คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 14: การเร่งงานพระวิหารและประวัติครอบครัว


บทที่ 14

การเร่งงานพระวิหารและประวัติครอบครัว

“โดยแท้แล้วพระเจ้าจะทรงสนับสนุนเราถ้าเราพยายามสุดความสามารถเพื่อดำเนินการตามพระบัญญัติให้ค้นคว้าประวัติครอบครัวและทำงานพระวิหาร”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ประวัติครอบครัวสำคัญต่อประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เสมอ ตั้งแต่ท่านเป็นเด็ก ท่านฟังเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพชนของท่านด้วยความสนใจอย่างยิ่ง เมื่อโตขึ้น ท่านทุ่มเทเวลามากมายให้การค้นคว้าประวัติครอบครัวของท่าน1 ในปี ค.ศ. 1972 ขณะทำงานมอบหมายของศาสนจักรในยุโรป ท่านกับแคลร์ภรรยาไปเยือนหลายแห่งในเดนมาร์กที่บรรพชนของท่านเคยอาศัยอยู่ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พวกท่านพบโบสถ์ที่แรสมุสเซ็นคุณตาทวดของประธานฮันเตอร์ได้รับการตั้งชื่อและครอบครัวเคยนมัสการที่นั่น ประสบการณ์นี้ทำให้ประธานฮันเตอร์สำนึกคุณมากขึ้นต่อบรรพชนฝ่ายมารดาของท่าน ท่านไปเยือนหลายแห่งในนอร์เวย์และสกอตแลนด์ที่บรรพชนคนอื่นๆ เคยอาศัยอยู่เช่นกัน2

ริชาร์ดบุตรชายของประธานฮันเตอร์เล่าว่าบิดาของเขาชอบทำประวัติครอบครัว

“ท่านเป็นนักค้นคว้าที่กระตือรือร้นตลอดชีวิตท่าน ท่านมักจะใช้เวลาพักจากงานทนายไปห้องสมุดประชาชนลอสแอนเจลิสเพื่อทำงานค้นคว้าในหมวดลำดับการสืบเชื้อสายของห้องสมุด ท่านเก็บงานค้นคว้า ใบบันทึกกลุ่มครอบครัว แผนภูมิสืบสกุล และประวัติเชิงบรรยายที่ท่านเขียนเองไว้ในสมุดบัญชี

“บางครั้งข้าพเจ้าจะเดินทางกับท่านไปทำงานมอบหมายการประชุมใหญ่ตามที่ต่างๆ ท่านจะวางสมุดบัญชีสองสามเล่มไว้ท้ายรถ และหลังจากการประชุมใหญ่สเตคท่านจะพูดว่า ‘เราไปบ้านญาติ [คนนี้] สักเดี๋ยวเถอะ มีวันเดือนปีที่พ่ออยากถามให้แน่ใจ’ เราจะไปบ้านญาติคนนั้น ท่านจะหยิบสมุดบัญชีจากท้ายรถ และไม่นานโต๊ะรับประทานอาหารจะเต็มไปด้วยใบบันทึกกลุ่มครอบครัว

“ถ้าสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งต้องการตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขามีข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับการค้นคว้า พวกเขาจะโทรขอหรือไม่ก็เขียนมาให้คุณพ่อยืนยันข้อเท็จจริงเพราะพวกเขารู้ว่าท่านจะมีข้อมูลที่ถูกต้อง งานที่ท่านทำมีมากมายมหาศาล”3

ครั้งหนึ่งขณะที่ประธานฮันเตอร์รับใช้ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง ผู้สอนประจำบ้านมาเยี่ยมและพูดว่า “เราต้องการให้คุณดูใบบันทึกกลุ่มครอบครัวของเราที่เราเตรียมไว้ … เราไม่มีเวลาดูของคุณคืนนี้ แต่เมื่อเรามาคราวหน้า เราอยากจะดูใบบันทึกของคุณ”

“นี่เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าสนใจมาก” ประธานฮันเตอร์กล่าว “ข้าพเจ้าใช้เวลาหนึ่งเดือนเตรียมใบบันทึกไว้สำหรับการเยี่ยมครั้งต่อไปของผู้สอนประจำบ้าน”4

นับจากปี 1964 ถึงปี 1972 ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เป็นประธานดูแล Genealogical Society of Utah [สมาคมลำดับการสืบเชื้อสายของยูทาห์] (ดู หน้า 19) ในปี 1994 ที่การประชุมเชิดชูเกียรติประธานฮันเตอร์และฉลอง 100 ปีของสมาคมลำดับการสืบเชื้อสาย ท่านกล่าวว่า

