คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 2: ‘เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน’


บทที่ 2

“เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน”

“สันติสุขจะเกิดกับแต่ละคนได้โดยการยอมจำนนแบบไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น—ยอมจำนนต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าชายแห่งสันติ ผู้ทรงมีเดชานุภาพในการมอบสันติสุข”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

สหายคนหนึ่งของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ในโควรัมอัครสาวกสิบสองเรียกท่านว่า บุรุษผู้มี “ความอดทนอันเป็นเลิศซึ่งเกิดจากสันติสุขใหญ่หลวงในใจ”1 ประธานฮันเตอร์พูดบ่อยครั้งเกี่ยวกันสันติสุขในใจ โดยสอนว่าบุคคลจะได้รับสันติสุขดังกล่าวก็โดยหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น—โดยวางใจพระองค์ ใช้ศรัทธา และพยายามทำตามพระประสงค์ของพระองค์ สันติสุขเช่นนั้นช่วยประคับประคองท่านตลอดช่วงเวลายุ่งยากหลายครั้ง

ปลายปี ค.ศ. 1975 แพทย์แนะนำให้แคลร์ภรรยาของประธานฮันเตอร์รับการผ่าตัดสมอง ประธานฮันเตอร์กลุ้มใจมากไม่ทราบว่าการผ่าตัดจะเกิดผลดีที่สุดต่อแคลร์หรือไม่ เพราะการผ่าตัดจะทำให้ร่างกายที่อ่อนแอของเธอบอบช้ำเกินไปและอาจไม่ทำให้อาการของเธอดีขึ้น ท่านไปพระวิหาร หารือกับสมาชิกครอบครัว และไม่นานก็รู้สึกว่าการผ่าตัดให้ความหวังมากที่สุดว่าจะทำให้อาการของแคลร์ดีขึ้นบ้าง ท่านเขียนบรรยายความรู้สึกในวันผ่าตัดว่า

“ข้าพเจ้าไปกับเธอจนถึงประตูห้องผ่าตัด จูบเธอ และมีคนพาเธอเข้าไปในห้อง ขณะเวลาผ่านไป ข้าพเจ้ารอและสงสัย … จู่ๆ ความวิตกกังวลก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกสงบ ข้าพเจ้ารู้ว่าได้ตัดสินใจถูกต้องแล้วและคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าได้รับคำตอบ”2

คริสต์ศักราช 1989 ประธานฮันเตอร์มีอีกประสบการณ์หนึ่งซึ่งระหว่างนั้นท่านรู้สึกสงบในเวลาที่วุ่นวาย ท่านอยู่ในเยรูซาเล็มเพื่ออุทิศศูนย์เยรูซาเล็มมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์เพื่อการศึกษาเรื่องตะวันออกใกล้ หลายกลุ่มคัดค้านที่ศาสนจักรอยู่ในเยรูซาเล็มและบางกลุ่มขู่จะใช้ความรุนแรง ผู้พูดคนหนึ่งที่การอุทิศคือเอ็ลเดอร์บอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านเล่าเหตุการณ์นี้ในเวลาต่อมาว่า

“ขณะข้าพเจ้ากำลังพูด เกิดความวุ่นวายพอสมควรด้านหลังห้องประชุม ผู้ชายในเครื่องแบบทหารเข้ามาในห้อง พวกเขาส่งข้อความให้ประธานฮันเตอร์ ข้าพเจ้าเหลียวไปขอคำแนะนำ ท่านบอกว่า ‘มีคนขู่จะวางระเบิด คุณกลัวไหม’ ข้าพเจ้าตอบว่า ‘ไม่ครับ’ ท่านพูดว่า ‘ผมก็ไม่กลัว คุณพูดต่อให้จบ’”3 พิธีอุทิศดำเนินต่อไปโดยไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ไม่มีระเบิด

ในสถานการณ์เช่นนี้ ประธานฮันเตอร์วางใจคำสัญญาในเรื่องสันติสุขนี้จากพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งท่านอ้างอิงบ่อยครั้ง “เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่านนั้น เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้ อย่าให้ใจของท่านเป็นทุกข์ อย่ากลัวเลย” (ยอห์น 14:27)

