คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 20: ดำเนินตามเส้นทางแห่งจิตกุศลของพระผู้ช่วยให้รอด


บทที่ 20

ดำเนินตามเส้นทางแห่งจิตกุศลของพระผู้ช่วยให้รอด

“มาตรฐานทดสอบความสงสารคือระดับการเป็นสานุศิษย์ของเรา คือระดับความรักของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อกัน”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์สอนว่าพระผู้ช่วยให้รอด “ประทานความรักของพระองค์ การรับใช้ของพระองค์ และพระชนม์ชีพของพระองค์แก่เรา … เราควรพยายามให้เหมือนกับที่พระองค์ทรงให้”1 ที่พิเศษสุดคือประธานฮันเตอร์กระตุ้นสมาชิกศาสนจักรให้ทำตามแบบอย่างจิตกุศลของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตประจำวันของพวกเขา

การกระทำที่มาจากจิตกุศลเป็นแง่มุมที่ชัดเจนในอาชีพกฎหมายของฮาเวิร์ด ดับเบิล-ยู. ฮันเตอร์ เพื่อนทนายคนหนึ่งอธิบายว่า

“ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ให้บริการด้านกฎหมาย [ฟรี] … เพราะท่านรู้สึกว่าไม่ควรเรียกเก็บเงินลูกความ…พวกเขาเห็นท่านเป็นเพื่อน คนนำทาง ที่ปรึกษา และมืออาชีพผู้สนใจจะเห็นคนเหล่านั้นได้รับความช่วยเหลือที่ต้องการยิ่งกว่าได้เงินค่าตอบแทน”2

จิตกุศลเป็นตราสัญลักษณ์การรับใช้ศาสนจักรของประธานฮันเตอร์เช่นกัน สตรีคนหนึ่งที่พูดว่าท่านเป็นครูผู้มีอิทธิพลต่อเธอมากที่สุดอธิบายเหตุผลบางประการดังนี้

“ดิฉันสังเกตมาตลอดว่าชายคนนี้รักผู้อื่นโดยให้ความสำคัญกับพวกเขาก่อน ฟังจนเข้าใจ และแบ่งปันประสบการณ์กับผู้อื่น ซึ่งเป็นความเบิกบานใจมากอย่างหนึ่งของท่าน ท่านสอนดิฉันให้เข้าใจความสำคัญของคุณธรรมเหล่านี้และรู้สึกปีติในการปฏิบัติคุณธรรมดังกล่าว”3

สตรีอีกคนหนึ่งจากสเตคของประธานฮันเตอร์ในแคลิฟอร์เนียกล่าวสรรเสริญดังนี้

“ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. อันเตอร์เป็นประธานสเตคของเราหลายปีเมื่อครอบครัวเราอยู่ในสเตคแพซาดีนา คุณพ่อของดิฉันสิ้นชีวิตแล้ว ทิ้งคุณแม่ให้เลี้ยงดูดิฉันกับพี่สาว ถึงแม้เราไม่ได้เป็นครอบครัวที่โดดเด่นในสเตค ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางทางภูมิศาสตร์ แต่ประธานฮันเตอร์ยังรู้จักเราเป็นส่วนตัว

“ความทรงจำที่มีความหมายต่อดิฉันมากที่สุดเกี่ยวกับท่านคือความทรงจำที่ช่วยให้ดิฉันรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง หลังจากการประชุมใหญ่สเตคแต่ละครั้ง เราจะยืนต่อแถวรอจับมือกับท่าน ท่านมักจะจับมือคุณแม่ของดิฉันและพูดว่า ‘เป็นอย่างไรบ้าง ซิส-เตอร์เซสชันส์ เบททีกับแครอลีนเป็นอย่างไรบ้าง’ ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้ยินท่านเรียกชื่อเรา ดิฉันรู้ว่าท่านรู้จักเราและห่วงใยความเป็นอยู่ของเรา ความทรงจำเรื่องนี้ยังคงทำให้ใจดิฉันอบอุ่น”4

ประธานฮันเตอร์เคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพันธกิจของเราคือการรับใช้และช่วยให้รอด สร้างและทำให้สูงส่ง”5 ความเห็นจากพี่น้องของท่านในโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงให้เห็นว่าท่านทำพันธกิจดังกล่าวดีเพียงใด “ท่านมีวิธีทำให้ผู้อื่นรู้สึกผ่อนคลาย” คนหนึ่งรายงาน “ท่านไม่ข่มพวกเขา ท่านเป็นผู้ฟังที่ดี” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อคุณเดินทางไปกับท่าน ท่านจะคอยดูให้แน่ใจว่าทุกคนได้รับการดูแลและไม่มีใครไม่สะดวกกายหรือไม่สบายใจ” อีกคนหนึ่งรายงานว่า “ท่านห่วงใยและใส่ใจผู้อื่น” ท่านมีจิตกุศลและใจที่ให้อภัย ท่านเป็นนักเรียนที่ศึกษาเกี่ยวกับพระกิตติคุณ มนุษยชาติ และธรรมชาติมนุษย์”6

