัติ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

  • สมาชิกมารวมกันบ่อยๆ ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง (นักเรียนควรระบุถึงความจริงต่อไปนี้: เมื่อเราเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์ เราได้รับบัญชาให้ถือปฏิบัติวันสะบาโตและรักษาให้ศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เราต้องประชุมกันบ่อยๆ เพื่อรับการบำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า อดอาหาร สวดอ้อนวอน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กัน และรับส่วนศีลระลึก)

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“คนส่วนใหญ่ไม่ได้มาโบสถ์เพียงเพื่อมองหาข้อเท็จจริงใหม่ๆ ของพระกิตติคุณหรือมาหาเพื่อนเก่า แม้ทั้งหมดนี้จะสำคัญ พวกเขามาแสวงหาประสบการณ์ทางวิญญาณ พวกเขาต้องการสันติสุข พวกเขาต้องการเสริมสร้างศรัทธาและมีความหวังขึ้นมาใหม่ สรุปคือ พวกเขาต้องการการบำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า และเข้มแข็งขึ้นด้วยอำนาจของสวรรค์” (“ครูที่มาจากพระเจ้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 29)

  • การมารวมกับสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ ในวันสะบาโตช่วยให้ท่านรู้สึก “เข้มแข็งขึ้นด้วยอำนาจของสวรรค์” อย่างไร

  • ท่านทำอะไรที่โบสถ์เพื่อให้ตนเองใกล้ชิดและนมัสการพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างถูกวิธีมากขึ้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าเหตุใดสมาชิกศาสนจักรจึงได้รับบัญชาให้ถือปฏิบัติวันสะบาโตและรักษาให้ศักดิ์สิทธิ์ เชิญพวกเขาอ่าน อพยพ 31:13, 16–17 และทำการอ้างโยงกับ โมไซยาห์ 18:23

  • สะบาโตเป็น “หมายสำคัญ” ระหว่างเรากับพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“เราจะรักษาวันสะบาโต ให้บริสุทธิ์ ได้อย่างไร ในสมัยที่ข้าพเจ้ายังหนุ่ม ข้าพเจ้าศึกษางานของผู้อื่นที่รวบรวมรายการสิ่งที่ทำได้และสิ่งที่ทำ ไม่ได้ ในวันสะบาโต ภายหลังข้าพเจ้าจึงเรียนรู้จากพระคัมภีร์ว่าพฤติกรรมและเจตคติของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตนั้นเป็น หมายสำคัญ ระหว่างข้าพเจ้ากับพระบิดาบนสวรรค์ ด้วยความเข้าใจนั้น ข้าพเจ้าไม่ต้องใช้รายการสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้อีกต่อไป เมื่อข้าพเจ้าต้องตัดสินใจว่ากิจกรรมนี้เหมาะสมสำหรับวันสะบาโตหรือไม่ ข้าพเจ้าเพียงถามตนเองว่า ‘ข้าพเจ้าต้องการถวาย หมายสำคัญ อะไรแด่พระผู้เป็นเจ้า’ คำถามนั้นทำให้การเลือกของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตชัดเจนมาก” (“สะบาโตคือวันปีติยินดี,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 130)

  • การถามตัวเราเองว่า “ฉันต้องการถวาย หมายสำคัญ อะไรแด่พระผู้เป็นเจ้า” ช่วยให้เราทำการเลือกได้ดีขึ้นอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำในวันสะบาโต

  • ท่านคิดว่าการพยายามรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์มีผลต่อวันอื่นๆ ของสัปดาห์อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนประเมินความพยายามของพวกเขาในการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ ขอให้พวกเขาพิจารณาว่าความนึกคิดและการกระทำของพวกเขาแสดงออกซึ่งการนมัสการพระบิดาอย่างจริงใจในวันนั้นหรือไม่ เชื้อเชิญให้นักเรียนตั้งเป้าหมายเฉพาะเจาะจงเพื่อปรับปรุงการนมัสการในวันสะบาโตของพวกเขา

3 นีไฟ 18:1–11; 20:3–9; โมโรไน 4:3; 5:2

การรับส่วนศีลระลึก

บน กระดานให้เขียนข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ (1922–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (จาก “เมื่อเรารับศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 48)

