คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 13: พระวิหาร—สัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิกของเรา


บทที่ 13

พระวิหาร—สัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิกของเรา

“ความปรารถนาลึกซึ้งที่สุดของใจข้าพเจ้าคืออยากให้สมาชิกทุกคนของศาสนจักรมีค่าควรเข้าพระวิหาร”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

มารดาของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรตลอดชีวิต แต่บิดาท่านไม่รับบัพติศมาจนกระทั่งฮาเวิร์ดอายุ 19 ปี หลายปีต่อมา เมื่อฮาเวิร์ดเป็นประธานสเตคในแคลิฟอร์เนีย สมาชิกสเตคเดินทางไปพระวิหารเมซา แอริโซนาเพื่อทำงานพระวิหาร ก่อนเริ่มงานพระวิหาร ประธานพระวิหารขอให้ท่านกล่าวกับผู้มาชุมนุมกันในห้องนมัสการ วันนั้นเป็นวันเกิดปีที่ 46 ของประธานฮันเตอร์ ท่านเขียนเล่าประสบการณ์นั้นในเวลาต่อมาว่า

“ขณะข้าพเจ้ากำลังพูดกับผู้เข้าร่วมประชุม … คุณพ่อคุณแม่สวมชุดขาวเดินเข้ามาในห้องนมัสการ ข้าพเจ้านึกไม่ถึงว่าคุณพ่อจะพร้อมรับพรพระวิหารถึงแม้คุณแม่จะหวังเรื่องนี้มานานพอสมควร ข้าพเจ้าตื้นตันใจจนไม่สามารถพูดต่อได้ ประธานเพียร์ซ [ประธานพระวิหาร] มายืนข้างข้าพเจ้าและอธิบายเหตุผลที่ขัดจังหวะ เมื่อคุณพ่อกับคุณแม่มาพระวิหารเช้านั้นพวกท่านขอร้องประธานว่าอย่าบอกข้าพเจ้าว่าพวกท่านอยู่ที่นั่นเพราะต้องการให้เป็นของขวัญวันเกิดแบบไม่รู้ตัว วันนั้นเป็นวันเกิดที่ข้าพเจ้าไม่เคยลืมเพราะพวกท่านรับเอ็นดาวเม้นท์และข้าพเจ้ามีโอกาสเป็นพยานการผนึกของพวกท่าน ซึ่งข้าพเจ้ารับการผนึกกับพวกท่านต่อจากนั้น”1

40 ปีเศษต่อมาเมื่อฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์กล่าวต่อสาธารณชนครั้งแรกในฐานะประธานศาสนจักร ข่าวสารหลักเรื่องหนึ่งของท่านคือให้สมาชิกแสวงหาพรของพระวิหารด้วยการอุทิศตนมากขึ้น2 ท่านยังคงเน้นข่าวสารนั้นตลอดการรับใช้เป็นประธานศาสนจักร ท่านพูด ณ สถานที่ก่อสร้างพระวิหารนอวูในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1994 ดังนี้

“ต้นเดือนนี้ข้าพเจ้าเริ่มการปฏิบัติศาสนกิจโดยแสดงความปรารถนาอย่างสุดซึ้งที่จะให้สมาชิกศาสนจักรมีค่าควรเข้าพระวิหารมากยิ่งขึ้น เฉกเช่นในสมัย [ของโจเซฟ สมิธ] การมีสมาชิกที่มีค่าควรและรับเอ็นดาวเม้นท์แล้วเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างอาณาจักรทั่วโลก ความมีค่าควรในการเข้าพระวิหารรับประกันว่าชีวิตเราสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า และเราพร้อมรับการนำทางของพระองค์ในชีวิตเรา”3

หลายเดือนต่อมา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1995 กิจกรรมต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายของประธานฮันเตอร์คือการอุทิศพระวิหารบาวติฟูล ยูทาห์ ในคำสวดอ้อนวอนอุทิศ ท่านขอให้พรของพระวิหารยกระดับชีวิตของทุกคนที่เข้าไป

“พวกข้าพระองค์น้อมสวดอ้อนวอนขอให้พระองค์ทรงยอมรับอาคารหลังนี้และขอให้พรของพระองค์สถิต ณ ที่แห่งนี้ ขอให้พระวิญญาณของพระองค์สถิตและนำทางทุกคนที่ประกอบศาสนพิธีในนั้น เพื่อความศักดิ์สิทธิ์จะแผ่ซ่านทุกห้อง ขอให้ทุกคนที่เข้าไปมีมือสะอาดและใจบริสุทธิ์ ขอให้ศรัทธาของพวกเขาเพิ่มทวีและออกจากพระวิหารด้วยความรู้สึกสงบ พลางสรรเสริญพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ …

“ขอให้พระนิเวศแห่งนี้ให้ความรู้สึกสงบแก่ทุกคนที่สังเกตเห็นความสง่างามของพระนิเวศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้ที่เข้าไปทำศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ของตนเองและทำงานแทนบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาซึ่งอยู่หลังม่าน ขอให้พวกเขารู้สึกถึงความรักและพระเมตตาของพระองค์ ขอให้พวกเขามีโอกาสพูดเช่นเดียวกับผู้เขียนสดุดีสมัยก่อนว่า ‘เราเคยสนทนาปราศรัยกันอย่างชื่นใจ เราเคยเดินท่ามกลางฝูงชนในพระนิเวศของพระเจ้า’

“ขณะที่เราอุทิศอาคารศักดิ์สิทธิ์นี้ เราอุทิศชีวิตเราแด่พระองค์และงานของพระองค์อีกครั้ง”4

ภาพ
พระวิหารเมซา แอริโซนา

พระวิหารเมซา แอริโซนาที่ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์รับการผนึกกับบิดามารดาท่านในปี ค.ศ. 1953

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

เราได้รับการส่งเสริมให้กำหนดว่าพระวิหารเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิกของเรา

ในเวลาที่ข้าพเจ้าได้รับเรียกสู่ตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์นี้ [ประธานศาสนจักร] ข้าพเจ้าได้เชื้อเชิญสมาชิกทุกคนของศาสนจักรให้กำหนดว่าพระวิหารของพระเจ้าเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิกของพวกเขาและเป็นสภาพแวดล้อมอันสูงส่งสำหรับพันธ-สัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพวกเขา

เมื่อข้าพเจ้าตรึกตรองเรื่องพระวิหาร ข้าพเจ้านึกถึงถ้อยคำเหล่านี้

“พระวิหารเป็นสถานที่สำหรับการแนะนำสั่งสอนซึ่งเผยความจริงอันลึกซึ้งเกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า พระวิหารเป็นสถานที่ของสันติสุขที่สามารถทำให้ความคิดจดจ่อกับเรื่องทางวิญญาณและปล่อยวางความกังวลของโลกได้ ในพระวิหารเราทำพันธ-สัญญาว่าจะเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้า และพระองค์ทรงทำสัญญากับเรา เงื่อนไขจึงขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ของเราเสมอ ซึ่งขยายไปในนิรันดร” (The Priesthood and You, Melchizedek Priesthood Lessons—1966, Salt Lake City: The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints, 1966, p. 293)

พระเจ้าพระองค์เองทรงทำให้พระวิหารเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งสำหรับสมาชิกศาสนจักรในการเปิดเผยของพระองค์ต่อเรา ลองนึกถึงเจตคติและพฤติกรรมอันชอบธรรมที่พระเจ้าทรงชี้ให้เราเห็นในคำแนะนำที่ประทานแก่วิสุทธิชนในเคิร์ทแลนด์ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธขณะพวกเขาเตรียมสร้างพระวิหาร คำแนะนำนี้ยังคงประยุกต์ใช้ได้

“จงวางระเบียบตนเอง; เตรียมสิ่งที่จำเป็นทุกอย่าง; และสถาปนาบ้าน, แม้บ้านแห่งการสวดอ้อนวอน, บ้านแห่งการอดอาหาร, บ้านแห่งศรัทธา, บ้านแห่งการเรียนรู้, บ้านแห่งรัศมีภาพ, บ้านแห่งระเบียบ, บ้านแห่งพระผู้เป็นเจ้า” (คพ. 88:119) เจตคติและความประพฤติเหล่านี้สะท้อนสิ่งที่เราแต่ละคนปรารถนาและแสวงหาหรือไม่ …

… เพื่อให้พระวิหารเป็นสัญลักษณ์สำหรับเรา เราต้องปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น เราต้องดำเนินชีวิตให้มีค่าควรเข้าพระวิหาร เราต้องรักษาพระบัญญัติของพระเจ้าของเรา ถ้าเราสามารถวางรูปแบบชีวิตเราตามพระอาจารย์ และรับคำสอนตลอดจนแบบอย่างของพระองค์เป็นแบบฉบับสูงสุดสำหรับเรา เราจะพบว่าไม่ยากเลยกับการมีค่าควรเข้าพระวิหาร เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายและภักดีในชีวิตทุกด้านของเรา เพราะเราจะตั้งใจประพฤติตามมาตรฐานอันศักดิ์สิทธิ์มาตรฐานเดียวของความประพฤติและความเชื่อ ไม่ว่าที่บ้านหรือในตลาด ไม่ว่าที่โรงเรียนหรือหลังจากเรียนจบนานแล้ว ไม่ว่าเรากำลังทำคนเดียวทั้งหมดหรือกับคนอื่นๆ วิถีของเราจะต้องชัดเจนและมาตรฐานของเราจะต้องเห็นชัด

ความสามารถในการยืนหยัดสนับสนุนหลักธรรมของตน ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อตรงและศรัทธาตามความเชื่อของตน—นั่นสำคัญที่สุด การอุทิศตนเช่นนั้นต่อหลักธรรมที่แท้จริง—ในชีวิตส่วนตัวของเรา ในบ้านและครอบครัวของเรา และในทุกแห่งที่เราพบและมีอิทธิพลต่อผู้อื่น—การอุทิศตนเช่นนั้นคือสิ่งที่พระเจ้าทรงขอจากเราในท้ายที่สุด สิ่งนี้เรียกร้องคำมั่นสัญญา—คำมั่นสัญญาสุดจิตวิญญาณด้วยความเข้าใจอย่างสุดซึ้งและยึดมั่นชั่วนิรันดร์ต่อหลักธรรมที่เรารู้ว่าจริงในพระบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เรา ถ้าเราจะแน่วแน่และซื่อสัตย์ต่อหลักธรรมของพระเจ้า เมื่อนั้นเราจะมีค่าควรเข้าพระวิหารเสมอ พระเจ้าและพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์จะเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสานุศิษย์ของเรากับพระองค์5

2

เราแต่ละคนควรพยายามให้มีค่าควรได้รับใบรับรองพระวิหาร

ความปรารถนาอันลึกซึ้งที่สุดของใจข้าพเจ้าคืออยากให้สมาชิกทุกคนของศาสนจักรมีค่าควรเข้าพระวิหาร พระเจ้าคงพอพระทัยถ้าสมาชิกผู้ใหญ่ทุกคนจะมีค่าควรกับใบรับรองพระวิหาร—และถือ—ใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน สิ่งที่เราพึงทำและไม่พึงทำเพื่อจะมีค่าควรถือใบรับรองพระวิหารคือสิ่งที่จะทำให้ตัวเราและครอบครัวมีความสุข6

พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงสรุปไว้ชัดเจนว่าคนที่เข้าพระวิหารต้องสะอาดและเป็นอิสระจากบาปของโลก พระองค์ตรัสว่า “และตราบเท่าที่ผู้คนของเราสร้างบ้านหลังหนึ่งให้เราในพระนามของพระเจ้า, และไม่ยอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่สะอาดเข้าไปในนั้น, เพื่อจะไม่เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์, รัศมีภาพของเราจะพำนักบนนั้น; … แต่หากบ้านนี้เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์เราจะไม่เข้าไปในนั้น, และรัศมีภาพของเราจะไม่อยู่ที่นั่น; เพราะเราจะไม่เข้าไปในพระวิหารที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์” (คพ. 97:15, 17)

ท่านอาจจะสนใจถ้ารู้ว่าประธานศาสนจักรเคยเซ็นใบรับรองพระวิหารแต่ละใบ ประธานสมัยแรกรู้สึกแรงกล้ามากเกี่ยวกับความมีค่าควรในการเข้าพระวิหาร คริสต์ศักราช 1891 ความรับผิดชอบตกอยู่กับอธิการและประธานสเตคผู้ถามคำถามหลายข้อเกี่ยวกับความมีค่าควรของท่านเพื่อจะมีคุณสมบัติคู่ควรถือใบรับรองพระวิหาร ท่านควรรู้ว่าพระเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากท่านเพื่อท่านจะมีคุณสมบัติคู่ควรถือใบรับรองพระวิหาร

ท่านต้องเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ ในพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ และในพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านต้องเชื่อว่านี่เป็นงานศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งของพระองค์ เรากระตุ้นให้ท่านพยายามสร้างประจักษ์พยานของท่านทุกวันเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระเจ้าพระเยซูคริสต์ พระวิญญาณที่ท่านรู้สึกคือพระวิญญาณบริสุทธิ์กำลังเป็นพยานต่อท่านถึงการดำรงอยู่จริงของทั้งสองพระองค์ ต่อมา ในพระวิหารท่านจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ผ่านคำสอนและศาสน-พิธีที่ได้รับการเปิดเผย

ท่านต้องสนับสนุนเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในระดับท้องที่ของศาสน-จักร ขณะที่ท่านยกมือตั้งฉากเมื่อเสนอชื่อผู้นำเหล่านี้ ท่านแสดงให้เห็นว่าท่านจะสนับสนุนท่านเหล่านั้นในความรับผิดชอบของพวกท่านและในคำแนะนำที่ให้แก่ท่าน

นี่ไม่เพียงเป็นการแสดงความเคารพต่อคนที่พระเจ้าทรงเรียกให้เป็นกำกับดูแล แต่คือการยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ ผู้เปิดเผย และคนอื่นๆ เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ นี่คือคำมั่นสัญญาว่าท่านจะทำตามคำแนะนำสั่งสอนที่มาจากเจ้าหน้าที่ควบคุมของศาสนจักร ทำนองเดียวกัน ท่านควรรู้สึกภักดีต่ออธิการ ประธานสเตค และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นด้วย การไม่สนับสนุนผู้มีสิทธิอำนาจเหล่านั้นขัดแย้งกับการรับใช้ในพระวิหาร

ท่านต้องสะอาดทางศีลธรรมจึงจะเข้าในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ได้ กฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศเรียกร้องไม่ให้ท่านมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลใดนอกจากสามีหรือภรรยาของท่าน เรากระตุ้นท่านเป็นพิเศษให้ระวังสิ่งล่อใจของซาตานเพื่อทำให้ความสะอาดทางศีลธรรมของท่านมัวหมอง

ท่านต้องแน่ใจว่าไม่มีสิ่งใดในความสัมพันธ์ของท่านกับสมาชิกครอบครัวไม่สอดคล้องกับคำสอนของศาสนจักร เรากระตุ้น [เยาวชน] เป็นพิเศษให้เชื่อฟังบิดามารดา [ของพวกเขา] ในความชอบธรรม บิดามารดาต้องคอยดูแลให้แน่ใจว่าความสัมพันธ์ของพวกเขากับสมาชิกครอบครัวสอดคล้องกับคำสอนของพระกิตติคุณและไม่มีการกระทำทารุณกรรมหรือปล่อยปละละเลย

เพื่อเข้าพระวิหารท่านต้องซื่อสัตย์ในความสัมพันธ์กับผู้อื่นทุกเรื่อง ในฐานะวิสุทธิ-ชนยุคสุดท้าย เรามีข้อผูกมัดอันศักดิ์สิทธิ์ว่าจะไม่หลอกหลวงหรือไม่ซื่อสัตย์ เราสูญเสียความซื่อตรงขั้นพื้นฐานเมื่อเราฝ่าฝืนพันธสัญญา

เพื่อจะมีคุณสมบัติคู่ควรถือใบรับรองพระวิหาร ท่านควรพยายามทำหน้าที่ของท่านในศาสนจักร เข้าร่วมการประชุมศีลระลึก การประชุมฐานะปุโรหิต และการประชุมอื่นๆ ท่านต้องพยายามเชื่อฟังกฎ ระเบียบ และพระบัญญัติของพระกิตติคุณ เรียนรู้ … ที่จะยอมรับการเรียกและหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆ ที่มาถึงท่าน จงเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในวอร์ดและสาขาของท่าน และเป็นคนที่ผู้นำของท่านพึ่งพาได้

เพื่อเข้าพระวิหารท่านจะต้องเป็นผู้จ่ายส่วนสิบเต็มและดำเนินชีวิตตามพระคำแห่งปัญญา พระบัญญัติสองข้อนี้เป็นคำแนะนำที่เรียบง่ายแต่สำคัญมากต่อการเติบโตทางวิญญาณของเรา และจำเป็นต่อการรับรองความมีค่าควรของตัวเรา การสังเกตตลอดหลายปีแสดงให้เห็นว่าคนที่จ่ายส่วนสิบอย่างซื่อสัตย์และถือปฏิบัติพระคำแห่งปัญญามักจะซื่อสัตย์ในเรื่องอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเข้าพระวิหารศักดิ์สิทธิ์

นี่เป็นเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้ เมื่อพบว่าเรามีค่าควรเข้าพระวิหารแล้ว เราจะประกอบศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สุดที่เคยทำบนแผ่นดินโลก ศาสนพิธีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของนิรันดร7

ภาพ
ชายในตำแหน่งผู้นำฐานะปุโรหิต

“อธิการและประธานสเตค…ถามคำถามหลายข้อเกี่ยวกับความมีค่าควรของท่านในการถือใบรับรองพระวิหาร”

3

การทำงานพระวิหารนำพรมากมายมาสู่บุคคลและครอบครัว

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เรามีโอกาสไปพระวิหารเพื่อรับพรของเราเอง หลังจากไปรับพรพระวิหารของเราเองแล้ว นับเป็นสิทธิพิเศษอย่างยิ่งที่ได้ทำงานให้ผู้ล่วงลับไปก่อนเรา งานพระวิหารด้านนี้เป็นงานที่ไม่เห็นแก่ตัว แต่เมื่อใดก็ตามที่เราทำงานพระวิหารให้ผู้อื่น ย่อมมีพรกลับมาหาเรา เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรประหลาดใจที่พระเจ้าทรงปรารถนาให้ผู้คนของพระองค์เป็นคนที่มุ่งหมายจะไปพระวิหาร …

… เราไม่ควรไปเพียงเพื่อผู้วายชนม์ที่เป็นญาติพี่น้องของเราเท่านั้นแต่เพื่อพรส่วนตัวของการนมัสการในพระวิหารด้วย เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และความปลอดภัยที่อยู่ภายในกำแพงที่อุทิศถวายและทำให้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เมื่อเราเข้าพระวิหาร เราเรียนรู้จุดประสงค์ของชีวิตและความสำคัญของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์มากขึ้นและลึกซึ้งขึ้น ขอให้เราทำให้พระวิหาร กับการนมัสการในพระวิหาร พันธสัญญาพระวิหาร และการแต่งงานในพระวิหาร เป็นเป้าหมายสูงสุดทางโลกของเราและเป็นประสบการณ์สูงส่งในความเป็นมรรตัย8

เราทำหลายสิ่งสำเร็จเมื่อเราเข้าพระวิหาร—เราทำตามคำแนะนำของพระเจ้าให้ทำงานศาสนพิธีของเรา เราเป็นพรแก่ครอบครัวเราโดยศาสนพิธีผนึก และเราแบ่งปันพรของเรากับคนอื่นๆ โดยทำแทนพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาทำด้วยตนเองไม่ได้ นอกจากนี้ เรายังยกระดับความคิดของเรา ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น ให้เกียรติฐานะปุโรหิต และทำให้ชีวิตเราสูงส่งทางวิญญาณ9

เราได้รับพรส่วนตัวเมื่อเราเข้าพระวิหาร เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซกล่าวแสดงความเห็นว่าชีวิตเราได้รับพรจากการเข้าพระวิหารอย่างไร

“งานพระวิหาร … เปิดโอกาสอันดียิ่งให้เราได้ทำให้ตนมีความรู้และความเข้มแข็งทางวิญญาณอยู่เสมอ … ภาพกว้างไกลของนิรันดรเผยต่อเราในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ เราเห็นเวลานับจากจุดเริ่มต้นอันไม่มีขอบเขตไปจนถึงจุดจบอันหาได้สิ้นสุดไม่ และบทละครของชีวิตนิรันดร์เผยต่อเรา ต่อจากนั้นข้าพเจ้าเห็นสถานที่ของข้าพเจ้าชัดเจนขึ้นท่ามกลางสรรพสิ่งของจักรวาล ที่ของข้าพเจ้าในบรรดาจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าสามารถวางตนเองไว้ในสถานที่ซึ่งข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งได้ดีขึ้น และข้าพเจ้าสามารถเห็นคุณค่า ประเมิน แยกแยะ และจัดระเบียบหน้าที่ธรรมดาทั่วไปของชีวิตข้าพเจ้าได้ดีขึ้นทั้งนี้เพื่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จะไม่ทำให้ข้าพเจ้าหนักใจหรือทำให้ข้าพเจ้ามองไม่เห็นสิ่งสำคัญกว่าที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เรา” (ใน Conference Report, Apr. 1922, pp. 97–98)10

ลองพิจารณาคำสอนอันล้ำเลิศในคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ คำสวดอ้อนวอนที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับโดยการเปิดเผย คำสวดอ้อนวอนนั้นยังคงเป็นพรแก่เราแต่ละคน แก่ครอบครัวเรา และแก่ผู้คนของเราเพราะอำนาจฐานะปุโรหิตที่พระเจ้าทรงมอบให้เราใช้ในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

“และบัดนี้, พระบิดาบริสุทธิ์,” ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธทูลอ้อนวอน “พวกข้าพระองค์ทูลขอพระองค์ทรงช่วยพวกข้าพระองค์, ผู้คนของพระองค์, ด้วยพระคุณของพระองค์ … ที่จะพบว่าพวกข้าพระองค์มีค่าควร, ในสายพระเนตรของพระองค์, เพื่อได้สัมฤทธิผลแห่งสัญญาทั้งหลายซึ่งพระองค์ทรงทำกับพวกข้าพระองค์, ผู้คนของพระองค์, ในการเปิดเผยต่างๆ ที่ประทานแก่พวกข้าพระองค์;

“เพื่อรัศมีภาพของพระองค์จะลงมาพำนักบนผู้คนของพระองค์. …

“และพวกข้าพระองค์ทูลขอพระองค์, พระบิดาบริสุทธิ์, ให้ผู้รับใช้ทั้งหลายของพระองค์ออกไปจากพระนิเวศแห่งนี้พร้อมเดชานุภาพของพระองค์เป็นอาวุธ, และให้พระนามของพระองค์อยู่กับพวกเขา, และรัศมีภาพของพระองค์อยู่รอบพวกเขา, และบรรดาเทพของพระองค์มีความรับผิดชอบดูแลพวกเขา” [คพ. 109:10–12, 22]11

การเข้าพระวิหารสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณ นี่เป็นโปรแกรมดีที่สุดโปรแกรมหนึ่งที่เรามีในศาสนจักรเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณ โปรแกรมนี้จะหันใจลูกหลานไปหาบรรพบุรุษและใจบรรพบุรุษมาหาลูกหลาน (มาลาคี 4:6) การเข้าพระวิหารส่งเสริมความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของครอบครัว12

4

ขอให้เราเร่งไปพระวิหาร

ขอให้เราแบ่งปันความรู้สึกทางวิญญาณที่เรามีในพระวิหารให้แก่ลูกๆ ของเรา ขอให้เราสอนพวกเขาอย่างจริงจังมากขึ้นและอย่างสบายใจมากขึ้นในสิ่งที่เราพูดได้ตามสมควรเกี่ยวกับจุดประสงค์ของพระนิเวศของพระเจ้า มีภาพพระวิหารไว้ในบ้านท่านเพื่อให้ลูกๆ มองเห็น สอนพวกเขาเกี่ยวกับจุดประสงค์ของพระนิเวศของพระเจ้า ให้พวกเขาวางแผนแต่วัยเยาว์ว่าจะไปที่นั่นและมีค่าควรรับพรนั้นเสมอ ขอให้เราเตรียมผู้สอนศาสนาทุกคนให้พร้อมไปพระวิหารอย่างมีค่าควรและทำให้ประสบการณ์นั้นสำคัญกว่าการได้รับเรียกเป็นผู้สอนศาสนา ขอให้เราวางแผน สอน และขอร้องลูกๆ ของเราให้แต่งงานในพระนิเวศของพระเจ้า ขอให้เรายืนยันหนักแน่นกว่าที่เราเคยทำในอดีตว่าสิ่งสำคัญคือท่านแต่งงานที่ไหนและอำนาจอะไรประกาศท่านเป็นสามีภรรยากัน13

สิ่งนั้นทำให้พระเจ้าพอพระทัยถ้าเยาวชนของเราไปพระวิหารอย่างมีค่าควรและรับบัพติศมาแทนคนที่ไม่มีโอกาสรับบัพติศมาในชีวิต สิ่งนั้นทำให้พระเจ้าพอพระทัยเมื่อเราไปพระวิหารอย่างมีค่าควรเพื่อทำพันธสัญญาของเราเองกับพระองค์และรับการผนึกกับคู่ครองและกับครอบครัว และสิ่งนั้นทำให้พระเจ้าพอพระทัยเมื่อเราไปพระวิหารอย่างมีค่าควรเพื่อประกอบศาสนพิธีแห่งความรอดเดียวกันนี้ให้แก่ผู้วายชนม์ ซึ่งหลายคนในพวกเขารออย่างใจจดใจจ่อให้เราทำศาสนพิธีเหล่านี้ในนามของพวกเขา14

ถึงท่านที่ยังไม่ได้รับพรพระวิหาร หรือท่านที่ไม่ถือใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน ข้าพเจ้าขอกระตุ้นท่านด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความรักให้ท่านทำงานจนถึงวันที่ท่านจะได้เข้าไปในพระนิเวศของพระเจ้า พระองค์ทรงสัญญากับคนที่ซื่อสัตย์ต่อพันธ-สัญญาของพวกเขาว่า “หากผู้คนของเราจะสดับฟังเสียงของเรา, และเสียงผู้รับใช้ของเรา ผู้ที่เรากำหนดไว้ให้นำผู้คนของเรา, ดูเถิด, ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, พวกเขาจะไม่ย้ายออกจากที่ของพวกเขา” (คพ. 124:45) … ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่าท่านจะได้รับพรและได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณของตัวท่านเอง ความสัมพันธ์กับสามีหรือภรรยาของท่าน และความสัมพันธ์ในครอบครัวเมื่อท่านเข้าพระวิหารเป็นประจำ15

ขอให้เราเป็นคนที่รักพระวิหารและเข้าพระวิหาร ขอให้เราเร่งไปพระวิหารบ่อยที่สุดเท่าที่เวลา เงินทอง และสภาวการณ์ส่วนตัวจะเอื้ออำนวย ขอให้เราไปไม่เพียงเพื่อผู้วายชนม์ที่เป็นญาติพี่น้องของเราเท่านั้น แต่ขอให้เราไปรับพรส่วนตัวของการนมัสการในพระวิหาร รับความศักดิ์สิทธิ์และความปลอดภัยซึ่งให้ไว้ในกำแพงที่อุทิศถวายและทำให้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นด้วย พระวิหารเป็นสถานที่ของความสวยงาม เป็นสถานที่ของการเปิดเผย เป็นสถานที่ของสันติสุข พระวิหารเป็นพระนิเวศของพระเจ้า” พระวิหารศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า พระวิหารควรศักดิ์สิทธิ์ต่อเรา16

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ไตร่ตรองคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 1 เราจะ “กำหนดว่าพระวิหารของพระเจ้าเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิก [ของเรา]” ได้อย่างไร

  • ทบทวนข้อกำหนดสำหรับใบรับรองพระวิหารตามที่สรุปไว้ในหัวข้อ 2 การดำเนินชีวิตตามข้อกำหนดเหล่านี้เป็นพรแก่ท่านและครอบครัวอย่างไร เหตุใดจึงเรียกร้องให้เราพยายาม “สะอาดและเป็นอิสระจากบาปของโลก” ขณะที่เราเข้าพระวิหาร

  • ทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับพรของการทำงานพระวิหาร (ดู หัวข้อ 3) การมีส่วนร่วมในศาสนพิธีพระวิหารเป็นพรแก่ท่านและครอบครัวอย่างไร ท่านจะรับประโยชน์โดยสมบูรณ์มากขึ้นจากพรของพระวิหารได้อย่างไร ท่านจะเล่าถึงเวลาที่ท่านรู้สึกมีความแข้มแข็งทางวิญญาณหรือการนำทางในพระวิหารได้หรือไม่ ถ้าท่านยังไม่ได้ไปพระวิหาร จงไตร่ตรองว่าท่านจะเตรียมรับพรนั้นอย่างไร

  • มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้เรื่องพระวิหารและรักพระวิหารมากขึ้น (ดู หัวข้อ 4) เราจะช่วยให้เด็กและเยาวชนปรารถนาจะแต่งงานในพระนิเวศของพระเจ้าได้อย่างไร เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องไปพระวิหาร “บ่อยเท่าที่เวลา เงินทอง และสภาวการณ์ส่วนตัวจะเอื้ออำนวย”

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

สดุดี 55:14; อิสยาห์ 2:2–3; คพ. 97:12–17; 110:6–10; 124:39–41; 138:53–54; คู่มือพระคัมภีร์, “พระวิหาร”

ความช่วยเหลือด้านการสอน

“บทเรียนมักจะมีเนื้อหามากเกินกว่าที่ท่านจะสามารถสอนได้ในเวลาที่กำหนด “ในกรณีเช่นนั้น ท่านควรคัดเลือกเนื้อหาที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ท่านสอนมากที่สุด” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 98).

อ้างอิง

  1. ดู เอลีนอร์ โนวส์, Howard W. Hunter (1994), 135.

  2. ดู เจย์ เอ็ม. ทอดด์, “President Howard W. Hunter: Fourteenth President of the Church,” Ensign, July 1994, 4–5.

  3. “The Temple of Nauvoo,” Ensign, Sept. 1994, 62–63.

  4. เนื้อความของคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารบาวติฟูล ยูทาห์ใน “‘Magnificent Edifice’ Consecrated to [the] Lord,” Church News, Jan. 14, 1995, 4.

  5. “The Great Symbol of Our Membership,” Ensign, Oct. 1994, 2, 5.

  6. “Exceeding Great and Precious Promises,” Ensign, Nov. 1994, 8.

  7. “Your Temple Recommend,” New Era, Apr. 1995, 6–9.

  8. “A Temple-Motivated People,” Ensign, Feb. 1995, 5.

  9. The Teachings of Howard W. Hunter, ed. Clyde J. Williams (1997), 240.

  10. “We Have a Work to Do,” Ensign, Mar. 1995, 65.

  11. “The Great Symbol of Our Membership,” 4.

  12. The Teachings of Howard W. Hunter, 239–40.

  13. “A Temple-Motivated People,” 5.

  14. “The Great Symbol of Our Membership,” 5.

  15. The Teachings of Howard W. Hunter, 240-41.

  16. “The Great Symbol of Our Membership,” 5.