ภาพ
พระคริสต์กับหญิงที่กำลังคุกเข่า

พระเยซูคริสต์ทรง “สอนบทเรียนเรื่องความรักและทรงแสดงให้เห็นถึงการรับใช้ผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัวหลายต่อหลายครั้ง ทุกคนเป็นผู้รับความรักของพระองค์”

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

พระบัญญัติข้อใหญ่สองข้อเป็นมาตรฐานที่พระเจ้าทรงใช้ทดสอบการเป็นสานุศิษย์ของเรา

ในสมัยโบราณ วิธีทดสอบความบริสุทธิ์ของทองวิธีหนึ่งคือทดสอบกับหินเรียบสีดำที่มีสารซิลิกาเจือปนเรียกว่าหินทดสอบความบริสุทธิ์ของทอง เมื่อนำทองมาถูกับหินทดสอบ ทองจะทำให้เกิดริ้วลายหรือรอยขีดบนพื้นผิวของหินทดสอบ ช่างทองจับคู่รอยขีดกับสีบนตารางสี รอยขีดแดงขึ้นตามปริมาณทองแดงหรืออัลลอยที่เพิ่มขึ้น หรือเหลืองขึ้นตามเปอร์เซ็นต์ทองที่เพิ่มขึ้น กระบวนการนี้แสดงให้เห็นความบริสุทธิ์ของทองได้แม่นยำทีเดียว

วิธีทดสอบความบริสุทธิ์ของทองด้วยหินทดสอบได้ผลเร็วและน่าพอใจตรงตามจุดประสงค์จริงๆ มากที่สุด แต่ช่างทองที่ยังสงสัยความบริสุทธิ์จะทำการทดสอบที่แม่นยำกว่านั้นคือใช้กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับไฟ

ข้าพเจ้าบอกท่านว่าพระเจ้าได้ทรงเตรียมหินทดสอบไว้สำหรับท่านและข้าพเจ้า นั่นคือ มาตรการภายนอกที่ใช้วัดการเป็นสานุศิษย์ภายในที่บ่งบอกความซื่อสัตย์ของเราและจะช่วยให้เรารอดพ้นจากไฟที่จะมาถึง

ครั้งหนึ่งขณะพระเยซูทรงสอนผู้คน ทนายคนหนึ่งมาหาพระองค์และตั้งคำถามนี้ “ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์”

พระเยซู องค์ปรมาจารย์ ทรงตอบชายคนนั้นผู้รู้ข้อกฎหมายเป็นอย่างดีด้วยการย้อนถามว่า “ในธรรมบัญญัติเขียนว่าอย่างไร? ท่านอ่านแล้วเข้าใจอย่างไร?”

ชายคนนั้นตอบด้วยการสรุปพระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อนี้ “พวกท่านจงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน ด้วยสุดกำลังของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”

พระคริสต์ทรงเห็นด้วยและตรัสตอบดังนี้ “จงไปทำอย่างนั้นแล้วจะได้ชีวิต” (ลูกา 10:25-28)

ชีวิตนิรันดร์ ชีวิตของพระผู้เป็นเจ้า ชีวิตที่เราแสวงหา หยั่งรากในพระบัญญัติสองข้อนี้ พระคัมภีร์กล่าวว่า “ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” (มัทธิว 22:40) รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของท่าน งานสองอย่างนี้ไปด้วยกัน แยกกันไม่ออก ในความหมายสูงสุดอาจถือว่ามีความหมายเหมือนกัน และเป็นพระบัญญัติที่เราแต่ละคนดำเนินชีวิตตามได้

พระดำรัสตอบทนายของพระเยซูอาจถือได้ว่าเป็นมาตรฐานทดสอบของพระเจ้า พระองค์ตรัสในอีกวาระหนึ่งว่า “ซึ่งท่านได้ทำกับคนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรานี้ก็เหมือนทำกับเราด้วย” (มัทธิว 25:40) พระองค์จะทรงวัดระดับความภักดีของเราต่อพระองค์โดยดูว่าเรารักและรับใช้เพื่อนมนุษย์ของเราอย่างไร เรากำลังทิ้งรอยขีดแบบใดไว้บนหินทดสอบของพระเจ้า เราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีจริงๆ หรือ การทดสอบแสดงให้เห็นว่าเราเป็นทอง 24 กะรัต หรือสามารถตรวจหาสายแร่ที่ดูเหมือนทองได้ไหม7

