เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 27: พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่าง ชีวิต และความหวังของโลก


บทที่ 27

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่าง ชีวิต และความหวังของโลก

คำนำ

พระเยซูคริสต์ “ทรงเป็นความสว่าง ทรงเป็นชีวิต และความหวังของโลก” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 3) บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเมื่อพวกเขามาหาพระคริสต์ พวกเขาจะได้รับความหวังเพิ่มขึ้นสำหรับชีวิตนิรันดร์ และพวกเขาจะตั้งใจอดทนต่อการทดลองของชีวิตมากขึ้น

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 1:1–9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6–13

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างของโลก

อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังสภาวการณ์ที่อาจเป็นเหตุให้คนคนหนึ่งรู้สึกประหนึ่งถูกความมืดห้อมล้อม

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ข้าพเจ้ามีภาพวาดที่ชอบมากภาพหนึ่งในห้องทำงานของข้าพเจ้า ภาพนั้นชื่อ ประตูสู่ความสว่าง ภาพนี้วาดโดยเพื่อนคนหนึ่งของข้าพเจ้า ชื่อโยฮาน เบนธิน เขาเป็นจิตรกรชาวเดนมาร์ก เป็นประธานสเตคคนแรกในโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก

“ภาพวาดแสดงให้เห็นห้องมืดที่ประตูเปิดและแสงส่องจากที่นั่น น่าสนใจสำหรับข้าพเจ้าคือแสงที่ผ่านมาทางประตูไม่ทำให้ทั้งห้องสว่าง—สว่างเฉพาะบริเวณหน้าประตูเท่านั้น

“สำหรับข้าพเจ้า ความมืดและความสว่างในภาพนี้เป็นอุปลักษณ์เปรียบเทียบกับชีวิต สภาพส่วนหนึ่งของเราในฐานะมนุษย์บางครั้งรู้สึกประหนึ่งเราถูกความมืดห้อมล้อม เราอาจสูญเสียคนที่เรารัก ลูกอาจออกนอกลู่นอกทาง ทางการแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเราเป็นโรคร้าย เราอาจมีปัญหากับงานและรู้สึกยุ่งยากใจเพราะความสงสัยหรือความกลัว หรือเราอาจรู้สึกโดดเดี่ยวหรือขาดความรัก

“ถึงแม้เราจะรู้สึกสิ้นหวังท่ามกลางสภาพการณ์ปัจจุบันของเรา แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาว่าเราจะมีความหวังจากความสว่างของพระองค์—พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทรงส่องทางข้างหน้าเราและแสดงให้เห็นทางออกจากความมืด” (ดู“ความหวังแห่งความสว่างของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 70)

  • สภาวการณ์อะไรบ้างที่ทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกว่าถูกความมืดห้อมล้อม

  • ประธานอุคท์ดอร์ฟกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำอะไรได้บ้างเมื่อเรารู้สึกเช่นนี้

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้อธิบายว่าบทเรียนนี้จะเน้นว่าเราจะได้รับความสว่างและความหวังจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าสภาวการณ์ของเราเป็นเช่นไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 1:1–5 เชื้อเชิญนักเรียนที่เหลือให้ดูตาม โดยมองหาคำและวลีที่ยอห์นใช้บรรยายเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ให้เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างของโลก

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ลึกซึ้งขึ้น ขอให้พวกเขาอ่าน ยอห์น 1:6–9 ในใจ จากนั้นให้ถามว่า

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับบทบาทของพระเยซูคริสต์ในฐานะความสว่างของโลก

  • เชิงอรรถ (ฉบับภาษาอังกฤษ) สำหรับ ข้อ 9 ช่วยให้ท่านเข้าใจอย่างไรว่าพระเยซูทรงเป็นความสว่างของโลกสำหรับทุกคน

บอกนักเรียนว่าในพระคัมภีร์ ความสว่าง “ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนเห็น” (ยอห์น 1:9), หรือความสว่างของพระคริสต์ “บางครั้งเรียก … ว่าพระวิญญาณของพระเจ้า พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า พระวิญญาณของพระคริสต์ หรือความสว่างของชีวิต” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 122) ความสว่างของพระคริสต์มีอธิบายไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88

มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่ ขอให้พวกเขาศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6–13 และระบุว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นบ่อเกิดของความสว่างและชีวิตอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ความสว่างของพระคริสต์มีอิทธิพลต่องานสร้างทั้งหมดของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร

  • ความจริงที่บันทึกไว้ในข้อเหล่านี้บอกว่าความสว่างของพระคริสต์มีพลังทำอะไรให้แต่ละคน

  • เหตุใดจึงเป็นประโยชน์ที่ต้องเข้าใจว่าความสว่างที่ปกครองจักรวาลคือ “ความสว่างเดียวกันที่ชุบชีวิตให้แก่ความเข้าใจของเจ้า” (คพ. 88:11)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ความสว่างของพระผู้เป็นเจ้ามีจริง มีผลต่อทุกคน ให้ชีวิตแก่สิ่งทั้งปวง [ดู คพ. 88:11–13] มีอำนาจบรรเทาความเจ็บปวดของบาดแผลลึกที่สุด สามารถเป็นยารักษาความอ้างว้างและความเจ็บป่วยของจิตวิญญาณเรา ในร่องรอยแห่งความสิ้นหวัง ความสว่างนั้นสามารถหว่านเมล็ดของความหวังที่เจิดจ้ากว่า สามารถส่องสว่างหุบเขาลึกที่สุดของโทมนัส สามารถส่องทางตรงหน้าเราและนำเราผ่านราตรีอันมืดมิดที่สุดไปสู่สัญญาของรุ่งอรุณวันใหม่

“นี่คือ ‘พระวิญญาณของพระเยซูคริสต์’ ซึ่งให้ ‘ความสว่างแก่มนุษย์ทุกคนที่มาในโลก’ [คพ. 84:45–46]” (“ความหวังแห่งความสว่างของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 75)

สนทนาคำถามต่อไปนี้กับนักเรียน

  • ตามคำกล่าวของประธานอุคท์ดอร์ฟ พรใดมาจากความสว่างที่พระบิดาในสวรรค์ทรงมอบให้เราผ่านพระเยซูคริสต์

  • ท่านเคยประสบพรที่ประธานอุคท์ดอร์ฟกล่าวถึงเมื่อใด

เขียนประโยคที่ไม่สมบูรณ์ต่อไปนี้บนกระดาน

ความสว่างของโลกให้ …

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:13 อีกครั้งโดยมองหาวลีที่จะนำมาเติมประโยคบนกระดานให้สมบูรณ์ ถามว่า

  • บทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในฐานะความสว่างของโลกสัมพันธ์กับบทบาทของพระองค์ในฐานะชีวิตของโลกอย่างไร

  • ความสว่างเกี่ยวข้องกับชีวิตในด้านใด (ท่านอาจชี้ให้เห็นว่าพระเยซูทรงเป็น “ชีวิต ของโลกเพราะการฟื้นคืนพระชนม์และการชดใช้ของพระองค์ช่วยให้เรารอดจากความตายทั้งทางร่างกายและวิญญาณ” (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, The Light and Life of the World, Ensign, Nov. 1987, 65])

  • จะเกิดผลอะไรถ้าความสว่างและเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดหยุดค้ำจุนทุกสิ่ง (จะไม่มีชีวิตอีก)

อธิบายว่าพระคัมภีร์มีตัวอย่างให้เห็นว่าพระเยซูทรงเป็นความสว่างของโลกอย่างไร เมื่อครั้งพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นพระชนม์ มีความมืดสามวัน อันเป็นสัญลักษณ์ว่าความสว่างของโลกไปจากโลกแล้ว (ดู 3 นีไฟ 8:20–23) ในทางกลับกัน การประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดมาพร้อมดวงดาวและความสว่างมากมายในท้องฟ้าและมีความสว่างสามวันด้วย (ดู ฮีลามัน 14:3–5; 3 นีไฟ 1:15, 21)

