เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 27: ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล


บทที่ 27

ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล

คำนำ

คุณลักษณะของศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลจำเป็นสำหรับทุกคนผู้ปรารถนาจะพำนักในที่ประทับของพระบิดาในสวรรค์ของเรา คุณลักษณะเหล่านี้เป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าที่มาถึงผู้แสวงหาโดยทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 25–29

  • ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “อำนาจการเปลี่ยนแปลงของศรัทธาและอุปนิสัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 54–58

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

อีเธอร์ 12:28; โมโรไน 10:18–21

ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลจำเป็นต่อความรอด

ขอให้นักเรียนบอกชื่อคุณลักษณะที่พวกเขาคิดว่าสำคัญจนต้องได้มาในความเป็นมรรตัย จากนั้นขอให้พวกเขาระบุว่าในบรรดาคุณลักษณะเหล่านี้ คุณลักษณะใดสำคัญที่สุดต่อการได้อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมรดก

เตือนนักเรียนว่าขณะโมโรไนสรุปงานของเขาบนแผ่นจารึกทองคำ เขาเขียนถ้อยคำสุดท้ายชักชวนคนที่วันหนึ่งจะอ่านบันทึกของเขา ส่วนหนึ่งของคำแนะนำที่เขาเน้นคือคุณลักษณะสามประการที่จำเป็นต่อความรอดของเรา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 10:18-21 และขอให้ชั้นเรียนบอกชื่อคุณลักษณะทั้งสาม

  • ท่านคิดว่าเหตุใดลักษณะพิเศษของศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลจึงจำเป็นต่อความรอดของเรา

เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามนี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 12:28 และขอให้ชั้นเรียนระบุหลักคำสอนที่สอนในข้อนี้

  • ข้อนี้บันทึกหลักคำสอนอะไร (นักเรียนควรระบุดังนี้: การพัฒนาศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลนำเรามาหาพระเยซูคริสต์)

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมและหลักคำสอนตลอดบทเรียนนี้ที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจและพัฒนาคุณลักษณะสำคัญเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

แอลมา 32:26–29, 37–41; โมโรไน 7:21, 25–28, 33

ศรัทธายอมให้เรา “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีทุกอย่าง”

เขียน เพิ่มพูนศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ ไว้บนกระดาน

เตือนนักเรียนว่าศาสดาพยากรณ์แอลมาใช้เรื่องเปรียบเทียบของเมล็ดที่เติบโตเพื่อสอนชาวโซรัมให้รู้วิธีพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียง แอลมา 32:26-29 กระตุ้นให้นักเรียนระบุวลีที่บอกว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มพูนศรัทธาของเรา

เชิญนักเรียนสองสามคนบอกวลีที่พวกเขาค้นพบและอธิบายว่าวลีนั้นสอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราจะเพิ่มพูนศรัทธาของเรา ขณะที่นักเรียนบอกวลีนั้นๆ ท่านอาจต้องการเขียนไว้ใต้หัวข้อบนกระดาน วลีอาจได้แก่: ตื่นและปลุกพลังของท่าน ทดลองคำพูดของข้าพเจ้า ปรารถนาที่จะเชื่อ ให้ที่ ปลูกเมล็ด [พระวจนะ] ไว้ในใจท่าน หากจำเป็น จงช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า คำว่า พลัง หมายถึงความสามารถในการคิดและทำ

  • ใน ข้อ 29 ท่านคิดว่าเหตุใดแอลมาจึงสอนว่าศรัทธาของเราจะยังไม่สมบูรณ์หลังจากทำการทดลองนี้

  • ท่านคิดว่าเราต้องทำอะไรอีกเพื่อให้ศรัทธาของเราสมบูรณ์

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 32:37–41ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่เราต้องทำเพื่อพัฒนาศรัทธาอันจำเป็นต่อการได้รับชีวิตนิรันดร์

  • แอลมาสอนหลักธรรมอะไรในข้อเหล่านี้ที่ว่าเราจะเสริมสร้างศรัทธาของเราต่อไปได้อย่างไร (นักเรียนควรค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเราหมั่นบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจเรา ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะเพิ่มขึ้น เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าการหมั่นบำรุงเลี้ยงพระวจนะหมายความว่าอย่างไร เราจะทำอะไรอย่างสม่ำเสมอได้บ้างเพื่อบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและช่วยให้ศรัทธาฝังลึกในใจเรา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพวกเขาจะบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงขณะชั้นเรียนมองหากุญแจสู่การบำรุงเลี้ยงศรัทธาของเรา

