จงตามเรามา
24 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม 2 นีไฟ 26–30: “งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง”


“24 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม 2 นีไฟ 26–30: ‘งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“24 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม 2 นีไฟ 26–30” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
พระเยซูทรงยื่นพระหัตถ์ให้หญิงคนหนึ่ง

พระองค์จะทรงจูงมือนำเจ้าไป โดย แซนดรา ราสต์

24 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม

2 นีไฟ 26–30

“งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง”

พึงจดจำว่าบ้านควรเป็นศูนย์กลางของการเรียนพระกิตติคุณ การศึกษา 2 นีไฟ 26–30 เป็นส่วนตัวและกับครอบครัวของท่านควรเป็นพื้นฐานการเตรียมสอนของท่าน วางแผนให้ยึดมั่น สนับสนุน และกระตุ้นให้มีการศึกษาเป็นส่วนตัวและกับครอบครัวของคนในชั้นเรียนของท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เมื่อเริ่มบทเรียน เปิดโอกาสให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางอย่างจาก 2 นีไฟ 26–30 ที่พวกเขาพบว่ามีความหมายขณะพวกเขาศึกษาที่บ้าน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะขอให้พวกเขาแบ่งปันหนึ่งข้อสั้นๆ ที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจยุคสมัยของเราและความท้าทายที่เราประสบ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

2 นีไฟ 26:24–28, 33

ทุกอย่างที่พระเจ้าทรงทำล้วนเกิดจากความรักที่ทรงมีต่อเรา

  • ถ้าท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้สนทนาคำสอนของนีไฟเกี่ยวกับความรักของพระเจ้า ท่านอาจจะทำดังนี้: หลังจากอ่าน 2 นีไฟ 26:24 ด้วยกันแล้ว ให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนสิ่งที่พระเยซูทรงทำเพื่อพวกเขาอันเกิดจากความรักที่ทรงมีต่อพวกเขา พระองค์ทรง “จูงใจมนุษย์ทั้งปวงมาหาพระองค์” อย่างไร เรารู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรตอบแทนความรักของพระองค์

  • พระดำรัสเชื้อเชิญของพระเจ้าใน 2 นีไฟ 26:24–28, 33 เป็นหลักฐานยืนยันความรักของพระองค์ได้เป็นอย่างดี วิธีหนึ่งที่ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนค้นพบพระดำรัสเชื้อเชิญเหล่านี้คือขอให้พวกเขาสรุปย่อข่าวสารของพระเจ้าในข้อเหล่านี้ให้เป็นประโยคเดียว สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนอาจจะยินดีแบ่งปันสรุปย่อของพวกเขา ข้อเหล่านี้จะส่งผลต่อวิธีที่เราเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์ได้อย่างไร กระตุ้นให้ชั้นเรียนบันทึกความคิดและความรู้สึกบางอย่างของพวกเขา เพื่อช่วยอัญเชิญพระวิญญาณ ท่านอาจจะเปิดการบันทึกเสียงเพลงสวดเกี่ยวกับความรักของพระผู้ช่วยให้รอด เช่น “มาหาพระเยซู” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 49) ขณะสมาชิกชั้นเรียนกำลังไตร่ตรอง

2 นีไฟ 27; 29; 30:3–8

พระคัมภีร์มอรมอนจำเป็นต่องานยุคสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า

  • คนในชั้นเรียนของท่านอาจต้องการให้ช่วยเข้าใจคำพยากรณ์ใน 2 นีไฟ 27 เกี่ยวกับหนังสือที่ผนึกไว้และคนมีการศึกษา เรื่องราวประวัติศาสตร์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจช่วยได้ จะได้ผลสำหรับชั้นเรียนของท่านหรือไม่ถ้าให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแสดงเหตุการณ์ที่บรรยายไว้ในเรื่องนี้และใน 2 นีไฟ 27:15–22 เหตุใดนีไฟจึงเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ล่วงหน้าหลายปี คำพยากรณ์ของนีไฟสอนอะไรเราเกี่ยวกับความสำคัญของพระคัมภีร์มอรมอน กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันกันว่าพวกเขามีประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนได้อย่างไร

