เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 10: การสวดอ้อนวอนและการเปิดเผย


บทที่ 10

การสวดอ้อนวอนและการเปิดเผย

คำนำ

การสวดอ้อนวอนเป็นสิทธิพิเศษอันศักดิ์สิทธิ์และพระบัญญัติที่ยอมให้เราได้สื่อสารกับพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเรา พระองค์ทรงได้ยินและทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา คนที่หมั่นแสวงหาการนำทางจากพระเจ้าจะได้รับพรด้วยการเปิดเผยส่วนตัว บทเรียนนี้จะเน้นสิ่งที่เราทำได้เพื่อเตรียมใจและความคิดเราให้พร้อมรับคำตอบของการสวดอ้อนวอน

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • บอยด์ เค. แพคเกอร์, The Candle of the Lord, Ensign, Jan. 1983, 51–56

  • ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “วิธีได้รับการเปิดเผยและการดลใจในชีวิตส่วนตัวของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 45–47

  • เดวิด เอ. เบดนาร์, “วิญญาณแห่งการเปิดเผย,” เลียโฮนา พ.ค. 2011, 109–113

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 32:8–9; 3 นีไฟ 14:7–11

พระผู้เป็นเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเรา

ขอให้นักเรียนเขียนวิธีการบางอย่างที่เราสามารถใช้เทคโนโลยีสื่อสารกับคนอื่น เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน

  • ถึงแม้เทคโนโลยียอมให้เราสื่อสารได้กับแทบทุกคนที่เราเลือก เหตุใดบางครั้งเราจึงสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับพระบิดาบนสวรรค์ได้ยาก

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 14:7–11 ขณะชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับความเต็มพระทัยของพระบิดาบนสวรรค์ในการตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนหลักธรรมอะไรเกี่ยวกับความเต็มพระทัยของพระบิดาบนสวรรค์ในการตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา (คำตอบของนักเรียนควรรวมหลักธรรมต่อไปนี้: พระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินและทรงตอบเราเมื่อเราขอ หา และเคาะ)

เพื่อให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ลึกซึ้งขึ้น ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“ไม่มีอำนาจใดบนแผ่นดินโลกสามารถแยกเราจากการเข้าถึงพระผู้สร้างของเราโดยตรงได้ ไม่มีความล้มเหลวทางกลไกหรืออิเล็กทรอนิกส์เมื่อเราสวดอ้อนวอน ไม่มีการจำกัดจำนวนหรือระยะเวลาที่เราจะสวดอ้อนวอนได้ในแต่ละวัน ไม่มีการจำกัดจำนวนสิ่งที่เราทูลขอในการสวดอ้อนวอนแต่ละครั้ง เราไม่จำเป็นต้องผ่านเลขานุการหรือทำนัดหมายเพื่อจะเข้าไปถึงบังลังก์แห่งพระคุณ เราเข้าไปเฝ้าพระองค์เมื่อไรก็ได้ ที่ใดก็ได้” (“การสวดอ้อนวอนเป็นเสมือนเชือกช่วยชีวิต,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 69)

  • ท่านจะพูดอะไรเพื่อช่วยคนที่ไม่สวดอ้อนวอนบ่อยๆ เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงได้ยินหรือทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 32:8–9 และขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่นีไฟสอนเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน ท่านอาจจะถามคำถามดังต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่า “สวดอ้อนวอนเสมอ” หมายความว่าอย่างไร

  • ท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไรของคนที่สวดอ้อนวอนเสมอ บุคคลนี้ได้รับพรเพราะการปฏิบัติเช่นนั้นอย่างไร

  • สิ่งนี้มีความหมายอะไรต่อท่านที่พระเจ้าจะทรง “อุทิศ” ความพยายามของท่านเพื่อความผาสุกของจิตวิญญาณท่านเมื่อท่านสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ (อาจช่วยได้ถ้าชี้ให้เห็นว่า อุทิศ บางอย่างหมายถึงอุทิศสิ่งนั้นเพื่อจุดประสงค์พิเศษหรือศักดิ์สิทธิ์หรือทำให้สิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์)

กระตุ้นให้นักเรียนหมั่นสวดอ้อนวอนเสมอ รับรองกับพวกเขาว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาและทรงปรารถนาจะประทานพรพวกเขา

1 นีไฟ 10:17–19; 15:1–3, 7–11; เจคอบ 4:6; แอลมา 26:22

ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ทุกคนสามารถรับการเปิดเผยส่วนตัวได้

ขอให้นักเรียนเขียนคำถามหรือสภาวการณ์ที่คนหนุ่มสาวอาจปรารถนาการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้า

เตือนนักเรียนเรื่องความฝันของลีไฮเกี่ยวกับต้นไม้แห่งชีวิต และชี้ให้เห็นว่าหลังจากนีไฟได้ยินเรื่องความฝันที่ได้รับการดลใจนี้ ท่านปรารถนาจะเรียนรู้มากขึ้น ขอให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 10:17–19 ขอให้ชั้นเรียนดูว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการเปิดเผย รวมถึงคนที่มีสิทธิ์รับการเปิดเผย