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“เวลานี้ไม่ว่าเราจะมีศรัทธาเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้ามากเพียงใด เราจะต้องเสริมสร้างศรัทธานั้นอยู่เสมอ และทำให้มีพลังตลอดเวลา เราทำเช่นนั้นได้โดยตัดสินใจเสียแต่เดี๋ยวนี้ว่าจะเชื่อฟังเร็วขึ้นและตั้งใจอดทนมากขึ้น การเริ่มต้นแต่เนิ่นๆ และแน่วแน่เป็นกุญแจสู่การเตรียมพร้อมทางวิญญาณ …

“… เราสร้างศรัทธาเพื่อผ่านการทดสอบเรื่องการเชื่อฟังตลอดเวลาที่ผ่านไปและท่ามกลางการเลือกในแต่ละวันของเรา เราตัดสินใจได้เดี๋ยวนี้ว่าจะรีบทำสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราทำ และเราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะแน่วแน่ในการทดสอบการเชื่อฟังเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสร้างศรัทธาเพื่อนำพาเราผ่านการทดสอบครั้งใหญ่ ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอน” (“การเตรียมพร้อมทางวิญญาณ: เริ่มต้นแต่เนิ่นๆ และมุ่งมั่น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 46, 48)

  • ประธานอายริงก์กล่าวว่าเราต้องทำอะไรเพื่อเสริมสร้างหรือบำรุงเลี้ยงศรัทธาของเรา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการเชื่อฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแน่วแน่ทุกวันจึงสำคัญยิ่งต่อการสร้างศรัทธาของเราและความวางใจในพระองค์

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าการทำตามหลักธรรมที่แอลมาสอนมีผลต่อศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์อย่างไร

บอกนักเรียนว่าศาสดาพยากรณ์มอรมอนเป็นพยานถึงความสำคัญนิรันดร์ของศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจากประจักษ์พยานของมอรมอนใน โมโรไน 7:21, 25-28, 33 ขณะชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มพูนศรัทธาในพระเจ้าและ “ยึดมั่นใน” พรที่มอรมอนระบุ

อีเธอร์ 12:4, 8–9; โมโรไน 7:40–42

ความหวังเป็นสมอยึดจิตวิญญาณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 12:8-9 และให้อีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:40-42 ขอให้นักเรียนระบุคุณลักษณะที่เราจะได้มาเมื่อเราพัฒนาศรัทธา

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ คุณลักษณะใดเกิดขึ้นเพราะศรัทธาของเรา

อ่านข้อความสองข้อต่อไปนี้ และขอให้นักเรียนระบุความแตกต่างระหว่างข้อความทั้งสอง (1) ฉันหวังว่าวันนี้ฝนจะไม่ตก (2) ฉันหวังว่าถ้าฉันกลับใจ ฉันจะได้รับการให้อภัยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • ข้อความแสดงความหวังทั้งสองนี้ต่างกันอย่างไร (ข้อความแรกเป็นความปรารถนาที่ไม่แน่นอนในสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคนนั้น และข้อความที่สองเป็นการแสดงความเชื่อมั่นที่ผลักดันให้กระทำ)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของความหวังในพระคัมภีร์ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ความหวังคือ … การวางใจว่าพระเจ้าจะทรงทำตามที่สัญญาไว้กับเรา ความหวังคือความมั่นใจว่าถ้าเราดำเนินชีวิตตามกฎของพระผู้เป็นเจ้าและถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เดี๋ยวนี้ เราจะได้รับพรสมปรารถนาในอนาคต ความหวังคือการเชื่อและคาดหวังว่าคำสวดอ้อนวอนของเราจะได้รับคำตอบ ความหวังปรากฏให้เห็นในความมั่นใจ การมองโลกในแง่ดี ความกระตือรือร้น และความวิริยะอุตสาหะ” (“พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 27)

เชื้อเชิญให้นักศึกษาอ่าน โมโรไน 7:41 ในใจโดยมองหาสิ่งที่เราจะหวังขณะพัฒนาศรัทธาในพระคริสต์

  • มอรมอนสอนหลักธรรมอะไรเกี่ยวกับความหวังในข้อนี้ (นักเรียนควรค้นพบดังนี้: เมื่อเราพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เรามีความหวังว่าโดยผ่านการชดใช้เราจะถูกยกขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดศรัทธาในพระเยซูคริสต์และความหวังจึงเกี่ยวข้องกันมาก

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 12:4 และให้ชั้นเรียนหาดูว่าโมโรไนพูดถึงความหวังว่าอย่างไร

  • มอรมอนใช้เรื่องสมอสอนอะไรเราเกี่ยวกับความหวัง คนที่ขาดศรัทธาจะเหมือนเรือไม่มีสมออย่างไร

เชิญนักเรียนสองสามคนเป็นพยานถึงความหวังที่เข้ามาในชีวิตเราเพราะศรัทธาในพระเยซูคริสต์

อีเธอร์ 12:33–34; โมโรไน 7:43–48

จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:43–44 และขอให้นักเรียนมองหาคุณลักษณะที่มอรมอนประกาศว่าเราต้องพัฒนาทันทีที่เรามีศรัทธาและความหวัง

ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899-1994) และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“หากเราหมายมั่นจะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดและพระอาจารย์ของเรามากขึ้น เมื่อนั้นการเรียนรู้ที่จะรักเฉกเช่นพระองค์ทรงรักควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของเรา มอรมอนเรียกจิตกุศลว่า ‘สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสิ่งทั้งปวง’ (โมโรไน 7:46)” (Godly Characteristics of the Master, Ensign, Nov. 1986, 47)

เพื่อชี้แจงว่าเหตุใดจิตกุศลจึงเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ต้องแสวงหา ให้เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมโรไน 7:45-47 ชี้ให้เห็นว่าข้อเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจจิตกุศลโดยระบุว่าจิตกุศลคืออะไรและไม่ใช่อะไร

  • คำและวลีใดในข้อเหล่านี้อธิบายความสำคัญของจิตกุศล

  • ท่านสามารถแบ่งปันความคิดหรือข้อคิดอะไรได้บ้างเกี่ยวกับลักษณะพิเศษของจิตกุศลใน ข้อ 45

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:48

  • มอรมอนแนะนำให้เราทำอะไรขณะที่เราแสวงหาของประทานแห่งจิตกุศล (ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราสวดอ้อนวอนจนสุดพลังของใจและติดตามพระเยซูคริสต์ เราจะสามารถเปี่ยมด้วยจิตกุศล)

  • การแสวงหาของประทานแห่งจิตกุศลช่วยให้เราเป็นผู้ติดตามที่ดีขึ้นของพระเยซูคริสต์อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 12:33-34 ขณะชั้นเรียนมองหาความสัมพันธ์ระหว่างจิตกุศลกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างจิตกุศลกับการชดใช้

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“นิยามที่สำคัญยิ่งกว่านิยามของ ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ … ไม่ใช่สิ่งที่เราชาวคริสต์พยายามแสดงต่อผู้อื่นแต่มักแสดงได้ไม่ดี หากคือสิ่งที่พระคริสต์ทรงทำสำเร็จทั้งหมดในการแสดงความรักนั้นต่อเรา จิตกุศลที่แท้จริง เป็นที่รู้จักเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เราเห็นอย่างสมบูรณ์และบริสุทธิ์ในความรักที่ไม่สิ้นสุด สูงสุด และชดใช้ของพระคริสต์เพื่อเรา … ความรักของพระคริสต์นั่นเองที่ “ทนทุกสิ่ง, เชื่อทุกสิ่ง, หวังทุกสิ่ง, อดทนทุกสิ่ง’ ความรักที่พระคริสต์ทรงแสดงให้เห็นคือ ‘จิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้น’ ความรักนั้นคือจิตกุศล—ความรักอันบริสุทธิ์ของพระองค์เพื่อเรา—หากปราศจากสิ่งนี้เราจะไม่เป็นอะไรเลย สิ้นหวัง และเศร้าหมองที่สุดในบรรดาชายหญิงทั้งหมด โดยแท้แล้ว คนที่พบว่าตนครอบครองพรแห่งความรักของพระองค์ในวันสุดท้าย—การชดใช้ การฟื้นคืนชีวิต ชีวิตนิรันดร์ สัญญานิรันดร์—ทั้งหมดนั้นจะดีกับพวกเขาแน่นอน” (Christ and the New Covenant [1997], 336)

  • เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ช่วยให้ท่านเข้าใจอย่างไรว่าเหตุใด “จิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้น” และเหตุใดจึง “ยิ่งใหญ่ที่สุด” ในบรรดาของประทานทางวิญญาณ

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแบ่งปันความรักอันบริสุทธิ์ของพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงแบ่งให้ท่านอย่างไม่จำกัด

ขอให้นักเรียนทบทวน โมโรไน 7:45 จากนั้นตั้งเป้าหมายว่าจะสวดอ้อนวอนและทำงานอย่างเต็มที่มากขึ้นเพื่อพัฒนาลักษณะพิเศษประการหนึ่งของจิตกุศล เป็นพยานถึงความช่วยเหลือจากเบื้องบนที่ท่านได้รับเมื่อตัวท่านพยายามพัฒนาจิตกุศล

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน