คลังค้นคว้า
บทที่ 19: หลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัว


บทที่ 19

หลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัว

คำนำ

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เน้นหลักคำสอนที่ว่าการแต่งงานและครอบครัวได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าคู่แต่งงานจะยังคงเป็นสามีภรรยากันได้หลังจากการฟื้นคืนชีวิต การเปิดเผยจากพระเจ้าอธิบายว่า “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน” (คพ. 131:2) จำเป็นต่อการได้รับความสูงส่ง บทนี้จะทำให้นักเรียนเข้าใจชัดเจนว่าเพื่อให้การแต่งงานดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ คู่สามีภรรยาต้องรับการผนึกโดยผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตและดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมหลังจากนั้น

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การแต่งงานอาณาจักรชั้นสูง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 114–117

  • เดวิด เอ. เบดนาร์, “การแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นในแผนนิรันดร์ของพระองค์,”เลียโฮนา, มิ.ย. 2006, 50–55

  • โจชัว เจ. เพอร์คีย์, Why Temple Marriage? New Era, Aug. 2013, 30–32.

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:15–17; 131:1–4

“พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน”

หมายเหตุ: ขณะที่ท่านสอนบทนี้ พึงตระหนักว่าท่านอาจมีนักเรียนที่ชีวิตครอบครัวมีปัญหาหรือประสบความปวดร้าวใจหรือความเจ็บปวดเกี่ยวกับการแต่งงานและการมีบุตร พิจารณาความต้องการของนักเรียนเหล่านี้ขณะที่ท่านเตรียมและสอนบทเรียน

บอกนักเรียนว่าปี 1831 ในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ ลีมัน คอพลีย์เข้าร่วมศาสนจักร เขาเป็นสมาชิกของสมาคมสมานฉันท์แห่งผู้เชื่อในการปรากฏครั้งที่สองของพระคริสต์ เรียกกันทั่วไปว่านิกายเชเคอร์สเนื่องจากรูปแบบการนมัสการของพวกเขา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการโยกตัวขณะร้องเพลง เต้นรำ และปรบมือตามจังหวะเพลง ถึงแม้ลีมัน คอพลีย์เชื่อพระกิตติคุณ แต่เขายังคงเชื่อในคำสอนบางอย่างของเชเคอร์สเช่นกัน เขามาเยี่ยมโจเซฟ สมิธ และด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงประทานการเปิดเผยต่อโจเซฟที่รู้กันเวลานี้คือ หลักคำสอนและพันธสัญญา 49 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1831 (หัวบทของภาคในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาฉบับก่อนๆ ลงวันเดือนปีดังกล่าวเป็นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1831) นักประวัติศาสตร์ยืนยันเมื่อเร็วๆ นี้ว่าวันเดือนปีที่ถูกต้องกว่าคือ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1831)

นิกายเชเคอร์สปฏิเสธการแต่งงานและเชื่อในการดำเนินชีวิตที่ประพฤติพรหมจรรย์ (ละเว้นความสัมพันธ์ทางเพศ) พระเจ้าทรงแก้ไขหลักคำสอนเท็จดังกล่าวในการเปิดเผยและทรงบัญชาลีมัน คอพลีย์กับคนอื่นๆ ให้สั่งสอนพระกิตติคุณแก่พวกเชเคอร์สด้วย

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:15–17 โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับความสำคัญของการแต่งงานและครอบครัว ถามว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงสอนอะไรเกี่ยวกับการแต่งงาน (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับการแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า)

  • ท่านคิดว่าการแต่งงานได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า “เพื่อแผ่นดินโลกจะสามารถสนองตอบเจตนารมณ์ของการสร้าง” หมายความว่าอย่างไร (คำตอบของนักเรียนอาจรวมถึงความจริงต่อไปนี้ สามีภรรยาได้รับบัญชาให้มีบุตร แผ่นดินโลกสร้างไว้เพื่อเตรียมที่ให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าได้อาศัยอยู่เป็นครอบครัว

  • การเข้าใจความจริงที่สอนในข้อเหล่านี้จะช่วยเราอธิบายคำสอนของศาสนจักรเกี่ยวกับการแต่งงานได้อย่างไร

อธิบายว่าหลายปีต่อมา ความเข้าใจของวิสุทธิชนเกี่ยวกับความสำคัญของหลักสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก วันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1843 โจเซฟ สมิธเดินทางไปเมืองเรมัส รัฐอิลลินอยส์ ขณะพักอยู่ที่บ้านของเบ็นจามินกับเมลิสซา จอห์นสัน ท่านศาสดาพยากรณ์สอนพวกเขาเกี่ยวกับการแต่งงานนิรันดร์ คำแนะนำสั่งสอนบางประการที่ท่านศาสดาพยากรณ์ให้เรมัสมีบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 131 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4 แล้วถามว่า

  • เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับอาณาจักรซีเลสเชียลระดับสูงสุด (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ เพื่อได้รับอาณาจักรซีเลสเชียลระดับสูงสุด เราต้องเข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน อธิบายว่า คำว่า ใหม่ ในบริบทนี้หมายความว่าพันธสัญญานี้ได้รับการฟื้นฟูใหม่ในสมัยการประทานของเรา คำว่า เป็นนิจ หมายความว่าพันธสัญญานี้ดำรงอยู่เสมอและจะยั่งยืนชั่วนิรันดร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนนิยามเหล่านี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ในสมัยของเรา ชายหญิงเข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงานอย่างไร

