จงตามเรามา
17–23 มิถุนายน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19: ‘สำเร็จแล้ว’


“17–23 มิถุนายน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19: ‘สำเร็จแล้ว’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“17–23 มิถุนายน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
พระคริสต์ต่อหน้าปีลาต

Ecce Homo โดย อันโตนิโอ ซิเซรี

17–23 มิถุนายน

มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19

“สำเร็จแล้ว”

มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; และ ยอห์น 19 ครอบคลุมคำบรรยายเกี่ยวกับช่วงเวลาสุดท้ายของพระชนม์ชีพมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด พยายามรู้สึกถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อท่านขณะท่านศึกษาการเสียสละและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

บันทึกความประทับใจของท่าน

ในทุกคำพูดและการกระทำ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของความรักอันบริสุทธิ์—สิ่งที่อัครสาวกเปาโลเรียกว่าจิตกุศล (ดู 1 โครินธ์ 13) ไม่มีเวลาใดที่ความรักนี้ประจักษ์ชัดเท่าช่วงเวลาสุดท้ายของพระชนม์ชีพมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด ความเงียบอันน่าเกรงขามของพระองค์ขณะเผชิญการกล่าวหาเท็จแสดงให้เห็นว่าพระองค์ “ไม่ฉุนเฉียว” (1 โครินธ์ 13:5) การที่พระองค์ทรงยอมให้โบยตี เยาะเย้ย และตรึงกางเขน—ขณะยับยั้งเดชานุภาพในการยุติความทรมานของพระองค์—แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรง “อดทนนาน” และ “ทนได้ทุกอย่าง” (1 โครินธ์ 13:4, 7) ความสงสารพระมารดาของพระองค์และความเมตตาต่อผู้ตรึงกางเขนพระองค์—แม้ในระหว่างความทุกขเวทนาอันหาที่เปรียบมิได้ของพระองค์เอง—เผยให้เห็นว่าพระองค์ “ไม่เห็นแก่ตัว” (1 โครินธ์ 13:5) ในช่วงเวลาสุดท้ายของพระองค์บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงทำสิ่งที่พระองค์ทำมาตลอดการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย—คือสอนเราโดยทรงแสดงให้เราเห็น แท้จริงแล้ว จิตกุศล “คือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (โมโรไน 7:47)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19

การที่พระเยซูคริสต์เต็มพระทัยทนทุกข์แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรักพระบิดาและทรงรักเราทุกคน

ถึงแม้พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีเดชานุภาพในการเรียก “ทูตสวรรค์” (มัทธิว 26:53) ลงมา แต่พระองค์ทรงอาสาเลือกอดทนต่อการทดลองที่ไม่ยุติธรรม การเยาะเย้ยที่โหดร้าย และความเจ็บปวดทางกายที่คาดไม่ถึง เหตุใดพระองค์ทรงทำเช่นนั้น “เพราะความการุณย์รักของพระองค์” นีไฟเป็นพยาน “และความอดกลั้นของพระองค์ต่อลูกหลานมนุษย์” (1 นีไฟ 19:9)

ท่านอาจจะเริ่มศึกษาช่วงเวลาสุดท้ายของพระผู้ช่วยให้รอดโดยอ่าน 1 นีไฟ 19:9 ที่ใดใน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; และ ยอห์น 19 ที่ท่านพบตัวอย่างของแต่ละสิ่งที่นีไฟกล่าวว่าพระเยซูจะทรงทนทุกข์

“[พวกเขา] ตัดสินพระองค์ว่าเป็นสิ่งไร้ค่า”

“พวกเขาโบยพระองค์”

“พวกเขาทำร้ายพระองค์”

“พวกเขาถ่มน้ำลายรดพระองค์”

ข้อความใดช่วยให้ท่านรู้สึกถึง “ความการุณย์รัก” ที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงมีต่อท่าน พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงให้เห็นคุณลักษณะใดที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านพัฒนาอย่างเต็มที่มากขึ้น

ดู “Jesus Is Condemned before Pilate” และ “Jesus Is Scourged and Crucified” (วีดิทัศน์, LDS.org) ด้วย

มัทธิว 27:27–49, 54; มาระโก 15:16–32; ลูกา 23:11, 35–39; ยอห์น 19:1–5

การเยาะเย้ยความจริงของพระผู้เป็นเจ้าไม่ควรบั่นทอนศรัทธาของฉัน

แม้พระเยซูทรงอดทนต่อการเยาะเย้ยตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ แต่การเยาะเย้ยนั้นรุนแรงขึ้นระหว่างการโบยและการตรึงกางเขนพระองค์ ทว่าการเยาะเย้ยนี้จะไม่เปลี่ยนความจริงที่ว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับความอัปยศอดสูที่พระเยซูทรงอดทน ลองนึกถึงการต่อต้านและการเยาะเย้ยที่งานของพระองค์ประสบในปัจจุบัน ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับการอดทนต่อการต่อต้าน ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับคำพูดของนายร้อยใน มัทธิว 27:54

มัทธิว 27:46; มาระโก 15:34

พระบิดาบนสวรรค์ทรงทอดทิ้งพระเยซูบนกางเขนหรือไม่

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ให้ข้อคิดดังนี้ “ข้าพเจ้าเป็นพยานว่า … พระบิดาผู้ทรงดีพร้อม ไม่ ได้ทรงทอดทิ้งพระบุตรของพระองค์ในโมงนั้น … อย่างไรก็ดี เพื่อให้การพลีพระชนม์ชีพสูงสุดของพระบุตรของพระองค์สมบูรณ์เท่าๆ กับที่ทรงอาสาทำการนี้เพียงลำพัง พระบิดาจึงทรงถอนการปลอบโยนของพระวิญญาณซึ่งเป็นการสนับสนุนจากพระองค์เองออกไปจากพระเยซูชั่วคราว … เพราะการชดใช้ของ [พระผู้ช่วยให้รอด] ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ พระองค์จึงต้องรู้สึกเหมือนสิ้นพระชนม์ไม่เฉพาะทางพระวรกายเท่านั้นแต่ทางวิญญาณด้วย เพื่อรู้สึกเหมือนพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ถอนตัว ทิ้งพระองค์ให้รู้สึกอ้างว้างเดียวดาย น่าสงสาร และสิ้นหวัง” (“ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 107)

ลูกา 23:34

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของการให้อภัย

ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านอ่านพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน ลูกา 23:34 (ดูข้อคิดที่ได้จากงานแปลของโจเซฟ สมิธใน footnote c) เมื่ออ้างถึงพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอด ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์สอนว่า “เราต้องให้อภัยและไม่อาฆาตพยาบาทคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างจากกางเขน … เราไม่รู้ใจคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง” (“เพื่อเราจะเป็นหนึ่ง,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 76) ข้อนี้จะช่วยท่านได้อย่างไรถ้าท่านไม่ต้องการให้อภัยคนบางคน

ลูกา 23:39–43

อะไรคือความหมายของ “เมืองบรมสุขเกษม” เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับโจร

ในพระคัมภีร์ คำว่า เมืองบรมสุขเกษม มักจะหมายถึง “สถานที่สงบสันติและมีความสุขในโลกวิญญาณหลังชีวิตมรรตัย” ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า คำว่า เมืองบรมสุขเกษม ใน ลูกา 23:43 “เป็นการแปลผิด อันที่จริงพระเจ้าตรัสว่าโจรจะอยู่กับพระองค์ในโลกแห่งวิญญาณ” (แน่วแน่ต่อศรัทธา, 211; ดู Joseph Smith, Journal, June 11, 1843, josephsmithpapers.orgด้วย) ในโลกวิญญาณ โจรจะได้ยินพระกิตติคุณที่สั่งสอน

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

มัทธิว 27:3–10

ถึงแม้ยูดาสรู้จักพระเยซูเป็นส่วนตัว แต่เขา “ปฏิเสธ [พระเยซู] และไม่พอใจเพราะพระดำรัสของพระองค์” (Joseph Smith Translation, Mark 14:31 [ใน Mark 14:10, footnote a]) อะไรอาจทำให้คนที่ดูเหมือนจะมีประจักษ์พยานเข้มแข็งปฏิเสธพระผู้ช่วยให้รอด เราจะซื่อตรงต่อพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

มัทธิว 27:11–26; มาระโก 15:1–15; ลูกา 23:12–24; ยอห์น 19:1–16

เหตุใดปีลาตจึงปล่อยให้พระเยซูถูกตรึงกางเขนทั้งที่เขารู้ว่าพระเยซูไม่มีความผิด เราเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากประสบการณ์ของปีลาตเกี่ยวกับการยืนหยัดในสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้อง อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าให้ครอบครัวท่านแสดงบทบาทสมมติของเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง

ภาพ
พระคริสต์ทรงแบกกางเขน

“และพระองค์ทรงแบกกางเขนของพระองค์ไป … กลโกธา” (ยอห์น 19:17)

มัทธิว 27:46; ลูกา 23:34, 43, 46; ยอห์น 19:26–28, 30

บางทีท่านอาจจะมอบหมายพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขนที่พบในข้อเหล่านี้ให้สมาชิกครอบครัวคนละหนึ่งประโยคหรือมากกว่านั้นและขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์

มาระโก 15:39

การอ่านเรื่องราวการตรึงกางเขนเสริมสร้างประจักษ์พยานของเราอย่างไรว่าพระเยซูทรงเป็น “พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า”

ยอห์น 19:25–27

เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้ว่าเราควรรักและสนับสนุนสมาชิกครอบครัวอย่างไร

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

ทำตามพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด “สิ่งที่เป็นประโยชน์คือศึกษาวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน—วิธีที่พระองค์ทรงใช้และสิ่งที่พระองค์ตรัส แต่พลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดในการสอนและยกระดับจิตใจผู้อื่นมาจาก … พระลักษณะที่พระองค์ทรงเป็น ยิ่งท่านพยายามอย่างขยันขันแข็งที่จะ ดำเนินชีวิต อย่างพระเยซูคริสต์มากเท่าใด ท่านก็จะยิ่งสามารถ สอน เหมือนพระองค์มากเท่านั้น” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 13)

ภาพ
พระคริสต์บนกางเขน

พระคริสต์บนกางเขน โดย คาร์ล ไฮน์ริค บลอค