ภาพ
พระคริสต์ทรงอยู่กับเปโตรในน้ำ

เราต้อง “จับสายตาแน่วแน่ที่พระเยซู” และอย่า “ละสายตาจากพระองค์ผู้ที่เราต้องเชื่อ”

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งสันติสุขที่แท้จริงของเรา

ในการทำนายการประสูติของพระคริสต์เมื่อ 700 กว่าปีก่อนเกิดเหตุการณ์นั้น ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ใช้พระนามแสดงความชื่นชมอย่างยิ่ง … หนึ่งในพระนามเหล่านี้ที่น่าสนใจเป็นพิเศษในโลกปัจจุบันคือ “องค์สันติราช” (อิสยาห์ 9:6) “การเพิ่มพูนขึ้นของการปกครองและสันติภาพของท่านจะไม่มีที่สิ้นสุด” อิสยาห์ประกาศ (ข้อ 7) ช่างเป็นความหวังที่น่าตื่นเต้นเสียนี่กระไรสำหรับโลกที่เหนื่อยล้าเพราะสงครามและเต็มไปด้วยบาป!4

สันติสุขที่โลกโหยหาคือเวลาที่ความเป็นปฏิปักษ์หยุดชั่วคราว แต่มนุษย์ไม่ตระหนักว่าสันติสุขคือสภาพของการดำรงอยู่ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดเท่านั้น และไม่ใช่วิธีอื่น

ในคำสดุดีในหนังสือของอิสยาห์กล่าวดังนี้: “พระองค์จะทรงพิทักษ์ผู้มีใจแน่วแน่ไว้ในสวัสดิภาพที่สมบูรณ์ เพราะเขาวางใจในพระองค์” (อิสยาห์ 26:3) สวัสดิภาพที่สมบูรณ์ที่อิสยาห์กล่าวถึงเกิดขึ้นได้โดยผ่านความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น โลกที่ไม่เชื่อไม่เข้าใจสิ่งนี้

ครั้งสุดท้ายที่พระเยซูเสวยพระกระยาหารกับอัครสาวกสิบสอง พระองค์ทรงล้างเท้าของพวกเขา ทรงหักขนมปังให้พวกเขา และส่งถ้วยให้พวกเขา หลังจากยูดาสไปจากท่ามกลางพวกเขาแล้ว พระอาจารย์จึงตรัสกับพวกเขาในที่สุด นอกจากเรื่องอื่นแล้วพระองค์รับสั่งกับพวกเขาเรื่องการสิ้นพระชนม์ที่จะเกิดขึ้นและมรดกที่ทรงทิ้งไว้ให้พวกเขาแต่ละคนด้วย พระองค์ไม่ได้ทรงสะสมสิ่งของ ที่ดิน หรือทรัพย์สมบัติ บันทึกบอกเราว่าพระองค์ไม่ได้ทรงครอบครองสิ่งใดนอกจากฉลองพระองค์ที่ทรงสวมใส่ และในวันรุ่งขึ้นหลังจากการตรึงกางเขนเหล่าทหารจะแบ่งฉลองพระองค์กัน โดยดูว่าใครจะจับฉลากได้เสื้อคลุมของพระองค์ พระองค์ทรงมอบมรดกให้เหล่าสานุศิษย์ ในพระดำรัสที่เรียบง่ายทว่าลึกซึ้งนี้ “เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่านนั้น เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้ อย่าให้ใจของท่านเป็นทุกข์ อย่ากลัวเลย” (ยอห์น 14:27)

พระองค์ทรงใช้คำทักทายและคำกล่าวลาแบบชาวยิวคือ “สันติสุขของเราให้กับท่าน” พวกเขาไม่ได้รับคำทักทายและมรดกดังกล่าวตามปกติธรรมดา เพราะพระองค์ตรัสว่า “… เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้” นี่ไม่ใช่คำอวยพรที่ไร้ผล และไม่ใช่แค่สุนทรพจน์ที่สุภาพเหมือนคนของโลกใช้พูดตามธรรมเนียมเท่านั้น แต่เป็นพระดำรัสที่พระผู้ทรงลิขิตและเจ้าชายแห่งสันติตรัส พระองค์ประทานสันติสุขนี้แก่พวกเขา พระองค์ทรงมอบสันติสุขให้พวกเขาและตรัสว่า “อย่าให้ใจของท่านเป็นทุกข์ อย่ากลัวเลย” ภายในไม่กี่ชั่วโมงพวกเขาจะต้องเป็นทุกข์ แต่ด้วยสันติสุขของพระองค์ พวกเขาจะเอาชนะความกลัวและยืนหยัด

พระดำรัสสุดท้ายต่อพวกเขาก่อนการสวดอ้อนวอนปิดในค่ำคืนที่น่าจดจำนั้นมีดังนี้ “… “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก แต่จงมีใจกล้าเถิดเพราะว่าเราชนะโลกแล้ว” (ยอห์น 16:33)5

2

เราปลูกฝังสันติสุขเมื่อเราดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของพระกิตติคุณ

มีพระหัตถ์นำทางเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในจักรวาล มีแสงสว่างที่เชื่อถือได้จริงๆ เพียงหนึ่งเดียว มีไฟสัญญาณเพียงหนึ่งเดียวที่เตือนโลกโดยไม่เคยพลาด แสงสว่างนั้นคือพระเยซูคริสต์ แสงสว่างและชีวิตของโลก แสงสว่างซึ่งศาสดาพยากรณ์ท่านหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอนบรรยายว่าเป็น “แสงสว่างอันหาได้สิ้นสุดไม่, ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มืดได้เลย” (โมไซยาห์ 16:9)

ขณะที่เรามองหาชายฝั่งของความปลอดภัยและสันติสุข ไม่ว่าเราจะเป็นชายและหญิง ครอบครัว ชุมชน หรือประเทศชาติ พระคริสต์ทรงเป็นประภาคารเดียวที่เราสามารถพึ่งพาได้ในที่สุด พระองค์คือผู้ตรัสถึงพระพันธกิจของพระองค์ว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” (ยอห์น 14:6) …

ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณาคำสั่งสอนนี้จากพระคริสต์ถึงเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน อวยพรคนที่สาปแช่งท่าน ทำดีต่อคนที่เกลียดชังท่าน และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ใช้ท่านอย่างดูหมิ่น และข่มเหงพวกท่าน” (เปรียบเทียบกับมัทธิว 5:44)

ลองคิดดูว่าคำเตือนข้อนี้ข้อเดียวจะมีผลอะไรต่อละแวกบ้านของท่านและของข้าพเจ้า ในชุมชนที่ท่านและลูกๆ ของท่านอาศัยอยู่ ในประเทศซึ่งประกอบเป็นครอบครัวใหญ่ระดับโลกของเรา ข้าพเจ้าทราบดีว่าหลักคำสอนดังกล่าวก่อให้เกิดความท้าทายที่มีความหมาย แต่เป็นความท้าทายที่น่าพอใจมากกว่าจะเป็นภารกิจน่ากลัวที่เราต้องจัดการแก้ไขอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงคราม ความยากไร้ และความเจ็บปวดที่ชาวโลกยังคงเผชิญ6

เมื่อเราพยายามช่วยคนที่ทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ เมื่อเราสวดอ้อนวอนให้คนที่ใช้เราอย่างไม่เป็นธรรม ชีวิตเราจะดีงาม เรามีสันติสุขได้เมื่อเราเข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระวิญญาณและต่อกันขณะที่เรารับใช้พระเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์7

