เซมินารีและสถาบัน
บทนำของพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจ คู่มือครู


บทนำของพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจ คู่มือครู (ศาสนา 250)

เราคาดหวังอะไรจากครูสอนศาสนา

ขณะที่ท่านเตรียมสอน สิ่งสำคัญคือท่านต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของเซมินารีและสถาบันศาสนา

“จุดประสงค์ของเราคือช่วยให้เยาวชนและคนหนุ่มสาวเข้าใจและพึ่งพาคำสอนตลอดจนการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ มีคุณสมบัติคู่ควรรับพรของพระวิหาร อีกทั้งเตรียมตนเอง ครอบครัว และคนอื่นๆ ให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์กับพระบิดาในสวรรค์” (Gospel Teaching and Learning: A Handbook for Teachers and Leaders in Seminaries and Institutes of Religion [2012], )

ท่านจะบรรลุจุดประสงค์นี้ได้โดยดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ สอนพระกิตติคุณให้นักเรียนของท่านอย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารชั้นเรียนหรือโปรแกรมของท่านอย่างเหมาะสม ขณะเตรียมและสอนพระกิตติคุณในลักษณะนี้ ท่านจะมีคุณสมบัติคู่ควรรับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

นี่เป็นโอกาสที่ท่านจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้โดยพระวิญญาณทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะสามารถเสริมสร้างศรัทธาของตนและทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขาลึกซึ้งขึ้น ท่านจะช่วยให้พวกเขาบรรลุสิ่งนี้ได้เมื่อท่านนำพวกเขาให้ค้นหา เข้าใจ และรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักคำสอนตลอดจนหลักธรรมสำคัญๆ ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และเตรียมประยุกต์ใช้

คู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจขั้นตอนการสอนและวิธีประสบความสำเร็จในห้องเรียน อ้างถึงคู่มือเล่มนี้บ่อยๆ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้คืออะไร

หลักสูตรนี้ พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจ (ศาสนา 250) เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาการปฏิบัติศาสนกิจนิรันดร์ของพระเยซูคริสต์ มุ่งเน้นบทบาทอันสูงส่งของพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพก่อนมรรตัย ขณะทรงเป็นมรรตัย และหลังมรรตัย งานมาตรฐาน ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน และเอกสารชื่อ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” (เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2–3) ใช้เป็นแหล่งข้อมูลที่ได้รับการดลใจสำหรับหลักสูตรนี้ เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเน้นความสำคัญของการศึกษาพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ ดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ข้าพเจ้าขอกระตุ้นอย่างจริงจังให้ท่านวางแผนศึกษาส่วนตัวเพื่อให้เข้าใจและซาบซึ้งยิ่งขึ้นในผลนิรันดร์อันหาที่เปรียบมิได้และไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเกิดจากการที่พระเยซูคริสต์ทรงมีสัมฤทธิผลอย่างไม่มีที่ติในการเรียกที่ทรงได้รับแต่งตั้งจากสวรรค์ในฐานะพระช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ การไตร่ตรองพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้งเป็นส่วนตัวร่วมกับการสวดอ้อนวอนค้นหาอย่างจริงใจจะเสริมความเข้าใจและความซาบซึ้งที่ท่านมีต่อการชดใช้อันหาค่ามิได้” (“พระทรงชนม์! เราสรรเสริญนามนั้น!เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 96)

เมื่อนักเรียนเข้าใจและเห็นค่าความสำคัญของการเรียกอันสูงส่งของพระผู้ช่วยให้รอดและผลที่ทรงมีต่อชีวิตพวกเขา พวกเขาจะมีพลังต่อสู้กับความท้าทายของชีวิตและรู้สึกพร้อมจะสนทนาถึงบทบาทอันสูงส่งของพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นในแผนแห่งความรอด ซึ่งชีวิตส่วนตัวของพวกเขาเป็นส่วนประกอบสำคัญของแผนนั้น

เราคาดหวังอะไรจากนักเรียน

นักเรียนควรอ่านข้อพระคัมภีร์และคำพูดของศาสดาพยากรณ์ที่ระบุไว้ในสิ่งที่นักเรียนควรอ่านของแต่ละบท นักเรียนควรบรรลุข้อกำหนดการเข้าชั้นเรียนและแสดงให้เห็นว่าเข้าใจเนื้อหาหลักสูตร

บทเรียนในคู่มือเล่มนี้มีองค์ประกอบอย่างไร

หลักสูตรนี้ออกแบบไว้เป็นหลักสูตรยาวหนึ่งเทอม มี 28 บทเรียนเขียนไว้สำหรับคาบเรียน 50 นาที ถ้าชั้นเรียนของท่านพบกันสัปดาห์ละสองครั้ง ให้สอนคาบเรียนละหนึ่งบท ถ้าชั้นเรียนของท่านพบกันสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 90 ถึง 100 นาที ให้รวมและสอนสองบทในหนึ่งคาบเรียน โครงร่างแต่ละบทเรียนมีสี่ส่วน ได้แก่

  • คำนำ

  • ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

  • สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

คำนำ

ส่วนนี้มีคำชี้แจงพอสังเขปของหัวข้อและวัตถุประสงค์ของบทเรียน

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

ส่วนนี้แนะนำแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ข่าวสารจากศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ท่านเข้าใจหลักคำสอน หลักธรรม และความจริงพระกิตติคุณในโครงร่างบทเรียนมากขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับการสอนจะมีเนื้อหาช่วยให้ท่านรู้ว่าต้องสอน อะไร และสอน อย่างไร (ดู หมวด 4.3.3 และ 4.3.4 ในคู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ) กิจกรรมการเรียนที่เสนอแนะออกแบบไว้ช่วยนักเรียนค้นหา เข้าใจ และประยุกต์ใช้ความจริงอันศักดิ์สิทธิ์ ท่านอาจจะเลือกใช้ข้อเสนอแนะทั้งหมดหรือบางข้อขณะปรับให้เข้ากับรูปแบบการสอนของท่านแต่ละคนและให้เป็นไปตามความต้องการและสภาวการณ์ของนักเรียนของท่าน ขณะที่ท่านพิจารณาวิธีปรับเนื้อหาบทเรียน จงทำตามคำแนะนำนี้จากเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ข้าพเจ้าได้ยินประธานแพคเกอร์สอนบ่อยครั้งว่า ให้เราเลือกใช้ก่อน แล้วค่อยปรับ ถ้าเรารู้จักเนื้อหาบทเรียนที่ต้องสอนเป็นอย่างดี เมื่อนั้นเราสามารถทำตามพระวิญญาณให้ปรับบทเรียนได้ แต่มีการล่อลวงเมื่อเราพูดถึงความยืดหยุ่นนี้ นั่นคือให้เริ่มปรับก่อน แทนที่จะเลือกใช้ก่อน เป็นการรักษาสมดุล เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอ แต่วิธีเลือกใช้ก่อนแล้วค่อยปรับเป็นวิธีที่จะช่วยให้อยู่บนฐานที่ปลอดภัย” (“A Panel Discussion with Elder Dallin H. Oaks” [Seminaries and Institutes of Religion Satellite Broadcast, Aug. 7, 2012]; si.lds.org)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอนมีข้อความเกี่ยวกับหลักคำสอนหรือหลักธรรมอย่างน้อยหนึ่งข้อความ ซึ่งจะเป็นตัวหนา ขณะที่นักเรียนค้นพบหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้แล้วแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ คำพูดของพวกเขาอาจต่างจากที่ระบุไว้ในคู่มือ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จงระวังอย่าบอกเป็นนัยว่าคำตอบของพวกเขาผิด อย่างไรก็ดี ถ้าข้อความหนึ่งถูกต้องมากกว่า จงช่วยขยายความเข้าใจอย่างระมัดระวัง

เพื่อช่วยให้นักเรียนศึกษาพระคัมภีร์ชั่วชีวิต จงสอนให้พวกเขารู้วิธีใช้ตัวช่วยศึกษาในพระคัมภีร์ฉบับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ใช้โอกาสในชั้นเรียนช่วยนักเรียนฝึกทักษะและวิธีการศึกษาพระคัมภีร์ (ดู การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ,20–23). เมื่อท่านทำเช่นนั้น นักเรียนจะรักพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น สามารถหาคำตอบให้คำถามของพวกเขา และเรียนรู้การให้อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำ

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

ส่วนนี้จะระบุข้อพระคัมภีร์และคำพูดของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของศาสนจักรซึ่งจะยกระดับความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับหัวข้อที่พบในบทเรียน กระตุ้นให้นักเรียนอ่านเนื้อหาเหล่านี้ก่อนมาเรียนทุกครั้ง เมื่อพวกเขาศึกษาเนื้อหาที่ได้รับการดลใจเหล่านี้ พวกเขาจะไม่เพียงพร้อมเข้าร่วมการสนทนาในชั้นเรียนมากขึ้นเท่านั้น แต่จะเข้าใจหัวข้อหลักสูตรกว้างขึ้นด้วย จัดเตรียมรายการ “สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน” ทั้งหมดให้นักเรียนตั้งแต่ต้นเทอม

ฉันจะเตรียมสอนได้อย่างไร

พระเจ้าจะทรงช่วยท่านขณะที่ท่านเตรียมสอน ขณะเตรียม ท่านอาจจะพบว่าการถามตนเองดังต่อไปนี้จะช่วยได้

  • ฉันได้สวดอ้อนวอนขอรับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่

  • ฉันได้ศึกษาช่วงพระคัมภีร์ที่มอบหมายและความรู้พื้นฐานที่ควรอ่านหรือไม่

  • ฉันได้อ่านหลักสูตรและพิจารณาว่ามีสิ่งที่ต้องปรับให้เข้ากับความต้องการของนักเรียนแล้วหรือไม่

  • ฉันจะติดตามผลการอ่านของนักเรียนได้อย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนได้ประโยชน์มากที่สุดจากการอ่านเหล่านั้น

  • ฉันจะช่วยให้นักเรียนแต่ละคนมีส่วนร่วมในบทเรียนอย่างเต็มที่ได้อย่างไร

ข้อเสนอแนะต่อไปนี้อาจจะช่วยได้เช่นกัน

  • กระตุ้นให้นักเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์และบทความที่มอบหมายก่อนมาชั้นเรียนทุกครั้ง

  • คาดหวังให้นักเรียนทำบทบาทของตนให้มีสัมฤทธิผลในฐานะผู้เรียน

  • หาโอกาสบ่อยครั้งให้นักเรียนอธิบายหลักคำสอนและหลักธรรมด้วยคำพูดของพวกเขาเอง แบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง และเป็นพยานถึงสิ่งที่พวกเขารู้และรู้สึก

  • ดัดแปลงกิจกรรมการเรียนรู้และวิธีที่ท่านใช้ในแต่ละชั้นเรียนและวันต่อวันให้หลากหลาย

  • สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่อัญเชิญพระวิญญาณ ให้นักเรียนมีโอกาสและความรับผิดชอบในการสอนและเรียนจากกัน (ดู คพ. 88:78, 122)

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ให้แน่ใจว่านักเรียนมีส่วนร่วมมากๆ เพราะการที่นักเรียนได้ใช้สิทธิ์เสรีเท่ากับอนุญาตให้พระวิญญาณบริสุทธิ์แนะนำสั่งสอน … ขณะที่นักเรียนสนทนาความจริง ความจริงเหล่านี้ได้รับการยืนยันในจิตวิญญาณพวกเขาและเสริมสร้างประจักษ์พยานส่วนตัวของพวกเขา” (“To Understand and Live Truth” [evening with Elder Richard G. Scott, Feb. 4, 2005], 3; si.lds.org)

ฉันจะปรับบทเรียนให้เหมาะกับผู้ทุพพลภาพได้อย่างไร

ขณะที่ท่านเตรียมสอน จงนึงถึงนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ปรับกิจกรรมและความคาดหวังเพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น นักเรียนบางคนอาจได้ประโยชน์จากการฟังเทปบันทึกเสียงพระคัมภีร์ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ง่ายจาก LDS.org

สำหรับแนวคิดและแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม ให้ค้นหาข้อมูลในเพจ Disability Resources ที่ disabilities.lds.org คู่มือนโยบายเซมินารีและสถาบันศาสนาในหมวด Adapted Classes and Programs for Students with Disabilities