2

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนให้เรารักทุกคน รวมไปถึงคนที่อาจรักได้ยาก

ประหนึ่งกำลังแก้ตัวเพราะถามคำถามง่ายๆ กับพระอาจารย์ ทนายจึงพยายามรักษาหน้าของตนโดยถามอีกว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” (ลูกา 10:29)

เราทุกคนควรสำนึกคุณชั่วนิรันดร์ต่อคำถามนั้น เพราะในพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดมีอุปมาล้ำค่าที่สุดและทรงคุณค่าเรื่องหนึ่ง อุปมาที่เราแต่ละคนเคยอ่านและได้ยินมาแล้วหลายครั้ง

“มีชายคนหนึ่งลงจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองเยรีโค และเขาถูกพวกโจรปล้น พวกโจรแย่งชิงเสื้อผ้าของเขา ทุบตีเขา แล้วทิ้งเขาไว้ในสภาพที่เกือบจะตายแล้ว

“เผอิญมีปุโรหิตคนหนึ่งเดินมาตามทางนั้น เมื่อเห็นคนนั้นแล้วก็เดินเลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง

“คนเลวีก็เหมือนกัน เมื่อมาถึงที่นั่นและเห็นแล้วก็เลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง

“แต่เมื่อชาวสะมาเรียคนหนึ่งเดินทางผ่านมาใกล้คนนั้น เห็นแล้วก็มีใจสงสาร

“จึงเข้าไปหาเขา เอาเหล้าองุ่นกับน้ำมันเทใส่บาดแผลและเอาผ้ามาพันให้ แล้วให้เขาขึ้นขี่สัตว์ของตนเองพามาถึงโรงแรม และดูแลรักษาพยาบาลเขา

“วันรุ่งขึ้นก่อนจะไป เขาเอาเงินสองเดนาริอันให้กับเจ้าของโรงแรม บอกว่า ช่วยรักษาเขาด้วย สำหรับเงินที่ต้องเสียเกินกว่านี้จะใช้ให้เมื่อกลับมา” (ลูกา 10:30–35)

พระเยซูตรัสถามทนายต่อจากนั้นว่า “ท่านเห็นว่าในสามคนนั้นคนไหนถือได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านของคนที่ถูกปล้น” (ลูกา 10:36) ที่นั่นพระอาจารย์ทรงยื่นหินทดสอบความเป็นคริสต์ศาสนิกชน พระองค์ทรงขอให้วัดรอยขีดของท่านบนนั้น

ทั้งปุโรหิตและคนเลวีในอุปมาของพระคริสต์ควรนึกถึงข้อกำหนดของกฎนี้ “ถ้าท่านเห็นลาหรือโคของพี่น้องล้มลงตามทาง อย่านิ่งเฉยเสีย ท่านจงช่วยเขาพยุงสัตว์เหล่านั้นขึ้นอีก” (เฉลยธรรมบัญญัติ 22:4) และถ้าเป็นโค บุคคลนั้นควรเต็มใจช่วยพี่น้องที่เดือดร้อนมากขึ้นไปอีก แต่ตามที่เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจเขียน “ข้ออ้าง [ที่จะไม่ทำเช่นนั้น] หาได้ง่าย มันเกิดขึ้นรวดเร็วและมากมายเหมือนวัชพืชริมทาง” (Jesus the Christ, 3d ed., Salt Lake City: The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints, 1916, p. 431)

ชาวสะมาเรียเป็นแบบอย่างของความรักที่บริสุทธิ์แบบชาวคริสต์ เขามีความสงสาร เขาไปดูชายที่ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกโจรทำร้ายและพันแผลให้ เขาพาชายคนนั้นไปที่โรงแรม ดูแลเขา ชำระค่าใช้จ่ายให้ และให้เงินเพิ่มถ้าต้องใช้ดูแลเขา นี่เป็นเรื่องราวความรักของเพื่อนบ้านคนหนึ่งต่อเพื่อนบ้านของเขา

ภาษิตเก่าแก่กล่าวว่า “คนที่หมกมุ่นกับตัวเองมีค่าน้อยมาก” ความรักมีวิธีบางอย่างที่ทำให้ค่าของคนเพิ่มขึ้น กุญแจคือรักเพื่อนบ้านของเรา รวมทั้งเพื่อนบ้านที่รักได้ยาก เราต้องจำไว้ว่าแม้เราจะเลือกเพื่อนได้ แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกคนที่จะเป็นเพื่อนบ้านของเรา—พวกเขาอยู่ทุกที่ ความรักไม่ควรมีพรมแดน เราไม่ควรมีความจงรักภักดีที่จำกัด พระคริสต์ตรัสว่า “เพราะว่าถ้าพวกท่านรักคนที่รักท่าน พวกท่านจะได้บำเหน็จอะไร? พวกคนเก็บภาษีก็ทำอย่างนั้นไม่ใช่หรือ?” (มัทธิว 5:46)8