โลกที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าใกล้บ้านหรือไกลบ้าน ต้องการพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ สิ่งนี้จะเตรียมหนทางเดียวให้โลกได้รู้จักสันติสุขตลอดไป …เราต้องการโลกที่มีสันติสุขมากขึ้น อันเกิดจากครอบครัว ละแวกบ้าน และชุมชนที่มีสันติสุขมากขึ้น เพื่อให้ได้มาและปลูกฝังสันติสุขเช่นนั้น “เราต้องรักผู้อื่น แม้กระทั่งศัตรูของเราเช่นเดียวกับเพื่อนๆ ของเรา” [คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 424] … เราต้องยื่นมือแห่งมิตรภาพ เราต้องมีเมตตามากขึ้น อ่อนโยนมากขึ้น ให้อภัยมากขึ้น และโกรธช้าลง8

วิธีปฏิบัติที่สำคัญของพระผู้เป็นเจ้าคือโดยการชักชวน ความอดทน และความอดกลั้น ไม่ใช่โดยการบีบบังคับและการปะทะกัน พระองค์ทรงกระทำโดยการชักชวนอย่างสุภาพและโดยการจูงใจอย่างอ่อนโยน9

ไม่มีสัญญาในเรื่องสันติสุขกับคนที่ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า กับคนที่จะไม่รักษาพระบัญญัติของพระองค์ หรือกับคนที่ฝ่าฝืนกฎของพระองค์ ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์พูดถึงความเสื่อมและความทุจริตของผู้นำ จากนั้นจึงกล่าวเตือนต่อไปว่า “แต่คนอธรรมนั้นเหมือนทะเลที่กำเริบซึ่งนิ่งสงบอยู่ไม่ได้ และน้ำของมันก็กวนตมและเลนขึ้นมา ไม่มีสันติสุขแก่คนอธรรม พระเจ้าของข้าพเจ้าตรัส” (อิสยาห์ 57:20–21) …

… การเมินเฉยต่อพระผู้ช่วยให้รอดหรือการไม่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความวุ่นวายภายในใจ และความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้ตรงข้ามกับสันติสุข สันติสุขจะเกิดกับแต่ละคนได้โดยการยอมจำนนแบบไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น—ยอมจำนนต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นองค์สันติราช ผู้ทรงมีเดชานุภาพในการมอบสันติสุข10

ปัญหาต่างๆ ของโลกที่มักปรากฏในพาดหัวข่าวอันน่าตื่นตระหนกควรเตือนให้เราแสวงหาสันติสุขที่มาจากการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมอันเรียบง่ายแห่งพระกิตติคุณของพระคริสต์ คนกลุ่มน้อยที่ส่งเสียงเอะอะโวยวายจะไม่ก่อกวนสันติสุขของจิตวิญญาณเราถ้าเรารักเพื่อนมนุษย์และมีศรัทธาในการพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด และมีความเชื่อมั่นเงียบๆ ว่าพระองค์ประทานชีวิตอันเป็นนิจ เราพบศรัทธาเช่นนั้นได้ที่ไหนในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา พระเจ้าตรัสว่า ““จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน เพราะว่าทุกคนที่ขอก็ได้ ทุกคนที่แสวงหาก็พบ และทุกคนที่เคาะก็จะเปิดให้เขา” (ลูกา 11:9–10)11

ดูเหมือนว่าทุกคนต้องยอมรับความจริงนิรันดร์สองข้อต่อไปนี้ถ้าเราต้องการพบสันติสุขในโลกนี้และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง (1) พระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรนิรันดร์ที่แท้จริงของพระบิดาบนสวรรค์ของเราผู้เสด็จมาแผ่นดินโลกเพื่อจุดประสงค์แน่ชัดของการไถ่มนุษยชาติจากบาปและหลุมศพ พระองค์ทรงพระชนม์เพื่อนำเรากลับไปที่ประทับของพระบิดา (2) โจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงยกท่านขึ้นในยุคสุดท้ายนี้เพื่อฟื้นฟูความจริงซึ่งสูญหายไปกับมนุษยชาติเพราะการล่วงละเมิด ถ้ามนุษย์ทุกคนจะยอมรับและดำเนินชีวิตตามความจริงพื้นฐานสองประการนี้ สันติสุขจะเกิดขึ้นในโลกแน่นอน12