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการเปิดเผยส่วนตัว (พึงแน่ใจว่านักเรียนค้นพบหลักคำสอนต่อไปนี้: พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยความจริงโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ต่อทุกคนที่เพียรพยายามเพื่อให้รู้

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“[วิญญาณของการเปิดเผย] มิได้จำกัดไว้ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมของศาสนจักรเท่านั้น แต่เป็นของชาย หญิง รวมทั้งเด็กทุกคนผู้ถึงวัยที่รับผิดชอบได้ และเข้าสู่พันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ และควรเกิดผลในชีวิตคนเหล่านั้น ความปรารถนาที่จริงใจและความมีค่าควรเชื้อเชิญวิญญาณแห่งการเปิดเผยเข้ามาในชีวิตเรา” (“วิญญาณแห่งการเปิดเผย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 110)

  • เหตุใดความเข้าใจอันลึกซึ้งดังกล่าวจากเอ็ลเดอร์เบดนาร์จึงให้กำลังใจท่าน

อธิบายว่าเพราะความปรารถนา ความมีค่าควร และศรัทธาของนีไฟ ท่านจึงเห็นนิมิตของต้นไม้แห่งชีวิตด้วย (ดู 1 นีไฟ 11–14) ชี้ให้เห็นเช่นกันว่าการตอบสนองของเลมันกับเลมิวเอลต่อนิมิตของบิดาต่างจากของนีไฟมาก ขอให้นักเรียนสองคนอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 15:1–3, 7–9 เชิญให้ชั้นเรียนดูตามและพิจารณาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อเหล่านี้

  • อะไรสำคัญต่อท่านมากที่สุดในข้อเหล่านี้

ขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 15:10–11 ท่านอาจจะชี้ให้นักเรียนเห็นว่า ข้อ 11 เป็นตัวอย่างข้อความ “หาก-เมื่อนั้น” ในพระคัมภีร์ เขียนคำต่อไปนี้บน กระดาน และถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเติมคำในช่องว่างโดยอ้างอิงกับสิ่งที่อ่านใน ข้อ 10–11อย่างไร

หาก เมื่อนั้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนทำการอ้างโยง ข้อ 11 กับ แอลมา 26:22 แล้วถามว่า

  • ท่านจะใช้สิ่งที่สอนใน 1 นีไฟ 15:10–11 และ แอลมา 26:22 สอนคนบางคนให้รู้วิธีแสวงหาคำตอบสำหรับการสวดอ้อนวอนของเขาอย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เจคอบ 4:6 และเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูว่านอกจากทูลขอด้วยศรัทธาแล้วผู้คนของเจคอบทำอะไรเพื่อเชื้อเชิญการเปิดเผย ท่านอาจต้องการอธิบายว่า “เราค้นหาศาสดาพยากรณ์” หมายถึงการอ่านถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ทั้งในสมัยโบราณและยุคสุดท้ายจึงสามารถนำไปสู่การได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า

ให้ดูและอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“เมื่อเราต้องการพูดกับพระผู้เป็นเจ้า เราสวดอ้อนวอน และเมื่อเราต้องการให้พระองค์ตรัสกับเรา เราค้นคว้าพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระคำของพระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ จากนั้นพระองค์จะทรงสอนเราขณะที่เราฟังการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์

“หากท่านไม่ได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ตรัสกับท่านในระยะนี้ ให้กลับไปเริ่มอ่านและฟังพระคัมภีร์ พระคัมภีร์คือเส้นชีวิตทางวิญญาณของเรา” (“พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์: อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอันไปสู่ความรอดของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 32)

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความท้าทายหรือการตัดสินใจที่พวกเขาเผชิญอยู่ ขอให้พวกเขาพิจารณาว่าพวกเขาทูลถามพระเจ้าในการสวดอ้อนวอนและหันไปหาคำตอบในพระคัมภีร์หรือไม่

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นตัวอย่างวิธีที่พระเจ้าประทานการเปิดเผยส่วนตัวแก่เรา ให้เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บน กระดาน

1 นีไฟ 4:6

1 นีไฟ 8:2

เจคอบ 7:5

อีนัส 1:10

ฮีลามัน 13:5

3 นีไฟ 11:3

มอบหมายให้นักเรียนคนละข้อ ขอให้นักเรียนอ่านข้อที่มอบหมายและหาวิธีหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานการเปิดเผยส่วนตัวแก่บุตรธิดาของพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบ ขณะพิจารณาความจำเป็นของนักเรียน ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924–2015) และเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“พระวิญญาณไม่ทรงเรียกร้องความสนใจของเราโดยตะโกนหรือเขย่าตัวเราแรงๆ แต่ทรงกระซิบ ทรงสัมผัสนุ่มนวลมากจนถ้าเรากังวลอยู่กับเรื่องหนึ่งเราอาจไม่รู้สึกเลย …

“บางคราวจะบีบเราหนักพอจนเราต้องเอาใจใส่ แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าเราไม่เอาใจใส่ความรู้สึกนุ่มนวลนั้น พระวิญญาณจะทรงถอนตัวและรอจนกว่าเราจะมาขอ ฟัง และทูลด้วยคำพูดและกิริยาอาการเหมือนซามูเอลในสมัยโบราณว่า ‘ขอตรัสเถิด เพราะผู้รับใช้ของพระองค์คอยฟังอยู่’ (1 ซมอ. 3:10)” (The Candle of the Lord, Ensign, Jan. 1983, 53).

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“คำตอบของพระองค์มักจะไม่มาขณะที่ท่านคุกเข่าสวดอ้อนวอน ถึงแม้ท่านอาจวิงวอนขอคำตอบทันที แต่พระองค์จะทรงกระตุ้นท่านในเวลาที่เงียบสงบเมื่อพระวิญญาณทรงสัมผัสความคิดและจิตใจท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ท่านควรหาช่วงเวลาเงียบๆ เพื่อนึกถึงเวลาที่ท่านได้รับคำแนะนำและความเข้มแข็ง” (“การใช้ของประทานอันสูงส่งแห่งการสวดอ้อนวอน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 10–11)

เตือนนักเรียนว่าเราไม่เลือกว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเปิดเผยความจริงต่อเราอย่างไร แต่เมื่อเราปฏิบัติด้วยศรัทธา เท่ากับเราเตรียมใจและความคิดให้พร้อมรับการเปิดเผยมากขึ้น เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับการปิดเผยส่วนตัวอย่างไรถ้าประสบการณ์นั้นไม่เป็นส่วนตัวหรือศักดิ์สิทธิ์มากเกินไป

1 นีไฟ 18:1–3; 2 นีไฟ 28:30; แอลมา 12:9–11

การรับและกระทำตามการเปิดเผย

ขอให้นักเรียนเปรียบเทียบ 2 นีไฟ 28:30 กับ แอลมา 12:9-11 ในใจและระบุหลักธรรมที่จะช่วยให้พวกเขาได้รับการเปิดเผยส่วนตัวเพิ่มขึ้น

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรที่จะช่วยให้เราได้รับการเปิดเผยส่วนตัวเพิ่มขึ้น (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงต่อเราโดยขึ้นอยู่กับว่าเราเอาใจใส่พระวจนะของพระองค์ด้วยความขยันหมั่นเพียรเพียงไร การเปิดเผยมักจะมาถึงเราเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงเรียกร้องให้เราเชื่อฟังสิ่งที่พระองค์ทรงเปิดเผยต่อเราแล้วก่อนจะทรงเปิดเผยความรู้เพิ่ม

  • การเปิดเผยมาถึงเรา “เป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด” หมายความว่าอย่างไร

เมื่อเวลาเอื้ออำนวย ท่านอาจจะสนทนา 1 นีไฟ 18:1–3 กับชั้นเรียนเพื่อดูว่านีไฟได้รับการเปิดเผยเพิ่มขึ้นอย่างไรเพื่อให้รู้วิธีต่อเรือ

ให้ดูและขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ส่วนใหญ่แล้ว การเปิดเผยเพิ่มเติมมาทีละน้อยตามเวลาและประทานให้ตามความปรารถนา ความมีค่าควร และการเตรียมพร้อมของเรา การสื่อสารจากพระบิดาบนสวรรค์เช่นนั้นค่อยๆ ‘กลั่นลงมาบน [จิตวิญญาณของเรา] ดังหยาดน้ำค้างจากฟ้าสวรรค์’ (คพ. 121:45) แบบแผนของการเปิดเผยเช่นนี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้ทั่วไป” (“วิญญาณแห่งการเปิดเผย,” 110)

  • เมื่อท่านนึกถึงชีวิตที่ผ่านมา พระเจ้าทรงชี้นำท่านเพิ่มขึ้นในการตัดสินใจหรือแสวงหาความเข้าใจจากพระองค์อย่างไร

สรุปบทเรียนโดยให้ดูและขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“หากผู้ใดในเราช้าที่จะเอาใจใส่คำแนะนำให้สวดอ้อนวอนเสมอ ไม่มีโมงใดดีกว่าที่จะเริ่มเสียแต่บัดนี้ วิลเลียม คาวเปอร์ประกาศว่า ‘ซาตานสะทกสะท้านเมื่อเขาเห็นวิสุทธิชนที่อ่อนแอที่สุดคุกเข่า’ [‘Exhortation to Prayer,’ ใน Olney Hymns]” (“ปุโรหิตหลวง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 78)

ขอให้นักเรียนนึกถึงการพยายามสวดอ้อนวอนของพวกเขาในชีวิตประจำวันเมื่อเร็วๆ นี้ กระตุ้นให้พวกเขาปฏิบัติตามหลักธรรมที่สนทนาในบทนี้เพื่อเชื้อเชิญการเปิดเผยส่วนตัวเพิ่มขึ้นผ่านการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์ เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันว่าพวกเขารู้อย่างไรว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอน แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเราจะทรงดลใจเราด้วยความเข้าใจและการนำทางถ้าเราเตรียมตนเองให้พร้อมรับ

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน