เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 24: ทุกคนเหมือนกันสำหรับพระผู้เป็นเจ้า


บทที่ 24

ทุกคนเหมือนกันสำหรับพระผู้เป็นเจ้า

คำนำ

เพื่อป้องกันตนเองหลังจากมรณกรรมของลีไฮ พระเจ้าจึงทรงบัญชานีไฟกับสมาชิกที่ชอบธรรมคนอื่นๆ ของครอบครัวลีไฮให้แยกจากเลมันกับเลมิวเอลและผู้ติดตามพวกเขา หลังจากนั้น ความขัดแย้งและสงครามมักเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน บทนี้อธิบายว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อยู่เหนือความแตกต่างด้านศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม และอื่นๆ เพื่อทำให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “มนุษย์ทั้งปวงทุกแห่งหน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 93–98

  • ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, The Gospel—A Global Faith, Ensign, Nov. 1991, 18–19

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 26:23–28, 33; เจคอบ 7:24; อีนัส 1:11, 20

บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าได้รับการเชื้อเชิญให้มาหาพระองค์

ขอให้นักเรียนพิจารณากลุ่มศาสนา เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรมบางกลุ่มในโลกและนึกถึงเจตคติที่บางคนในกลุ่มเหล่านี้มีต่อสมาชิกกลุ่มอื่น

เตือนนักเรียนว่าหลังจากมรณกรรมของลีไฮ ลูกหลานของเขาแยกออกเป็นสองกลุ่มคือ ชาวนีไฟกับชาวเลมัน (ดู 2 นีไฟ 5:1–7) ไม่นานหลังจากการแยกกันครั้งนี้ คนสองกลุ่มเริ่มขัดแย้งและทำสงครามกัน (ดู 2 นีไฟ 5:34) ประสบการณ์ของทั้งสองกลุ่มเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเมื่อผู้คนไม่รู้จักและไม่ทำตามพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขามักจะเน้นเรื่องความแตกต่างระหว่างตนเองกับผู้อื่น จึงทำให้พวกเขาแยกตัวจากคนอื่นๆ และรู้สึกเกลียดคนเหล่านั้น ชี้ให้เห็นว่า ในทางตรงกันข้าม พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ทุกคนรู้สึกรักกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน

เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 26:23-28, 33 ขอให้ชั้นเรียนดูว่านีไฟใช้คำว่า ไม่ ผู้ใด และ ทั้งปวง อย่างไร ท่านอาจจะกระตุ้นให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • เราสามารถเรียนรู้หลักคำสอนสำคัญอะไรจากข้อเหล่านี้ (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรค้นพบหลักคำสอนต่อไปนี้: พระเยซูคริสต์ทรงรักทุกคน พระองค์ทรงเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้มาหาพระองค์และรับส่วนความรอดของพระองค์ ท่านอาจต้องการเขียนหลักคำสอนดังกล่าวไว้บนกระดาน ท่านอาจกระตุ้นให้นักเรียนทำการอ้างโยง 2 นีไฟ 26:33 กับ แอลมา 5:33–34 และ แอลมา 19:36 เช่นกัน)

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีอ่าน เจคอบ 7:24 และ อีนัส 1:11, 20 ในใจ โดยมองหาความปรารถนาของชาวนีไฟต่อชาวเลมันในช่วงสมัยของศาสดาพยากรณ์เจคอบและอีนัส

  • ประเพณีผิดๆ อะไรขัดขวางไม่ให้ชาวเลมันยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญให้มาหาพระเยซูคริสต์

  • โดยรู้ว่าชาวเลมันมักรู้สึกเกลียดชังชาวนีไฟ ชาวนีไฟจำนวนมากจึงอาจจะต้องเอาชนะเจตคติหรือประเพณีผิดๆ อะไรบ้างเพื่อจะได้แบ่งปันพระกิตติคุณกับคนเหล่านั้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“พระคัมภีร์มอรมอนสัญญาว่าทุกคนที่รับและปฏิบัติตามคำเชื้อเชิญของพระเจ้าให้ ‘กลับใจและเชื่อในพระบุตรของพระองค์’ จะกลายเป็น ‘ผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า’ (2 นีไฟ 30:2) นี่เป็นสิ่งเตือนใจได้ดีว่าความร่ำรวยหรือเชื้อสายหรือสิทธิกำเนิดใดๆ ไม่ควรทำให้เราเชื่อว่าเรา ‘ดีกว่าคนอื่น’ (แอลมา 5:54; ดู เจคอบ 3:9 ด้วย) โดยแท้แล้ว พระคัมภีร์มอรมอนบัญชาว่า ‘เจ้าจะไม่นับถือเนื้อหนังหนึ่งสูงกว่าอีกเนื้อหนังหนึ่ง, หรือคนหนึ่งจะไม่คิดว่าตนสูงกว่าอีกคนหนึ่ง’ (โมไซยาห์ 23:7)” (“มนุษย์ทั้งปวงทุกแห่งหน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 97)

เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองเจตคติของพวกเขาต่อคนที่มาจากพื้นเพต่างจากพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขาทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยพยายามรักบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า รวมทั้งคนที่เชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือศาสนาต่างจากพวกเขา

โมไซยาห์ 28:1–3; ฮีลามัน 6:1–8

การมีความปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณกับบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า

เตือนนักเรียนว่าพระคัมภีร์มอรมอนบันทึกประสบการณ์สำคัญๆ ที่ชาวนีไฟมีขณะสั่งสอนพระกิตติคุณให้ชาวเลมัน เตือนนักเรียนให้นึกถึงการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันน่าทึ่งของพวกบุตรของโมไซยาห์ (ดู โมไซยาห์ 27) แล้วขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 28:1–3 ขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลว่าทำไมพวกบุตรของโมไซยาห์จึงปรารถนาจะสั่งสอนพระกิตติคุณให้ชาวเลมัน

  • จากเหตุผลที่ท่านค้นพบ เหตุผลใดมีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษเมื่อท่านนึกถึงการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น

  • คำใดใน ข้อ 1 แสดงให้เห็นว่าพวกบุตรของโมไซยาห์มองชาวเลมันอย่างไร

  • เมื่อเรามองกลุ่มศาสนา เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์อื่นเป็นพี่น้องของเรา นั่นมีผลต่อความปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณของเราอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ จงช่วยให้พวกเขาค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรามองผู้อื่นเป็นพี่น้องของเรา ความปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณกับพวกเขาจะเพิ่มขึ้น)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮํนเตอร์ (1907-1995)

ภาพ
ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“ชายหญิงทั้งปวงไม่เพียงมีเชื้อสายทางกายย้อนกลับไปถึงอาดัมและเอวาบิดามารดาทางโลกคนแรกของพวกเขาเท่านั้น แต่มีมรดกทางวิญญาณย้อนกลับไปถึงพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ด้วย ด้วยเหตุนี้ทุกคนบนแผ่นดินโลกจึงเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริงในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า

“การเข้าใจและยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของทุกคนจะทำให้มนุษย์ทุกคนเห็นค่าความห่วงใยที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อพวกเขาและความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อกันได้ดีที่สุด นี่เป็นข่าวสารแห่งชีวิตและความรักที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับประเพณีทั้งหมดบนพื้นฐานของเชื้อชาติ ภาษา จุดยืนทางเศรษฐกิจหรือการเมือง ระดับการศึกษา หรือภูมิหลังทางวัฒนธรรม เพราะเราทุกคนมีเชื้อสายเดียวกันทางวิญญาณ(คำสอนของประธานศาสนจักร: ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ [2015], 123-124)

  • ท่านมีความคิดอะไรบ้างเมื่อได้ฟังถ้อยคำเหล่านี้จากประธานฮันเตอร์

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีอ่าน ฮีลามัน 6:1–8 ชี้ให้เห็นว่าสภาวการณ์ที่พูดถึงในข้อเหล่านี้เกิดขึ้นราว 50 ปีหลังจากพวกบุตรของโมไซยาห์รับใช้งานเผยแผ่ในบรรดาชาวเลมัน ขอให้นักเรียนนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมันในช่วงงานเผยแผ่เหล่านั้นและดูว่าความสัมพันธ์เปลี่ยนไปใน 50 ปีอย่างไร

  • อะไรเปลี่ยนไปในความสัมพันธ์ระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน เหตุใดความสัมพันธ์จึงเปลี่ยนไป

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณจากเจตคติของพวกบุตรของโมไซยาห์และจากผลงานเผยแผ่ของพวกเขา

แอลมา 27:1–2, 20–24; 53:10–11, 13–17; 4 นีไฟ 1:1–3, 11–13, 15–18

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อยู่เหนือความแตกต่างระหว่างผู้คน

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้แล้วแบ่งปันความคิดของพวกเขา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดแต่ละบุคคลจากพื้นเพต่างกันจึงสามารถพบกันในวิญญาณของสันติสุขและความรักในศาสนจักร อะไรทำให้สมาชิกศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวกัน

แบ่งชั้นเรียนครึ่งห้อง เชิญครึ่งห้องศึกษา แอลมา 27:1-2, 20-24 และหาดูว่าชาวนีไฟทำอะไรเพื่อช่วยผู้คนของแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ เชิญอีกครึ่งห้องศึกษา แอลมา 53:10-11, 13-17 และหาดูว่าผู้คนของแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ (ผู้คนของแอมัน) ทำอะไรเพื่อชาวนีไฟ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าอะไรทำให้คนสองกลุ่มนี้รู้สึกถึงความรักและความห่วงใยกัน (ส่วนหนึ่งของการสนทนานี้คือช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อผู้คนน้อมรับคำสอนของพระเยซูคริสต์ พวกเขากลับเป็นหนึ่งเดียวกัน)

อธิบายว่าตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของหลักธรรมนี้บันทึกไว้ใน 4 นีไฟ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 4 นีไฟ 1:1-2 เน้นว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนอเมริกา ชาวนีไฟและชาวเลมันทั้งหมดกลับใจ รับบัพติศมา รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า มอบหมายให้นักเรียนค้นคว้า 4 นีไฟ 1:3, 11-13, 15-18โดยมองหาพรที่ผู้คนได้รับเมื่อทุกคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณ

  • ถ้อยคำหรือวลีใดพูดถึงผู้คนเวลานั้น

  • เหตุใดการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จึงส่งผลให้เกิดพรเหล่านี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 4 นีไฟ 1:17

  • ท่านคิดว่าการไม่มี “ชาว ใดๆ” หมายความว่าอย่างไร (ผู้คนไม่แบ่งแยกกันด้วยชื่อเช่นชาวนีไฟหรือชาวเลมันอีก พวกเขาเอาชนะความต่างที่มีอยู่ระหว่างพวกเขาและมีชีวิตอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวและสันติสุข)

  • ท่านเคยเห็นพระกิตติคุณลดความแตกต่างระหว่างผู้มีพื้นเพต่างกันอย่างไร

เพื่อให้นักเรียนเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณทำให้ผู้มีพื้นเพต่างกันเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“พระบิดาบนสวรรค์ของท่านทรงมอบหมายให้ท่านมาเกิดในเชื้อสายหนึ่งซึ่งท่านได้รับมรดกทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และประเพณีมาด้วย เชื้อสายนั้นสามารถให้มรดกอันล้ำค่าและเหตุผลอันสำคัญยิ่งให้ชื่นชมยินดี แต่ท่านมีความรับผิดชอบที่ต้องตัดสินใจว่ามีส่วนใดในมรดกนั้นที่ต้องทิ้งไปเพราะขัดกับแผนแห่งความสุขของพระเจ้า …

“ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าท่านจะเอาสิ่งกีดขวางความสุขออกไปและพบสันติมากขึ้นเมื่อท่านทำให้การเป็นสมาชิกในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์เป็นความจงรักภักดีอันดับแรก และทำให้คำสอนของพระองค์เป็นรากฐานของชีวิตท่าน ครอบครัวหรือประเพณีของชาติหรือขนบธรรมเนียมใดขัดกับคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า จงทิ้งไป ประเพณีและขนบธรรมเนียมใดสอดคล้องกับคำสอนของพระองค์ ท่านควรสงวนไว้และทำตามเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมและมรดกของท่าน” (“เอาสิ่งกีดขวางความสุขออกไป,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 97, 99)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความแตกต่างระหว่างผู้มีพื้นเพต่างกันจึงลดลงเมื่อผู้คนเหล่านี้อุทิศตนต่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เหนือสิ่งอื่น

  • การเป็นสมาชิกของศาสนจักรช่วยให้ท่านรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสมาชิกศาสนจักรผู้มีพื้นเพต่างจากท่านอย่างไร

สรุปโดยเป็นพยานว่าพระคัมภีร์มอรมอนมีตัวอย่างจริงของผู้มาจากพื้นเพต่างกันที่ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและเอาชนะความต่างของพวกเขา การชดใช้และพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อยู่เหนือความต่างของเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ วัฒนธรรม วัย และเพศเพื่อให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สามารถช่วยพวกเขาเอาชนะประเพณีหรือแนวคิดผิดๆ ที่เรียนรู้จากสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนๆ หรือแก้ไขความต่างที่พวกเขาอาจมีกับคนรู้จักได้อย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาหาวิธีเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นกับสมาชิกในที่ประชุมของพวกเขา

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน