ฝ่ายอธิการ
การทารุณกรรม (ความช่วยเหลือสำหรับเหยื่อ)


“การทารุณกรรม (ความช่วยเหลือสำหรับเหยื่อ)” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา (2020)

“การทารุณกรรม (ความช่วยเหลือสำหรับเหยื่อ)” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา

การทารุณกรรม (ความช่วยเหลือสำหรับเหยื่อ)

สายด่วน

อธิการ ประธานสาขา และประธานสเตคควรโทรสายด่วนของผู้นำศาสนจักร ทันที ที่ทราบเรื่องการทารุณกรรมแต่ละครั้ง แหล่งช่วยนี้ให้ความช่วยเหลือในการช่วยเหยื่อและในการทำตามข้อกำหนดการรายงาน ดูหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนและข้อมูลเพิ่มเติมที่ เบอร์โทรสายด่วน

ผู้นำศาสนจักรไม่ควรเมินเฉยรายงานการทารุณกรรมหรือแนะนำบุคคลไม่ให้รายงานการทำผิดทางอาญา

สหรัฐและแคนาดา

หากสมาชิกคนอื่นทราบเรื่องการทารุณกรรม พวกเขาควรติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายทันที พวกเขาควรปรึกษากับอธิการหรือประธานสเตคของตนด้วยผู้จะโทรสายด่วนการทารุณกรรมเพื่อขอคำแนะนำในการช่วยเหลือเหยื่อและการทำตามข้อกำหนดการรายงาน

นอกสหรัฐและแคนาดา

เรียนรู้ว่าท่านควรรายงานการทารุณกรรมอย่างไรและเมื่อใด ประธานสเตคและอธิการควรโทรสายด่วนเพื่อขอคำแนะนำทันทีหากมีสายด่วนในประเทศของพวกเขา ในประเทศที่ไม่มีสายด่วน อธิการที่ทราบเรื่องการทารุณกรรมควรติดต่อประธานสเตคของตน ประธานสเตคจะขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางกฎหมายระดับภาคที่สำนักงานภาค (ดู คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020), 38.6.2.1, ChurchofJesusChrist.org) สมาชิกคนอื่นควรทำหน้าที่รายงานตามกฎหมายและปรึกษากับอธิการของพวกเขา

จะยอมให้เกิดการทารุณกรรมไม่ได้

การทารุณกรรมคือการปฏิบัติอย่างโหดร้ายหรือการปล่อยปละละเลยผู้อื่น (เช่น เด็กหรือคู่สมรส ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ) อันก่อให้เกิดอันตรายทางร่างกาย ทางอารมณ์ หรือทางเพศ จุดยืนของศาสนจักรคือไม่ยอมรับการทารุณกรรมทุกรูปแบบและคนที่กระทำทารุณกรรมต้องชี้แจงต่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าผู้กระทำความผิดถูกตัดสินลงโทษฐานกระทำทารุณกรรมหรือไม่ พวกเขาจะต้องได้รับโทษทางวินัยของศาสนจักรและอาจสูญเสียสมาชิกภาพในศาสนจักร (ดู มัทธิว 18:6; มาระโก 9:42; ลูกา 17:2)

ในกรณีของการทารุณกรรม ความรับผิดชอบแรกๆ ของศาสนจักรคือ 1) ช่วยผู้ถูกกระทำทารุณกรรมด้วยความเมตตาและความเข้าอกเข้าใจ และ 2) คุ้มครองผู้ที่อาจเสี่ยงต่อการถูกกระทำทารุณกรรมในอนาคต ถึงแม้การทารุณกรรมบางรูปแบบอาจก่อให้เกิดอันตรายทางร่างกาย แต่การทารุณกรรมทุกรูปแบบส่งผลต่อจิตใจและวิญญาณ บ่อยครั้งทำลายศรัทธา และสามารถทำให้เหยื่อเกิดความสับสน ความสงสัย ความไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกผิด และความกลัว ดู “รับรู้รูปแบบของการทารุณกรรม” และ “อะไรคือสัญญาณบ่งบอกว่าคนบางคนกำลังถูกกระทำทารุณกรรม?

ช่วยให้เหยื่อเข้าใจว่าเขาไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของผู้กระทำทารุณกรรมและไม่ได้คาดหวังให้ต้องอดทนกับการทารุณกรรม

พึงทราบว่าผู้กระทำทารุณกรรมเป็นคนมีเล่ห์เหลี่ยม พูดจากลับกลอก และหลอกลวง ด้วยเหตุนี้เรื่องราวในเหตุการณ์ของพวกเขาจึงอาจต่างจากเรื่องราวของเหยื่อ ในทุกกรณีพึงคำนึงถึงความปลอดภัยและการคุ้มครองเหยื่อเป็นอันดับแรก

เราไม่ได้คาดหวังทั้งไม่ส่งเสริมให้ผู้นำศาสนจักรวินิจฉัยหรือให้การรักษาผู้กำลังประสบปัญหาสุขภาพจิตเกี่ยวกับการทารุณกรรม หากจำเป็น สนับสนุนให้บุคคลพิจารณาการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว (หากมี) สามารถให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลแก่ผู้นำเกี่ยวกับแหล่งช่วยในชุมชนของพวกเขา

ขณะที่ท่านอ่านข้อมูลต่อไปนี้ ให้แสวงหาการดลใจในการปรับใช้ข้อเสนอแนะเหล่านี้กับสถานการณ์ของเหยื่อ ซึ่งอาจเปลี่ยนไปถ้าเหยื่อเป็นคู่สมรส เด็ก บิดามารดาสูงอายุ หรือคนพิการ

พยายามเข้าใจ

การช่วยให้เหยื่อรู้สึกว่ามีคนรับฟังและเข้าใจอาจสำคัญเท่าๆ กับคำปรึกษาที่ท่านสามารถให้ได้ ขณะพูดคุยกับเหยื่อ ให้พยายามแสดงความรักและความเห็นใจเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำ การสนทนาเรื่องการทารุณกรรมต้องอาศัยความกล้าหาญมากในส่วนของเหยื่อ และเขาอาจต้องการความมั่นใจและคำปลอบใจ

ทำใจให้สงบและเต็มใจใช้เวลาฟังความกลัว ความสงสัย และข้อกังวลของเหยื่อ พิจารณาการถามคำถามทำนองนี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอนด้วยความเมตตาและความเข้าอกเข้าใจเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจสถานการณ์ของเหยื่อดีขึ้นและเล็งเห็นความต้องการของเขา พึงแน่ใจว่าได้ให้เหยื่ออธิบายสถานการณ์ด้วยคำพูดของเขาเองแทนที่จะซักถามเขา

  • กำลังเกิดอะไรขึ้น?

  • คุณรู้สึกปลอดภัยแค่ไหน?

  • คนอื่นรอบตัวคุณปลอดภัยแค่ไหน?

  • คุณพูดเรื่องนี้กับใครอีกบ้าง (เช่น ครอบครัว พ่อแม่ ผู้นำศาสนจักร หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง)?

  • สิ่งที่คุณต้องการเวลานี้คืออะไร?

  • มีอะไรอีกไหมเกี่ยวกับการทารุณกรรมนี้ที่ผมควรรู้?

เหยื่อของการทารุณกรรมอาจขอความช่วยเหลือจากผู้นำศาสนจักรเพื่อการเยียวยาทางวิญญาณ สตรีและเยาวชนอาจรู้สึกสบายใจมากขึ้นขณะพบปะพูดคุยกับอธิการหรือผู้นำท่านอื่นหากพวกเขามีเพื่อน พ่อแม่ หรือผู้นำศาสนจักรที่ไว้ใจได้อยู่ด้วย พึงแน่ใจว่าเหยื่อรู้ว่าเขาสามารถมีผู้ให้กำลังใจคนหนึ่งอยู่ด้วยได้

ช่วยเหลือบุคคล

ขณะให้ความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนแก่เหยื่อ พึงพิจารณาคำแนะนำต่อไปนี้ จดจำว่าต้องมีความเห็นใจและความรักในคำแนะนำของท่าน

ช่วยให้บุคคลเข้าใจวิธีได้การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ (ดู แอลมา 7:11–12; 2 นีไฟ 9:21; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6)

ชมเชยเขาที่ใช้ความกล้าหาญบอกเรื่องการทารุณกรรม

ยืนยันกับเหยื่ออีกครั้งว่าเขาไม่จำเป็นต้องกลับใจจากการเป็นเหยื่อของการทารุณกรรม

กระตุ้นให้บุคคลขอพรฐานะปุโรหิต

จงมีความรู้สึกละเอียดอ่อนต่อกระบวนการเยียวยาของเหยื่อเองซึ่งอาจใช้เวลานานมาก อย่าพยายามเร่งหรือควบคุมกระบวนการ

ยอมให้เหยื่อจัดการกับความรู้สึกและความท้าทายของตนเกี่ยวกับการทารุณกรรมก่อนแนะนำบุคคลนั้นเกี่ยวกับการให้อภัยผู้กระทำผิด

ช่วยให้บุคคลรู้สึกปลอดภัย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “ฉันจะอยู่อย่างปลอดภัยได้อย่างไร?

กระตุ้นให้เหยื่อติดต่อขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากคนอื่นที่เขาไว้ใจ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญการให้คำปรึกษาเมื่อจำเป็น

สนับสนุนครอบครัว

การทารุณกรรมส่งผลต่อสมาชิกครอบครัวเช่นเดียวกับบุคคล พิจารณาผลกระทบต่อคู่สมรสหรือครอบครัวของบุคคลและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่นเดียวกับที่ท่านแสดงความรักความห่วงใยเหยื่อ จงแสดงความรักความห่วงใยสมาชิกครอบครัวผู้อาจกำลังต่อสู้ดิ้นรนหรือเจ็บปวดด้วย

พิจารณาการใช้แหล่งช่วยชุมชนหรือความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญกับสมาชิกครอบครัวที่อาจต้องการคำปรึกษาหรือการสนับสนุน

ช่วยให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยพวกเขาเยียวยาเป็นส่วนตัวได้อย่างไร (ดู แอลมา 7:11 และ มัทธิว 11:28–30)

ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่ครอบครัวของเหยื่อ

ใช้แหล่งช่วยของวอร์ดและสเตค

หากผู้ถูกกระทำทารุณกรรมอนุญาตให้ท่านสนทนาสถานการณ์กับผู้อื่น จงทำงานภายใต้การกำกับดูแลของอธิการเพื่อหาผู้นำวอร์ดหรือบุคคลอื่นที่ไว้ใจผู้สามารถให้การสนับสนุน การชี้แนะ และความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากโครงร่างการสอนเรื่อง “การป้องกันและการตอบสนองต่อการทารุณกรรม”)

สนทนากับอธิการเรื่องวิธีสนับสนุนบุคคลหรือครอบครัว และวิธีตอบสนองสถานการณ์อย่างสร้างสรรค์

ช่วยเหยื่อหาและติดต่อแหล่งช่วยที่มีหรือความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ดู “ฉันควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือไม่?

  • แหล่งช่วยอาจได้แก่ที่พักพิง ผู้ให้คำปรึกษา หน่วยบริการด้านการแพทย์ หน่วยบริการด้านกฎหมาย และการสนับสนุนอื่นๆ

  • บุคคลอาจต้องพิจารณาให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือขอรับความคุ้มครองทางกฎหมายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์และข้อควรคำนึงอื่นๆ

จงสวดอ้อนวอนและมีความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับความต้องการของเหยื่อ และเกี่ยวกับคนที่อาจได้รับมอบหมายให้เป็นซิสเตอร์และบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ พิจารณาให้เหยื่อมีส่วนตัดสินใจหากเห็นควร เหยื่อบางรายอาจสบายใจกับผู้ปฏิบัติศาสนกิจคู่สามีภรรยามากกว่าบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจสองคน

พิจารณาการทำงานกับอธิการเพื่อใช้เวลาในสภาวอร์ดหรืออีกการประชุมหนึ่งอบรมผู้นำเกี่ยวกับการป้องกันและการตอบสนองต่อการทารุณกรรม