หากท่าน ตัวท่าน ต่อต้าน … การล่อลวงและตั้งใจว่าจะพยายามดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการเก็บเกี่ยวทุกวันผ่านความนึกคิดและการปฏิบัติที่สะอาดทางศีลธรรม ผ่านสัมพันธภาพที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ผ่านความสุจริตและความตั้งใจในการศึกษาของท่าน ผ่านการอดอาหาร การสวดอ้อนวอน และการนมัสการ ท่านจะเก็บเกี่ยวอิสรภาพ สันติสุขในใจ และความรุ่งเรือง13

ชีวิตที่เต็มไปด้วยการรับใช้โดยไม่คำนึงถึงตนเองจะเปี่ยมด้วยสันติสุขเกินความเข้าใจเช่นกัน … สันติสุขนี้จะเกิดขึ้นได้โดยผ่านการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของพระกิตติคุณเท่านั้น หลักธรรมเหล่านี้ประกอบเป็นโปรแกรมขององค์สันติราช14

คาดว่ามีคนมากมายในโลกเราทำลาย … สันติสุขของตนเองผ่านบาปและการล่อลวงนับพันอย่าง เราสวดอ้อนวอนขอให้วิสุทธิชนดำเนินชีวิตสอดคล้องกับแบบอย่างที่พระเยซูแห่งนาซาเร็ธทรงวางไว้ตรงหน้าเรา

เราสวดอ้อนวอนขอให้ความพยายามของซาตานล้มเหลว ขอให้ชีวิตส่วนตัวมีสันติสุขและสงบ ขอให้ครอบครัวสนิทสนมกันและคนในครอบครัวห่วงใยกัน ขอให้วอร์ดและสเตค สาขาและท้องถิ่นสามารถวางรูปแบบพระกายของพระคริสต์ โดยสนองความต้องการทุกอย่าง บรรเทาความเจ็บปวดทุกอย่าง รักษาบาดแผลทุกแผลจนคนทั้งโลกจะทำตามที่นีไฟร้องขอคือ “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง. …

“พี่น้องที่รักของข้าพเจ้า,” นีไฟกล่าวต่อ “นี่คือทางนั้น; และไม่มีทางอื่น” (2 นีไฟ 31:20–21)15

ภาพ
หญิงคนหนึ่งชโลมพระบาทของพระคริสต์

“ชีวิตที่เต็มไปด้วยการรับใช้โดยไม่คำนึงถึงตนเองจะเปี่ยมด้วยสันติสุขเกินความเข้าใจเช่นกัน”

3

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยให้เราพบสันติสุขได้แม้มีความวุ่นวายอยู่รอบข้างเรา

พระเยซูไม่ทรงได้รับยกเว้นจากความเศร้าโศก ความเจ็บปวด ความทุกข์ระทม และการโจมตี ไม่มีลิ้นใดสามารถสาธยายภาระหนักสุดพรรณนาที่พระองค์ทรงแบกรับ ทั้งเราไม่มีปัญญาจะเข้าใจคำที่ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์เรียกพระองค์ว่าเป็น “คนที่รับความเจ็บปวด” (อิสยาห์ 53:3) อย่างน้อยในสายตามนุษย์ พระชนม์ชีพส่วนใหญ่ของพระองค์ยากลำบากและพระองค์สิ้นพระชนม์ที่คัลวารี ขอเราอย่ามองชีวิตด้วยสายตามนุษย์ แต่มองด้วยวิสัยทัศน์ทางวิญญาณเพื่อเราจะรู้ว่ามีบางอย่างต่างออกไปโดยสิ้นเชิงกำลังเกิดขึ้นบนกางเขน

สันติสุขอยู่ที่ริมฝีพระโอษฐ์และในพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอดไม่ว่าพายุกำลังโหมกระหน่ำเพียงใด ขอให้สันติสุขอยู่กับเรา—ในใจเรา ในบ้านของเราเอง ในประชาชาติของโลกเรา และแม้ในการโจมตีที่ศาสนจักรเผชิญเป็นครั้งคราว เราไม่ควรคาดหวังว่าชีวิตของเราหรือของส่วนรวมจะผ่านพ้นไปได้โดยไม่มีการต่อต้านบางอย่าง16

คนๆ หนึ่งอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สวยงามและสงบสุข แต่เพราะความบาดหมางและความขัดแย้งภายใน เขาจึงอยู่ในสภาพของความวุ่นวายตลอดเวลา ในทางกลับกัน คนๆ หนึ่งอาจอยู่ท่ามกลางการทำลายล้างและการนองเลือดของสงครามแต่ยังมีความเยือกเย็นของสันติสุขที่ไม่อาจบรรยายเป็นคำพูดได้ ถ้าเราดูที่มนุษย์และวิถีของโลก เราจะพบความวุ่นวายและความสับสน ถ้าเราจะเพียงหันไปหาพระผู้เป็นเจ้า เราจะพบสันติสุขสำหรับจิตวิญญาณที่กระวนกระวาย พระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก” (ยอห์น 16:33) และในพระดำรัสที่ให้ไว้กับอัครสาวกสิบสองและมวลมนุษยชาติ พระองค์ตรัสว่า “เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่านนั้น เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้ …” (ยอห์น 14:27)

เราจะพบสันติสุขนี้ได้เดี๋ยวนี้ในโลกของความขัดแย้งถ้าเราจะเพียงยอมรับของประทานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระดำรัสเชิญเพิ่มเติมว่า “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก

จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก” (มัทธิว 11:28-29)

สันติสุขนี้ปกป้องเราจากความวุ่นวายทางโลก ความรู้ที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ เราเป็นบุตรธิดาของพระองค์ และพระองค์ทรงรักเราจะปลอบใจที่เป็นทุกข์ คำตอบของการแสวงหาสันติสุขอยู่ที่ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและในพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ สิ่งนี้จะนำสันติสุขมาให้เราเวลานี้และในนิรันดรต่อจากนี้17

ในโลกนี้ของความสับสนเร่งรีบและความเจริญก้าวหน้าทางโลก เราต้องหวนคืนสู่ความเรียบง่ายของพระคริสต์ … เราต้องศึกษาพื้นฐานอันเรียบง่ายของความจริงที่พระอาจารย์ทรงสอนและขจัดข้อโต้แย้ง ศรัทธาของเราในพระผู้เป็นเจ้าต้องเป็นจริงและไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิด พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์สามารถเป็นอิทธิพลขับเคลื่อนอันทรงพลัง และการยอมรับอย่างแท้จริงจะให้ประสบการณ์ทางศาสนาที่มีความหมายแก่เรา พลังยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของศาสนามอรมอนคือการแปลความเชื่อนี้ให้เป็นความนึกคิดและความประพฤติประจำวัน สิ่งนี้จะแทนที่ความวุ่นวายและความสับสนด้วยสันติสุขและความสงบสุข18

4

โดยให้สายตาเราแน่วแน่ที่พระเยซู เราจะมีชัยเหนือองค์ประกอบทั้งหลายที่จะทำลายสันติสุข

ข้าพเจ้าจะขอเล่าเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับชัยชนะของพระคริสต์เหนือสิ่งซึ่งดูเหมือนจะทดสอบเรา ทดลองเรา และนำความกลัวเข้ามาในใจเรา ขณะที่เหล่าสาวกของพระคริสต์เริ่มออกเดินทางข้ามทะเลกาลิลีที่มักจะข้ามเป็นประจำ คืนนั้นมืด สภาพอากาศรุนแรงและเป็นอุปสรรค คลื่นทะเลปั่นป่วน ลมแรง และบรรดาชายที่อ่อนแอตามประสามนุษย์เหล่านี้ตกใจกลัว น่าเสียดายที่ไม่มีใครอยู่กับพวกเขาเพื่อช่วยและทำให้พวกเขาสงบ เพราะพระเยซูเสด็จขึ้นฝั่งเพียงลำพังแล้ว

พระองค์ทรงเฝ้าดูพวกเขาเช่นเคย พระองค์ทรงรักพวกเขาและทรงห่วงใยพวกเขา ในชั่วชณะของความวิตกกังวลสุดขีด พวกเขามองเห็นร่างๆ หนึ่งในชุดเสื้อคลุมยาวพลิ้วไหวในความมืด กำลังเดินตรงมาที่พวกเขาบนสันคลื่น พวกเขาร้องออกมาด้วยความหวาดกลัวเมื่อมองเห็น พลางคิดว่านั่นคือภูตผีที่เดินบนคลื่น มีเสียงฝ่าพายุและความมืดมาถึงพวกเขา—ดังที่มาถึงเราบ่อยครั้งท่ามกลางความมืดมนของชีวิตเมื่อมหาสมุทรดูเหมือนกว้างใหญ่ไพศาลและเรือของเราลำเล็กมาก—เสียงแห่งสันติสุขที่ทำให้หายหวาดกลัวประกาศอย่างเรียบง่ายว่า “นี่เราเอง อย่ากลัวเลย” เปโตรร้องอุทานว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเป็นพระองค์แน่แล้ว ขอตรัสให้ข้าพระองค์เดินบนน้ำไปหาพระองค์” และพระดำรัสตอบของพระคริสต์เหมือนกับที่ตรัสตอบเราทุกคนคือ “มาเถิด”

เปโตรกระโดดข้ามกราบเรือลงไปในคลื่นที่ปั่นป่วน และขณะเขาจับสายตาแน่วแน่ที่พระเจ้า ลมอาจทำให้ผมของเขาปลิวและละอองน้ำทำให้เสื้อคลุมของเขาเปียก แต่ทุกอย่างดี เมื่อศรัทธาสั่นคลอนเขาจึงละสายตาจากพระอาจารย์มองดูคลื่นอันบ้าคลั่งและห้วงลึกสีดำใต้เท้าเขา ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มจม เช่นเดียวกับพวกเราส่วนใหญ่ เขาร้องอีกครั้งว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ช่วยข้าพระองค์ด้วย” พระเยซูไม่ทรงทำให้เขาผิดหวัง พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปจับสาวกที่กำลังจมน้ำพร้อมกับทรงตำหนิอย่างอ่อนโยนว่า “ช่างมีความเชื่อน้อย ท่านสงสัยทำไม?”

หลังจากขึ้นเรือเล็กของพวกเขาอย่างปลอดภัยแล้ว พวกเขาเห็นลมสงบและระลอกคลื่นที่ถาโถมกลายเป็นคลื่นลูกเล็ก ไม่นานพวกเขาก็อยู่ที่ท่า ท่าเรือที่ปลอดภัยซึ่งทุกคนหวังจะอยู่ที่นั่นสักวัน ลูกเรือและเหล่าสาวกของพระองค์เต็มไปด้วยความพิศวงอย่างยิ่ง บางคนเรียกพระองค์ด้วยพระนามที่ข้าพเจ้าประกาศวันนี้ว่า “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงแล้ว” (ดัดแปลงจาก ฟาร์ราร์, The Life of Christ, pp. 310–13; ดู มัทธิว 14:22–33)

ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าถ้าเราแต่ละคน ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติจะจับตาแน่วแน่ที่พระเยซูเช่นเดียวกับเปโตร เราจะเดินอย่างมีชัยข้าม “คลื่นที่โหมซัดสาดของความไม่เชื่อ” และยังอยู่ “ท่ามกลางลมกรรโชกของความสงสัยโดยไม่หวาดกลัว” แต่ถ้าเราละสายตาจากพระองค์ผู้ที่เราต้องเชื่อ เราทำเช่นนั้นง่ายมากและโลกถูกล่อลวงมากให้ทำเช่นนั้น ถ้าเราดูที่พลังและความรุนแรงของสภาพอากาศที่น่ากลัวและเป็นอันตรายรอบตัวเราแทนที่จะดูพระองค์ผู้ทรงสามารถช่วยเหลือและช่วยเราให้รอดได้ เมื่อนั้นเราจะจมลงในทะเลแห่งความขัดแย้ง โทมนัส และความผิดหวังอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ในเวลาเช่นนั้นเมื่อเรารู้สึกว่าน้ำกำลังไหลบ่ามาท่วมเราและความลึกกำลังกลืนเรือโคลงเคลงแห่งศรัทธาของเรา ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราได้ยินพระดำรัสที่อ่อนหวานของพระผู้ช่วยให้รอดของโลกท่ามกลางพายุและความมืดเสมอว่า “ทำใจดีดีเถิด นี่เราเอง อย่ากลัวเลย” (มัทธิว 14:27)19

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ประธานฮันเตอร์สอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งสันติสุขที่แท้จริง (ดู หัวข้อ 1) ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านรู้ความจริงนี้ เราจะรับสันติสุขที่พระเยซูทรงมอบให้ได้อย่างไร

  • การรักผู้อื่นทำให้เรามีสันติสุขอย่างไร (ดู หัวข้อ 2) การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณช่วยให้เรามีสันติสุขอย่างไร เหตุใด “การยอมจำนนแบบไม่มีเงื่อนไข” ต่อพระผู้ช่วยให้รอดจึงจำเป็นต่อการมีสันติสุข

  • ทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 3 ท่านเคยประสบสัมฤทธิผลแห่งคำสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่าเราจะ “ให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก” จากภาระเมื่อท่านมาหาพระองค์อย่างไร

  • ใคร่ครวญเรื่องเปโตรเดินบนน้ำของประธานฮันเตอร์ (ดู หัวข้อ 4) ท่านเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องนี้เกี่ยวกับวิธีพบสันติสุขในยามทุกข์ใจ พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่าน “ทำใจดีดี” และ “อย่ากลัว” ในยามยากลำบากอย่างไร

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

สดุดี 46:10; 85:8; อิสยาห์ 32:17; มาระโก 4:36–40; โรม 8:6; กาลาเทีย 5:22–23; ฟีลิปปี 4:9; โมไซยาห์ 4:3; คพ. 19:23; 59:23; 88:125

ความช่วยเหลือด้านการสอน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเลือกหนึ่งหัวข้อในบทที่พวกเขาต้องการสนทนาและรวมกลุ่มกับคนอื่นๆ ที่เลือกหัวข้อเดียวกัน กระตุ้นแต่ละกลุ่มให้สนทนาคำถามที่เกี่ยวข้องท้ายบท

อ้างอิง

  1. ดู เอลีนอร์ โนวส์ , Howard W. Hunter (1994), 185.

  2. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter 266.

  3. บอยด์ เค. แพคเกอร์, “President Howard W. Hunter—He Endured to the End,” Ensign, Apr. 1995, 29.

  4. “The Gifts of Christmas,” Ensign, Dec. 2002, 16.

  5. ใน Conference Report, Oct. 1966, 15-16.

  6. “The Beacon in the Harbor of Peace,” Ensign, Nov. 1992, 18.

  7. The Teachings of Howard W. Hunter, ed. Clyde J. Williams (1997), 40.

  8. “A More Excellent Way,” Ensign, May 1992, 61, 63.

  9. “The Golden Thread of Choice,” Ensign, Nov. 1989, 18.

  10. ใน Conference Report, Oct. 1966, 16.

  11. ใน Conference Report, Oct. 1969, 113.

  12. The Teachings of Howard W. Hunter, 172–73.

  13. The Teachings of Howard W. Hunter, 73-74.

  14. “The Gifts of Christmas,” 19.

  15. ใน Conference Report, Apr. 1976, 157.

  16. “Master, the Tempest Is Raging,” Ensign, Nov. 1984, 35.

  17. ใน Conference Report, Oct. 1966, 16-17.

  18. ใน Conference Report, Oct. 1970, 131-32.

  19. “The Beacon in the Harbor of Peace,” 19.