ฝ่ายอธิการ
การทารุณกรรม (ความต้องการของผู้กระทำผิด)


“การทารุณกรรม (ความต้องการของผู้กระทำผิด)” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา (2020)

“การทารุณกรรม (ความต้องการของผู้กระทำผิด)” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา

การทารุณกรรม (ความต้องการของผู้กระทำผิด)

สายด่วน

อธิการ ประธานสาขา และประธานสเตคควรโทรสายด่วนของผู้นำศาสนจักร ทันที ที่ทราบเรื่องการทารุณกรรมแต่ละครั้ง แหล่งช่วยนี้ให้ความช่วยเหลือในการช่วยเหยื่อและในการทำตามข้อกำหนดการรายงาน ดูหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนและข้อมูลเพิ่มเติมที่ เบอร์โทรสายด่วน

ผู้นำศาสนจักรไม่ควรเมินเฉยรายงานการทารุณกรรมหรือแนะนำบุคคลไม่ให้รายงานการทำผิดทางอาญา

สหรัฐและแคนาดา

หากสมาชิกคนอื่นทราบเรื่องการทารุณกรรม พวกเขาควรติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายทันที พวกเขาควรปรึกษากับอธิการหรือประธานสเตคของตนด้วยผู้จะโทรสายด่วนการทารุณกรรมเพื่อขอคำแนะนำในการช่วยเหลือเหยื่อและการทำตามข้อกำหนดการรายงาน

ประเทศนอกสหรัฐและแคนาดา

เรียนรู้ว่าท่านควรรายงานการทารุณกรรมอย่างไรและเมื่อใด ประธานสเตคและอธิการควรโทรสายด่วนเพื่อขอคำแนะนำทันทีหากมีสายด่วนในประเทศของพวกเขา ในประเทศที่ไม่มีสายด่วน อธิการที่ทราบเรื่องการทารุณกรรมควรติดต่อประธานสเตคของตน ประธานสเตคจะขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางกฎหมายระดับภาคที่สำนักงานภาค (ดู คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020), 38.6.2.1, ChurchofJesusChrist.org) สมาชิกคนอื่นควรทำหน้าที่รายงานตามกฎหมายและปรึกษากับอธิการของพวกเขา

จะยอมให้เกิดการทารุณกรรมไม่ได้

การทารุณกรรมคือการปฏิบัติอย่างโหดร้ายหรือการปล่อยปละละเลยผู้อื่น (เช่น เด็กหรือคู่สมรส ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ) อันก่อให้เกิดอันตรายทางร่างกาย ทางอารมณ์ หรือทางเพศ จุดยืนของศาสนจักรคือไม่ยอมรับการทารุณกรรมทุกรูปแบบและคนที่กระทำทารุณกรรมต้องชี้แจงต่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าผู้กระทำผิดถูกตัดสินลงโทษฐานกระทำทารุณกรรมหรือไม่ พวกเขาจะต้องได้รับโทษทางวินัยของศาสนจักรและอาจสูญเสียสมาชิกภาพในศาสนจักร (ดู มัทธิว 18:6; มาระโก 9:42; ลูกา 17:2)

ในกรณีกระทำทารุณกรรม ความรับผิดชอบเบื้องต้นของศาสนจักรคือ 1) ช่วยผู้ถูกกระทำทารุณกรรมด้วยความเมตตาและความเข้าอกเข้าใจ และ 2) คุ้มครองผู้ที่อาจเสี่ยงต่อการถูกกระทำทารุณกรรมในอนาคต ถึงแม้การทารุณกรรมบางรูปแบบอาจก่อให้เกิดอันตรายทางร่างกาย แต่การทารุณกรรมทุกรูปแบบส่งผลต่อจิตใจและวิญญาณ บ่อยครั้งทำลายศรัทธาและสามารถทำให้เหยื่อเกิดความสับสน ความสงสัย ความไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกผิด และความกลัว

บ่อยครั้งผู้กระทำทารุณกรรมมีบาปร้ายแรงอื่นที่ยังไม่ได้แก้ไขหรือมีปัญหาสุขภาพจิตหรือตนเองอาจเคยถูกกระทำทารุณกรรม ผู้กระทำผิดบางคนรู้สึกสำนึกผิด ปรารถนาจะสารภาพบาป และยินดีเริ่มกระบวนการกลับใจ อีกหลายคนอาจไม่ยอมรับว่าทำผิด กลบเกลื่อนพฤติกรรมของตน หรือโทษคนอื่น การประเมินความสำนึกผิดและความปรารถนาจะเปลี่ยนเป็นขั้นตอนแรกในการช่วยเหลือผู้กระทำผิด

ผู้กระทำทารุณกรรมบางคนอาจมีเล่ห์เหลี่ยม พูดจากลับกลอก และหลอกลวง ด้วยเหตุนี้เรื่องราวในเหตุการณ์ของพวกเขาจึงอาจต่างจากเรื่องราวของเหยื่อ ในทุกกรณีพึงคำนึงถึงความปลอดภัยและการคุ้มครองเหยื่อเป็นอันดับแรก อธิการและประธานสเตคควรโทรปรึกษาสายด่วนขณะวางแผนความปลอดภัย

เราไม่ได้คาดหวังทั้งไม่ส่งเสริมให้ผู้นำศาสนจักรวินิจฉัยหรือให้การรักษาบุคคลผู้กำลังประสบปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวพันกับการทารุณกรรม ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ควรพิจารณาขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว (หากมี) สามารถให้คำปรึกษาและข้อมูลอื่นแก่ผู้นำเกี่ยวกับแหล่งช่วยในชุมชนของพวกเขา

อธิการควรอ่าน คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020) เพื่อศึกษาคำแนะนำเกี่ยวกับการเรียกในศาสนจักร ใบรับรองพระวิหาร และคำถามอื่นที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการสอบสวนการทารุณกรรมและหาข้อสรุปเกี่ยวกับความรุนแรงของการกระทำดังกล่าว เมื่อพิจารณาการจำกัดสมาชิกภาพสำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน ให้ค้นหาข้อมูลใน คู่มือทั่วไป, 32.7.7

พยายามเข้าใจ

พิจารณาการถามคำถามทำนองนี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจปัญหาของบุคคล ความพร้อม และแรงจูงใจให้เขากลับใจได้ดีขึ้น

  • คุณจะช่วยให้ผมเข้าใจสถานการณ์ได้ไหม?

  • การกลับใจสำคัญแค่ไหนสำหรับคุณ?

  • คุณเคยใช้หลักธรรมพระกิตติคุณเอาชนะพฤติกรรมและนิสัยชอบกระทำทารุณกรรมอย่างไร?

  • คุณยินดีทำอะไรเพื่อเปลี่ยน?

  • ผมจะช่วยคุณในกระบวนการกลับใจของคุณได้อย่างไร?

  • มีอะไรอีกไหมเกี่ยวกับการทารุณกรรมครั้งนี้ที่ผมควรรู้?

ช่วยเหลือบุคคล

ขณะปรึกษากับบุคคล ให้พิจารณาการใช้ข้อเสนอแนะบางข้อต่อไปนี้:

สนทนากับบุคคลเรื่องผลของพฤติกรรมอันก่อให้เกิดการทารุณกรรมที่มีต่อตนเองและครอบครัว ตลอดจนหลักคำสอนและนโยบายศาสนจักรเกี่ยวกับการทารุณกรรม (ทบทวนแหล่งข้อมูลใน นโยบายและคำสอนของศาสนจักร เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

ช่วยให้บุคคลพบความหวังและการเยียวยาผ่านพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

ในกรณีอย่างเช่นการทารุณกรรมทางกายหรือทางวาจา ให้ช่วยบุคคลหาวิธีตอบสนองได้ดีโดยไม่มีการทารุณกรรมต่อสถานการณ์หรือความรู้สึกด้านลบ เช่น:

  • ใช้เวลาให้มากพอในการสงบอารมณ์และยอมตอบสนองอย่างมีสติโดยออกไปเดิน สูดลมหายใจลึกๆ นับหนึ่งถึง 100 หรือทำงานสักหนึ่งอย่าง เป็นต้น

  • บอกข้อกังวลอย่างใจเย็นโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์

  • ใช้เวลาพิจารณาความนึกคิดและความรู้สึกของผู้อื่น

สนับสนุนครอบครัว

การทารุณกรรมส่งผลต่อสมาชิกครอบครัวเช่นเดียวกันกับบุคคล ระบุผลกระทบต่อคู่สมรสหรือครอบครัวของบุคคลและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ถึงแม้จำเป็นต้องช่วยเหลือผู้กระทำผิดในกระบวนการกลับใจของเขา แต่บางครั้งเหยื่อรู้สึกว่าตนถูกละเลยเมื่อเห็นว่าผู้นำมุ่งช่วยเหลือผู้กระทำผิดเป็นหลัก ตรวจสอบกับเหยื่อเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่ากำลังสนองความต้องการของเขาเช่นกัน

ใช้แหล่งช่วยชุมชนหรือความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญกับสมาชิกครอบครัวที่อาจต้องการคำปรึกษาหรือการสนับสนุน

ช่วยให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยให้พวกเขาได้รับการเยียวยาเป็นส่วนตัวได้อย่างไร (ดู แอลมา 7:11 และ มัทธิว 11:28–30)

ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่คนอื่นในครอบครัวที่อาจได้รับผลกระทบ

ใช้แหล่งช่วยของวอร์ดและสเตค

ขออนุญาตบุคคลก่อนสนทนาสถานการณ์กับผู้อื่น อธิการควรปรึกษาสายด่วนการทารุณกรรมเมื่อมีคำถามเกี่ยวกับการรักษาความลับและหน้าที่ให้ความคุ้มครอง

ช่วยบุคคลขอและรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อจำเป็น

  • ใช้แหล่งช่วยในท้องที่ซึ่งให้บริการสอดคล้องกับหลักธรรมพระกิตติคุณ

  • ติดต่อศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัวในท้องที่หรือสำนักงานภาคเพื่อขอแหล่งช่วยหรือตัวเลือกให้คำปรึกษาเพิ่มเติม

พิจารณาการทำงานกับอธิการเพื่อใช้เวลาในสภาวอร์ดหรืออีกการประชุมหนึ่งอบรมผู้นำเกี่ยวกับการป้องกันและการตอบสนองต่อการทารุณกรรม