จงตามเรามา
3–9 มิถุนายน ยอห์น 13–17: ‘จงติดสนิทอยู่กับความรักของเรา’


“3–9 มิถุนายน ยอห์น 13–17: ‘จงติดสนิทอยู่กับความรักของเรา’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“3–9 มิถุนายน ยอห์น 13–17,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
พระกระยาหารมื้อสุดท้าย

ในความระลึกถึงเรา โดย วอลเตอร์ เรน

3–9 มิถุนายน

ยอห์น 13–17

“จงติดสนิทอยู่กับความรักของเรา”

ขณะที่ท่านศึกษา ยอห์น 13–17 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน จงไตร่ตรองว่าท่านจะแสดงความรักต่อคนที่ท่านสอนให้ดีที่สุดได้อย่างไร พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงทำให้ท่านคิดออกขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และโครงร่างนี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เขียนเลข 13 ถึง 17 บนกระดานแทนบทต่างๆ ในยอห์นที่สมาชิกชั้นเรียนอ่านสัปดาห์นี้ เชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนออกมาเขียนข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่พวกเขาพบว่ามีความหมายและต้องการสนทนาในชั้นเรียนไว้ข้างๆ เลขบทแต่ละบท

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ยอห์น 13:1–17

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของการรับใช้ผู้อื่นอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองนัยสำคัญของพระเยซูทรงล้างเท้าสาวกของพระองค์ ท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งล่วงหน้าให้สวมบทเป็นเปโตรในเรื่องนี้และให้นักเรียนที่เหลือสัมภาษณ์ กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้า ยอห์น 13:1–17 และคิดคำถามที่มีความหมายที่พวกเขาจะถามเปโตร เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ที่อาจจะส่งผลต่อวิธีที่เรารับใช้ผู้อื่น

ยอห์น 13:34–35

ความรักเป็นคุณสมบัติสำคัญของสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

  • อะไรอาจจะกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนรักมากขึ้น บางทีท่านอาจจะถามพวกเขาว่าพวกเขาจะบอกได้อย่างไรว่าคนที่พวกเขาพบเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ พวกเขาสังเกตเห็นคุณสมบัติอะไรในบุคคลนั้น ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นคว้า ยอห์น 13:34–35 เพื่อเรียนรู้ว่าจะบอกได้อย่างไรว่าคนนั้นเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระผู้ช่วยให้รอด เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ความรักเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นสานุศิษย์ของเรา คำสอนนี้ส่งผลต่อวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น รวมทั้งบนสื่อสังคมอย่างไร

  • ชั้นเรียนท่านได้เรียนรู้มามากแล้วเกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดปีนี้ รวมทั้งตัวอย่างมากมายที่พระองค์ทรงแสดงความรักต่อผู้อื่น วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองพระบัญญัติใน ยอห์น 13:34 คือเขียนว่า เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ไว้บนกระดานและขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนตัวอย่างที่พวกเขาจำได้จากพันธสัญญาใหม่อันแสดงให้เห็นความรักของพระเยซู จากนั้นท่านอาจจะเขียนว่า รักซึ่งกันและกัน ไว้บนกระดานและขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนวิธีที่เราสามารถทำตามแบบอย่างความรักของพระองค์ การร้องหรือฟังเพลงสวด “จงรักกันและกัน,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 155 หรือการดูวีดิทัศน์หนึ่งเรื่องใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะเป็นส่วนเสริมที่ดีให้กับกิจกรรมนี้

  • ถ้าเราไม่รู้สึกรักผู้อื่น เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสวงหาของประทานแห่งความรัก คำแนะนำใน โมโรไน 7:48; 8:26 เพิ่มความเข้าใจของเราในเรื่องของประทานนี้อย่างไร เรารู้จักใครบ้างที่ต้องรู้สึกถึงความรักของเรา

ภาพ
ครอบครัวเล่นด้วยกัน

ความรักเป็นคุณสมบัติสำคัญของสานุศิษย์ของพระคริสต์

ยอห์น 14:16–27; 15:26; 16:7–15

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถทำให้เราบรรลุจุดประสงค์ของการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทต่างๆ ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจจะแบ่งพวกเขาออกเป็นกลุ่มๆ และให้พระคัมภีร์ต่อไปนี้กลุ่มละช่วง: ยอห์น 14:16–27; 15:26; และ 16:7–15 เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์จากข้อเหล่านี้ไว้บนกระดาน สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเพิ่มข้อคิดอื่นที่พวกเขาพบขณะสำรวจข้อพระคัมภีร์ที่ระบุไว้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ท่านเคยรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อใด ท่านจะนำอุปกรณ์หรือโสตทัศนอุปกรณ์อะไรมาที่ชั้นเรียนเพื่อจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนล่วงหน้าให้ศึกษาคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญที่แนะนำไว้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” (หรือคำปราศรัยการประชุมใหญ่เรื่องอื่นที่พวกเขารู้) หนึ่งเรื่องเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้กับชั้นเรียนพอสังเขป ข่าวสารเหล่านี้เพิ่มอะไรให้สิ่งที่เราเรียนรู้แล้วเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์จาก ยอห์น 14–16

ยอห์น 15:1–12

เมื่อเราติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด เราจะประสบผลสำเร็จและมีปีติ

  • สัปดาห์นี้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้อะไรจากอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องเถาองุ่นกับแขนง ท่านอาจจะนำพืชต้นเล็กๆ มาที่ชั้นเรียนและใช้พืชนี้ช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นภาพอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอด หลังจากให้ชั้นเรียนอ่าน ยอห์น 15:1–12 ท่านอาจจะสนทนาว่า “ติดสนิทอยู่กับ [พระคริสต์]” (ยอห์น 15:4) หมายความว่าอย่างไร ท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขาพบว่า ยอห์น 15:5 เป็นจริงอย่างไร (ดูคำกล่าวจากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย) วีดิทัศน์เรื่อง “The Will of God” (LDS.org) อาจจะช่วยการสนทนานี้เช่นกัน

ยอห์น 17

พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ ทั้งสองพระองค์ทรงต้องการให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย

  • ท่านอาจจะสอนความจริงสำคัญๆ ใน ยอห์น 17 ได้ไม่หมดในการสนทนาชั้นเรียนครั้งเดียว แต่ต่อไปนี้เป็นวิธีช่วยชั้นเรียนสำรวจความจริงหลายประการในนั้น เขียนแนวคิดจาก ยอห์น 17 ไว้บนกระดาน เช่น

    • ความสัมพันธ์ของเรากับพระเยซูคริสต์

    • ความสัมพันธ์ของพระเยซูคริสต์กับพระบิดาของพระองค์

    • ความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ ในโลก

    • ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกันในฐานะสานุศิษย์ของพระองค์

    เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเลือกคนละหนึ่งแนวคิดและอ่าน ยอห์น 17 โดยค้นคว้าข้อที่เกี่ยวข้อง ขอให้สมาชิกชั้นเรียนหลายๆ คนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน มัทธิว 26; มาระโก 14; ลูกา 22; และ ยอห์น 18 ระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง ท่านอาจจะบอกพวกเขาว่าในบทเหล่านี้พวกเขาจะอ่านเกี่ยวกับช่วงเวลาสำคัญมากช่วงหนึ่งในแผนอันสำคัญยิ่งแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้า

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ยอห์น 13–17

วีดิทัศน์ที่ LDS.org เกี่ยวกับความรัก

  • “Love One Another”

  • “Families Sacrifice, Give, and Love”

  • “Preparation of Thomas S. Monson: He Learned Compassion in His Youth”

พระวิญญาณบริสุทธิ์

ติดสนิทอยู่กับพระคริสต์

หลังจากอธิบายคำว่า ติดสนิท มีความหมายครอบคลุมถึงความคงทนถาวรและคำมั่นสัญญา เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า

“ความหมายของ [คำนี้] คือ ‘อยู่—แต่อยู่ ตลอดกาล’ นั่นเป็นคำเรียกร้องของข่าวสารพระกิตติคุณ … มา แต่มาเพื่ออยู่ต่อ มาด้วยความเชื่อมั่นและความอดทน …

“พระเยซูตรัสว่า ‘ถ้าแยกจากเราแล้วพวกท่านจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย’ [ยอห์น 15:5] ข้าพเจ้าเป็นพยานว่านั่นคือความจริงของพระผู้เป็นเจ้า พระคริสต์ทรงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเราและเราต้อง ‘ติดสนิท’ อยู่กับพระองค์อย่างถาวร เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ ตลอดกาล เพราะผลของพระกิตติคุณเบ่งบานและเป็นพรแก่ชีวิตเรา เราจึงต้องติดแน่นกับพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดของเราทุกคน และกับศาสนจักรของพระองค์ซึ่งมีพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ พระองค์คือเถาองุ่นซึ่งเป็นแหล่งพลังแท้จริงและเป็นเพียงแหล่งเดียวของชีวิตนิรันดร์ ในพระองค์เราจะไม่เพียงอดทนเท่านั้นแต่จะเป็นต่อและมีชัยในอุดมการณ์อันศักดิ์สิทธิ์นี้ที่ไม่มีวันทำให้เราล้มเหลว” (เปรียบเทียบกับ“จงเข้าสนิทอยู่ในเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 40)

ปรับปรุงการสอนของเรา

อัญเชิญพระวิญญาณ “ไม่มีครูมรรตัยคนใด ไม่ว่าจะมีทักษะหรือประสบการณ์มากเพียงใด จะสามารถแทนที่พระวิญญาณได้ แต่เราสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้เพื่อช่วยให้บุตรธิดาของพระองค์เรียนรู้โดยพระวิญญาณ ในการทำสิ่งนี้ เราอัญเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์มาสู่ชีวิตของเราและให้กำลังใจคนที่เราสอนให้ทำเหมือนกัน … นอกจากนั้น ดนตรีศักดิ์สิทธิ์ พระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย การแสดงความรักและประจักษ์พยาน และช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญอย่างสงบ ทั้งหมดนี้สามารถอัญเชิญพระวิญญาณได้” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 10)