สดุดี 146:5; โรม 5:3–5; 15:13; อีเธอร์ 12:4, 32; โมโรไน 7:3, 40–41

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความหวังของโลก

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าคำว่า ความหวัง มีหลายความหมาย ในบริบทของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ความหวังคือ “ความคาดหมายอย่างมั่นใจและความปรารถนาพรที่สัญญาไว้อันเกิดจากความชอบธรรม” (คู่มือพระคัมภีร์, “ความหวัง”; scriptures.lds.org) บางครั้งเราเรียกพระผู้ช่วยให้รอดว่า “ความหวังของโลก” เพราะพรที่สัญญาไว้ของความชอบธรรมมาถึงเราโดยผ่านพระองค์ (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 3)

ให้ดูคำถามและพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้หรือเขียนไว้บนกระดาน

ความหวังแท้จริงมีศูนย์กลางในอะไร (อีเธอร์ 12:4, 32; โมโรไน 7:3, 40–41)

ความหวังจะทำอะไรเพื่อเราในชีวิตนี้ (สดุดี 146:5; โรม 5:3–5; 15:13)

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เชื้อเชิญให้กลุ่มศึกษาพระคัมภีร์กลุ่มละข้อ มองหาคำและวลีสำคัญเกี่ยวกับความหวัง และสนทนาคำตอบสำหรับคำถามของพวกเขา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้กลุ่มเรียบเรียงหลักคำสอนหรือหลักธรรมให้ได้หนึ่งหรือสองประโยคเพื่อสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องความหวัง เชื้อเชิญแต่ละกลุ่มให้บอกประโยคของตนกับชั้นเรียน นักเรียนพึงเข้าใจว่า ความหวังคือการมีความเชื่อมั่นผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และการเชื่อฟังพระบัญญัติว่าเราจะได้รับพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้ รวมทั้งชีวิตนิรันดร์ หากเวลาเอื้ออำนวย ท่านอาจต้องการสนทนาคำถามต่อไปนี้

  • คำว่า แน่แท้ ในวลี “จะหวังได้อย่างแน่แท้เพื่อโลกที่ดีกว่า” (อีเธอร์ 12:4) บอกอะไรท่าน (เชื่อมั่น มั่นใจ หรือแน่นอน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนนิยามนี้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ อีเธอร์ 12:4)

  • ความหวังดังอธิบายไว้ในข้อเหล่านี้จะเป็น “สมอให้จิตวิญญาณมนุษย์” และช่วยให้เรา “มั่นคงและแน่วแน่, ทำงานดีมากมายอยู่เสมอ” ได้อย่างไร (อีเธอร์ 12:4)

ให้ดูข้อความต่อไปนี้ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

“เมื่อเรามีความหวัง เราย่อมวางใจในคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า เรามีความมั่นใจอยู่เงียบๆ ว่าถ้าเราทำ ‘งานแห่งความชอบธรรม’ เรา ‘จะได้รับรางวัล [ของเรา], แม้สันติสุขในโลกนี้ และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง’ (คพ. 59:23) มอรมอนสอนว่าความหวังเช่นนั้นผ่านมาทางการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เท่านั้น [ดู โมโรไน 7:41]” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 127)

  • ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์สำคัญต่อการพัฒนาความหวังที่แท้จริงอย่างไร สิ่งนี้ช่วยให้ท่านเข้าใจอย่างไรว่าเหตุใดพระเยซูคริสต์จึงทรงเป็นความหวังของโลก (เมื่อเราหวังในพระเยซูคริสต์ เราสามารถมองข้ามความยุ่งยากวุ่นวายและความเศร้าโศกตามประสามนุษย์และจดจ่อกับพรที่มีให้โดยผ่านการชดใช้ของพระองค์ เช่นการฟื้นคืนชีวิตและชีวิตนิรันดร์)

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมีความหวังมากขึ้นในชีวิตนี้

เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์กระตุ้นเตือน ท่านอาจขอให้นักเรียนเล่าถึงช่วงเวลาที่ความหวังของพวกเขาในการฟื้นคืนชีวิตและชีวิตนิรันดร์ผ่านพระเยซูคริสต์เป็นพรแก่พวกเขาเองหรือคนอื่นๆ

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน