เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 12: ความจำเป็นของการเกิดใหม่ทางวิญญาณ


บทที่ 12

ความจำเป็นของการเกิดใหม่ทางวิญญาณ

คำนำ

จากพระคัมภีร์มอรมอนเราเรียนรู้ว่า “มนุษย์ปุถุชนเป็นศัตรูต่อพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 3:19) ในบทนี้นักเรียนได้รับการสอนว่าโดยผ่านการกลับใจและการใช้ศรัธาในพระเยซูคริสต์ เราสามารถเอาชนะความเป็นมนุษย์ปุถุชน “เกิดใหม่” และประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต่อการเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • เดวิด เอ. เบดนาร์, “การชดใช้และการเดินทางของความเป็นมรรตัย,” เลียโฮนา, เม.ย. 2012, 40–47

  • ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “การเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 91–95

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 3:19; 16:2–5; แอลมา 41:10–11

การทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชน

บน กระดานให้เขียนข้อความต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) อ้างอิงจาก Tothe Rising Generation,’” New Era, June 1986, 5

“ท่านจะทำผิดและรู้สึกถูกไม่ได้ เป็นไปไม่ได้!” (ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน)

  • เหตุใดจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความสุขเมื่อเลือกผิด

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 41:10–11 ขณะชั้นเรียนมองหาผลของความชั่วร้าย (เน้นความจริงต่อไปนี้: ความชั่วร้ายไม่เคยเป็นความสุขเลย)

  • มีการหลอกลวงอะไรบ้างที่ซาตานใช้ทำให้เราเชื่อมั่นว่าการฝ่าฝืนพระบัญญัตินำไปสู่ความสุข

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 การอยู่ใน “สภาพแห่งธรรมชาติ” หมายถึงอะไร (การอยู่ “ในสภาพทางเนื้อหนัง” “ในดีแห่งความขมขื่นและพันธนาการแห่งความชั่วช้าสามานย์” และ “ไม่มีพระผู้เป็นเจ้า”)

  • แอลมา 41:10–11 ช่วยอธิบายอย่างไรว่าเหตุใดการทำบาปจึงไม่อาจนำไปสู่ความสุข (บาปตรงข้ามกับธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้า และ “ธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้า” คือ “ธรรมชาติของความสุข”)

เตือนนักเรียนว่าเราทุกคนสืบทอดผลการตกของอาดัม ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 16:2–5 ขณะชั้นเรียนระบุคำและวลีที่พูดถึงสภาพที่หลงไปของมนุษย์

  • อบินาไดใช้คำและวลีใดพูดถึงสภาพที่หลงไปของมนุษย์

  • อะไรคือความหมายของคำว่า “ดื้อรั้น” ใน ข้อ 5 (หมายเหตุ: การระบุคำสำคัญเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่ท่านอาจจะเลือกเน้นตรงนี้)

  • อะไรทำให้เราได้รับการไถ่จากสภาพที่หลงไปและเต็มไปด้วยบาป

ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 3:19 ในใจและดูว่าเราจะเอาชนะสภาพที่หลงไปของเราได้อย่างไร

  • “ยอมต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” หมายความว่าอย่างไร

  • เราต้องทำอะไรเพื่อ “ทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชน” (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และใช้เดชานุภาพของการชดใช้ เราสามารถทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนได้)

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาหลักฐานที่พวกเขาเคยเห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถเปลี่ยนเราให้เป็นคนดีกว่าที่เราจะเป็นได้ด้วยตัวเราเอง ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันความเข้าใจของพวกเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ในใจ

  • ท่านจะทำอะไรบ้างเพื่อ “[ยอม] ต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

  • ท่านจำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะใดของเด็กตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 3:19 มากที่สุด

โมไซยาห์ 5:1–5, 7–8; 27:24–26

การเกิดใหม่

ขอให้นักเรียนเขียนชื่อคนในพระคัมภีร์มอรมอนที่พบกับการเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยของตนเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เตือนนักเรียนว่าครั้งหนึ่งแอลมาผู้บุตรและพวกบุตรของโมไซยาห์อยู่ในบรรดาคนไม่เชื่อในเซราเฮ็มลาผู้ข่มเหงสมาชิกศาสนจักร (ดู โมไซยาห์ 27:8) หลังจากการเยือนของเทพ แอลมาหมดสิ้นเรี่ยวแรงและไม่สามารถพูดได้ สามวันต่อมา แอลมามีเรี่ยวแรงเหมือนเดิมและท่านเป็นพยานถึงการเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นภายในท่าน (ดู โมไซยาห์ 27:11–24)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 27:24–26 ขณะชั้นเรียนหาดูว่าแอลมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์ครั้งนี้ว่าอย่างไร

