จงตามเรามา
24–30 มิถุนายน มัทธิว 28; มาระโก 16; ลูกา 24; ยอห์น 20–21: ‘พระองค์ทรงเป็นขึ้นมาแล้ว’


“24–30 มิถุนายน มัทธิว 28; มาระโก 16; ลูกา 24; ยอห์น 20–21: ‘พระองค์ทรงเป็นขึ้นมาแล้ว’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“24–30 มิถุนายน มัทธิว 28; มาระโก 16; ลูกา 24; ยอห์น 20–21,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
พระเยซูตรัสกับเปโตร

จงดูแลแกะของเราเถิด โดย คามิลลา คอร์รีย์

24–30 มิถุนายน

มัทธิว 28; มาระโก 16; ลูกา 24; ยอห์น 20–21

“พระองค์ทรงเป็นขึ้นมาแล้ว”

ก่อนสำรวจแนวคิดการสอนในโครงร่างนี้ ให้อ่าน มัทธิว 28; มาระโก 16; ลูกา 24; และ ยอห์น 20–21 ไตร่ตรองว่าจะใช้บทเหล่านี้เสริมสร้างศรัทธาของคนที่ท่านสอนได้อย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในการศึกษาส่วนตัวและกับครอบครัว ขอให้พวกเขาจดความจริงประการหนึ่งจากงานมอบหมายให้อ่านของสัปดาห์นี้ที่พวกเขารู้สึกว่าควรแบ่งปันกับคน “ทั่วโลก” (ดู มาระโก 16:15) เมื่อจบชั้นเรียนให้ถามพวกเขาว่าพวกเขาพบความจริงเพิ่มเติมที่อยากแบ่งปันหรือไม่

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 28; มาระโก 16; ลูกา 24; ยอห์น 20

เพราะพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ เราจะฟื้นคืนชีวิตด้วย

  • เพื่อเปิดโอกาสให้คนมากเท่าที่จะมากได้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ ท่านอาจจะให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีทบทวนงานมอบหมายให้อ่านของสัปดาห์นี้และ “ฟื้นคืนชีวิต (การ)” ในคู่มือพระคัมภีร์และจดความจริงที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ ให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เขียน กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนยกมือเมื่อพวกเขาได้ยินบางคนแบ่งปันความจริงคล้ายกับที่พวกเขาจดไว้ เหตุใดความจริงเหล่านี้จึงสำคัญต่อเรา การรู้ว่าเราจะฟื้นคืนชีวิตส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกของเราเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ การฉายมิวสิควิดีโอเรื่อง “He Is Risen” (LDS.org) จะช่วยอัญเชิญพระวิญญาณให้สถิตในการสนทนานี้

ลูกา 24:13–35

เราสามารถอัญเชิญพระวิญญาณให้ “พักอยู่กับเรา”

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์ของพวกเขากับประสบการณ์ของเหล่าสาวกบนถนนไปเอมมาอูส ให้วาดภาพถนนสายหนึ่งบนกระดาน และเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนรายละเอียดจากเรื่องราวใน ลูกา 24:13–35 บนถนนฟากหนึ่ง จากนั้นพวกเขาจะเขียนความคล้ายคลึงกับประสบการณ์ของพวกเขาเองในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ไว้บนถนนอีกฟากหนึ่ง ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะเขียน ตาของเขาทั้งสองถูกปิดกั้น (ลูกา 24:16) บนถนนฟากหนึ่งและ บางครั้งเราไม่รู้จักอิทธิพลของพระเจ้าในชีวิตเรา บนถนนอีกฟากหนึ่ง

  • มีเพลงสวดสองเพลงที่เรียบเรียงตาม ลูกา 24:13–35 ได้แก่เพลง “สถิตกับข้าสายัณห์วันนี้” และ “โปรดทรงสถิตกับข้า!” เพลงสวด, บทเพลงที่ 75, 77 ท่านจะใช้เพลงสวดเหล่านี้ช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนพบความหมายในเรื่องราวพระคัมภีร์ลึกซึ้งขึ้นได้อย่างไร

มัทธิว 28:16–20; มาระโก 16:14–20; ลูกา 24:44–53

เราได้รับบัญชาให้สั่งสอนพระกิตติคุณทั่วโลก

  • พระบัญญัติที่พระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ประทานแก่อัครสาวกของพระองค์ให้สั่งสอนพระกิตติคุณประยุกต์ใช้กับเราในทุกวันนี้ได้เช่นกัน ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นบทบาทของตนในการสั่งสอนพระกิตติคุณได้อย่างไร บางทีท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาสมมติว่าพวกเขากำลังให้คำแนะนำบางอย่างแก่สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนที่จะไปเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา เราจะแบ่งปันอะไรจากพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดต่อเหล่าอัครสาวกของพระองค์ เราจะประยุกต์ใช้พระดำรัสเดียวกันนี้ในการพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นได้อย่างไร

ยอห์น 20:19–28

“คนที่ไม่เห็นเราแต่เชื่อก็เป็นสุข"

  • ท่านอาจมีสมาชิกชั้นเรียนที่เห็นใจโธมัสผู้ปรารถนาจะเห็นพระเจ้าผู้คืนพระชนม์ก่อนจึงจะเชื่อ ชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ของท่านสามารถเป็นที่ให้สมาชิกชั้นเรียนได้เสริมสร้างศรัทธาของกันและกันในสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็น บางทีท่านอาจจะเริ่มโดยขอให้บางคนสรุปประสบการณ์ของโธมัสใน ยอห์น 20:19–28 ท่านอาจจะฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Blessed Are They That Have Not Seen, and Yet Have Believed” (LDS.org) ได้เช่นกัน สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเขียนบางสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราเชื่อทั้งที่มองไม่เห็นไว้บนกระดาน จากนั้นท่านอาจจะขอให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ที่เสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาในสิ่งเหล่านี้ สมาชิกชั้นเรียนได้รับพรอะไรบ้างเมื่อพวกเขาใช้ศรัทธา

ภาพ
พระคริสต์ทรงปรากฏต่ออัครสาวก

พระเยซูทรงสอนโธมัสว่า “อย่าสงสัยเลย แต่จงเชื่อ” (ยอห์น 20:27)

ยอห์น 21:3–17

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เราเลี้ยงดูแกะของพระองค์

  • อะไรอาจจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนของท่านยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้ “เลี้ยงดูแกะ [ของพระองค์]” ท่านอาจจะเริ่มโดยเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน ยอห์น 21:15–17 ในใจ โดยใส่ชื่อของพวกเขาแทนชื่อซีโมนและใส่ชื่อคนที่พวกเขารู้สึกว่าพระเจ้าทรงต้องการให้พวกเขารับใช้แทนคำว่า “ลูกแกะของเรา” และ “แกะของเรา”—ตัวอย่างเช่น คนที่พวกเขาสอนประจำบ้านหรือเยี่ยมสอน เพื่อนบ้าน หรือคนที่พวกเขารู้จักที่ทำงานหรือที่โรงเรียน หลังจากนั้นสองสามนาที สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันความประทับใจที่มี เลี้ยงดูลูกแกะและแกะของพระผู้ช่วยให้รอดหมายความว่าอย่างไร คำกล่าวของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันและเอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจจะช่วยตอบคำถามนี้

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน กิจการของอัครทูต 1–5 สัปดาห์นี้ ขอให้พวกเขาสนใจวิธีที่คนหาปลาด้อยการศึกษากลายเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในศาสนจักรของพระคริสต์ขณะที่ศาสนจักรแผ่ขยายไปทั่วโลก ขณะที่พวกเขาศึกษาบทเหล่านี้ พวกเขาจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไร

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

มัทธิว 28; มาระโก 16; ลูกา 24; ยอห์น 20–21

เลี้ยงดูแกะของพระผู้ช่วยให้รอดหมายความว่าอย่างไร

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแบ่งปันข้อคิดเหล่านี้จากตำรากรีกโบราณของ ยอห์น 21:

“ใน [ยอห์น 21:15] คำว่า เลี้ยงดู มาจากคำภาษากรีกว่า bosko ซึ่งหมายถึง ‘บำรุงเลี้ยงหรือให้เล็มหญ้า’ คำว่า ลูกแกะ มาจากคำเรียกชื่อเล่นว่า arnion, หมายถึง ‘ลูกแกะตัวน้อย’ …

“ใน [ยอห์น 21:16] คำว่า ดูแล มาจากอีกคำหนึ่งคือ poimaino ซึ่งหมายถึง ‘ต้อน เฝ้าดู หรือดูแล’ คำว่า แกะ มาจากคำว่า probaton หมายถึง ‘แกะที่โตเต็มที่’ …

“ใน [ยอห์น 21:17] คำว่า เลี้ยงดู อีกครั้งมาจากคำภาษากรีกว่า bosko หมายถึงการบำรุงเลี้ยง คำว่า แกะ แปลอีกครั้งจากคำภาษากรีกว่า probaton หมายถึงแกะที่โตเต็มวัย

“สามคำนี้ซึ่งดูเหมือนจะคล้ายกันในภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ แล้วมีข่าวสารต่างกันสามอย่างในภาษากรีก

  • ลูกแกะตัวน้อยจำเป็นต้องได้รับการบำรุงเลี้ยงจึงจะเติบโต

  • แกะจำเป็นต้องได้รับการดูแล

  • แกะจำเป็นต้องได้รับการบำรุงเลี้ยง” (“Shepherds, Lambs, and Home Teachers,” Ensign, Aug. 1994, 16)

เราจะ “เลี้ยงดูแกะ [ของพระองค์]” ได้อย่างไร

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตันอธิบายว่าเราจะทำตามพระบัญชาของพระเจ้าให้เลี้ยงดูแกะของพระองค์ได้อย่างไร

“พระเยซูตรัสว่า ‘จงดูแลแกะของเราเถิด’ (ยอห์น 21:16) ท่านจะดูแลพวกเขาไม่ได้ถ้าท่านไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน ท่านจะดูแลพวกเขาไม่ได้ถ้าท่านเป็นเหตุให้พวกเขาต่อต้านท่าน ท่านจะดูแลพวกเขาไม่ได้ถ้าท่านไม่มีอาหาร ท่านจะดูแลพวกเขาไม่ได้ถ้าท่านไม่มีจิตกุศล ท่านจะดูแลพวกเขาไม่ได้ถ้าท่านไม่เต็มใจทำงานและแบ่งปัน …

“คนที่ต้องการความช่วยเหลือมีอยู่ในทุกกลุ่มอายุ แกะบางตัวของพระองค์อายุยังน้อย เหงา และสิ้นหวัง บางตัวอ่อนล้า มีทุกข์ และอิดโรยตามกาลเวลา บางตัวอยู่ในครอบครัวเราเอง ในละแวกบ้านของเราเอง หรืออยู่ในมุมโลกอันไกลโพ้นซึ่งเราสามารถช่วยได้ด้วยเงินบริจาคอดอาหาร บางตัวโหยหาอาหาร บางตัวโหยหาความรักและความห่วงใย

“ถ้าเราเป็นเหตุให้แกะของพระองค์ต่อต้านเรา กระบวนการดูแลถ้าไม่เหลือวิสัยก็คงทำได้ยาก ไม่มีใครสอนหรือช่วยได้ด้วยการเหน็บแนมหรือการเย้ยหยัน ระบบเผด็จการหรือ ‘ฉันถูกและเธอผิด’ จะทำลายความพยายามทั้งหมดในการดูแลแกะเร่ร่อน กำแพงการต่อต้านจะถูกสร้างขึ้น และจะไม่มีใครได้ประโยชน์ …

“เราแสดงความรักโดยการกระทำของเรา การแสดงความเอื้ออาทรจะไม่มีความหมายถ้าการกระทำไม่สัมพันธ์กัน แกะทั้งหมดของพระองค์ต้องการให้คนเลี้ยงที่ใส่ใจติดต่อกับพวกเขา” (“Give with Wisdom That They May Receive with Dignity,” Ensign, Nov. 1981, 91)

ปรับปรุงการสอนของเรา

เผื่อเวลาให้ผู้เรียนได้แบ่งปัน “เมื่อผู้เรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ ไม่เพียงแต่พวกเขาจะสัมผัสถึงพระวิญญาณและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานของตนเองเท่านั้น แต่พวกเขากระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ ให้ค้นพบความจริงด้วยตนเองเช่นกัน … เผื่อเวลาไว้ให้นักเรียนแบ่งปันในทุกบทเรียน—ในบางกรณี ท่านอาจพบว่าการสนทนาเหล่านี้ คือ บทเรียน” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 30)