จงตามเรามา
10–16 มิถุนายน มัทธิว 26; มาระโก 14; ลูกา 22; ยอห์น 18: ‘อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์’


“10–16 มิถุนายน มัทธิว 26; มาระโก 14; ลูกา 22; ยอห์น 18: ‘อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“10–16 มิถุนายน มัทธิว 26; มาระโก 14; ลูกา 22; ยอห์น 18,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
พระกระยาหารมื้อสุดท้าย

ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน โดย เบ็นจามิน แม็คเฟอร์สัน

10–16 มิถุนายน

มัทธิว 26; มาระโก 14; ลูกา 22; ยอห์น 18

“อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์”

อ่าน มัทธิว 26; มาระโก 14; ลูกา 22; และ ยอห์น 18 ไตร่ตรองความคิดและความประทับใจที่เข้ามาในใจท่าน สมาชิกชั้นเรียนของท่านจำเป็นต้องเรียนรู้ข่าวสารอะไรบ้าง

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้สัปดาห์นี้ซึ่งช่วยให้พวกเขาพบความหมายมากขึ้นในศีลระลึก พวกเขาทำอะไรและสิ่งนั้นส่งผลอย่างไรต่อประสบการณ์การรับส่วนศีลระลึกของพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 26:26–29; ลูกา 22:19–20

ศีลระลึกเป็นโอกาสให้ระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา

  • เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงจัดตั้งศีลระลึก เหตุใดเราจึงรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์ สมาชิกชั้นเรียนจะพบคำตอบอะไรบ้างใน มัทธิว 26:26–29; ลูกา 22:7–20; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:75–79; และ แน่วแน่ต่อศรัทธา, 217–219 ตัวอย่างเช่น แน่วแน่ต่อศรัทธา สอนว่าศีลระลึกทำให้ระลึกถึงการพลีพระชนม์ชีพของพระคริสต์ซึ่งทำให้กฎของโมเสสเกิดสัมฤทธิผล ท่านอาจต้องการให้ชั้นเรียนอ่านคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกและขอให้พวกเขาระบุพันธสัญญาที่เราทำอันเป็นส่วนหนึ่งของศาสนพิธี เราจะช่วยให้คนอื่นๆ เข้าใจได้อย่างไรว่าคำมั่นสัญญาเหล่านี้หมายถึงอะไร การมีส่วนร่วมในศีลระลึกควรส่งผลต่อการเลือกที่เราทำตลอดสัปดาห์อย่างไร

    ภาพ
    เยาวชนหญิงรับศีลระลึก

    เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราต่อพันธสัญญาของเรา

  • สมาชิกชั้นเรียนน่าจะได้ประโยชน์จากการฟังแนวคิดของกันและกันเกี่ยวกับวิธีระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างศีลระลึกและตลอดสัปดาห์ (ดู คพ. 6:36–37) บางทีท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันว่าอะไรช่วยให้พวกเขาและครอบครัวระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและรักษาพันธสัญญาของพวกเขา ข้อใดจากการอ่านสัปดาห์นี้ทำให้ความคารวะต่อศีลระลึกของเราลึกซึ้งขึ้น ดูความคิดอื่นเกี่ยวกับวิธีระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดในเกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 108–111

  • การสนทนานี้จะเป็นโอกาสดีให้สำรวจสัญลักษณ์ของศีลระลึกกับชั้นเรียน สัญลักษณ์เหล่านี้ช่วยให้เราจดจ่อกับพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างศาสนพิธีอย่างไร สัญลักษณ์เหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระองค์และความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์

  • ตอนท้ายการสนทนาเกี่ยวกับศีลระลึก ท่านอาจจะให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองสักครู่และจดสิ่งที่พวกเขารู้สึกได้รับการดลใจให้ทำเพื่อเตรียมรับศีลระลึกสัปดาห์ถัดไป เพื่อเพิ่มวิญญาณของประสบการณ์นี้ ท่านอาจจะเล่นเพลงสวดศีลระลึกขณะสมาชิกชั้นเรียนกำลังไตร่ตรอง

มัทธิว 26:36–46

เราเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นเมื่อเราเลือกยอมให้ความประสงค์ของเราไปเป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา

  • แบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการยอมตามพระประสงค์ของพระบิดาสามารถช่วยสมาชิกชั้นเรียนได้เมื่อพวกเขาต้องทำแบบเดียวกัน เพื่อเริ่มการสนทนา ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนแบ่งปันเวลาที่พวกเขายอมทำสิ่งที่พวกเขารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้พวกเขาทำ อะไรกระตุ้นให้พวกเขาทำสิ่งเหล่านั้น เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนอ่าน มัทธิว 26:36–42 และไตร่ตรองว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยยอมให้พระประสงค์ของพระองค์เป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา การยอมให้ความประสงค์ของเราเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสุดท้ายแล้วจะเป็นพรแก่เราได้อย่างไร

  • เพื่อสำรวจหลักธรรมของการยอมตามพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะขอให้ชั้นเรียนครึ่งชั้นอ่าน โมไซยาห์ 3:19 และอีกครึ่งชั้นอ่าน 3 นีไฟ 9:20 ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับความหมายของการยอมตามพระผู้เป็นเจ้า เรายอมอย่างไร สมาชิกชั้นเรียนอาจจะไตร่ตรองว่าพวกเขาจะยอมให้ความประสงค์ของตนเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไรในสัปดาห์ที่จะมาถึง คำกล่าวจากเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจจะเสริมการสนทนาของท่านได้

มัทธิว 26:20–22, 31–35

เราต้องสำรวจชีวิตเราเพื่อดูว่าจะประยุกต์ใช้พระดำรัสของพระเจ้ากับเราอย่างไร

  • เราได้ยินบทเรียนพระกิตติคุณมากมายในชีวิต แต่บางครั้งเรามักจะคิดว่าบทเรียนเหล่านั้นส่วนใหญ่ประยุกต์ใช้กับคนอื่น การสนทนาเกี่ยวกับ มัทธิว 26 จะช่วยเราเอาชนะนิสัยนี้ เพื่อเริ่มการสนทนานี้ ท่านอาจจะแบ่งชั้นเรียนเป็นคู่ๆ และขอให้คนหนึ่งในแต่ละคู่อ่าน มัทธิว 26:20–22 ส่วนอีกคนหนึ่งอ่าน ข้อ 31–35 เชื้อเชิญให้พวกเขาเปรียบเทียบคำตอบของเหล่าสาวกในสองเรื่องนี้ เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากการที่เหล่าสาวกประยุกต์ใช้พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดกับตนเอง เรียนรู้เพิ่มเติมโดยดูการกล่าวอ้างของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟถึง มัทธิว 26:21–22 ในข่าวสารของท่านเรื่อง message “องค์พระผู้เป็นเจ้า คือข้าพระองค์หรือ” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 56–59)

มัทธิว 26:36–46

พระเยซูคริสต์ทรงทำการชดใช้อันไม่มีขอบเขตเพื่อเรา

  • ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อคิดที่พวกเขาพบเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ในการศึกษาส่วนตัวหรือกับครอบครัวของพวกเขา

  • มัทธิว 26 บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในเกทเสมนี แต่สมาชิกชั้นเรียนของท่านเข้าใจนัยสำคัญของสิ่งนั้นในชีวิตพวกเขาหรือไม่ เพื่อช่วยพวกเขา ท่านอาจจะเขียนคำถามทำนองนี้บนกระดาน เกิดอะไรขึ้นในเกทเสมนี และ เหตุใดจึงสำคัญต่อฉัน สมาชิกชั้นเรียนอาจจะทำงานเป็นส่วนตัวหรือเป็นกลุ่มเล็กเพื่อหาคำตอบใน มัทธิว 26:36–46; แอลมา 7:11–13; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19 พวกเขาอาจจะหาคำตอบในข่าวสารของเอ็ลเดอร์ซี. สก็อตต์ โกรว์เรื่อง “ปาฏิหาริย์ของการชดใช้” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 137–140) ได้เช่นกัน

  • ในพระคัมภีร์มอรมอน เจคอบเรียกการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ว่า “การชดใช้อันไม่มีขอบเขต” (2 นีไฟ 9:7) เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่านี่หมายถึงอะไร ท่านอาจจะแบ่งปันคำสอนของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” และขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนด้านต่างๆ ที่ถือได้ว่าอิทธิพลการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดไม่มีขอบเขต พวกเขาอาจจะอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้และเพิ่มเข้าไปในรายการที่เขียนไว้: ฮีบรู 10:10; แอลมา 34:10–14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:24; และ โมเสส 1:33 เราจะแสดงความสำนึกคุณต่อสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเราได้อย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านต่อเนื่อง ท่านอาจจะถามว่าพวกเขารู้หรือไม่ว่าเจ็ดสิ่งที่พระเยซูตรัสขณะทรงอยู่บนกางเขนคืออะไร บอกพวกเขาว่าพวกเขาจะทราบสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสโดยอ่าน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; และ ยอห์น 19

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

มัทธิว 26; มาระโก 14; ลูกา 22; ยอห์น 18

วีดิทัศน์พระคัมภีร์ไบเบิล (LDS.org)

“The Last Supper,” “The Savior Suffers in Gethsemane”

การยอมให้ความประสงค์ของเราเป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์สอนว่า “ขณะท่านยอมให้ความประสงค์ของท่านเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ท่านกำลังถวายสิ่ง เดียว ที่เป็นของท่านจริงๆ ที่ท่าน สามารถ ถวายแด่พระองค์ได้อย่างแท้จริง อย่ารอนานนักกว่าจะหาแท่นหรือเริ่มวางของถวายแห่งความประสงค์ของท่านไว้บนนั้น!” (“จำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตาเพียงใด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 58)

การชดใช้อันไม่มีขอบเขต

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน สอนว่า

“การชดใช้ [ของพระเยซูคริสต์] ไม่มีขอบเขต—ไม่มีการสิ้นสุด ไม่มีขอบเขตในแง่ที่มวลมนุษย์จะรอดจากความตายอันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตในแง่ของทุกขเวทนาอย่างใหญ่หลวงของพระองค์ ไม่มีขอบเขตในกาลเวลา โดยทำให้สัตวบูชาในรูปแบบเดิมสิ้นสุดลง ไม่มีขอบเขตในขอบข่าย—เป็นสิ่งที่ทรงทำครั้งเดียวเพื่อทุกคน และพระเมตตาของการชดใช้ไม่เพียงเผื่อแผ่ไปถึงผู้คนนับไม่ถ้วนเท่านั้น แต่ไปถึงโลกนับไม่ถ้วนที่พระองค์ทรงสร้างด้วย ไม่มีขอบเขตเกินระดับการวัดหรือความเข้าใจของมนุษย์

“พระเยซูทรงเป็นพระองค์เดียวเท่านั้นที่จะทรงเสนอการชดใช้อันไม่มีขอบเขตเช่นนั้นได้ เนื่องจากพระองค์ทรงถือกำเนิดจากมารดาที่เป็นมรรตัยและพระบิดาที่เป็นอมตะ เพราะสิทธิกำเนิดอันพิเศษสุดนี้ พระเยซูจึงทรงเป็นพระสัตภาวะที่ไม่มีขอบเขต” (“การชดใช้,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 39)

ประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์สอนว่า “พระเยซูไม่เพียงเสด็จมาเป็นของขวัญแก่ทุกคนเท่านั้น แต่พระองค์เสด็จมาเป็นของขวัญส่วนตัวด้วย … พระองค์สิ้นพระชนม์บนคัลวารีเพื่อเราแต่ละคนและพระโลหิตของพระองค์จะช่วยให้เรารอดอย่างมีเงื่อนไข ไม่ใช่ช่วยประชาชาติ ชุมชน หรือกลุ่ม แต่ช่วยเราเป็นการส่วนตัว” (“A Marvelous Growth,” Juvenile Instructor, Dec. 1929, 697)

ปรับปรุงการสอนของเรา

มองผ่านพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า พยายามมองสมาชิกชั้นเรียนของท่านเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทรงมองพวกเขา และพระวิญญาณจะทรงแสดงให้ท่านเห็นคุณค่าและศักยภาพอันสูงส่งของพวกเขา ขณะทำเช่นนี้ ท่านจะได้รับการนำทางในความพยายามช่วยพวกเขา (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด 6)