  • ใครในชั้นเรียนของท่านเคยมีประสบการณ์กับการเชื้อเชิญให้คนบางคนอ่านพระคัมภีร์มอรมอนที่พวกเขาจะแบ่งปันหรือไม่ มีเหตุผลอะไรบ้างที่บางคนไม่ยอมรับคำเชื้อเชิญให้อ่านพระคัมภีร์มอรมอน พระดำรัสตอบของพระเจ้าสำหรับเหตุผลเช่นนั้นอยู่ใน 2 นีไฟ 29:6–11 ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านข้อเหล่านี้และแสดงบทบาทสมมติว่าพวกเขาจะมีวิธีตอบด้วยความรักอย่างไรแก่คนที่พูดว่าพระคัมภีร์มอรมอนไม่จำเป็น สมาชิกชั้นเรียนมีแนวคิดอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาจะช่วยให้ผู้อื่น “รู้ว่า [พระคัมภีร์มอรมอน] เป็นพรต่อพวกเขาจากพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า” (2 นีไฟ 30:6)

2 นีไฟ 28

ซาตานหมายมั่นหลอกลวง

  • โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เสนอแนะให้ค้นหาคำเท็จของซาตานใน 2 นีไฟ 28 สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันสิ่งที่พบ หรืออ่านเพื่อค้นหาข้อมูลจาก 2 นีไฟ 28 ในชั้นเรียนและเขียนคำเท็จของซาตานที่พวกเขาค้นพบ อาจจะช่วยได้ถ้าให้พวกเขาทำงานเป็นกลุ่มเล็กเพื่อหาข้อพระคัมภีร์ที่ลบล้างคำหลอกลวงเหล่านี้ (ถ้าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ท่านอาจจะแบ่งปันข้อเสนอแนะใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) จากนั้นกลุ่มจะแบ่งปันสิ่งที่พบให้กันและสนทนาว่าพวกเขาจะตรวจพบ “หลักคำสอนเท็จและเหลวไหลและโง่เขลา” ของปฏิปักษ์ได้อย่างไร (2 นีไฟ 28:9)

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

สมาชิกชั้นเรียนอาจได้รับการดลใจให้อ่าน 2 นีไฟ 31–33 ถ้าพวกเขารู้ว่าบทเหล่านี้มีถ้อยคำสุดท้ายของนีไฟ รวมถึงคำอธิบายที่เรียบง่ายและเข้าใจง่ายที่สุดเกี่ยวกับหลักคำสอนของพระคริสต์

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

“จากนั้นคนมีการศึกษาจะกล่าว : ข้าพเจ้าอ่านไม่ได้” (2 นีไฟ 27:18)

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1828 มาร์ติน แฮร์ริสเพื่อนคนหนึ่งของโจเซฟ สมิธ “เดินทางไปนิวยอร์กซิตีพร้อมสำเนาอักขระบางส่วนบนแผ่นจารึก [ทองคำ] เพื่อให้นักวิชาการดู เขาอาจต้องการการยืนยันเพิ่มเติมว่าแผ่นจารึกเป็นของแท้หรือเขาอาจจะคิดว่าหนังสือรับรองจะช่วยให้พวกเขายืมเงินมาตีพิมพ์งานแปลได้ ไม่ว่ากรณีใด เขายืนกรานว่าพระเจ้าทรงกระตุ้นให้เขาเดินทาง

“ตอนนั้น ทั้งโจเซฟกับมาร์ตินรู้ภาษาบนแผ่นจารึกไม่มากนัก พวกท่านรู้เท่าที่เทพโมโรไนบอกโจเซฟเท่านั้นว่านั่นเป็นบันทึกอเมริกาสมัยโบราณ ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะหานักวิชาการผู้มีความรู้เรื่องภาษาอียิปต์ (โจเซฟทราบภายหลังว่าภาษาบนแผ่นจารึกเรียกว่า ‘ภาษาอียิปต์ปฏิรูป’) มาร์ตินจึงไปพบนักวิชาการหลายคนที่สนใจเรื่องโบราณวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณวัตถุของอเมริกา

“… [หนึ่งในนักวิชาการที่มาร์ตินพบคือ] ชาร์ลส์ แอนธันอาจารย์วัยหนุ่มผู้สอนไวยากรณ์และภาษาศาสตร์ที่วิทยาลัยโคลัมเบีย แอนธันเคยรวบรวมเรื่องราวและสุนทรพจน์ของอเมริกันอินเดียนเพื่อพิมพ์เผยแพร่ และต้องการตรวจสอบเอกสารที่มาร์ตินนำมา

“มาร์ตินอ้างว่าแอนธันประกาศว่าอักขระเหล่านั้นเป็นของแท้จนกระทั่งเขาทราบว่าโจเซฟ สมิธได้มาอย่างไร เขาจึงบอกมาร์ตินให้นำแผ่นจารึกมาให้เขาดู มาร์ตินปฏิเสธ และแอนธันตอบตามการถอดความข้อหนึ่งในอิสยาห์ว่า ‘ผมอ่านหนังสือที่ผนึกไว้ไม่ได้’ ถึงแม้ต่อมาแอนธันปฏิเสธรายละเอียดของเรื่องราวการพบกับมาร์ติน แต่เรารู้ว่า มาร์ตินกลับจากการไปพบนักวิชาการชาวตะวันออกหลายคนพร้อมกับความเชื่อมั่นมากยิ่งกว่าเดิมว่าโจเซฟ สมิธได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าและแผ่นจารึกตลอดจนอักขระบนนั้นเป็นของโบราณ เขากับโจเซฟถือว่าการไปพบแอนธันเป็นสัมฤทธิผลจากคำพยากรณ์ของอิสยาห์ (กล่าวไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนด้วย) ว่า ‘หนังสือม้วนที่ปิดตราไว้ต่อพวกเจ้า เมื่อเขาให้แก่คนที่อ่านออกและกล่าวว่า โปรดอ่านเล่มนี้ เขากล่าวว่า ข้าอ่านไม่ได้เพราะมีตราปิดไว้’ [อิสยาห์ 29:11; ดู 2 นีไฟ 27:15–18ด้วย]” (“The Contributions of Martin Harris,” Revelations in Context [2016], 3–4, history.ChurchofJesusChrist.org)

พระคัมภีร์ที่ลบล้างคำหลอกหลวงของซาตาน

หลักคำสอนเท็จ

หลักคำสอนจริง

“วันนี้พระองค์หาใช่พระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์ไม่; พระองค์ทรงงานของพระองค์แล้ว” (2 นีไฟ 28:6)

โมโรไน 7:35–37

“พระผู้เป็นเจ้า … จะทรงแก้ต่างให้แก่การทำบาปเล็กน้อย” (2 นีไฟ 28:8)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:31

“ทุกอย่างดีในไซอัน” (2 นีไฟ 28:21)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:31; 82:14

“ข้าพเจ้าไม่ใช่มาร, เพราะไม่มีมารเลย” (2 นีไฟ 28:22)

2 นีไฟ 2:17; หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:25–27

“เราไม่ต้องการพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอีก, เพราะเรามีพอแล้ว” (2 นีไฟ 28:29)

2 นีไฟ 28:30; หลักแห่งความเชื่อ 1:9

ปรับปรุงการสอนของเรา

อย่ากลัวความเงียบ “คำถามที่ดีใช้เวลาในการตอบ คำถามดังกล่าวต้องการการไตร่ตรอง การค้นคว้า และการดลใจ เวลาที่ท่านใช้รอคำตอบอาจเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์แห่งการไตร่ตรอง หลีกเลี่ยงความรู้สึกอยากจบช่วงเวลานี้เร็วเกินไปโดยการตอบคำถามของท่านเองหรือเปลี่ยนไปเรื่องอื่น” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 31)