จงตามเรามา
27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; ลูกา 21: ‘บุตรมนุษย์เสด็จมา’


“27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; ลูกา 21: ‘บุตรมนุษย์เสด็จมา’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; ลูกา 21,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
การเสด็จมาครั้งที่สอง

การเสด็จมาครั้งที่สอง โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; ลูกา 21

“บุตรมนุษย์เสด็จมา”

พึงจดจำว่าต้องเริ่มการเตรียมสอนของท่านโดยอ่าน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; และ ลูกา 21 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน แสวงหาการดลใจของท่านเอง จากนั้นทบทวนโครงร่างนี้เพื่อหาแนวคิดเพิ่มเติม

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เขียนอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอดที่พบในการอ่านของสัปดาห์นี้ไว้บนกระดาน เช่นต้นมะเดื่อ คนดีกับโจร บ่าวที่ซื่อสัตย์กับบ่าวชั่ว หญิงพรหมจารีสิบคน เงินตะลันต์ และแพะกับแกะ ขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันความจริงที่พวกเขาเรียนรู้จากอุปมาเหล่านี้ที่สามารถช่วยพวกเขาเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า พวกเขากำลังทำอะไรเพื่อประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านี้กับชีวิตพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:21–37

คำพยากรณ์เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยให้เราเผชิญอนาคตด้วยศรัทธา

  • เครื่องหมายการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดอาจเข้าใจยากสำหรับสมาชิกชั้นเรียนบางคน อาจจะช่วยได้ถ้าพวกเขาทำงานเป็นกลุ่มและระบุเครื่องหมายที่พบใน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:21–37 อีกทั้งจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจความสำคัญของเครื่องหมายเหล่านี้ดีขึ้นถ้าพวกเขาเปรียบกับเครื่องหมายจราจร เหตุใดเครื่องหมายจราจรจึงสำคัญ สิ่งนี้บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับเครื่องหมายของการเสด็จมาครั้งที่สอง ท่านอาจจะแจกกระดาษเป็นภาพเครื่องหมายจราจรให้แต่ละกลุ่มและเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนเครื่องหมายก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองไว้บนกระดาษแต่ละแผ่น ให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ และเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนสนทนาหลักฐานยืนยันเครื่องหมายเหล่านี้ในโลกปัจจุบัน

  • ใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว สมาชิกชั้นเรียนได้รับเชิญให้หาคำแนะนำในข้อเหล่านี้ว่าเราจะ “ไม่กังวลใจ” ระหว่างเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองได้อย่างไร (ดูคำกล่าวของประธานโธมัส เอส. มอนสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย) ให้ดูภาพการเสด็จมาครั้งที่สอง (ดู การเสด็จมาครั้งที่สอง, หนังสือภาพพระกิตติคุณ หน้า 66) และเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อที่พวกเขาบันทึกไว้ในการศึกษาส่วนตัว เหตุใดการรู้เรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดจึงเป็นพร

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:26–27, 38–55; มัทธิว 25:1–13

เราต้องพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดเสมอ

  • ถึงแม้พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เราพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์เสมอ แต่เรามักจะวุ่นวายอยู่กับชีวิตประจำวันและไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มากนัก อุปมาใน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:26–27, 38–55 และ มัทธิว 25:1–13 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนรับรู้ความสำคัญของการเตรียมตัวให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนหาอุปมาและการเปรียบเทียบเหล่านี้และแบ่งปันสิ่งที่สอนเกี่ยวกับการเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง บางทีอาจให้สมาชิกชั้นเรียนหนึ่งหรือสองคนเตรียมมาบรรยายอุปมาเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากอุปมาเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์

  • อุปมาเรื่องหญิงพรหมารีสิบคนช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนได้ใคร่ครวญการเตรียมทางวิญญาณของพวกเขาเพื่อพบพระผู้ช่วยให้รอด เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ให้การตีความอุปมาที่อาจจะช่วยได้ (ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) สมาชิกชั้นเรียนอาจสนทนาสิ่งที่เราทำได้ในชีวิตประจำวันเพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณอย่างสมบูรณ์ เหตุใดเราแต่ละคนจึงต้องประสบการเปลี่ยนใจเลื่อมใสด้วยตัวเราเอง หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:56–57 เพิ่มความเข้าใจอะไรให้เราเกี่ยวกับอุปมาเรื่องนี้

  • ท่านอาจจะร้องเพลงสวดด้วยกันเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองและสนทนาข่าวสารที่สอน (ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”)

มัทธิว 25:14–46

ที่การพิพากษาครั้งสุดท้าย เราจะถวายรายงานเรื่องราวชีวิตเราต่อพระเจ้า

  • อุปมาเรื่องเงินตะลันต์และอุปมาเรื่องแกะกับแพะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เรานึกถึงเรื่องราวของชีวิตที่เราจะถวายรายงานต่อพระเจ้า ณ การพิพากษาครั้งสุดท้าย ท่านอาจจะอ่านอุปมาด้วยกันและเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนบอกคำถามคนละข้อที่พระผู้ช่วยให้รอดอาจจะตรัสถามเมื่อเราถวายรายงานเรื่องราวชีวิตเรา ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนวางแผนวิธีที่พวกเขาจะปฏิบัติตามความประทับใจที่พวกเขาได้รับระหว่างการสนทนา

    ภาพ
    แกะกับแพะ

    พระคริสต์ทรงใช้แกะกับแพะสอนเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้าย (ดู มัทธิว 25:31–33)

  • ท่านอาจต้องการทบทวนนิยามของการพิพากษาครั้งสุดท้ายตามที่พบในคู่มือพระคัมภีร์ “พิพากษา (การ), สุดท้าย”scriptures.lds.org กับสมาชิกชั้นเรียน จากนั้นท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวนพระคัมภีร์บางข้อเกี่ยวกับการพิพากษาครั้งสุดท้ายว่าจะเป็นอย่างไร เช่น แอลมา 5:17–25 พระคัมภีร์เหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจให้เราทำอะไรเพื่อเตรียมรับวันนั้น

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนพบความหมายส่วนตัวในอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ (ดู มัทธิว 25:14–30) ให้แบ่งปันแนวคิดบางประการหรือใช้กิจกรรมจาก “The Parable of the Talents,” โดยเอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์ (Ensign, Aug. 2003, 32–35)

  • เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้การสนทนาเกี่ยวกับ มัทธิว 25:34–40 ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนยกตัวอย่างคนที่แสดงความกรุณาดังที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้ ให้เวลาพวกเขาไตร่ตรองว่าใครอาจจะต้องการการรับใช้ของพวกเขา มีวิธีใดบ้างที่เราจะสามารถเลี้ยงอาหารคนหิวโหย ให้เสื้อผ้าคนเปลือยกาย และเยี่ยมคนเจ็บป่วย

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน ยอห์น 13–17 ระหว่างสัปดาห์ถัดไป ขอให้พวกเขาคิดว่าพวกเขาจะพูดอะไรกับบุตรชายหรือบุตรสาวก่อนที่เขาจะไปเป็นผู้สอนศาสนา ใน ยอห์น 13–17 เราจะอ่านคำแนะนำสั่งสอนครั้งสุดท้ายที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่เหล่าสาวกก่อนการตรึงกางเขน

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; ลูกา 21

เพลงสวดเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

น้ำมันแห่งการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เสนอการตีความอุปมาเรื่องหญิงพรหมจารีไว้ดังนี้

“ลองนึกว่าน้ำมันนั้นเป็นน้ำมันแห่งการเปลี่ยนใจเลื่อมใส [ดู มัทธิว 25:4–9] …

“หญิงพรหมจารีมีปัญญาห้าคนนั้นเห็นแก่ตัวและไม่เต็มใจแบ่งปัน หรือพวกเขากำลังชี้ให้เห็นอย่างถูกต้องแล้วว่าน้ำมันแห่งการเปลี่ยนใจเลื่อมใสหยิบยืมกันไม่ได้ ความเข้มแข็งทางวิญญาณจากการเชื่อฟังพระบัญญัติอยู่เสมอจะหยิบยื่นให้ผู้อื่นได้หรือไม่ ความรู้ที่ได้รับโดยหมั่นศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์จะถ่ายทอดไปยังผู้ขาดแคลนได้หรือไม่ สันติสุขที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้ซื่อสัตย์ได้จากพระกิตติคุณจะส่งต่อไปยังผู้ประสบความทุกข์ยากหรือความท้าทายใหญ่หลวงได้หรือไม่ คำตอบที่ชัดเจนให้แก่คำถามเหล่านี้คือไม่ได้

“ดังที่หญิงพรหมจารีมีปัญญาเน้นอย่างถูกต้องว่าเราแต่ละคนต้อง ‘ซื้อสำหรับตัวเอง’ สตรีผู้ได้รับการดลใจเหล่านี้ไม่ได้พูดถึงการดำเนินการทางธุรกิจ หากแต่เน้นถึงหน้าที่รับผิดชอบส่วนบุคคลในการรักษาตะเกียงแห่งประจักษ์พยานให้ลุกไหม้อยู่เสมอและจัดหาน้ำมันแห่งการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสำรองไว้ให้เพียงพอ น้ำมันอันมีค่านี้ได้มาทีละหยด—‘บรรทัดมาเติมบรรทัด [และ] กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์’ (2 นีไฟ 28:30) ด้วยความอดทนไม่ย่อท้อ” (“เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 109)

อย่ากลัว

ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวว่า

“แม้เมฆลมมรสุมจะรวมตัวกัน แม้ฝนจะเทลงมาที่เรา แต่ความรู้ในพระกิตติคุณและความรักที่เรามีต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดจะปลอบโยนและค้ำจุนเรา จะนำปีติมาสู่ใจเราเมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงและรักษาพระบัญญัติ …

“พี่น้องที่รัก อย่ากลัว จงรื่นเริงเถิด อนาคตสดใสเท่าศรัทธาของท่าน” (“จงรื่นเริงเถิด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 113)

ปรับปรุงการสอนของเรา

พึงแน่ใจว่าท่านกำลังสอนหลักคำสอนที่แท้จริง “ถามตัวเองอย่างต่อเนื่องว่า ‘สิ่งที่ฉันกำลังสอนช่วยสมาชิกชั้นเรียนเสริมสร้างศรัทธาในพระคริสต์ กลับใจ ทำและรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร’” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 20)