“การรับส่วนศีลระลึกให้ช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์แก่เราในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” (เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์)

  • แนวคิดเรื่อง “ช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์” และ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” จะมีอิทธิพลต่อความนึกคิดและการกระทำของเราอย่างไรขณะที่เรารับส่วนศีลระลึก

เตือนนักเรียนว่าพระเยซูคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงจัดตั้งศีลระลึกเมื่อพระองค์เสด็จเยือนชาวนีไฟในดินแดนอุดมมั่งคั่ง เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 18:1–11 ขณะชั้นเรียนหาดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์ของศีลระลึก

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนหลักธรรมอะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์ของศีลระลึก (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเรารับส่วนศีลระลึกและระลึกถึงพระเยซูคริสต์ตลอดเวลา เราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเรา)

  • ท่านทำอะไรเพื่อระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดขณะรับส่วนศีลระลึกและระหว่างวันที่เหลือของสัปดาห์

เตือนนักเรียนว่าโมโรไนบันทึกถ้อยคำที่ผู้ติดตามพระคริสต์ใช้เมื่อให้พรศีลระลึก ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกใน โมโรไน 4:3 และ 5:2 ขีดเส้นใต้วลีที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมบนกระดาน

  • อาจจะเกิดผลอะไรถ้าเราไม่ “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา” (โมโรไน 4:3; 5:2)

เตือนนักเรียนว่าเมื่อพระเยซูเสด็จเยือนชาวนีไฟในวันหลังจากพระองค์ทรงจัดตั้งศีลระลึก พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนพิธีดังกล่าวกับพวกเขาอีกครั้ง เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 20:3–9 ขอให้ชั้นเรียนมองหาพรเพิ่มเติมที่มาจากการรับส่วนศีลระลึก

  • จิตวิญญาณของเรา “จะไม่หิวหรือกระหาย, แต่จะอิ่ม” หมายความว่าอย่างไร

  • การรับส่วนศีลระลึกสนองความหิวกระหายทางวิญญาณของท่านในด้านใด

  • การรับส่วนศีลระลึกด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความสำนึกคุณจะช่วยให้เราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้นระหว่างวันที่เหลือของสัปดาห์อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาความประพฤติของพวกเขาระหว่างพิธีศีลระลึกขณะที่นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ระหว่างการประชุมศีลระลึก—และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างพิธีศีลระลึก—เราควรตั้งใจจดจ่ออยู่กับการนมัสการและละเว้นจากกิจกรรมอื่นทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพฤติกรรมที่อาจรบกวนการนมัสการของผู้อื่น … การประชุมศีลระลึกไม่ใช่เวลาอ่านหนังสือหรือนิตยสาร หนุ่มสาวทั้งหลาย นี่ไม่ใช่เวลาสำหรับกระซิบคุยกันทางโทรศัพท์มือถือหรือส่งข้อความถึงคนที่อยู่ที่อื่น เมื่อเรารับส่วนศีลระลึกเราทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ว่าเราจะระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา ช่างน่าเศร้าที่ได้เห็นคนละเมิดพันธสัญญานั้นอย่างชัดเจนในการประชุมเดียวกันกับที่พวกเขาทำพันธสัญญา” (“การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 22)

เมื่อท่านพิจารณาถึงความต้องการของนักเรียนและการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ ท่านอาจจะอ่าน มาระโก 14:37 กับพวกเขาและชี้ให้เห็นว่าข้อนี้ประยุกต์ใช้กับเราได้อย่างหนึ่งคือเราต้องตัดสิ่งรบกวนทั้งหมดออกไปและให้ความสนใจพระเจ้าเต็มที่ทุกสัปดาห์ขณะนมัสการในการประชุมศีลระลึก

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเมื่อรับส่วนศีลระลึก ถามว่ามีใครต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับความสำคัญของวันสะบาโตและศีลระลึกบ้าง แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระเจ้าจะประทานพรเราด้วยพระวิญญาณของพระองค์เมื่อเราให้เกียรติพันธสัญญาบัพติศมาและพยายามระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน