การเรียกในวอร์ดหรือสาขา
ผู้ดูแล


“การสนับสนุนผู้ดูแล” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา (2018)

“การสนับสนุนผู้ดูแล” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา

การสนับสนุนผู้ดูแล

ผู้ดูแลคือคนที่ให้การดูแลเป็นประจำแก่ผู้ไม่สามารถสนองความต้องการของตนบางด้านหรือทั้งหมดได้ บ่อยครั้งผู้รับการดูแลคือสมาชิกครอบครัวที่มีชีวิตอยู่กับความพิการทางร่างกายหรือจิตใจ ความเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือผลของความชราภาพ การใช้เวลาดูแลบุคคลดังกล่าวอาจมีตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปจนถึงการดูแล 24 ชั่วโมง

บ่อยครั้งผู้ดูแลต้องทำให้งาน ศาสนจักร และความรับผิดชอบอื่นในครอบครัวสมดุลขณะเดียวกันก็พยายามดูแลคนที่พวกเขารัก ถึงแม้การดูแลมักเป็นประสบการณ์ที่เพิ่มคุณค่าและคุ้มค่ามาก แต่การต้องดูแลตลอดเวลาสามารถทำให้เกิดความห่วงใย ความอ่อนเพลีย ความเครียดทางการเงิน ความวิตกกังวล และความเหนื่อยล้า

ผู้ดูแลอาจมีความต้องการที่คนอื่นมองไม่เห็น และพวกเขาอาจลังเลไม่กล้าขอความช่วยเหลือเช่นกัน ผู้ดูแลอาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ความวิตก การใช้สารเสพติด หรือปัญหาสุขภาพร่างกาย พวกเขาอาจประสบความโศกเศร้า ความแค้นใจ หรือความโกรธเพราะหมดสิ้นความหวังและความคาดหวังเช่นกัน วิถีชีวิตวันต่อวันของพวกเขา อิสรภาพในการทำสิ่งที่อยากทำ และเป้าหมายสำหรับอนาคตอาจต่างโดยสิ้นเชิงจากที่พวกเขาเคยคาดหวัง

พยายามเข้าใจ

ขณะที่ท่านพูดคุยกับผู้ดูแล พึงแสดงความรักและความเห็นใจเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำ เพราะทุกสถานการณ์ต่างกันและสภาวการณ์ของแต่ละคนแตกต่าง ให้พิจารณาการถามคำถามทำนองนี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอนด้วยท่าทีที่รักและเมตตาเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจสภาวการณ์ของผู้ดูแลดีขึ้นและเล็งเห็นความต้องการของเขา

  • สถานการณ์ปัจจุบันคืออะไร และคุณมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง?

  • ด้านใดยากที่สุดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณประสบอยู่?

  • การเป็นผู้ดูแลส่งผลต่อครอบครัวคุณอย่างไร (สุขภาพ ความกังวลทางการเงิน บทบาท หน้าที่รับผิดชอบ และอื่นๆ)?

  • คุณกำลังประสบความท้าทายอะไรบ้างในความสัมพันธ์ของคุณกับผู้รับการดูแล?

  • สถานการณ์ของคุณมีทีท่าว่าจะดีขึ้น เหมือนเดิม หรือแย่ลงเรื่อยๆ?

  • ปัจจุบันคุณกำลังได้รับความช่วยเหลือในการดูแลแบบใด (จากสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ แหล่งช่วยชุมชน หรือผู้ให้การดูแลสุขภาพ)?

  • งานและหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้างที่คุณกับครอบครัวไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีเวลาหรือขาดความสามารถ?

  • คุณดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง (โภชนาการ การนอนหลับ การออกกำลังกาย การรักษาพยาบาลตามปกติ)?

  • คุณอยากบอกอะไรผมอีกบ้างเกี่ยวกับสถานการณ์ของคุณ?

ช่วยเหลือบุคคล

ขณะที่ท่านช่วยสมาชิกแก้ไขสถานการณ์ของเขา ให้พิจารณาการใช้ข้อเสนอแนะบางข้อต่อไปนี้

ช่วยให้ผู้ดูแลเข้าใจเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถและการไถ่ของพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ (ดู แอลมา 7:11–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6; โมไซยาห์ 24:13–15)

ระบุวิธีช่วยให้ผู้ดูแลยังคงเชื่อมสัมพันธ์กับสมาชิกวอร์ดคนอื่นๆ และพิธีนมัสการ

  • หากผู้ดูแลและผู้รับการดูแลรู้สึกเหมือนตนเป็นภาระของวอร์ด จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขามีค่าและสมาชิกวอร์ดหลายคนยินดีรับใช้พวกเขา

  • พึงแน่ใจว่ามีการให้ศีลระลึกในบ้านหากจำเป็น

  • พิจารณาว่าผู้ดูแลต้องการความช่วยเหลือเพื่อไปโบสถ์ เข้าพระวิหาร หรือเข้าร่วมกิจกรรมอื่นหรือไม่

  • พูดคุยกับผู้ดูแลว่าแบบอย่างและประสบการณ์ของเขากำลังช่วยสมาชิกวอร์ดคนอื่นๆ อย่างไร

  • พิจารณาให้โอกาสที่เหมาะสมแก่ผู้ดูแลเพื่อรับใช้โดยไม่เพิ่มภาระให้พวกเขา

พูดคุยกับผู้ดูแลและผู้รับการดูแล แสดงความรักความห่วงใยต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง

  • วางแผนไปเยี่ยมบ้านเพื่อเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น

  • ให้กำลังใจและช่วยให้ผู้ดูแลเข้าใจว่าเขาไม่โดดเดี่ยว

  • ช่วยเตรียมการให้พรฐานะปุโรหิตเมื่อขอหรือได้รับการดลใจให้ทำเช่นนั้น

  • สนทนาว่าผู้ดูแลจะปรับแผนการดูแลอย่างไรหรือทำอะไรถ้าสถานการณ์แย่ลง และวอร์ดจะช่วยได้อย่างไร

ระบุแหล่งช่วยที่มีอยู่ที่ผู้ดูแลสามารถหันไปขอความช่วยเหลือได้

  • เขียนรายการพรสวรรค์ ทักษะ และแหล่งช่วยของสมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆ ผู้สามารถให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นและวางแผนใช้แหล่งช่วยเหล่านี้

  • ช่วยผู้ดูแลหาโอกาสมีเวลาส่วนตัว พิจารณาความต้องการทางวิญญาณและส่วนตัวเช่นเดียวกับโอกาสพักผ่อนหย่อนใจด้วย

ระบุแหล่งช่วยที่จำเป็นเพิ่มเติม เช่น:

  • ความช่วยเหลือด้านการเงิน

  • ประกันภัย

  • ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ

  • การสนับสนุนด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต

  • งานอาชีพ

  • การเดินทาง

  • การใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือ

สนับสนุนครอบครัว

หากมีสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ อยู่ในบ้าน พวกเขาอาจต้องช่วยเหลือผู้ดูแล ระบุผลกระทบที่สิ่งนี้มีต่อผู้ดูแลและผู้รับการดูแล รวมทั้งต่อคู่ครอง บุตร หรือสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ และแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ช่วยให้เด็กเข้าใจบทบาทและความต้องการที่เปลี่ยนไปในบ้าน

  • เด็กและวัยรุ่นอาจพบว่าพวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่าเดิมหากบิดามารดาหรือพี่น้องเป็นผู้ดูแลหรือผู้รับการดูแล (ตัวอย่างเช่น หน้าที่รับผิดชอบดูแลบ้าน สนาม หรือดูแลรักษารถ)

  • บิดามารดาที่เป็นผู้ดูแลหรือผู้รับการดูแลอาจไม่สามารถใช้เวลากับบุตรได้มากเท่าที่พวกเขาต้องการ

ให้บุตรมีส่วนร่วมในกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอื่นในวอร์ด

  • เชิญครอบครัวในวอร์ดมาเยี่ยมบ้าน และกระตุ้นให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัว เช่น ยามค่ำที่บ้าน

ผู้รับการดูแลอาจรู้สึกเหมือนเป็นภาระของผู้ดูแล และอาจแม้แต่มีความยากลำบากในการหาความหมายในชีวิตหากความสามารถของเขาจำกัดอย่างมาก พิจารณาหาวิธีช่วยให้บุคคลพบจุดประสงค์และความสมปรารถนา

  • ช่วยเขาระบุและเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความหมาย (เช่น การรับใช้ นันทนาการ งานรวมญาติ โครงการและงานอดิเรกส่วนตัว และอื่นๆ) โดยขึ้นอยู่กับสภาวการณ์

  • พิจารณาโอกาสรับใช้ในศาสนจักรจากบ้าน เช่น ผ่าน FamilySearch Indexing หรือโอกาสรับใช้อื่นๆ ทางออนไลน์

ใช้แหล่งช่วยของวอร์ดและสเตค

ผู้นำวอร์ดและบุคคลอื่นที่วางใจสามารถให้การสนับสนุน การชี้แนะ และความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง ขออนุญาตผู้ดูแลก่อนสนทนาสถานการณ์กับผู้อื่น

ผู้นำอาจพิจารณาการสนทนาสถานการณ์นี้ในสภาวอร์ดเพื่อตัดสินใจว่าวอร์ดจะสนับสนุนผู้ดูแลและผู้รับการดูแลได้อย่างไร

  • อธิการอาจเชื้อเชิญให้ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ทำงานกับผู้ดูแลเพื่อประเมินสถานการณ์เพิ่มเติมและคิดหาวิธีตอบรับความต้องการ

  • ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานสมาคมสงเคราะห์ควรพิจารณาการมอบหมายบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจที่ตั้งใจดูแลครอบครัวนี้

  • ช่วยผู้ดูแลระบุคนที่ไว้ใจได้ผู้สามารถสนับสนุนเขาได้อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นบราเดอร์หรือซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ หรือสมาชิกอีกคนหนึ่งในวอร์ด

หาวิธีให้สมาชิกวอร์ดให้ความช่วยเหลือ

  • ระบุสมาชิกที่สามารถไปเยี่ยมบ้านเพื่อคลายเหงา

  • ให้เยาวชนหรือคนอื่นๆ มีส่วนในโครงการรับใช้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวนี้

  • ระบุวิธีที่สมาชิกวอร์ดจะช่วยให้มีการหยุดพักเป็นประจำโดยช่วยผู้รับการดูแลขณะผู้ดูแลเข้ากลุ่มสนับสนุน ดูแลความต้องการทางวิญญาณหรือส่วนตัว หรือรับความช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อได้หยุดพัก

ระบุองค์กรและแหล่งช่วยในท้องที่และกระตุ้นให้ผู้ดูแลใช้แหล่งช่วยเหล่านั้น แหล่งช่วยอาจได้แก่:

  • ผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพ

  • กลุ่มสนับสนุนผู้ดูแลระดับท้องที่และระดับประเทศ (มาด้วยตนเองหรือออนไลน์)

  • องค์กรเอกชนและองค์กรภาครัฐ

  • องค์กรนอกภาครัฐ (NGOs)