จงตามเรามา 2024
ภาคผนวก ข: สำหรับปฐมวัย—การเตรียมเด็กให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต


“ภาคผนวก ข: สำหรับปฐมวัย—การเตรียมเด็กให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“ภาคผนวก ข” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024

ภาคผนวก ข

สำหรับปฐมวัย: การเตรียมเด็กให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต

ในเดือนที่มีวันอาทิตย์ห้าวัน ขอให้ครูปฐมวัยใช้กิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้หนึ่งกิจกรรมหรือมากกว่านั้นแทนโครงร่าง จงตามเรามา ที่กำหนดไว้สำหรับวันอาทิตย์ที่ห้า

หลักธรรมและศาสนพิธีของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

หลักคำสอนของพระคริสต์สอนเราให้รู้วิธีกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏพระองค์ต่อผู้คนในอเมริกา พระองค์ทรงสอนหลักคำสอนแก่พวกเขา พระองค์ตรัสว่าเราจะเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าได้หากเรามีศรัทธา กลับใจ รับบัพติศมา รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ (ดู 3 นีไฟ 11:31–40; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:29) กิจกรรมต่อไปนี้สามารถช่วยท่านสอนเด็กได้ว่าหลักธรรมและศาสนพิธีเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นตลอดชีวิตเรา

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักคำสอนของพระคริสต์ ให้ดู 2 นีไฟ 31

กิจกรรมที่ทำได้

  • แจกภาพแทนศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา และการยืนยันให้เด็กๆ (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 1, 111, 103, และ 105) อ่านหรือท่องหลักแห่งความเชื่อข้อสี่กับเด็ก แล้วขอให้พวกเขาชูภาพของตนเมื่อพูดถึงหลักธรรมหรือศาสนพิธีนั้น ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าหลักธรรมและศาสนพิธีเหล่านี้แต่ละอย่างช่วยให้เราเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร

  • ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจได้อย่างไรว่าศรัทธา การกลับใจ บัพติศมา และการยืนยันไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจบแต่มีอิทธิพลต่อการเติบโตทางวิญญาณของเราไปตลอดชีวิต? ตัวอย่างเช่น ท่านอาจให้ดูภาพเมล็ดพืชและต้นไม้ใหญ่ (หรือวาดภาพสิ่งเหล่านี้บนกระดาน) ช่วยให้พวกเขานึกถึงสิ่งที่ช่วยให้เมล็ดเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ เช่น น้ำ ดิน และแสงแดด ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เหมือนสิ่งที่เราทำเพื่อเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจในแต่ละวัน การดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาบัพติศมาของเรา และการฟังพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เล่าเรื่องประทัดจากข่าวสารของเอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์เรื่อง “การกลับใจจะช่วยให้ฉันรู้สึกมีความสุขได้อย่างไร?” (เพื่อนเด็ก, ธ.ค. 2017, 12–13, หรือ เลียโฮนา, ธ.ค. 2017, 70–71; ดูวีดิทัศน์ “การกลับใจ: การเลือกอันน่าปีติยินดี” [คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ] ด้วย)

    ให้เด็กคิดระหว่างเล่าเรื่องแต่ละช่วงว่าเอ็ลเดอร์เรนลันด์น่าจะรู้สึกอย่างไร ทำไมเรารู้สึกปีติยินดีเมื่อเรากลับใจ? บอกเด็กเรื่องปีติและความรักที่ท่านรู้สึกเมื่อท่านทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงให้อภัยท่าน

บัพติศมา

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับฉันเมื่อพระองค์ทรงรับบัพติศมา

แม้พระเยซูทรงปราศจากบาป แต่ทรงรับบัพติศมาเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์ (ดู 2 นีไฟ 31:6–10)

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบัพติศมา ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพบัพติศมาของพระผู้ช่วยให้รอดและบัพติศมาของอีกคน (หรือดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 35 และภาพที่ 103 หรือ 104) ขอให้เด็กแบ่งปันว่าภาพทั้งสองแตกต่างและเหมือนกันอย่างไร อ่าน มัทธิว 3:13–17 หรือ “บทที่ 10: พระเยซูทรงรับบัพติศมา” ด้วยกันใน เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 26–29 หรือรับชมวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกันในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ

    ให้เด็กชี้สิ่งต่างๆ ในภาพที่ถูกพูดถึงในการอ่านหรือในวีดิทัศน์ บอกเด็กเกี่ยวกับความรักที่ท่านมีต่อพระผู้ช่วยให้รอดและความปรารถนาของท่านที่จะทำตามพระองค์

  • ฟังหรือร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับบัพติศมา เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับบัพติศมาจากเพลงนี้? อ่าน 2 นีไฟ 31:9–10 แล้วให้เด็กฟังว่าทำไมพระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมา ให้พวกเขาวาดภาพตัวเองในวันบัพติศมา

ฉันสามารถเลือกทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าแล้วรับบัพติศมา

การเตรียมตัวให้พร้อมรับบัพติศมามีความหมายมากกว่าการเตรียมตัวเข้าร่วมเหตุการณ์หนึ่ง แต่หมายถึงการเตรียมทำพันธสัญญาแล้วรักษาพันธสัญญานั้นชั่วชีวิต ไตร่ตรองว่าท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจพันธสัญญาที่พวกเขาจะทำกับพระบิดาบนสวรรค์เมื่อรับบัพติศมาได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงสัญญาที่ทรงทำกับพวกเขาและสัญญาที่พวกเขาทำกับพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • อธิบายว่าพันธสัญญาคือสัญญาระหว่างคนหนึ่งกับพระบิดาบนสวรรค์ เมื่อเรามุ่งมั่นรักษาสัญญาที่ทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงสัญญาว่าจะให้พรเรา เขียนบนกระดานว่า สัญญาที่ฉันทำกับพระผู้เป็นเจ้า และ สัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำกับฉัน อ่าน โมไซยาห์ 18:10, 13 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 ด้วยกัน แล้วช่วยเด็กเขียนสัญญาที่พวกเขาพบไว้ใต้หัวข้อที่เหมาะสม (ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “พันธสัญญาบัพติศมาของท่าน,” เพื่อนเด็ก, ก.พ. 2021, 2–3 ด้วย) แบ่งปันวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงอวยพรท่านขณะท่านมุ่งมั่นที่จะรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของท่าน

  • ให้เด็กดูภาพสิ่งต่างๆ ที่พระเยซูทรงทำขณะทรงอยู่บนแผ่นดินโลก (ตัวอย่างเช่น ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 33–49) ให้เด็กพูดคุยกันว่าพระเยซูทรงทำอะไรในแต่ละภาพ อ่าน โมไซยาห์ 18:8–10, 13 แล้วให้เด็กฟังสิ่งที่พวกเขาสัญญาว่าจะทำเมื่อได้รับบัพติศมา (ดู “พันธสัญญาบัพติศมา,” เพื่อนเด็ก, ก.พ. 2019, 7; เลียโฮนา, ก.พ. 2019, พ3 ด้วย) สัญญาเหล่านี้จะมีผลต่อการกระทำของเราทุกวันอย่างไร? ให้เด็กวาดภาพตัวเองกำลังช่วยเหลือคนบางคนแบบที่พระเยซูจะทรงทำ หรือท่านอาจจะทำป้ายชื่อง่ายๆ ที่มีพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดอยู่บนนั้น

    ภาพ
    เด็กชายรับบัพติศมา

    เมื่อเรารับบัพติศมาเราทำสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า และพระองค์ทรงทำสัญญากับเรา

การยืนยัน

เมื่อฉันรับการยืนยัน ฉันได้เป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

การได้เป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายนำพรมากมายมาให้ รวมถึงโอกาสที่เด็กได้เป็นผู้มีส่วนร่วมแข็งขันในงานของพระผู้เป็นเจ้า

หากต้องการเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดู แกรีย์ อี. สตีเวนสัน “พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยท่านอย่างไร?,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 117–120

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชิญคนที่เพิ่งรับบัพติศมาและการยืนยันมาชั้นเรียนและเล่าว่าการยืนยันเป็นอย่างไร การได้เป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีความหมายต่อคนนี้อย่างไร? ช่วยเด็กคิดวิธีที่พวกเขาจะรักษาพันธสัญญาบัพติศมาในฐานะสมาชิกของศาสนจักร (เช่น รับใช้ผู้อื่น เชิญชวนผู้อื่นให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเยซู เป็นผู้สวดอ้อนวอนในที่ประชุม และอื่นๆ) แบ่งปันว่าการทำสิ่งเหล่านี้ได้ช่วยให้ท่านรู้สึกถึงปีติของการเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์อย่างไร

  • ให้ดูภาพผู้คนที่ผืนน้ำแห่งมอรมอน (ดู หนังสือภาพพระกิตคุณ ภาพที่ 76) และขอให้เด็กบรรยายสิ่งที่พวกเขาเห็นในภาพ เล่าเรื่องแอลมากับผู้คนของเขารับบัพติศมาที่นั่น (ดู โมไซยาห์ 18:1–17; “บทที่ 15: แอลมาสอนและให้บัพติศมาเรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 43–44 หรือวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ)

    ทบทวน โมไซยาห์ 18:8–9 แล้วเชื้อเชิญให้เด็กทำท่าประกอบเพื่อช่วยให้พวกเขาจดจำสิ่งต่างๆ ที่ผู้คนเต็มใจทำในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์ เล่าประสบการณ์ตอนท่านได้เห็นสมาชิกศาสนจักรรับใช้ในวิธีเหล่านี้

เมื่อฉันได้รับการยืนยัน ฉันได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

เมื่อเรารับบัพติศมาและการยืนยัน พระบิดาบนสวรรค์ทรงสัญญาว่าเรา “จะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับ [เรา] ตลอดเวลา” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77] นี่คือของประทานอันประเสริฐจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเรียกว่าของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:15 แล้วขอให้เด็กฟังเรื่องของประทานพิเศษที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่เราเมื่อเรารับบัพติศมาและการยืนยัน หากต้องการให้เด็กเรียนรู้มากขึ้นว่าของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จะช่วยพวกเขาอย่างไร ให้ทบทวน ยอห์น 14:26; กาลาเทีย 5:22–23; 2 นีไฟ 32:5; 3 นีไฟ 27:20 ด้วยกัน ท่านอาจจะทบทวนบทความเรื่อง “พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็น …” (เพื่อนเด็ก, มิ.ย. 2019, 24–25; เลียโฮนา, มิ.ย. 2019, พ12–พ13) ด้วย

  • ก่อนเริ่มชั้นเรียน ขอให้พ่อแม่ของเด็กหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรเพราะมีของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ทรงช่วยพวกเขาอย่างไร? พวกเขาได้ยินสุรเสียงของพระองค์อย่างไร?

  • ร้องเพลงเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยกัน เช่นเพลง “พระวิญญาณบริสุทธิ์” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 56) ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เพลงสอนเราเกี่ยวกับวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถช่วยเหลือเรา

พระวิญญาณบริสุทธิ์พูดกับเราได้หลายวิธี

เด็กที่สามารถรับรู้สุรเสียงของพระวิญญาณจะพร้อมรับการเปิดเผยส่วนตัวเพื่อนำทางพวกเขาตลอดชีวิต สอนพวกเขาว่ามีหลายวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะตรัสกับเราได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยเด็กคิดวิธีต่างๆ ที่เราใช้คุยกับเพื่อนที่อยู่ไกล เช่น เขียนจดหมาย ส่งอีเมล หรือคุยทางโทรศัพท์ สอนพวกเขาว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงสามารถตรัสกับเราผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ใช้ข่าวสารจากประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ “พระบิดาบนสวรรค์ตรัสกับเราอย่างไร?” เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจวิธีต่างๆ ที่พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถตรัสในความคิดและใจเรา (เพื่อนเด็ก, มี.ค. 2020, 2–3; เลียโฮนา, มี.ค. 2020, พ2–พ3)

  • แบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อสารกับท่าน ไม่ว่าผ่านความคิดหรือผ่านความรู้สึกในใจท่าน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:22–23; 8:2–3; ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “เปิดใจรับพระวิญญาณบริสุทธิ์,” เพื่อนเด็ก, ส.ค. 2019, 2–3; เลียโฮนา, ส.ค. 2019, พ2–พ3 ด้วย) เป็นพยานต่อเด็กว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยเหลือพวกเขาได้คล้ายๆ กัน

  • ช่วยให้เด็กนึกถึงเวลาที่พวกเขาเคยรู้สึกถึงพระวิญญาณ—ตัวอย่างเช่น ตอนร้องเพลงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดหรือแสดงน้ำใจต่อผู้อื่น ช่วยให้พวกเขารับรู้ความรู้สึกทางวิญญาณที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำมา ท่านคิดว่าเหตุใดพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงประทานความรู้สึกเหล่านั้่นแก่เรา? ช่วยให้เด็กคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่เราจำเป็นต้องทำเพื่อได้ยินพระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับเรา คุยกันถึงสิ่งที่ท่านทำเพื่อให้ได้ยินพระวิญญาณชัดเจนขึ้น

ศีลระลึก

เมื่อรับศีลระลึก ฉันระลึกถึงการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดและต่อพันธสัญญาของฉัน

พระผู้ช่วยให้รอดประทานศีลระลึกแก่เราเพื่อช่วยให้เราระลึกถึงการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อเราและต่อพันธสัญญาของเรา เราสามารถมีความสุขกับพรแห่งบัพติศมาของเราได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเพราะศาสนพิธีนี้ที่มีในทุกสัปดาห์

หากต้องการเรียนรู้มากขึ้น ดู มัทธิว 26:26–30; 3 นีไฟ 18:1–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญเด็กๆ ระบายสีภาพ “พระเยซูทรงแนะนำศีลระลึกให้แก่ชาวนีไฟ” ใน สมุดภาพระบายสีเรื่องราวจากพระคัมภีร์: พระคัมภีร์มอรมอน (2019), 26 ขอให้เด็กชี้สิ่งที่คนในภาพกำลังนึกถึง อ่านข้อความบางส่วนต่อไปนี้ให้เด็กๆ ฟัง 3 นีไฟ 18:1–12 หรือ “บทที่ 45: พระเยซูคริสต์ทรงสอนเรื่องศีลระลึกและการสวดอ้อนวอน,” เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 126–127 หรือดูวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องใน ChurchofJesusChrist.org เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อระลึกถึงพระเยซูคริสต์ระหว่างศีลระลึก?

  • ขอให้เด็กบอกท่านเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาควรจดจำและทำอยู่เสมอ เช่น การผูกเชือกรองเท้าหรือล้างมือก่อนทานอาหาร เหตุใดการจดจำสิ่งเหล่านี้จึงสำคัญ? อ่าน โมโรไน 4:3 ให้เด็กฟัง แล้วเชื้อเชิญพวกเขาให้ตั้งใจฟังสิ่งที่เราสัญญาว่าจะระลึกถึงตลอดเวลาเมื่อรับศีลระลึก เหตุใดการระลึกถึงพระเยซูคริสต์จึงสำคัญ? ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าขนมปังและน้ำศีลระลึกช่วยให้เราระลึกถึงสิ่งที่พระเยซูทรงทำเพื่อเราอย่างไร (ดู โมโรไน 4:3; 5:2)

  • เขียนบนกระดานว่า “ฉันสัญญาว่าจะ …” อ่านคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกให้เด็กฟัง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79) เมื่อเด็กได้ยินสัญญาอย่างหนึ่งที่เราทำกับพระผู้เป็นเจ้า ให้หยุดแล้วช่วยพวกเขาเติมประโยคบนกระดานให้สมบูรณ์เกี่ยวกับสัญญาที่ได้ยิน ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเมื่อเรารับศีลระลึก เรากำลังทำสัญญาต่างๆ เหมือนกับที่เราทำตอนรับบัพติศมา

  • การรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเราหมายความว่าอย่างไร? เพื่อช่วยเด็กตอบคำถามนี้ ให้ยกตัวอย่างของบางอย่างที่เราใส่ชื่อเราบนนั้น เหตุใดเราจึงใส่ชื่อเราไว้บนสิ่งเหล่านี้? เหตุใดพระเยซูคริสต์จึงทรงประสงค์จะให้พระนามของพระองค์อยู่กับเรา? ท่านอาจแบ่งปันคำอธิบายนี้จากประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน: “การรับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดหมายรวมถึงการประกาศและการเป็นพยานต่อผู้อื่น—ผ่านการกระทำและวาจาของเรา—ว่าพระเยซูคือพระคริสต์” (“ชื่อที่ถูกต้องของศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 88)

พลังอำนาจ สิทธิอำนาจ และกุญแจฐานะปุโรหิต

พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรบุตรธิดาของพระองค์ผ่านพลังอำนาจฐานะปุโรหิต

บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าทุกคน หญิงและชาย เยาว์วัยและสูงวัย ล้วนได้รับพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อพวกเขารักษาพันธสัญญาที่ได้ทำไว้กับพระองค์ เราทำพันธสัญญาเหล่านี้เมื่อเราได้รับศาสนพิธีฐานะปุโรหิต เช่น บัพติศมา (ดู คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 3.5, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) หากต้องการเรียนรู้มากขึ้น ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “ทรัพย์สมบัติทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 76–79; “หลักธรรมฐานะปุโรหิต” บทที่ 3 ใน คู่มือทั่วไป

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยให้เด็กสังเกตพรที่พวกเขาได้รับจากฐานะปุโรหิต .

  • ท่านอาจเขียนพรเหล่านี้ไว้บนกระดาน เหตุใดพรเหล่านี้จึงสำคัญต่อเรา? เป็นพยานว่าพรเหล่านี้มาถึงเราได้โดยพระเยซูคริสต์และพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์

  • เขียนหัวข้อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า และ พลังอำนาจและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานแก่ผู้ชายบนแผ่นดินโลก ขอให้เด็กวางภาพต่างๆ ไว้ใต้หัวข้อแรกโดยให้เป็นภาพที่ช่วยให้เราเข้าใจวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้เดชานุภาพของพระองค์เพื่ออวยพรเรา เช่น การสร้างโลก การทรงนำและชี้นำทางแก่เรา การแสดงแก่เราว่าทรงรักและรู้จักเรา ทรงฟังและตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 3, 68, 90111) ขอให้เด็กวางภาพไว้ใต้หัวข้อที่สองโดยให้เป็นภาพที่ช่วยให้เราเข้าใจวิธีที่ชายผู้มีค่าควรบนแผ่นดินโลกใช้พลังอำนาจและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอวยพรเรา เช่น การให้พรคนป่วย ให้บัพติศมาและการยืนยัน ปฏิบัติศีลระลึก และผนึกครอบครัว (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 46, 104, 105, 107120) แบ่งปันว่าเหตุใดท่านจึงสำนึกคุณต่อฐานะปุโรหิตและพรที่ได้รับ

  • หนึ่งในวิธีหลักๆ ที่เราได้รับพรแห่งเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเราคือผ่านศาสนพิธีฐานะปุโรหิต (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20) หากต้องการช่วยให้เด็กเรียนรู้ความจริงนี้ ท่านอาจจะเขียนข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: 3 นีไฟ 11:21–26, 33 (บัพติศมา); โมโรไน 2 (การยืนยัน); โมโรไน 4–5 (ศีลระลึก) เด็กจะเลือกคนละหนึ่งข้อแล้วบอกชื่อศาสนพิธีที่ข้อนั้นพูดถึง ให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขาเคยได้รับพรส่วนตัวอย่างไรจากการรับศาสนพิธีฐานะปุโรหิต

  • ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพวกเขาจะได้รับพลังอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าเมื่อรับบัพติศมาและรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของตน ถามเด็กว่าพลังอำนาจนี้จะช่วยพวกเขาได้อย่างไร

งานของพระผู้เป็นเจ้าได้รับการกำกับดูแลโดยกุญแจฐานะปุโรหิตและเกิดสัมฤทธิผลได้โดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต

สมาชิกชายที่มีค่าควรของศาสนจักรจะได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิต นอกจากนี้ เมื่อใดก็ตามที่บุคคลหนึ่งได้รับการวางมือมอบหน้าที่สำหรับการเรียกหรือการมอบหมายให้ช่วยงานของพระผู้เป็นเจ้า เขาสามารถใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่มอบหมายให้ได้ การใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตทั้งหมดในศาสนจักรได้รับการกำกับดูแลโดยผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต เช่น ประธานสเตค อธิการ และประธานโควรัม กุญแจฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจในการกำกับดูแลการใช้ฐานะปุโรหิตทำงานของพระเจ้า

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน มาระโก 3:14–15 กับเด็ก และให้ดูภาพเหตุการณ์ที่อธิบายไว้ในข้อพระคัมภีร์นั้น (เช่น หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 38) ถามเด็กว่าพวกเขาเคยเห็นคนได้รับการวางมือแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตหรือการวางมือมอบหน้าที่สู่การเรียกหรือไม่ (หรือเล่าประสบการณ์ของท่านให้พวกเขาฟัง) นั่นคล้ายกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำกับอัครสาวกของพระองค์อย่างไร? ช่วยเด็กเขียนชื่อตำแหน่งฐานะปุโรหิตหรือการเรียกต่างๆ ที่สามารถให้กับสมาชิกศาสนจักรไว้บนกระดาน เช่น ครูหรือผู้นำในองค์การ ท่านอาจเขียนสิ่งที่ผู้มีตำแหน่งหรือการเรียกแต่ละอย่างมีสิทธิอำนาจที่จะทำ โดยเขียนต่อจากตำแหน่งหรือการเรียกนั้นๆ ที่เขียนไว้แล้วบนกระดาน บอกเด็กว่าการได้รับการวางมือมอบหน้าที่โดยใครบางคนภายใต้การกำกับดูแลของกุญแจฐานะปุโรหิตช่วยท่านในการรับใช้อย่างไร

  • เชื้อเชิญเด็กให้นึกถึงสิ่งที่จำเป็นต้องใช้กุญแจไข เช่น รถหรือประตู จะเกิดอะไรขึ้นถ้าท่านไม่มีกุญแจ? อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 65:2 ด้วยกัน แล้วแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความสำคัญของการมีกุญแจฐานะปุโรหิตบนแผ่นดินโลก ท่านอาจจะให้ดูวีดิทัศน์ “กุญแจอยู่ที่ไหน?” ด้วยก็ได้ (คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) และมองหาสิ่งที่เอ็ลเดอร์สตีเวนสันสอนเกี่ยวกับกุญแจฐานะปุโรหิต

  • ขอให้คนในวอร์ดที่ถือกุญแจมาชั้นเรียนและบอกเด็กว่าการถือกุญแจฐานะปุโรหิตหมายความว่าอย่างไร เชิญเขาอธิบายความรับผิดชอบของตน เขาเป็นผู้นำในงานส่วนใดของพระเจ้า? พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเหลือเขาอย่างไร?

พระวิหารและแผนแห่งความสุข

พระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้า

พระวิหารเป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับบุตรธิดาของพระองค์ ในพระวิหารเราทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระองค์ รับเอ็นดาวเม้นท์ด้วยพลังอำนาจฐานะปุโรหิต รับการเปิดเผย ประกอบศาสนพิธีแทนบรรพชนของเราที่ถึงแก่กรรมแล้ว และรับการผนึกกับครอบครัวของเราเพื่อนิรันดร ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะพระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์

ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนรับรู้ความศักดิ์สิทธิ์ของพระนิเวศน์ของพระเจ้าและเตรียมตนเองให้มีค่าควรที่จะมีส่วนร่วมในศาสนพิธีพระวิหารได้อย่างไร? ท่านอาจทบทวนแหล่งช่วยต่อไปนี้: หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:15–17; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “คำปราศรัยปิดการประชุม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 120–122; temples.ChurchofJesusChrist.org

ภาพ
เยาวชนนอกพระวิหาร

พระวิหารเป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับบุตรธิดาของพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพพระวิหารหนึ่งภาพหรือมากกว่านั้น ถามเด็กว่าอะไรทำให้พระวิหารเป็นสถานที่พิเศษ ชี้ให้เห็นว่าพระวิหารแต่ละแห่งมีคำจารึกนี้อยู่: “ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า พระนิเวศน์ของพระเจ้า” ถามเด็กว่าพวกเขาคิดว่า “ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร เหตุใดจึงเรียกพระวิหารว่าพระนิเวศน์ของพระเจ้า? สิ่งนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระวิหาร? ถ้ามีเด็กคนไหนเคยไปพระวิหาร พวกเขาอาจแบ่งปันได้ด้วยว่ารู้สึกอย่างไรเมื่ออยู่ที่นั่น ถ้าท่านเคยไปพระวิหาร ให้บอกว่าท่านรู้สึกอย่างไรถึงการประทับอยู่ที่นั่นของพระเจ้า และพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับเหตุผลที่พระวิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับท่าน

  • อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:15–17 ด้วยกัน ขอให้เด็กมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากผู้เข้าพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ เหตุใดเราจำเป็นต้องมีค่าควรที่จะเข้าพระนิเวศน์ของพระองค์? เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ให้พูดคุยกับเด็กเรื่องใบรับรองพระวิหาร รวมถึงวิธีการได้ใบรับรอง ท่านอาจเชิญสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการมาแบ่งปันกับเด็กว่าการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารเป็นอย่างไรรวมทั้งคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ด้วย

ในพระวิหารเราทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้เราใช้เส้นทางพันธสัญญากลับบ้านไปหาพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์และอยู่กับคนที่เรารัก” (“มาติดตามเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 91) ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเส้นทางพันธสัญญารวมถึง บัพติศมา การยืนยัน เอ็นดาวเม้นท์และการผนึกในพระวิหาร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กช่วยท่านทบทวนพันธสัญญาที่เราทำกับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับบัพติศมาซึ่งเราต่อพันธสัญญานั้นใหม่เมื่อรับส่วนศีลระลึก (ดู โมไซยาห์ 18:10; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79) ให้ดูภาพพระวิหารแล้วอธิบายว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงมีพรอีกมากมายที่ประสงค์จะประทานแก่เราในพระวิหาร

  • วาดภาพประตูที่พาไปถึงทางเดิน ถามเด็กว่าเหตุใดพวกเขาจึงคิดว่าการมีทางเดินนั้นมีประโยชน์ อ่าน 2 นีไฟ 31:17–20 ด้วยกัน นีไฟเปรียบเทียบพันธสัญญาบัพติศมากับประตูและเชื้อเชิญให้เราอยู่บนทางนั้นต่อไปหลังจากบัพติศมา มีพันธสัญญาให้ทำอีกหลังบัพติศมา รวมถึงพันธสัญญาที่ทำในพระวิหาร อธิบายว่าประธานเนลสันเรียกเส้นทางนี้ว่า “เส้นทางพันธสัญญา”

ในพระวิหาร เราสามารถรับบัพติศมาและการยืนยันแทนบรรพชนของเราผู้ล่วงลับไปแล้ว

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทำให้การกลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าเป็นไปได้สำหรับบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ แม้พวกเขาจะตายไปโดยไม่รู้พระกิตติคุณ ในพระวิหารเราสามารถรับบัพติศมาและรับการยืนยันเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แทนพวกเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • พูดถึงเวลาที่มีคนทำบางอย่างให้ท่านซึ่งท่านไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ ให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์คล้ายๆ กัน อธิบายว่าเมื่อเราไปพระวิหาร เราสามารถรับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ เช่น บัพติศมาแทนคนอื่นๆ ที่ล่วงลับไปแล้วได้ เรากำลังเป็นเหมือนพระเยซูอย่างไรเมื่อเราทำงานแทนคนตาย? พระองค์ทรงทำอะไรเพื่อเราซึ่งเราไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง?

  • เชื้อเชิญเยาวชนหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นที่เคยรับบัพติศมาแทนบรรพชนมาเล่าประสบการณ์ของพวกเขา ถามพวกเขาว่าในพระวิหารเป็นอย่างไร กระตุ้นให้แบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการทำงานนี้แทนบรรพชนของพวกเขา

  • วาดต้นไม้บนกระดานที่มีทั้่งรากและกิ่ง ขอให้เด็กนึกว่าครอบครัวเหมือนต้นไม้อย่างไร เขียนบริเวณรากว่า บรรพชน เขียนบริเวณกิ่งว่า ผู้สืบตระกูล และเขียนที่ลำต้นว่า ท่าน อ่านประโยคนี้ด้วยกันจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:18: “เพราะเราโดยไม่มีพวกเขา [บรรพชนของเรา] พระองค์จะทรงทำให้ดีพร้อมไม่ได้; ทั้งพวกเขาโดยไม่มีเราพระองค์จะทรงทำให้ดีพร้อมไม่ได้” ถามคำถามทำนองนี้: “เหตุใดเราจำเป็นต้องมีบรรพชน? เหตุใดผู้สืบตระกูลของเราจึงจำเป็นต้องพึ่งพาเรา? พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และบรรพชนคนอื่นๆ ช่วยเหลือเราอย่างไร?” เชื้อเชิญให้เด็กค้นคว้าส่วนที่เหลือใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:18 เพื่อหาวลีที่บรรยายวิธีที่เราสามารถช่วยเหลือบรรพชนของเราได้

  • ท่านอาจทำงานร่วมกับพ่อแม่ของเด็กแต่ละคนเพื่อค้นหาชื่อของบรรพชนให้เด็กนำไปพระวิหาร (ดู FamilySearch.org)