ฝ่ายอธิการ
ความโศกเศร้าและความสูญเสีย


“ความโศกเศร้าและความสูญเสีย” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา (2020)

“ความโศกเศร้าและความสูญเสีย” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา

ความโศกเศร้าและความสูญเสีย

ความโศกเศร้าอาจเป็นอารมณ์ที่ไม่ต้านไม่อยู่ แทบทุกคนประสบความโศกเศร้า ณ จุดใดจุดหนึ่งในชีวิต ความตายเป็นส่วนหนึ่งในแผนแห่งความสุขของพระผู้เป็นเจ้า แต่แม้จะเข้าใจเช่นนั้น หลายคนก็ยังพบว่ายากจะจัดการกับอารมณ์อันเกิดจากการสูญเสียคนที่พวกเขารัก นอกจากนี้ความตายไม่ใช่ต้นเหตุเดียวของความโศกเศร้า ความสูญเสียอีกหลายแบบทำให้เกิดความรู้สึกโศกเศร้า เช่น ตกงาน สูญเสียความสัมพันธ์ เสียสุขภาพ เป็นต้น ความโศกเศร้าเป็นการตอบสนองตามปกติต่อความสูญเสียและเป็นการเปลี่ยนผ่านทางอารมณ์บนเส้นทางสู่ปีติ ไม่ใช่การแสดงความอ่อนแอหรือการขาดศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าหรือความรักของพระองค์แต่อย่างใด

คนที่เศร้าเสียใจต้องการเวลาโศกเศร้ากับความสูญเสียของตน พวกเขาต้องการเพื่อนและครอบครัวที่คอยให้กำลังใจและอยู่กับพวกเขาตลอดประสบการณ์นั้น ระยะเวลาที่ต้องใช้เพื่อให้ความโศกเศร้าผ่านไปด้วยดีตามธรรมชาติย่อมต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ความสูญเสียเกิดขึ้นกะทันหันหรือคาดการณ์ไว้แล้วอย่างเจ็บปวดหรือไม่? ในกรณีของความตาย ผู้โศกเศร้าสนิทสนมทางอารมณ์กับผู้ตายมากเพียงใด? บุคคลพึ่งพาคนที่สูญเสียหรือสิ่งที่สูญเสียมากแค่ไหน? องค์ประกอบเหล่านี้และอื่นๆ เพิ่มความเข้าใจของเราในการช่วยเหลือคนที่กำลังโศกเศร้า

บางคนอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่เตือนให้เขานึกถึงความสูญเสียของตน ขณะที่คนอื่นอาจสบายใจเมื่อนึกถึง บางคนอาจต้องการเวลาทำใจก่อนจึงจะสามารถพบปะผู้คนหรือเข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมของศาสนจักรได้ ขณะที่อีกหลายคนอาจอยากเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคมทันที ทุกคนต่างกัน และเส้นทางไปข้างหน้าของแต่ละคนจะต่างกัน

ขณะที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจต่อคนที่กำลังโศกเศร้า จงแสดงความรักก่อนเป็นอันดับแรก คำพูดทำนองนี้อาจช่วยท่านถ่ายทอดความเห็นใจ:

  • “ผมไม่รู้จะพูดอะไรดี แต่อยากให้คุณรู้ว่าผมเป็นห่วงคุณ”

  • “คุณไม่ต้องพูดถ้าไม่อยากพูด แต่ผมพร้อมจะฟังถ้าคุณพูด”

  • “ไม่เป็นไรหรอกถ้ารู้สึกไม่เหมือนกันในแต่ละวันหรือแต่ละช่วง คนเรารู้สึกได้หลายแบบ แค่ปล่อยให้ตัวคุณประสบอารมณ์ตามที่มันเกิด”

  • “ผมเสียใจจริงๆ ที่คุณต้องเจอเรื่องแบบนี้”

เข้าใจสถานการณ์

ขณะที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจต่อคนที่กำลังโศกเศร้า ให้พิจารณาการถามคำถามเหมือนด้านล่างด้วยความเมตตาและความรักเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจความกังวล ความต้องการ และสภาวการณ์ของบุคคล

  • คุณกำลังรับมืออย่างไร?

  • เมื่อคุณมีวันที่ดี อะไรทำให้เกิดสิ่งดีนั้น?

  • คุณมีกำลังใจจากที่ไหน?

  • คนพูดหรือทำอะไรเป็นพิเศษที่เคยช่วยคุณ? อะไรไม่ช่วยเลย?

นอกจากนี้ นั่นจะช่วยให้ทราบขั้นของความโศกเศร้าได้ด้วย คนส่วนใหญ่ประสบอารมณ์ห้าขั้นเมื่อพวกเขาโศกเศร้า: การไม่ยอมรับ ความโกรธ การต่อรอง ภาวะซึมเศร้า และการปรับตัว อารมณ์เหล่านี้เกิดสลับกันได้ และบางอารมณ์อาจไม่เกิดหรืออาจเกิดซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง ผู้ปฏิบัติศาสนกิจอาจต้องใช้วิธีต่างกันในกระบวนการโศกเศร้าแต่ละขั้น ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายเบื้องต้นของแต่ละขั้น:

  • การปฏิเสธ: โดยปกติการปฏิเสธเป็นขั้นแรกของความโศกเศร้า บุคคลที่ประสบการปฏิเสธอาจปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น มึนงง หรือตกใจสุดขีด เมื่อบุคคลประสบอารมณ์ขั้นนี้ บ่อยครั้งวิธีที่ดีที่สุดคือพูดคุยอย่างเห็นใจหรือใช้เวลานั่งเงียบๆ ด้วยกัน

  • ความโกรธ: ในขั้นนี้ บุคคลอาจโกรธพระผู้เป็นเจ้า ตนเอง หรือคนรอบข้าง ท่านอาจกระตุ้นให้บุคคลจดบันทึกความรู้สึกโกรธเหล่านั้น เขาอาจตัดสินใจทำลายบันทึกหลังจากผ่านขั้นนี้ไป แต่สำหรับตอนนี้ บันทึกจะเป็นช่องทางระบายความโกรธที่ปลอดภัย

  • การต่อรอง: คนที่อยู่ในขั้นต่อรองอาจพยายามต่อรองกับพระผู้เป็นเจ้าและถามว่า “จะเป็นอย่างไรถ้า” (เช่น “จะเป็นอย่างไรถ้าข้าพระองค์สัญญาจะปฏิบัติต่อคนนั้นดีขึ้น?” หรือ “จะเป็นอย่างไรถ้าข้าพระองค์ไปพระวิหารทุกสัปดาห์?”) บุคคลมักรู้สึกผิดที่ตนไม่สามารถคุ้มครองคนที่จากไปหรือป้องกันความโชคร้ายที่เกิดขึ้น เมื่อคนประสบขั้นนี้ในกรณีของความตาย การถามว่าเขาเชื่อว่าผู้ตายอยากให้บุคคลนั้นทำอะไรต่อไปในชีวิตอาจจะช่วยได้

  • ภาวะซึมเศร้า: ในขั้นนี้บุคคลอาจรู้สึกโหวงเหวง ทำอะไรไม่ถูก สิ้นหวัง และอาจไม่สนใจจะมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวัน พวกเขาอาจจะเริ่มออกห่างจากคนอื่นๆ หากอยู่ในขั้นนี้นาน (สี่ถึงหกสัปดาห์) อาจต้องส่งเขาไปเข้ากลุ่มบำบัดความโศกเศร้าหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

  • การปรับตัว: ในขั้นนี้ บุคคลค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับชีวิตวิถีใหม่ อารมณ์ของพวกเขาคงที่ และพวกเขาเรียนรู้ที่จะจัดการกับความโศกเศร้า อาจช่วยได้ถ้าทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าการปรับตัวเช่นนั้นเป็นเรื่องดีและในกรณีของความตาย บุคคลอันเป็นที่รักที่จากไปแล้วคงต้องการให้พวกเขาแสวงหาความสุข

ช่วยเหลือบุคคล

ขณะที่ท่านพยายามช่วยเหลือบุคคล พึงพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้:

  • ช่วยให้บุคคลรู้ว่าคนเราโศกเศร้าได้ บางคนอาจมองความโศกเศร้าว่าเป็นการแสดงให้เห็นศรัทธาที่อ่อนแอลง แต่สำคัญที่บุคคลต้องยอมให้ตนเองโศกเศร้า การสนทนาว่าแม้แต่พระเยซูก็ทรงรู้สึกโศกเศร้าจะช่วยให้สมาชิกเข้าใจว่าความโศกเศร้าไม่ได้บ่งบอกว่าขาดศรัทธา (ดู ยอห์น 11:32–36)

  • ช่วยให้บุคคลรับรู้ว่าทุกคนโศกเศร้าในแบบของตน วิธีจัดการกับความสูญเสียไม่ได้มีวิธีเดียว และทุกคนจะตอบสนองต่างกัน บุคคลไม่ควรรู้สึกผิดเพราะรู้สึกหรือไม่รู้สึกแบบใดแบบหนึ่ง

  • ถ่ายทอดความเห็นใจ (และทำต่อไปนานๆ หลังจากการสูญเสีย)

    • สวดอ้อนวอนขอการทรงนำให้รู้ว่าควรพูดอะไร การปลอบโยนบางคนอาจทำให้กลัว แต่ส่วนใหญ่แล้วการยื่นมือช่วยเหลือและพูดอะไรบางอย่างย่อมดีกว่าไม่พูดอะไรเลย สำคัญที่คนโศกเศร้าต้องรู้ว่าท่านห่วงใยและต้องการสนับสนุนพวกเขา

    • จำไว้ว่าต้องมีความรู้สึกไว คนที่กำลังโศกเศร้าอาจมองว่าคำพูดที่หวังดีบางคำไม่มีความเห็นใจ ตัวอย่างต่อไปนี้อาจทำให้เจ็บปวดมากกว่าจะช่วย:

      • “มันเป็นส่วนหนึ่งของแผนของพระผู้เป็นเจ้า”

      • “อย่างน้อย …” (“อย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ทรมาน” “อย่างน้อยตอนนี้คุณก็จะออกเดทกับคนอื่นได้” “อย่างน้อยตอนนี้คุณจะได้หางานที่คุณชอบจริงๆ” เป็นต้น)

      • “ผมมีประสบการณ์คล้ายกัน”

      • “รับใช้มากขึ้น”

      • “ทุกอย่างจะดีขึ้นตามกาลเวลา”

      • “คุณควร …” หรือ “คุณจะ …”

      • “เขา [หรือเธอ] อยู่ในที่ที่ดีกว่า”

    • แทนที่จะพูดอย่างนั้น ท่านอาจจะ:

      • พูดว่า “ผมไม่รู้จะพูดอะไรดี แต่อยากให้คุณรู้ว่าหลายคนรักคุณ ผมก็รักคุณ”

      • พูดว่า “ผมกำลังสวดอ้อนวอนให้คุณ”

      • ให้คนที่โศกเศร้ารู้ผ่านคำพูดและการกระทำของท่านว่าท่านคิดถึงเขา การแสดงออกสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการส่งข้อความ

      • ใช้เวลากับคนที่โศกเศร้า

  • ฟัง การให้คำแนะนำหรือพูดคุยกับบุคคลนั้นไม่ได้เป็นวิธีช่วยวิธีเดียว หากท่านฟังและให้บุคคลแสดงความรู้สึกออกมา บ่อยครั้งท่าทีเช่นนั้นมักจะส่งผลดีและมีประโยชน์ การนั่งอยู่กับบุคคลนั้นเฉยๆ เป็นวิธีให้กำลังใจโดยไม่ต้องพูด การฟังอย่างเดียวอาจจะยากเพราะท่านอาจรู้สึกว่าไม่มากพอจะคลายความเจ็บปวด แต่การฟังเป็นการกระทำที่ช่วยและสนับสนุน

  • อย่าตอบโต้ ขณะที่บุคคลอยู่ในขั้นโศกเศร้า พวกเขาอาจพูดหรือทำสิ่งที่ไม่ใช่นิสัยของตน จงอดทน และตระหนักว่าพฤติกรรมเช่นนั้นมักบ่งบอกว่าบุคคลอยู่ระหว่างกระบวนการโศกเศร้า

  • สนับสนุนต่อไปหลังการสูญเสีย กระตุ้นให้ผู้นำศาสนจักร บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ สมาชิกวอร์ด และเพื่อนๆ พยายามสนับสนุนทางอารมณ์ต่อไปนานๆ หลังเกิดเหตุการณ์ ความโศกเศร้าเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาหลายเดือนและแม้กระทั่งหลายปี

  • ไหวทันคำพูดและพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย หากบุคคลที่โศกเศร้าพูดเรื่องการฆ่าตัวตาย ให้ถือเป็นเรื่องจริงจังเสมอ ดู หน้าการฆ่าตัวตาย บนแหล่งช่วยให้คำปรึกษา หากท่านเป็นห่วงความปลอดภัยของใครบางคน ให้ติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉินในท้องที่หรือสำนักงานศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัวในท้องที่ทันที (หากมี) ผู้นำศาสนจักรอาจติดต่อสายด่วนศาสนจักรเพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้เช่นกัน เข้าไปที่ suicide.ChurchofJesusChrist.org หรือ Suicide section ในแอปพลิเคชันคลังค้นคว้าพระกิตติคุณเพื่อหาสายด่วนโทรฟรีทั่วโลกและแหล่งช่วยสำหรับช่วยเหลือบุคคลที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย

ในกรณีผู้เป็นที่รักสิ้นชีวิต กระบวนการโศกเศร้าอาจรวมถึงการช่วยเหลือครอบครัวเรื่องพิธีศพหรือพิธีฝัง การวางแผนและเข้าร่วมพิธีศพจะยากสำหรับคนที่กำลังโศกเศร้า สำคัญที่ต้องไวต่อความต้องการของพวกเขาขณะท่านให้การสนับสนุนและการปลอบโยน หาข้อมูลเกี่ยวกับการทำพิธีศพและพิธีอื่นที่เกี่ยวข้องในหมวด 29.6 ของ คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (ChurchofJesusChrist.org) ต่อไปนี้เป็นแนวทางเพิ่มเติมบางอย่างที่พึงจำ:

  • พิธีศพมุ่งหมายจะให้เกียรติชีวิตผู้วายชนม์และช่วยให้คนที่กำลังโศกเศร้าได้รับการปลอบประโลมและมีสันติ พิธีศพมักเป็นส่วนจำเป็นของการเดินหน้าต่อไปในกระบวนการโศกเศร้า ด้วยเหตุนี้จึงสำคัญที่ต้องไวต่อความต้องการและความประสงค์ของบุคคลหรือสมาชิกครอบครัวที่กำลังโศกเศร้า การสนทนาเรื่องแผนแห่งความรอดและเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์เพื่อให้การปลอบโยนจะช่วยได้ สำคัญเช่นกันที่ต้องใช้เวลามากพอในการให้เกียรติผู้วายชนม์ ระลึกถึงความสัมพันธ์ของเขาและลักษณะนิสัยที่ดี

  • คนที่กำลังโศกเศร้าอาจเลือกพูดหรือเข้าร่วมพิธีหรืออาจเลือกไม่ทำเช่นนั้น นี่เป็นการเลือกของพวกเขา

  • ในคำพูดของท่านที่พิธีศพ จำไว้ว่าท่านต้องถ่ายทอดความเห็นใจ กระตุ้นคนอื่นๆ ที่พูด (ผู้นำศาสนจักร บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศสานกิจ เพื่อนบ้าน และคนอื่นๆ) ให้ระมัดระวังคำพูดของพวกเขาด้วย

เรื่องการเงินอาจเป็นเรื่องกังวลสำหรับพิธีศพและหลังจากนั้น หากบุคคลและครอบครัวสูญเสียผู้เลี้ยงดู พวกเขาอาจเป็นห่วงเรื่องเงินในอนาคต แสวงหาการชี้นำทางวิญญาณขณะท่านพิจารณาว่าความช่วยเหลือหรือโปรแกรมต่างๆ ของศาสนจักรจะแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้บางข้อได้อย่างไร

สนับสนุนครอบครัว

บางสถานการณ์สมาชิกครอบครัวและเพื่อนสนิทคนอื่นๆ อาจกำลังโศกเศร้าเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากโศกเศร้าเพราะการสูญเสียผู้เป็นที่รัก พิจารณาข้อมูลใต้ “ช่วยเหลือบุคคล” สำหรับสมาชิกครอบครัวแต่ละคนและเพื่อนสนิท

ถึงแม้ความโศกเศร้าจะส่งผลต่อสมาชิกครอบครัวเพียงคนเดียว แต่ท่านอาจจะสำรวจกับครอบครัวและดูว่าคนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง พวกเขาอาจต้องการให้ช่วยสมาชิกครอบครัวที่กำลังประสบความโศกเศร้า

ใช้แหล่งช่วยของวอร์ดและสเตค

เมื่อเห็นควร ให้พิจารณาการขอให้ผู้นำวอร์ดหรือคนอื่นที่ไว้ใจได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ขออนุญาตบุคคลก่อนพูดคุยสถานการณ์กับผู้อื่น

  • กระตุ้นญาติๆ ของบุคคลนั้นและบราเดอร์หรือซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจให้เอาใจใส่ กระบวนการโศกเศร้าอาจใช้เวลานาน และบุคคลอาจต้องได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษระยะหนึ่ง การสนับสนุนดังกล่าวต้องดำเนินต่อไปนานๆ หลังพิธีศพ

  • บางคนอาจได้ประโยชน์จากการเข้ากลุ่มสนับสนุน กลุ่มต่างๆ จะช่วยได้เป็นพิเศษสำหรับบุคคลที่รู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจสถานการณ์ของพวกเขาหรือไม่เข้าใจว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร พวกเขาสามารถเข้ากลุ่มบางกลุ่มผ่านโซเชียลมีเดีย แพทย์ประจำครอบครัว สถานที่เก็บศพ และองค์กรดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอาจจะช่วยท่านหากลุ่มสนับสนุนในพื้นที่ของท่านได้ ศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัวไม่มีกลุ่มสนับสนุนคนโศกเศร้า แต่ท่านอาจปรึกษากับสำนักงานศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัวในท้องที่ (หากมี) เพื่อขอคนแนะนำหรือคำแนะนำ

  • ช่วยให้บุคคลได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหากจำเป็น ความโศกเศร้าอาจเป็นอารมณ์ที่ซับซ้อน และคนที่โศกเศร้าอาจต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ดูหน้าแหล่งช่วยให้คำแนะนำเรื่อง สุขภาพจิต