จงตามเรามา
20–26 พฤษภาคม มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; ยอห์น 12: ‘นี่แน่ะ กษัตริย์ของท่านกำลังเสด็จมา’


“20–26 พฤษภาคม มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; ยอห์น 12: ‘นี่แน่ะ กษัตริย์ของท่านกำลังเสด็จมา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“20–26 พฤษภาคม มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; ยอห์น 12,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
ชายบนต้นไม้ขณะพระเยซูเสด็จเข้ามาใกล้

ศักเคียสบนต้นมะเดื่อ โดย เจมส์ ทิสซอท

20–26 พฤษภาคม

มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; ยอห์น 12

“นี่แน่ะ กษัตริย์ของท่านกำลังเสด็จมา”

ก่อนอ่านแนวคิดในโครงร่างนี้ ให้อ่าน มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; และ ยอห์น 12 บันทึกความประทับใจที่ท่านอาจจะแบ่งปันกับครอบครัวหรือในชั้นเรียนของศาสนจักร

บันทึกความประทับใจของท่าน

พระผู้ช่วยให้รอดทรงหิวหลังเดินทางจากหมู่บ้านเบธานีมาเยรูซาเล็ม และทอดพระเนตรเห็นต้นมะเดื่อแต่ไกลเหมือนเป็นแหล่งอาหาร แต่เมื่อพระเยซูเสด็จเข้าไปใกล้ พระองค์ทรงพบว่าต้นนั้นไม่ออกผลเลย (ดู มัทธิว 21:17–20; มาระโก 11:12–14, 20) ต้นมะเดื่อเปรียบเสมือนผู้นำศาสนาที่หน้าซื่อใจคดในเยรูซาเล็ม คำสอนที่ว่างเปล่าและความบริสุทธิ์ที่เห็นภายนอกของพวกเขาไม่ให้การบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณแต่อย่างใด พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ดูเหมือนจะรักษาพระบัญญัติหลายข้อแต่ขาดพระบัญญัติสำคัญที่สุดสองข้อ นั่นคือ รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง (ดู มัทธิว 22:34–40; 23:23)

ในทางตรงกันข้าม คนจำนวนมากเริ่มมองเห็นผลดีในคำสอนของพระเยซู เมื่อพระองค์เสด็จถึงเยรูซาเล็ม พวกเขาต้อนรับพระองค์โดยตัดกิ่งไม้มาปูทางเดิน พลางชื่นชมยินดีที่ในที่สุด “กษัตริย์ของเธอเสด็จมา” (เศคาริยาห์ 9:9) ตามคำพยากรณ์ในสมัยโบราณ ขณะที่ท่านอ่านสัปดาห์นี้ ให้นึกถึงผลจากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดและการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ในชีวิตท่านและวิธีที่ท่านจะทำให้ “เกิดผลมาก” (ยอห์น 12:24)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

มัทธิว 23; ลูกา 19:1–10; 20:45–47

พระเจ้าไม่ทรงตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกแต่จากความปรารถนาของใจ

ในสมัยของพระเยซู คนจำนวนมากทึกทักเอาว่าคนเก็บภาษีไม่ซื่อสัตย์และขโมยจากผู้คน ด้วยเหตุนี้เพราะศักเคียสหัวหน้าคนเก็บภาษีมั่งมี ยิ่งทำให้เขาเป็นคนน่าสงสัยมากขึ้น แต่พระเยซูทรงมองเห็นใจของศักเคียส ลูกา 19:1–10 เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับใจของศักเคียส ท่านอาจจะบันทึกถ้อยคำในข้อเหล่านี้ที่บรรยายว่าศักเคียสทำอะไรเพื่อแสดงความภักดีต่อพระผู้ช่วยให้รอด อะไรคือความปรารถนาของใจเขา ท่านกำลังทำอะไรเพื่อแสวงหาพระผู้ช่วยให้รอดเช่นเดียวกับศักเคียส

ปฏิสัมพันธ์ของพระผู้ช่วยให้รอดกับพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีตรงข้ามอย่างน่าสนใจกับปฏิสัมพันธ์ของพระองค์กับศักเคียส ดังที่ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคดอร์ฟอธิบาย “[พระเยซู] ทรงพิโรธอย่างชอบธรรมต่อคนหน้าซื่อใจคดอย่างพวกธรรมาจารย์ พวกฟาริสี และพวกสะดูสี—คนที่พยายามทำให้ภายนอกดูชอบธรรมเพื่อให้ได้คำสรรเสริญ อิทธิพล และความมั่งคั่งของโลก ขณะเดียวกันก็ข่มเหงผู้ที่พวกเขาควรเป็นพร” (“การเป็นคนจริงใจ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 81)

ใน มัทธิว 23 พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้อุปลักษณ์หลายอย่างอธิบายเรื่องความหน้าซื่อใจคด ท่านอาจจะทำเครื่องหมายหรือเขียนอุปลักษณ์เหล่านี้ออกมาเป็นข้อๆ และจดว่าสอนอะไรเกี่ยวกับความหน้าซื่อใจคด ท่านได้รับการดลใจให้ทำอะไรต่างจากเดิมเพราะคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:62–63; 137:9; Bible Dictionary, “Hypocrite.” ด้วย

มัทธิว 21:1–11; มาระโก 11:1–11; ลูกา 19:29–44; ยอห์น 12:12–16

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นกษัตริย์ของฉัน

เรื่องราวใน มัทธิว 21:1–11; มาระโก 11:1–11; ลูกา 19:29–44; และ ยอห์น 12:12–16 บรรยายการเริ่มต้นสัปดาห์สุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด รวมถึงการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต คนที่ยอมรับพระองค์เป็นกษัตริย์ของพวกเขาแสดงความภักดีของตนโดยชโลมพระองค์ (ดู ยอห์น 12:1–8) ปูผ้าและใบปาล์มตามทางเข้ากรุงเยรูซาเล็มและโห่ร้องสรรเสริญ พิจารณาว่าแหล่งข้อมูลต่อไปนี้จะทำให้ท่านเข้าใจเหตุการณ์ที่เริ่มต้นสัปดาห์สุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดลึกซึ้งขึ้นได้อย่างไร

  • ตัวอย่างสมัยโบราณของการเจิมตั้งกษัตริย์ 2 พงศ์กษัตริย์ 9:1–13

  • คำพยากรณ์สมัยโบราณเกี่ยวกับเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิต เศคาริยาห์ 9:9

  • ความหมายของคำว่า โฮซันนา Bible Dictionary, “Hosanna”

  • คำพยากรณ์ว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จมาอีกครั้งอย่างไร วิวรณ์ 7:9–10; 19:11–16

ท่านจะรับพระผู้ช่วยให้รอดเป็นพระเจ้าและกษัตริย์ของท่านได้อย่างไร

ดู “The Lord’s Triumphal Entry into Jerusalem” (วีดิทัศน์, LDS.org) ด้วย

มัทธิว 22:34–40

พระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อคือรักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

ถ้าท่านเคยรู้สึกหนักใจขณะพยายามทำตามพระเยซูคริสต์ พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดต่อผู้เชี่ยวชาญบัญญัติใน มัทธิว 22 จะช่วยให้ท่านทำตามง่ายขึ้นและเน้นการเป็นสานุศิษย์ของท่าน วิธีหนึ่งที่จะทำสิ่งนี้คือ เขียนพระบัญญัติของพระเจ้าออกมาเป็นข้อๆ แต่ละข้อเชื่อมโยงกับพระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อนั้นอย่างไร การให้ความสนใจกับพระบัญญัติข้อใหญ่สองข้อจะช่วยท่านรักษาพระบัญญัติข้ออื่นอย่างไร

มัทธิว 23:5

กลักพระธรรมคืออะไร

กลักพระธรรมคือกล่องหนังบรรจุแผ่นหนังที่เขียนข้อพระคัมภีร์ไว้บนนั้น ชาวยิวติดกล่องเล็กๆ เหล่านี้ไว้กับสายหนังและคาดไว้รอบหน้าผากหรือแขนอันเป็นวิธีระลึกถึงพระบัญญัติ (ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 6:6–8) เพราะความจองหองพวกฟาริสีจึงมักจะคาดกลักพระธรรมอันใหญ่เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าพวกเขารักพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามาก

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

ยอห์น 12:1–8

มารีย์แสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร เราแสดงความรักต่อพระองค์อย่างไร

ภาพ
หญิงคนหนึ่งใช้ผมของเธอเช็ดพระบาทพระเยซู

เช็ดพระบาทพระเยซู โดย ไบรอัน คอล

ยอห์น 12:42–43

เราจะแสดงความเคารพผู้อื่นขณะพวกเขาแสดงออกหรือปกป้องความเชื่อทางศาสนาของพวกเขาได้อย่างไร บางครั้งผลทางสังคมอะไรขัดขวางเราไม่ให้แสดงออกหรือปกป้องความเชื่อของเราในพระคริสต์ ดูตัวอย่างของคนที่จะไม่ยอมต่อแรงกดดันทางสังคมใน ดาเนียล 1:3–20; 3; 6; ยอห์น 7:45–53; 9:1–38; และ โมไซยาห์ 17:1–4

มัทธิว 21:12–17

เราแสดงความเคารพพระวิหารอย่างไร เราจะ “ขับ” อะไรออกจากชีวิตเราที่กีดกั้นเราไม่ให้พบว่าพระวิหารเป็น “นิเวศอธิษฐาน” (มัทธิว 21:12–13) และสถานที่เยียวยาทางวิญญาณ ท่านอาจจะให้ร้องเพลง “ฉันชอบมองดูพระวิหาร,” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 99

มัทธิว 21:28–32

บทเรียนอะไรจากอุปมาเรื่องชายที่มีบุตรสองคนอาจจะช่วยครอบครัวท่านได้ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะใช้เรื่องนี้สนทนาความสำคัญของการเชื่อฟังอย่างจริงใจและการกลับใจ บางทีครอบครัวท่านอาจจะเขียนบทเพื่อแสดงอุปมาเรื่องนี้และผลัดกันแสดงบทต่างๆ

มัทธิว 22:15–22

“ของของพระเจ้า” (ข้อ 21) อะไรบ้างที่เราควรถวายพระองค์

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้ศิลปะเพื่อให้สมาชิกครอบครัวมีส่วนร่วมหนังสือภาพพระกิตติคุณ และ LDS Media Library บน LDS.org มีภาพและวีดิทัศน์มากมายที่จะช่วยให้ [ครอบครัวท่าน] เห็นภาพแนวคิดหรือเหตุการณ์” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 22) ตัวอย่างเช่น ภาพวาดที่มากับโครงร่างนี้จะช่วยทำให้เรื่องราวการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระคริสต์มีชีวิตอีกครั้ง

ภาพ
การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตของพระคริสต์

การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิต โดยวอลเตอร์ เรน