ภาพ
คนงานฉาบปูนให้เรียบ

พระเจ้า “จะทรงวัดระดับการอุทิศตนของเราต่อพระองค์โดยดูว่าเรารักและรับใช้เพื่อนมนุษย์ของเราอย่างไร”

3

เราควรรักและรับใช้ผู้อื่นขณะพวกเขามีความทุกข์

โจเซฟ สมิธเขียนจดหมายถึงวิสุทธิชนซึ่งจัดพิมพ์ไว้ใน Messenger and Advocate เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าการรักกันจะได้รับการตัดสินว่าถูกต้องต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ท่านเขียนว่า

“พี่น้องที่รักทั้งหลาย—หน้าที่หนึ่งซึ่งวิสุทธิชนพึงปฏิบัติต่อพี่น้องของเขาโดยเสรี—คือรักคนเหล่านั้นเสมอ และช่วยเหลือพวกเขาตลอดไป เพื่อจะได้รับการตัดสินว่าถูกต้องต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเราต้องรักกัน เราต้องเอาชนะความชั่ว เราต้องไปเยี่ยมเยียนเด็กกำพร้าบิดาและหญิงม่ายขณะที่พวกเขาตกอยู่ในความทุกข์ และเราต้องรักษาตัวให้พ้นจากราคีของโลก เพราะคุณธรรมเช่นนั้นหลั่งไหลมาจากแหล่งใหญ่ของศาสนาที่บริสุทธิ์ การเสริมสร้างศรัทธาของเราโดยเพิ่มคุณสมบัติอันดีทุกอย่างที่ทำให้ลูกของพระเยซูผู้ทรงสูงส่งมีคุณค่าจะทำให้เราสามารถสวดอ้อนวอนในช่วงเวลาของการสวดอ้อนวอน ทำให้เราสามารถรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง และซื่อสัตย์ในยามยากลำบากโดยรู้ว่ารางวัลของการทำเช่นนั้นใหญ่หลวงกว่าในอาณาจักรแห่งสวรรค์ ช่างเป็นความอุ่นใจกระไรเช่นนี้! ช่างเป็นปีติกระไรเช่นนี้! ขอให้ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตอย่างคนชอบธรรม และขอให้รางวัลของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้!” (History of the Church, 2:229)

เราต้องมีคุณธรรมสองอย่างนี้ คือความรักและการรับใช้ ถ้าเราต้องการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและพบสันติสุขในชีวิตเรา คุณธรรมดังกล่าวอยู่ในใจของเอ็ลเดอร์วิลลาร์ด ริ-ชาร์ดส์อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะอยู่ในคุกคาร์เทจตอนบ่ายวันมรณสักขีของโจเซฟและไฮรัม ผู้คุมบอกว่าพวกท่านอยู่ในห้องขังจะปลอดภัยกว่า โจเซฟหันไปถามเอ็ลเดอร์ริ-ชาร์ดส์ว่า “ถ้าเราไปอยู่ในห้องขังคุณจะไปกับเราไหม”

คำตอบของเอ็ลเดอร์ริชาร์ดส์เป็นคำตอบของความรัก “บราเดอร์โจเซฟ คุณไม่ได้ขอให้ผมข้ามน้ำมากับคุณ—คุณไม่ได้ขอให้ผมมาคาร์เทจกับคุณ—คุณไม่ได้ขอให้ผมมาอยู่ในคุกกับคุณ—และคุณคิดว่าผมจะทิ้งคุณตอนนี้หรือ แต่ผมจะบอกคุณว่าผมจะทำอะไร ถ้าพวกเขาตัดสินให้คุณถูกแขวนคอข้อหา ‘กบฏ’ ผมยอมถูกแขวนคอแทนคุณ เพื่อให้คุณเป็นอิสระ”

โจเซฟตอบด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ตื้นตันใจมากว่า “แต่คุณจะทำอย่างนั้นไม่ได้”

เอ็ลเดอร์ริชาร์ดส์ตอบหนักแน่นว่า “ผมจะทำ” (ดู บี. เอช. โรเบิร์ตส์, A Comprehensive History of the Church, 2:283)

บางทีการทดสอบของเอ็ลเดอร์ริชาร์ดส์อาจใหญ่หลวงกว่าพวกเราส่วนใหญ่จะเผชิญ เป็นการทดสอบด้วยไฟไม่ใช่ด้วยหินทดสอบ แต่ถ้าขอให้เราทำเช่นนั้น เราจะยอมสละชีวิตเพื่อครอบครัวเรา มิตรสหาย และเพื่อนบ้านของเราไหม

มาตรฐานทดสอบความสงสารคือระดับการเป็นสานุศิษย์ของเรา คือระดับความรักของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อกัน เราจะทิ้งรอยขีดของทองคำบริสุทธิ์ไว้หรือเดินไปอีกฟากหนึ่งเหมือนปุโรหิตและคนเลวี9

4

เราต้องเดินตามเส้นทางแห่งจิตกุศลที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นด้วยความเด็ดเดี่ยวมากขึ้น

ในข่าวสารสำคัญถึงวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในนอวูเพียงหนึ่งปีก่อนมรณสักขีอันน่าโศกสลดที่เกิดขึ้นก่อนเวลาอันควร ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า

“ถ้าเราประสงค์จะมีและปลูกฝังความรักต่อผู้อื่น เราต้องรักผู้อื่น แม้กระทั่งศัตรูเช่นเดียวกับมิตรสหายของเรา … คริสต์ศาสนิกชนควรเลิกทะเลาะและขัดแย้งกัน แต่ควรปลูกฝังหลักธรรมแห่งเอกภาพและมิตรภาพท่ามกลางพวกเขา” (History of the Church, 5:498–99.)

นั่นเป็นคำแนะนำที่ล้ำเลิศในสมัยนี้ แม้เช่นเดียวกับใน [สมัยนั้น] โลกที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าใกล้บ้านหรือไกลบ้าน ต้องการพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระกิตติคุณจัดเตรียมหนทางเดียวให้โลกรู้จักสันติสุข เราต้องเมตตากันมากขึ้น อ่อนโยนมากขึ้น ให้อภัยมากขึ้น เราต้องโกรธช้าลงและพร้อมช่วยเหลือมากขึ้น เราต้องยื่นมือแห่งมิตรภาพและต้านมือแห่งการแก้แค้น สรุปคือ เราต้องรักกันด้วยความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ ด้วยจิตกุศลอันแท้จริงและความสงสาร และร่วมทุกข์หากจำเป็น เพราะนั่นคือวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรักเรา

ในพิธีนมัสการของเรา เรามักจะร้องเพลงสวดอันแสนไพเราะที่ซูซาน อีแวนส์ แม็ค-คลาวด์เขียนเนื้อร้อง ข้าพเจ้าขอให้ท่านนึกถึงเพลงนั้นบางท่อน

พระผู้ช่วยขอข้าเรียนรักพระองค์

เดินตามทางทรงสอนสั่ง

หยุดเพื่อช่วยเหลือยกคนหมดหวัง

เพื่อหากำลังเสริมเพิ่มขึ้น …

ข้าเป็นใครใยไปตัดสินพี่น้อง

เมื่อยังบกพร่องนานา

ในใจเงียบงันนั้นซ่อนโศกา

ซึ่งดวงตาค้นหาไม่พบ …

ข้าจะคอยอุ้มชูดูแลพี่น้อง

จะเรียนท่องการเยียวยา

ใจข้าจะอารีมีเมตตา

ต่อผู้อ่อนล้าผู้บาดเจ็บ

ข้าจะคอยอุ้มชูดูแลพี่น้อง

ข้าจะตามพระองค์(เพลง

สวด, 1985, บทเพลงที่ 106)

เราต้องเดินตามเส้นทางที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นด้วยความเด็ดเดี่ยวมากขึ้นและด้วยจิตกุศลมากขึ้น เราต้อง “หยุดเพื่อช่วยเหลือยกอีกคนหนึ่ง” และเราจะพบ “กำลังเสริมเพิ่มขึ้น” แน่นอน ถ้าเราจะทำมากขึ้นเพื่อเรียนรู้ “การเยียวยา” เราจะมีโอกาสนับไม่ถ้วนให้ใช้ ให้สัมผัส “ผู้อ่อนล้าผู้บาดเจ็บ” และแสดง “ใจอารี” ต่อทุกคน พระเจ้า ข้าจะตามพระองค์10

5

“จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์และจะไม่มีวันสูญสิ้น

“เราให้บัญญัติใหม่ไว้กับพวกท่าน” [พระเยซู] ตรัส “ให้รักซึ่งกันและกัน … ถ้าท่านรักกันและกัน ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:34-35) ความรักนี้ที่เราควรมีให้พี่น้องชายหญิงในครอบครัวมนุษย์ และที่พระคริสต์ทรงมีต่อพวกเราทุกคน เรียกว่าจิตกุศลหรือ “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (มัทธิว 7:47) นี่คือความรักที่ก่อให้เกิดความทุกขเวทนาและการเสียสละเนื่องด้วยการชดใช้ของพระคริสต์ นี่เป็นจุดสูงสุดที่จิตวิญญาณมนุษย์เอื้อมถึงและเป็นการแสดงความรู้สึกลึกซึ้งที่สุดของใจมนุษย์

… จิตกุศลครอบคลุมคุณธรรมอื่นทั้งหมดตามวิถีของพระผู้เป็นเจ้า จิตกุศลทำให้เห็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของแผนแห่งความรอด เมื่ออย่างอื่นทั้งหมดสิ้นสุด จิตกุศล—ความรักของพระคริสต์จะ ไม่ สิ้นสุด จิตกุศลเป็นคุณลักษณะยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาคุณลักษณะอันสูงส่งทั้งมวล

พระเยซูตรัสด้วยพระทัยกว้างขวางกับคนยากจน คนถูกเหยียบย่ำ หญิงม่าย เด็กเล็ก ชาวนาและชาวประมง คนเลี้ยงแกะและคนเลี้ยงแพะ คนแปลกหน้าและคนต่างชาติ คนร่ำรวย คนมีอำนาจทางการเมือง เช่นเดียวกับพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ที่ไม่เป็นมิตร พระองค์ทรงปฏิบัติต่อคนยากจน คนหิวโหย คนขาดแคลน และคนป่วย พระองค์ประทานพรคนง่อย คนตาบอด คนหูหนวก และคนอื่นๆ ที่ร่างกายพิการ พระองค์ทรงขับผีและวิญญาณร้ายที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจหรืออารมณ์ พระองค์ทรงทำให้ผู้ที่แบกรับบาปเป็นผู้บริสุทธิ์ พระองค์ทรงสอนบทเรียนเรื่องความรักและทรงแสดงให้เห็นการรับใช้ผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัวหลายต่อหลายครั้ง ทุกคนเป็นผู้รับความรักของพระองค์ ทุกคน “ได้รับอภิสิทธิ์คนหนึ่งเหมือนกับอีกคนหนึ่ง, และไม่มีใครถูกห้าม” (2 นีไฟ 26:28) นี่คือการแสดงออกและแบบอย่างทั้งหมดของจิตกุศลอันไร้ขอบเขตของพระองค์

โลกที่เราอาศัยอยู่จะได้ประโยชน์มากถ้าชายหญิงทุกแห่งหนจะแสดงความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ ซึ่งเมตตา อ่อนโยน และถ่อมตน จิตกุศลปราศจากความอิจฉาหรือความจองหอง จิตกุศลไม่เห็นแก่ตัวเพราะไม่แสวงหาสิ่งตอบแทน จิตกุศลไม่ยอมรับความชั่วหรือเจตนาร้าย ไม่ชื่นชมยินดีในความชั่วช้าสามานย์ ไม่มีที่ให้แก่อคติ ความเกลียดชัง หรือความรุนแรง จิตกุศลไม่ยอมเห็นด้วยกับการหัวเราะเยาะ ความหยาบคาย การกระทำทารุณกรรม หรือการเนรเทศ จิตกุศลกระตุ้นให้คนต่างกันอยู่ด้วยกันในความรักแบบชาวคริสต์โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ฐานะการเงิน การศึกษา หรือวัฒนธรรม

พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้เรารักกันเฉกเช่นพระองค์ทรงรักเรา ห่อหุ้มตัวเรา “ด้วยพันธะแห่งจิตกุศล” (คพ. 88:125) เฉกเช่นพระองค์ทรงห่อหุ้มพระองค์เอง พระองค์ทรงขอให้เราทำให้ความรู้สึกภายในใจเราบริสุทธิ์ เปลี่ยนแปลงใจเรา ทำให้การกระทำและลักษณะภายนอกของเราสอดคล้องกับสิ่งที่เราพูดว่าเราเชื่อและรู้สึกภายในใจ เราต้องเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระคริสต์11

6

การรักผู้อื่นเป็น “วิธีที่ประเสริฐยิ่งกว่า”

สมัยหนุ่ม บราเดอร์เวิร์น โครว์ลีย์กล่าวว่าเขาเรียนรู้บางอย่างจากบทเรียนอันสำคัญยิ่งที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟสอนวิสุทธิชนสมัยแรกในนอวูเมื่อท่านบอกให้พวกเขา “รักผู้อื่น แม้กระทั่งศัตรูเช่นเดียวกับมิตรสหายของเรา” นี่เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับเราแต่ละคน

หลังจากบิดาของเขาป่วย เวิร์น โครว์ลีย์ต้องรับผิดชอบดำเนินกิจการแยกส่วนรถที่ไม่ใช้แล้วของครอบครัว แม้ตอนนั้นเขาจะอายุเพียงสิบห้าปี บางครั้งลูกค้าบางคนเอาเปรียบเขา และชิ้นส่วนเครื่องจักรหายไปจากอู่ช่วงกลางคืน เวิร์นโกรธและสาบานว่าจะจับคนบางคนมาลงโทษเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง เขาจะต้องแก้แค้นให้ได้

หลังจากบิดาของเขาเริ่มฟื้นจากอาการป่วย เวิร์นเดินตรวจตราไปรอบๆ ก่อนจะปิดอู่ ตอนนั้นใกล้ค่ำแล้ว ตรงมุมที่อยู่ไกลๆ เขาเห็นใครบางคนกำลังแบกชิ้นส่วนเครื่องจักรขนาดใหญ่ตรงไปที่รั้วด้านหลัง เขาวิ่งเหมือนนักกีฬาเหรียญทองไปจับหนุ่มหัวขโมยคนนั้น ความคิดแรกของเขาคือระบายความไม่พอใจด้วยกำปั้นแล้วลากเด็กหนุ่มคนนั้นไปหน้าอู่และเรียกตำรวจ ใจเขาอัดแน่นด้วยความโกรธและความแค้น เขาจับหัวขโมยได้แล้ว และเขาตั้งใจจะลงโทษให้สาสม

คุณพ่อของเวิร์นเดินมาจากไหนไม่ทราบ วางมือที่อ่อนล้าไร้เรี่ยวแรงบนบ่าลูกชาย และพูดว่า “พ่อเห็นลูกอารมณ์ไม่ค่อยดีนะเวิร์น พ่อจะจัดการเรื่องนี้ได้ไหม” จากนั้นท่านก็เดินไปหาหัวขโมยคนนั้นและโอบไหล่เขา มองตาเขาครู่หนึ่ง และพูดว่า “หนุ่มน้อย บอกหน่อยซิว่าทำไมทำแบบนี้” ทำไมถึงพยายามขโมยระบบเกียร์รถยนต์” จากนั้นคุณโครว์ลีย์ก็เริ่มเดินไปที่ห้องทำงานพลางโอบเด็กหนุ่มคนนั้นไปด้วย เขาถามถึงปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ของเด็กหนุ่มขณะเดินไปด้วยกัน เมื่อมาถึงห้องทำงาน คุณพ่อพูดว่า “เอาละ ลุงคิดว่าคลัตช์พังและนั่นทำให้เกิดปัญหา”

ระหว่างนั้นเวิร์นพลุ่งพล่านด้วยความโกรธ “ใครสนคลัตช์ของเขา” เขาคิด “เรียกตำรวจเถอะ เรื่องจะได้จบๆ” แต่คุณพ่อยังพูดต่อ “เวิร์น เอาคลัตช์มาให้เขา เอาตลับลูกปืนคลัตช์มาให้ด้วย แล้วก็แผ่นอัดคลัตช์ นั่นคงจะแก้ไขเรื่องคลัตช์ได้” คุณพ่อยื่นชิ้นส่วนทั้งหมดให้ชายหนุ่มที่พยายามขโมยและพูดว่า “เอานี่ไป แล้วก็เอากระปุกเกียร์ไปตัวย เธอไม่ต้องขโมยหรอกพ่อหนุ่ม แค่ขอ ปัญหาทุกอย่างมีทางออก มีคนเต็มใจช่วย”

บราเดอร์เวิร์น โครว์ลีย์บอกว่าวันนั้นเองที่เขาเรียนรู้บทเรียนอมตะในเรื่องความรัก ชายหนุ่มคนนั้นกลับมาที่อู่บ่อยๆ เขาสมัครใจจ่ายค่าอะไหล่ทั้งหมดที่วิค โครว์ลีย์ให้เขาทีละเดือน รวมทั้งกระปุกเกียร์ด้วย ระหว่างการเยี่ยมเยียนเหล่านั้น เขาถามเวิร์นว่าทำไมพ่อของเขาเป็นอย่างนั้นและทำไมเขาทำอย่างนั้น เวิร์นบอกเขาบางอย่างเกี่ยวกับความเชื่อของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย คุณพ่อของเขารักพระเจ้าและรักคนอื่นๆ มาก ในที่สุดคนที่เกือบเป็นขโมยก็รับบัพติศมา เวิร์นกล่าวในเวลาต่อมาว่า “ตอนนี้ผมไม่สามารถอธิบายความรู้สึกที่มีและสิ่งที่ผมได้รับในประสบการณ์นั้น ผมอายุน้อยด้วย ผมจับขโมยได้ ผมจะลงโทษเขาให้ถึงที่สุด แต่คุณพ่อสอนวิธีที่ต่างออกไป”

วิธีที่ต่างออกไปหรือ วิธีที่ดีกว่าหรือ วิธีที่สูงส่งกว่าหรือ วิธีที่ประเสริฐยิ่งกว่าหรือ โอ้ โลกจะได้ประโยชน์เพียงใดจากบทเรียนอันล้ำค่าเช่นนั้น ดังที่โมโรไนประกาศว่า

“ดังนั้น, ผู้ใดที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าจะหวังได้อย่างแน่แท้เพื่อโลกที่ดีกว่านี้ …

“ในของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมทางที่ประเสริฐยิ่งกว่า” (อีเธอร์ 12:4, 11)12

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ประธานฮันเตอร์หมายความว่าอย่างไรเมื่อท่านเรียกพระบัญญัติข้อใหญ่สองข้อว่าเป็น “หินทดสอบของพระเจ้า” (ดู หัวข้อ 1) ใคร่ครวญว่าท่านจะตอบคำถามที่ประธานฮันเตอร์ถามเมื่อจบหัวข้อ 1 อย่างไร

  • ทบทวนเรื่องราวของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ดู หัวข้อ 2) เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากคำสอนเหล่านี้เกี่ยวกับการรักเพื่อนบ้าน เราจะเพิ่มพูนความรักของเราต่อคนที่อาจจะ “รักได้ยาก” ได้อย่างไร

  • ในหัวข้อ 3 ประธานฮันเตอร์สอนว่าเราควรรักและรับใช้ผู้อื่นในเวลาที่พวกเขามีทุกข์ ท่านได้รับพรอย่างไรจากคนที่รักและรับใช้ท่านในยามต้องการ

  • ไตร่ตรองคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับการทำตามแบบอย่างจิตกุศลของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู หัวข้อ 4) เราจะรักผู้อื่นมากขึ้นได้อย่างไร มีวิธีใดบ้างที่เราจะแสดงความรักของเราได้มากขึ้น

  • ในหัวข้อ 5 ประธานฮันเตอร์ทบทวนบางวิธีที่พระคริสต์ทรงแสดงความรัก ท่านรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตท่านเมื่อใด ท่านได้รับพรอะไรบ้างเมื่อท่าน “แสดงความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์”

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องของเวิร์น โครว์ลีย์ที่ประธานฮันเตอร์เล่า (ดู หัวข้อ 6) เราจะแทนที่ “ความโกรธและความแค้น” ด้วยจิตกุศลได้อย่างไร ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านเรียนรู้ว่าจิตกุศลเป็น “ทางที่ประเสริฐยิ่งกว่า”

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

มัทธิว 25:31–46; 1 โครินธ์ 13; เอเฟซัส 4:29–32; 1 ยอห์น 4:20; โมไซยาห์ 4:13–27; แอลมา 34:28–29; อีเธอร์ 12:33–34; โมโรไน 7:45–48; คพ. 121:45–46

ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

“การทำตามสิ่งที่ท่านเรียนรู้จะทำให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สุด (ดู ยอห์น 7:17)” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา [2004], 19) ท่านอาจถามตัวท่านเองว่าจะประยุกต์ใช้คำสอนที่บ้าน ที่ทำงาน และในความรับผิดชอบของท่านในศาสนจักรได้อย่างไร

อ้างอิง

  1. “The Gifts of Christmas,” Ensign, Dec. 2002, 18.

  2. จอห์น เอส. เวลช์, ใน เอลีนอร์ โนวส์, Howard W. Hunter (1994), 119.

  3. เบทที ซี. แม็คอีแวน, “My Most Influential Teacher,” Church News, June 21, 1980, 2.

  4. แคโรลีน เซสชันส์ อัลเลน, ใน “Loved by All Who Knew Him: Stories from Members,” Ensign, Apr. 1995, 20.

  5. ใน โธมัส เอส. มอนสัน, “President Howard W. Hunter: A Man for All Seasons,” 33.

  6. ใน โนวส์, Howard W. Hunter, 185.

  7. “The Lord’s Touchstone,” Ensign, Nov. 1986, 34.

  8. “The Lord’s Touchstone,” 34–35.

  9. “The Lord’s Touchstone,” 35.

  10. “A More Excellent Way,” Ensign, May 1992, 61.

  11. “A More Excellent Way,” 61–62.

  12. “A More Excellent Way,” 62.