“วันก่อนวันเกิดปีที่แปดสิบเจ็ดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าย้อนกลับไปดูแบบแผนที่พระเจ้าทรงวางไว้ด้วยความพิศวงในการส่งเสริมงานพระวิหารและประวัติครอบครัว เมื่อข้าพเจ้าเป็นประธานสมาคมลำดับการสืบเชื้อสายของยูทาห์ เรามีวิสัยทัศน์ว่าสมาคมนี้จะก้าวหน้าอย่างมาก เวลานี้เราสังเกตเห็นเรื่องน่ายินดีบางอย่างกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก พระกิตติคุณกำลังรุดหน้าจนครอบคลุมทุกประชาชาติ ตระกูล ภาษา และผู้คน พระวิหารตั้งอยู่ทั่วโลก วิญญาณของเอลียาห์กำลังสัมผัสใจสมาชิกจำนวนมากผู้กำลังทำงานประวัติครอบครัวและศาสนพิธีพระวิหารอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”5

ภาพ
จอห์นกับเนลลี ฮันเตอร์

บิดามารดาของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์คือจอห์น วิลเลียม (วิลล์) ฮันเตอร์ และเนลลี มารี แรสมุสเซ็น ฮันเตอร์

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

พระวิหารสร้างขึ้นเพื่อประกอบศาสนพิธีที่จำเป็นต่อความรอดและความสูงส่งของบุตรธิดาพระผู้เป็นเจ้า

พระวิหารเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์สำหรับการติดต่อใกล้ชิดที่สุดระหว่างพระเจ้ากับผู้รับศาสนพิธีสูงสุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ ในพระวิหารเรื่องของแผ่นดินโลกเชื่อมโยงกับเรื่องของสวรรค์ … ครอบครัวใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านศาสนพิธีแห่งความรอดของพระกิตติคุณ งานแทนคนตายและศาสน-พิธีสำหรับคนเป็นคือจุดประสงค์ของพระวิหาร6

พระกิตติคุณที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายประกาศต่อโลกคือพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ตามที่ได้รับการฟื้นฟูบนแผ่นดินโลกในสมัยการประทานนี้และมีไว้สำหรับไถ่มวลมนุษยชาติ พระเจ้าพระองค์เองทรงเปิดเผยสิ่งจำเป็นสำหรับความรอดและความสูงส่งของบุตรธิดาพระองค์ สิ่งจำเป็นเหล่านี้อย่างหนึ่งคือการสร้างพระวิหารเพื่อประกอบศาสนพิธีที่ไม่สามารถประกอบที่อื่นได้

เมื่ออธิบายเรื่องนี้ให้คนจากทั่วโลกที่มาดูพระวิหารของเรา คำถามที่คนเหล่านี้ถามบ่อยที่สุดคือ ศาสนพิธีที่ประกอบในพระวิหารมีอะไรบ้าง

บัพติศมาแทนคนตาย

เพื่อตอบคำถาม เรามักจะอธิบายเรื่องศาสนพิธีที่เรียกกันว่าบัพติศมาแทนคนตายก่อน เราสังเกตว่าคริสต์ศาสนิกชนจำนวนมากเชื่อว่าเมื่อเราสิ้นชีวิต สถานภาพของเราต่อพระพักตร์พระเจ้าถูกกำหนดให้ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ เพราะพระคริสต์มิได้ตรัสกับนิ-โคเดมัสหรอกหรือว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า ถ้าใครไม่ได้เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ คนนั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้” (ยอห์น 3:5) แต่เรารู้ว่าคนจำนวนมากสิ้นชีวิตโดยไม่ได้รับศาสนพิธีบัพติศมา ด้วยเหตุนี้ตามพระดำรัสของพระคริสต์ต่อนิโคเดมัส พวกเขาจึงถูกตัดจากการเข้าในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า เรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงยุติธรรมหรือ

คำตอบคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงยุติธรรมแน่นอน เห็นได้ชัดว่าพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดต่อนิโคเดมัสบอกล่วงหน้าว่าเราทำบัพติศมาให้คนตายที่ยังไม่ได้รับบัพติศมาได้ ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายบอกเราว่าบัพติศมาเป็นศาสนพิธีทางโลกที่ประกอบโดยคนเป็นเท่านั้น แล้วคนที่ตายจะรับบัพติศมาได้อย่างไรถ้าเฉพาะคนเป็นเท่านั้นสามารถประกอบศาสนพิธีได้ นั่นเป็นหัวข้อที่อัครสาวกเปาโลเขียนถึงชาวโครินธ์เมื่อท่านถามคำถามนี้

“มิฉะนั้น พวกที่ให้รับบัพติศมาเพื่อคนตายนั้นจะทำอย่างไร ถ้าคนตายไม่ถูกทำให้เป็นขึ้นมาเลย? และทำไมจึงมีการให้รับบัพติศมาเพื่อคนตาย? (1 โครินธ์ 15:29)7

ดูสมเหตุสมผลหรือไม่ที่ผู้เคยมีชีวิตบนแผ่นดินโลกและสิ้นชีวิตโดยไม่มีโอกาสรับบัพติศมาจะถูกตัดสิทธิ์ชั่วนิรันดร์ มีเรื่องใดไม่สมเหตุสมผลหรือไม่เกี่ยวกับคนเป็นรับบัพติศมาแทนคนตาย บางทีตัวอย่างที่ดีที่สุดของงานแทนคนตายคือพระอาจารย์พระองค์เอง พระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพเป็นการชดใช้แทนทุกคน เพื่อทุกคนที่สิ้นชีวิตจะมีชีวิตอีกครั้งและมีชีวิตอันเป็นนิจ พระองค์ทรงทำเพื่อเราในสิ่งที่เราทำด้วยตนเองไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน เราสามารถประกอบศาสนพิธีแทนคนที่ไม่มีโอกาสทำในช่วงชีวิต [ของพวกเขา]8

เอ็นดาวเม้นท์

เอ็นดาวเม้นท์เป็นอีกศาสนพิธีหนึ่งที่ทำในพระวิหารของเรา เอ็นดาวเม้นท์ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรก ชุดคำแนะนำ และส่วนที่สอง คำสัญญาหรือพันธสัญญาที่ผู้รับเอ็นดาวเม้นท์ทำ—สัญญาว่าจะดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและปฏิบัติตามข้อกำหนดของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เอ็นดาวเม้นท์เป็นศาสนพิธีสำหรับพรอันยิ่งใหญ่ของวิ-สุทธิชน—ทั้งคนเป็นและคนตาย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นศาสนพิธีที่ประกอบโดยคนเป็นในนามของผู้วายชนม์ ประกอบให้คนที่ได้ทำงานบัพติศมาให้เขาแล้ว

การแต่งงานซีเลสเชียล

อีกศาสนพิธีหนึ่งของพระวิหารคือการแต่งงานซีเลสเชียล ที่ภรรยารับการผนึกกับสามีและสามีรับการผนึกกับภรรยาชั่วนิรันดร์ เรารู้แน่นอนว่าการแต่งงานตามกฎหมายสิ้นสุดที่ความตาย แต่การแต่งงานนิรันดร์ที่ประกอบพิธีในพระวิหารจะดำรงอยู่ตลอดกาล เด็กที่เกิดจากสามีภรรยาหลังจากการแต่งงานนิรันดร์ได้รับการผนึกโดยอัตโนมัติกับบิดามารดาของพวกเขาชั่วนิรันดร์ ถ้าเด็กเกิดก่อนภรรยารับการผนึกกับสามี มีศาสน-พิธีการผนึกในพระวิหารที่สามารถผนึกเด็กเหล่านี้กับบิดามารดาชั่วนิรันดร์ และด้วยเหตุนี้เด็กคนนั้นจึงรับการผนึกกับบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้วได้โดยมีผู้ทำแทน …

ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตทั้งหมดนี้จำเป็นต่อความรอดและความสูงส่งของบุตรธิดาพระบิดาในสวรรค์ของเรา”9

ภาพ
คู่สามีภรรยาที่มีพระวิหารเป็นฉากหลัง

“โดยแท้แล้วไม่มีงานใดเทียบเท่างานที่ทำในพระวิหาร”

2

วัตถุประสงค์ของงานประวัติครอบครัวคือทำให้พรของพระวิหารมีผลต่อทุกคน

แน่นอนว่าเราผู้อยู่ด้านนี้ของม่านมีงานใหญ่ต้องทำ … การสร้างพระวิหารมีความสำคัญลึกซึ้งต่อตัวเราและมนุษยชาติ ความรับผิดชอบของเราชัดเจน เราต้องทำงานศาสนพิธีพระวิหารของฐานะปุโรหิตที่จำเป็นต่อความสูงส่งของเราเอง ต่อจากนั้นเราต้องทำงานที่จำเป็นแทนคนที่ไม่มีโอกาสรับพระกิตติคุณในชีวิต การทำงานเพื่อผู้อื่นสำเร็จได้ในสองขั้นตอน หนึ่ง โดยการค้นคว้าประวัติครอบครัวเพื่อสืบให้รู้ต้นตระกูลของเรา และสอง โดยการประกอบศาสนพิธีพระวิหารเพื่อให้พวกเขามีโอกาสเหมือนกับที่ทำให้คนเป็น

แต่มีสมาชิกจำนวนมากของศาสนจักรผู้มีสิทธิ์จำกัดในการเข้าพระวิหาร พวกเขาทำสุดความสามารถ พวกเขาทำการค้นคว้าประวัติครอบครัวและให้ผู้อื่นทำงานศาสนพิธีพระวิหาร ในทางกลับกัน มีสมาชิกบางคนที่มีส่วนร่วมในงานพระวิหารแต่ไม่ค้นคว้าประวัติครอบครัวของสายสกุลตนเอง ถึงแม้พวกเขาทำการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ในการช่วยเหลือผู้อื่น แต่พวกเขาสูญเสียพรเพราะไม่สืบหาผู้วายชนม์ที่เป็นญาติพี่น้องของตนตามที่ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายแนะนำไว้

ข้าพเจ้านึกถึงประสบการณ์หนึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่คล้ายกับสถานการณ์นี้ ขณะปิดการประชุมอดอาหารและแสดงประจักษ์พยาน อธิการกล่าวว่า “เรามีประสบการณ์ทางวิญญาณแล้ววันนี้ขณะฟังประจักษ์พยานของกันและกัน นี่เพราะเราได้อดอาหารตามกฎของพระเจ้า แต่ขอให้เราอย่าลืมว่ากฎประกอบด้วยสองส่วน เราอดอาหารโดยไม่กินและดื่ม เราบริจาคเงินส่วนที่เก็บไว้ให้คลังของอธิการเพื่อประโยชน์ของคนที่มีน้อยกว่าเรา” เขากล่าวเพิ่มเติมต่อจากนั้นว่า “ข้าพเจ้าหวังว่าจะไม่มีใครในพวกเราออกจากโบสถ์วันนี้ด้วยพรเพียงครึ่งเดียว”

ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าคนที่มีส่วนในการค้นคว้าประวัติครอบครัวและจากนั้นทำงานศาสน-พิธีพระวิหารให้รายชื่อที่พวกเขาพบจะมีปีติเพิ่มเติมจากการได้รับพรทั้งสองส่วน

นอกจากนี้ คนตายกำลังรออย่างกระวนกระวายให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายค้นหาชื่อของพวกเขาและเข้าไปในพระวิหารเพื่อประกอบพิธีในนามของพวกเขา เพื่อพวกเขาจะได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำในโลกวิญญาณ เราทุกคนควรพบปีติในงานอันสูงส่งนี้ของความรัก10

วัตถุประสงค์ของงานประวัติครอบครัวคือทำให้พรของพระวิหารมีผลต่อทุกคน ทั้งคนเป็นและคนตาย เมื่อเราเข้าพระวิหารและทำงานแทนคนตาย เราจะบรรลุถึงความรู้สึกปรองดองกับพระผู้เป็นเจ้าและเข้าใจแผนของพระองค์เพื่อความรอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ดีขึ้น เราเรียนรู้ที่จะรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง โดยแท้แล้วไม่มีงานใดเทียบเท่างานที่ทำในพระวิหาร11

3

ขอให้เรากล้าหาญในการเร่งงานพระวิหารและประวัติครอบครัว

ขณะทำงานในพระวิหารให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว เรานึกถึงคำแนะนำที่ได้รับการดลใจของประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธผู้ประกาศว่า “โดยผ่านความพยายามของเราในนามของพวกเขา โซ่แห่งพันธนาการจะหลุดไปจากพวกเขา และความมืดที่ห้อมล้อมพวกเขาจะจางหายไป เพื่อความสว่างจะฉายบนพวกเขาและในโลกวิญญาณพวกเขาจะได้ยินเกี่ยวกับงานที่ลูกหลานได้ทำแทนพวกเขาที่นี่ และจะชื่นชมยินดี” [ใน Conference Report, Oct. 1916, 6]12

งานศักดิ์สิทธิ์นี้ [งานพระวิหารและประวัติครอบครัว] โดดเด่นอยู่ในใจและความคิดของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง ข้าพเจ้าพูดแทนเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ทุกท่านเมื่อข้าพเจ้าขอบคุณผู้กระทำคุณประโยชน์อันล้ำค่าในการจัดเตรียมศาสน-พิธีแห่งความรอดให้คนที่อยู่หลังม่าน … เราสำนึกคุณต่อกองทัพอาสาสมัครที่เคลื่อนพลทำงานใหญ่นี้ไปทั่วโลก ขอบคุณทุกท่านสำหรับสิ่งดีที่ท่านทำ

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า “ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงที่สุดในโลกนี้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เราคือเสาะหาคนตายของเรา” [คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 511] ท่านกล่าวด้วยว่า … “วิสุทธิชนเหล่านั้นผู้ไม่ใส่ใจจะกระทำแทนญาติพี่น้องที่สิ้นชีวิตย่อมทำให้ความรอดของตนตกอยู่ในอันตราย” [คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ, 508]

ประธานบริคัม ยังก์มีวิสัยทัศน์เหมือนกันในเรื่องการเปิดเผยที่สำคัญนี้ ท่านกล่าวว่า “เรามีงานต้องทำซึ่งสำคัญในขอบข่ายของงานนั้นเท่าๆ กับงานของพระผู้ช่วยให้รอดสำคัญในขอบข่ายงานของพระองค์ บรรพบุรุษของเราจะดีพร้อมไม่ได้หากไม่มีพวกเรา เราจะดีพร้อมไม่ได้หากไม่มีพวกเขา พวกเขาทำงานของตนลุล่วงแล้วและบัดนี้หลับอยู่ เวลานี้พระเจ้าทรงขอให้เราทำงานของเรา ซึ่งเป็นงานสำคัญที่สุดที่มนุษย์เคยทำบนแผ่นดินโลก” (Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe, Salt Lake City: Deseret Book Co., 1941, p. 406)

ศาสดาพยากรณ์ทุกท่านที่นำศาสนจักรนี้ตั้งแต่สมัยของโจเซฟ สมิธจนถึงปัจจุบันต่างย้ำความจริงอันสูงค่าดังกล่าว ความจริงเหล่านี้นำทางศาสนจักรมาตั้งแต่เริ่มสมัยการประทานนี้ให้มีส่วนร่วมในงานแห่งความรอดและความสูงส่งสำหรับบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ที่ใดบนแผ่นดินโลก

เราผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยนี้คือคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งก่อนเกิดให้เป็นตัวแทนของพระองค์บนแผ่นดินโลกในสมัยการประทานนี้ เราเป็นของเชื้อสายแห่งอิสราเอล ในมือเรามีพลังอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอันในยุคสุดท้าย [ดู โอบาดีห์ 1:21]

เกี่ยวกับงานพระวิหารและประวัติครอบครัว ข้าพเจ้ามีข่าวสารสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ต้องเร่งงานนี้ มีงานมากมายมหาศาลรอให้ทำและมนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้ ปีที่แล้ว [ค.ศ. 1993] เราทำเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารแทนผู้วายชนม์ประมาณห้าล้านห้าแสนคน แต่ระหว่างปีนั้นมีผู้สิ้นชีวิตประมาณห้าสิบล้าน นี่อาจบอกเป็นนัยถึงความไร้ประโยชน์ในงานที่อยู่ตรงหน้าเรา แต่เราจะคิดว่าไร้ประโยชน์ไม่ได้ แน่นอนว่าพระเจ้าจะทรงสนับสนุนเราถ้าเราพยายามสุดความสามารถเพื่อดำเนินการตามพระบัญญัติให้ค้นคว้าประวัติครอบครัวและทำงานพระวิหาร งานอันสำคัญยิ่งของพระวิหารและทั้งหมดที่สนับสนุนงานนั้นต้องขยาย งานนี้จำเป็นอย่างยิ่ง! …

พี่น้องที่รักทั้งหลาย ขอให้เรากล้าหาญในการเร่งงานพระวิหารและประวัติครอบครัว พระเจ้าตรัสว่า” ให้งานพระวิหารของเรา, และงานทั้งหมดซึ่งเรากำหนดให้เจ้า, จงดำเนินต่อไปและไม่หยุด; และให้ความขยันหมั่นเพียรของเจ้า, และความมานะบากบั่นของเจ้า, และความอดทน, และงานของเจ้าทวีคูณ, และเจ้าจะไม่มีทางสูญเสียรางวัลของเจ้าเลย, พระเจ้าจอมโยธาตรัส” (ค.พ. 127:4)

ข้าพเจ้ากระตุ้นให้ท่านพยายามทำตามถ้อยคำเหล่านี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ “พี่น้องทั้งหลาย, เราจะไม่ก้าวต่อไปในอุดมการณ์อันสำคัญยิ่งเช่นนั้นหรือ? จงก้าวไปข้างหน้าและอย่าถอยกลับ. ความกล้าหาญ, พี่น้องทั้งหลาย; และก้าวต่อไป, ต่อไปถึงชัยชนะ! ให้ใจท่านชื่นชมยินดี, และเปรมปรีดิ์ยิ่ง. ให้แผ่นดินโลกเปล่งเสียงร้องเพลงเถิด. ให้คนตายเปล่งเสียงเพลงสดุดีแห่งคำสรรเสริญนิรันดร์ถวายกษัตริย์อิมมานูเอล, ผู้ทรงแต่งตั้งไว้, ก่อนมีโลกขึ้นมา, สิ่งซึ่งจะทำให้เราสามารถไถ่พวกเขาออกจากที่คุมขังของพวกเขา; เพราะเชลยจะออกไปเป็นอิสระ” (คพ. 128:22)

ข้าพเจ้ารักงานนี้ ข้าพเจ้าทราบว่าพระเจ้าจะทรงจัดเตรียมทุกอย่างที่ต้องใช้ทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงเมื่อเราทุ่มเททำส่วนของเรา ขอพระเจ้าทรงอวยพรเราแต่ละคนขณะที่เราทำคุณประโยชน์ต่องานอันสำคัญยิ่งนี้ ซึ่งเราต้องทำให้สำเร็จในวันเวลาของเรา13

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ไตร่ตรองประโยคเริ่มต้นในหัวข้อ 1 การประกอบศาสนพิธีในพระวิหารช่วยให้ท่านใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นอย่างไร ข้อมูลใดในหัวข้อนี้จะช่วยท่านอธิบายจุดประสงค์ของพระวิหารให้แก่คนที่ไม่เข้าใจ

  • ท่านเคยประสบ “พรทั้งสองส่วน” ของการค้นคว้าประวัติครอบครัวและงานพระวิหารอย่างไร (ดู หัวข้อ 2) เราจะรวมเด็กๆ และสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ไว้ในงานสำคัญนี้ได้อย่างไร

  • ขณะที่ท่านทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 3 ให้พิจารณาถึงความสำคัญที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้กับงานพระวิหารและประวัติครอบครัว งานพระวิหารและประวัติครอบครัวกำลังเร่งอย่างไรในปัจจุบัน เราสามารถมีส่วนร่วมในงานนี้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

อิสยาห์ 42:6–7; มาลาคี 4:5–6; 1 เปโตร 3:18–20; 4:6; คพ. 2; 110:12–15; 124:28–30; 128:15–18; 138:57–59

ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

เพื่อเปรียบถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์กับตัวท่าน ลองนึกดูว่าคำสอนของศาสดาพยากรณ์เกี่ยวข้องกับท่านอย่างไร (ดู ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 170) ระหว่างการศึกษาของท่าน ท่านอาจจะถามตนเองว่าคำสอนเหล่านั้นจะช่วยท่านแก้ไขข้อกังวล คำถาม และความท้าทายในชีวิตท่านได้อย่างไร

อ้างอิง

  1. ดู เอลีนอร์ โนวส์, Howard W. Hunter (1994), 186.

  2. ดู ฟรานซิส เอ็ม. กิบบอนส์, Howard W. Hunter: Man of Thought and Independence, Prophet of God (2011), 16–18.

  3. ต้นฉบับไม่ได้จัดพิมพ์ โดยริชาร์ด เอ. ฮันเตอร์

  4. ใน โนวส์, Howard W. Hunter, 192.

  5. “We Have a Work to Do,” Ensign, Mar. 1995, 64.

  6. “The Great Symbol of Our Membership,” Ensign, Oct. 1994, 2.

  7. “A Temple-Motivated People,” Ensign, Feb. 1995, 2.

  8. “Elijah the Prophet,” Ensign, Dec. 1971, 71.

  9. “A Temple-Motivated People,” 2, 4.

  10. “A Temple-Motivated People,” 4–5.

  11. “We Have a Work to Do,” 65.

  12. ข้อความของคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารบาวติฟูล ยูทาห์, ใน “‘Magnificent Edifice’ Consecrated to [the] Lord,” Church News, Jan. 14, 1995, 4.

  13. “We Have a Work to Do,” 64–65.