  • คำและวลีใดในข้อเหล่านี้ช่วยนิยามความหมายของการเกิดใหม่

  • ข้อ 26 ช่วยอธิบายอย่างไรว่าเหตุใดจึงต้องเกิดใหม่ (นักเรียนพึงเข้าใจความจริงนี้: โดยการเป็นคนใหม่ในพระคริสต์เท่านั้นที่เราจะได้อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมรดก)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราเกิดใหม่ทางวิญญาณ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 5:1–5, 8 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำหรือวลีที่บ่งบอกว่าผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินพบกับการเกิดใหม่ทางวิญญาณ

  • ท่านพบหลักฐานอะไรที่ยืนยันว่าผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินประสบการเปลี่ยนแปลงทางวิญญาณแล้ว (คำตอบควรได้แก่ พวกเขาไม่มีใจจะทำความชั่วอีก พวกเขาปรารถนาจะทำความดีโดยตลอด ความคิดของพวกเขากระจ่าง พวกเขาเปี่ยมด้วยปีติและเต็มใจทำพันธสัญญากับพระเจ้า)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 และ 4 เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจ” (นักเรียนควรระบุหลักธรรมนี้: เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และได้รับพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เราจะประสบการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจ)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงขณะชั้นเรียนดูว่าเอ็ลเดอร์เบดนาร์อธิบายการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจว่าอย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“โปรดสังเกตว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่อธิบายไว้ใน [โมไซยาห์ 5] ลึกล้ำ ไม่เล็กน้อยเลย—การเกิดใหม่ทางวิญญาณและการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของสิ่งที่เรารู้สึกและปรารถนา สิ่งที่เราคิดและทำ และสิ่งที่เราเป็น โดยแท้แล้ว เนื้อแท้ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นพื้นฐานถาวรในธรรมชาติวิสัยของเราซึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่เราวางใจใน ‘ความดีงาม, และพระเมตตา, และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์’ (2 นีไฟ 2:8)” (“ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 25)

  • อะไรเด่นชัดสำหรับท่านในคำอธิบายของเอ็ลเดอร์เบดนาร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจ

เชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนาสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะยังคงพบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจ

ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 5:7 ในใจโดยดูว่าความสัมพันธ์ของเรากับพระเยซูคริสต์เปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเราเกิดใหม่

  • เรากลายเป็นบุตรธิดาของพระเยซูคริสต์ในด้านใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความสำคัญของการเป็น “ลูกๆ ของพระคริสต์” และเชิญพวกเขาแบ่งปันว่าสิ่งนี้ควรเป็นแรงจูงใจให้เราอย่างไรขณะที่เราพยายามเกิดใหม่

แอลมา 5:14, 26–27; อีเธอร์ 12:27

การเกิดใหม่ทางวิญญาณเรียกร้องเวลาและความพยายาม

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองขณะชั้นเรียนฟังว่าเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันพูดถึงขั้นตอนการได้รับการเปลี่ยนแปลงในใจว่าอย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“ท่านอาจถามว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำนี้จึงไม่เกิดกับฉันเร็วกว่านี้ ท่านควรจำไว้ว่าแบบอย่างอันน่าทึ่งของผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน แอลมา และคนอื่นๆ บางคนในพระคัมภีร์เป็นเช่นนั้น—น่าทึ่งแต่ไม่เป็นแบบฉบับ สำหรับเราส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทีละน้อยและใช้เวลา การเกิดใหม่อีกครั้ง ไม่เหมือนการเกิดทางกาย เป็นกระบวนการมากกว่าเหตุการณ์ และการได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการนั้นคือจุดประสงค์สำคัญของความเป็นมรรตัย

“ในเวลาเดียวกัน ขอให้เราอย่าหาข้อแก้ตัวต่อการกระทำที่เราไม่ตั้งใจ ขอเราอย่าพอใจที่จะเก็บความประสงค์บางอย่างที่จะทำความชั่วร้าย ขอให้เรารับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรทุกสัปดาห์และให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงถอนรากถอนโคนซากที่หลงเหลือของความไม่บริสุทธิ์ภายในตัวเราต่อไป ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าขณะที่ท่านดำเนินต่อไปในเส้นทางของการเกิดใหม่ทางวิญญาณ พระคุณแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จะขจัดบาปของท่านรวมทั้งสิ่งแปดเปื้อนอันเกิดจากบาปเหล่านั้นในตัวท่าน การล่อลวงจะไม่น่าสนใจ และโดยผ่านพระคริสต์ท่านจะบริสุทธิ์ ดังพระองค์และพระบิดาของเราทรงบริสุทธิ์” (“การเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 95)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันกล่าว เหตุใดการเกิดใหม่จึงเป็นกระบวนการมากกว่าเหตุการณ์

  • กระบวนการเกิดใหม่ทางวิญญาณช่วยให้เราบริสุทธิ์เหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์อย่างไร (ช่วยให้นักเรียนระบุถึงความจริงนี้: โดยผ่านพระคุณของพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับการให้อภัยและได้รับความช่วยเหลือเพื่อดำเนินต่อไปบนเส้นทางของการเกิดใหม่ทางวิญญาณ)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของ พระคุณ ท่านอาจจะแบ่งปันข้อความนี้จากคู่มือพระคัมภีร์

“…โดยผ่านพระคุณของพระเจ้า ผ่านศรัทธาในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และการกลับใจจากบาป แต่ละคนได้รับพลังและความช่วยเหลือเพื่อทำงานดีที่พวกเขาจะไม่สามารถทำได้หากปล่อยให้ทำตามวิธีของพวกเขาเอง พระคุณดังกล่าวคือพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถซึ่งยอมให้ชายหญิงได้รับชีวิตนิรันดร์และความสูงส่งหลังจากพวกเขาได้พยายามสุดความสามารถแล้ว” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระคุณ”)

เชิญนักเรียนอ่าน แอลมา 5:14, 26–27 ในใจและดูว่าแอลมาสอนอะไรคนที่ได้เริ่มกระบวนการเกิดใหม่ทางวิญญาณและประสบการเปลี่ยนแปลงในใจแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะตอบคำถามของแอลมาอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 27 เราต้องทำอะไรหลังจากเราได้รับการเปลี่ยนแปลงในใจ (เราต้องดำเนินต่อไปโดยปราศจากข้อตำหนิต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า นอบน้อมถ่อมตน และแสวงหาการให้อภัยบาปของเรา)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดแอลมาจึงสอนว่าความนอบน้อมถ่อมตนเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในใจ

บอกนักเรียนว่าพระเจ้าทรงสอนอีเธอร์ว่าเหตุใดพลังของความนอบน้อมถ่อมตนจึงสำคัญขณะที่เราพยายามให้มีการเปลี่ยนแปลงในใจ เตือนนักเรียนว่าหลักธรรมพระคัมภีร์มักจะใช้คำว่า หาก และ เมื่อนั้น เชื้อเชิญให้พวกเขาทบทวน อีเธอร์ 12:27 ในใจโดยมองหาหลักธรรม “หาก-เมื่อนั้น” สนทนาหลักธรรมต่อไปนี้ตามที่นักเรียนระบุ: หากเรามาหาพระเยซูคริสต์ เมื่อนั้นพระองค์จะทรงแสดงให้เราเห็นความอ่อนแอของเรา หากเรานอบน้อมถ่อมตนและใช้ศรัทธาในพระเจ้า เมื่อนั้นพระองค์จะทรงทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับเรา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องรู้ความอ่อนแอของเรา

  • ท่านคิดว่าวลี “พระคุณของเราเพียงพอสำหรับคนทั้งปวงที่นอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา” หมายความว่าอย่างไร

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟนแห่งสาวกเจ็ดสิบ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟน

“ถ้าท่านมีปัญหาในชีวิต อย่าคิดไปเองว่ามีบางอย่างผิดปกติ การต่อสู้กับปัญหาเหล่านั้นคือหัวใจของจุดประสงค์แห่งชีวิต เมื่อเราเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะทรงแสดงให้เห็นความอ่อนแอของเรา และโดยผ่านความอ่อนแอ เราจะฉลาดขึ้น เข้มแข็งขึ้น ถ้าท่านเห็นความอ่อนแอของตนเองมากขึ้น นั่นอาจจะหมายความว่าท่านกำลังเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น มิใช่ห่างออกไป” (“การชดใช้: ทั้งหมดเพื่อทั้งหมด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 119)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความท้อแท้เมื่อเรารู้ความอ่อนแอของเรา

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระคุณของพระเยซูคริสต์จะช่วยให้เราเอาชนะความอ่อนแอเมื่อเราพยายามเกิดใหม่ทางวิญญาณ

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน