จงตามเรามา
27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; ลูกา 21: ‘บุตรมนุษย์เสด็จมา’


“27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; ลูกา 21: ‘บุตรมนุษย์เสด็จมา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; ลูกา 21,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
การเสด็จมาครั้งที่สอง

การเสด็จมาครั้งที่สอง โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; ลูกา 21

“บุตรมนุษย์เสด็จมา”

ขณะที่ท่านอ่าน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; และ ลูกา 21 ท่านอาจจะถามว่า “บทเหล่านี้มีข่าวสารอะไรสำหรับฉัน สำหรับครอบครัวฉัน สำหรับการเรียกของฉัน”

บันทึกความประทับใจของท่าน

สานุศิษย์ของพระเยซูต้องเคยพบว่าคำพยากรณ์ของพระองค์น่าตื่นตระหนก อย่างเช่น พระวิหารที่ใหญ่มหึมาของเยรูซาเล็มซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางทางวิญญาณและทางวัฒนธรรมของชาวยิวจะถูกทำลายสิ้นจน “จะไม่มีหลงเหลือ … หินสักก้อนซ้อนทับกัน” เป็นธรรมดาที่เหล่าสานุศิษย์จะต้องการรู้มากขึ้น “สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร” พวกเขาถาม “และอะไรคือเครื่องหมายการเสด็จมาของพระองค์” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:2-4) พระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดเปิดเผยว่าความพินาศครั้งใหญ่ที่จะเกิดกับเยรูซาเล็ม—คำพยากรณ์เกิดสัมฤทธิผลใน ค.ศ. 70—จะเล็กมากเมื่อเทียวกับเครื่องหมายการเสด็จมาของพระองค์ในวันเวลาสุดท้าย สิ่งที่ดูมั่นคงกว่าพระวิหารในเยรูซาเล็มจะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่จีรัง—อาทิ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ประชาชาติ และทะเล แม้แต่ “อำนาจแห่งฟ้าสวรรค์ [ก็] ถูกเขย่า” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:33) ถ้าเราตระหนักรู้ทางวิญญาณ ความสับสนวุ่นวายนี้จะสอนให้เราวางใจในสิ่งที่ถาวรจริงๆ ดังที่พระเยซูทรงสัญญา “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกจะสูญสิ้นไป; ทว่าถ้อยคำของเราจะไม่สูญสิ้นไป. … … และผู้ใดที่สั่งสมคำของเรา, จะไม่ถูกหลอกลวง” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:35, 37)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว

โจเซฟ สมิธ—มัทธิวคืออะไร

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว อยู่ในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า เป็นข้อความที่คัดลอกมาจากงานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธ ประกอบด้วยการแก้ไข ข้อสุดท้ายของมัทธิว 23 และ มัทธิว 24 ทั้งบท (ดู Bible Dictionary, “Joseph Smith Translation”) การแก้ไขด้วยการดลใจของโจเซฟ สมิธฟื้นฟูความจริงอันล้ำค่าที่หายไปข้อ 12–21 ของโจเซฟ สมิธ—มัทธิว กล่าวถึงความพินาศของเยรูซาเล็มสมัยโบราณ; ข้อ 21–55 ประกอบด้วยคำพยาการณ์เกี่ยวกับวันเวลาสุดท้าย

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:21–37; มาระโก 13:21–37; ลูกา 21:25–38

คำพยากรณ์เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถช่วยเราเผชิญอนาคตด้วยศรัทธา

การอ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์อาจทำให้จิตใจว้าวุ่นได้ แต่เมื่อพระเยซูพยากรณ์ถึงเหตุการณ์เหล่านี้ พระองค์รับสั่งกับเหล่าสานุศิษย์ไม่ให้ “กังวลใจ” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:23) ท่านจะ “ไม่กังวลใจ” ขณะท่านได้ยินเรื่องแผ่นดินไหว สงคราม การหลอกลวง และความอดอยากได้อย่างไร นึกถึงคำถามนี้ขณะท่านอ่านข้อเหล่านี้ ทำเครื่องหมายหรือจดคำแนะนำที่ท่านพบและปลอบใจท่าน

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:14–21; 38:30; 45:16–52; 88:86–94; “Second Coming of Jesus Christ,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:26–27, 38–55; มัทธิว 25:1–13; ลูกา 21:29–36

ฉันต้องพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา

พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเปิดเผย “วันหรือโมงที่บุตรมนุษย์จะเสด็จมา” (เปรียบเทียบ มัทธิว 25:13) แต่พระองค์ไม่ทรงต้องการให้วันนั้นเกิดขึ้นกับเรา “โดยไม่คาดฝัน” (ลูกา 21:34) พระองค์จึงประทานคำแนะนำแก่เราว่าจะเตรียมอย่างไร

ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ ให้ระบุชื่ออุปมาและการเปรียบเทียบอื่นที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้สอนเราให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์เสมอ ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้ ท่านได้รับการดลใจให้ทำอะไร

มัทธิว 25:14–30

พระบิดาบนสวรรค์ทรงคาดหวังให้ฉันใช้ของประทานของพระองค์อย่างฉลาด

ในสมัยของพระผู้ช่วยให้รอด “ตะลันต์” หมายถึงเงิน แต่อุปมาเรื่องเงินตะลันต์ของพระเจ้าสามารถสอนเราได้ว่าพระองค์ทรงต้องการให้เราใช้พรที่พระองค์ประทานแก่เราอย่างไร พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราปรับปรุงสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เรา ขณะที่ท่านอ่านอุปมาเรื่องนี้ ให้เขียนพรบางประการและโอกาสที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่ท่านออกมาเป็นข้อๆ พระองค์ทรงคาดหวังให้ท่านทำอะไรกับพรเหล่านี้ ท่านจะใช้ของประทานเหล่านี้อย่างฉลาดมากขึ้นได้อย่างไร พรสวรรค์ของท่านขยายอย่างไรเมื่อท่านรับใช้พระเจ้า

มัทธิว 25:31–46

เมื่อฉันรับใช้ผู้อื่น ฉันกำลังรับใช้พระเจ้า

ถ้าท่านเคยสงสัยว่าพระเจ้าจะพิพากษาชีวิตท่านอย่างไร ให้อ่านอุปมาเรื่องแกะกับแพะ อะไรจะสำคัญที่สุดเมื่อท่านยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระคริสต์

ดู โมไซยาห์ 2:17 ด้วย

มาระโก 12:18–27

การแต่งงานจะดำเนินต่อไปหลังการฟื้นคืนชีวิตหรือไม่

เราเรียนรู้จากการเปิดเผยยุคปัจจุบันว่าพระดำรัสของพระเยซูที่ว่า “ตอนที่มนุษย์เป็นขึ้นจากตายนั้น จะไม่มีการสมรสหรือยกให้เป็นสามีภรรยากัน” กล่าวถึงคนที่ไม่ได้เข้าสู่พันธสัญญาของการแต่งงานซีเลสเชียล (ดู คพ. 132:15–16) การแต่งงานซีเลสเชียล ซึ่ง “ชายแต่งกับภรรยา … โดยพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ” จะคงอยู่ “ตราบชั่วนิรันดร” ถ้าสามีภรรยาซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของพวกเขา (คพ. 132:19)

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว

เพื่อช่วยครอบครัวสำรวจบทนี้ เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดว่าเราจะเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์อย่างไร (ดูตัวอย่างใน ข้อ 22–23, 29–30, 37, 46–48) ครอบครัวท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำตามคำแนะนำนี้

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22, 37

สั่งสมพระคำของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร ครอบครัวเราจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร การทำเช่นนี้จะช่วยเราหลีกเลี่ยงการถูกหลอกอย่างไร

มัทธิว 25:1–13

ท่านอาจจะใช้ภาพหญิงพรหมจารีสิบคนที่ให้มากับโครงร่างนี้สนทนา มัทธิว 25:1–13 สมาชิกครอบครัวเห็นรายละเอียดอะไรในภาพที่ข้อเหล่านี้บรรยายไว้

สมาชิกครอบครัวชอบล่าหากระดาษหยดน้ำมันที่ท่านซ่อนไว้รอบบ้านหรือไม่ ท่านอาจจะติดรูปหยดน้ำมันไว้กับอุปกรณ์ที่ใช้เป็นตัวแทนของสิ่งที่สมาชิกครอบครัวทำได้เพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาและเตรียมพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง เช่น พระคัมภีร์ ชุดสวมไปโบสถ์ หรือภาพพระวิหาร

มาระโก 12:38–44; ลูกา 21:1–4

สมาชิกครอบครัวท่านสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากแบบอย่างของหญิงม่าย พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับเงินถวาย ให้ดูใบบริจาคส่วนสิบ และสนทนาเรื่องเงินบริจาคของครอบครัวท่านแด่พระเจ้าและเงินถวายเหล่านี้ช่วยสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร มีเงินบริจาคของครอบครัวท่านที่ไม่สามารถบันทึกไว้ในใบส่วนสิบหรือไม่

ภาพ
เหรียญทองแดงของหญิงม่าย

เหรียญทองแดงของหญิงม่าย, โดย แซนดรา ราสต์

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

เตรียมสภาพแวดล้อมรอบตัวท่าน “สภาพแวดล้อมรอบตัวเราสามารถส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อความสามารถของเราในการเรียนรู้และสัมผัสถึงความจริง” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 15) พยายามหาสถานที่ศึกษาพระคัมภีร์ที่จะเชื้อเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดนตรีและรูปภาพที่ยกระดับจิตใจสามารถอัญเชิญพระวิญญาณได้เช่นกัน

ภาพ
หญิงพรหมจารีสิบคน

ห้าคนมีปัญญา โดยวอลเตอร์ เรน