เน้นว่าชายหญิงจะเข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงานได้ภายในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น บุคคลที่แต่งงานนอกพระวิหารอาจมีคำพูดอย่างเช่น “แต่งงานเพื่อกาลเวลาและนิรันดร” ในคำปฏิญาณการแต่งงานของพวกเขา แต่พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงให้เกียรติการแต่งงานเหล่านี้ในนิรันดร

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กระตุ้นนักเรียนให้มองหาสิ่งที่เอ็ลเดอร์เนลสันสอนว่าเหตุใดการแต่งงานนิรันดร์จึงสำคัญมาก

ภาพ
เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“การแต่งงานเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันทั่วโลกในที่ซึ่งมีการเตรียมการต่างๆ มากมายเพื่อชีวิตแต่งงาน จุดประสงค์ของข้าพเจ้าในการพูดหัวข้อนี้คือเพื่อประกาศ ในฐานะอัครสาวกของพระเจ้าว่า การแต่งงานระหว่างชายกับหญิงเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์และได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ายืนยันเช่นกันถึงข้อดีของการแต่งงานในพระวิหาร นี่เป็นรูปแบบสูงสุดและยั่งยืนที่สุดของการแต่งงานที่พระผู้สร้างของเราจะทรงมอบให้บุตรธิดาของพระองค์ได้

“ขณะที่ความรอดเป็นเรื่องเฉพาะคน แต่ความสูงส่งเป็นเรื่องของครอบครัว …

“… เพื่อให้คู่ควรแก่ชีวิตนิรันดร์ เราต้องทำพันธสัญญาอันเป็นนิจและนิรันดร์กับพระบิดาบนสวรรค์ของเรา [ดู คพ. 132:19] นี่หมายความว่า การแต่งงานในพระวิหารไม่ใช่เรื่องระหว่างสามีกับภรรยาเท่านั้น แต่น้อมรับความเป็นหุ้นส่วนกับพระผู้เป็นเจ้าด้วย [ดู มัทธิว 19:6]” (“การแต่งงานอาณาจักรชั้นสูง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 115, 116)

  • ท่านคิดว่าประโยคนี้หมายความว่าอย่างไร “ขณะที่ความรอดเป็นเรื่องเฉพาะคน แต่ความสูงส่งเป็นเรื่องของครอบครัว”

  • น้อมรับ “การเป็นหุ้นส่วนกับพระผู้เป็นเจ้า” ในการแต่งงานนิรันดร์หมายความว่าอย่างไร ท่านคิดว่าเหตุใดการเป็นหุ้นส่วนกับพระผู้เป็นเจ้าในการแต่งงานจึงสำคัญ (เฉพาะในการแต่งงานเท่านั้นที่แต่ละบุคคลทำพันธสัญญากับบุคคลอีกคนหนึ่งและกับพระผู้เป็นเจ้า พันธสัญญาพระกิตติคุณอื่นทั้งหมดทำระหว่างแต่ละบุคคลกับพระผู้เป็นเจ้า)

  • หลักคำสอนที่ได้รับการฟื้นฟูเกี่ยวกับการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัวจะยกระดับความปรารถนาของบุคคลเพื่อสร้างการแต่งงานที่ยั่งยืนและเปี่ยมด้วยความรักได้อย่างไร

เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ (1807–1857) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายผลที่ความรู้เรื่องหลักคำสอนที่ได้รับการฟื้นฟูมีต่อเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์

“ข้าพเจ้าเรียนรู้จาก [โจเซฟ สมิธ] ว่าภรรยาในอ้อมอกข้าพเจ้าจะอยู่กับข้าพเจ้าเพื่อกาลเวลาและนิรันดร … ข้าพเจ้าเรียนรู้จากท่านว่าเราสามารถบ่มเพาะความรักเหล่านี้ ทำให้ความรักเหล่านี้เติบโต และเพิ่มพูนไปชั่วนิรันดร์ ขณะที่การสมรสอันไม่มีที่สิ้นสุดของเราจะส่งผลเป็นลูกหลานนับไม่ถ้วนดังดวงดาว หรือทรายบนฝั่งทะเล … ข้าพเจ้าเคยมีความรักมาก่อน แต่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด แต่ตอนนี้ข้าพเจ้ารัก—ด้วยความบริสุทธิ์—ด้วยความรู้สึกอันสูงส่งแรงกล้า” (Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. [1938], 297–98)

ก่อนดำเนินบทเรียนต่อไป ท่านอาจสนทนาพอสังเขปดังนี้

“สมาชิกบางคนของศาสนจักรครองความเป็นโสดทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของเขาแม้เขาต้องการแต่งงานก็ตาม ถ้าท่านพบตนเองอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น จงมั่นใจว่า ‘ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า’ (โรม 8:28) ตราบที่ท่านมีค่าควร สักวันหนึ่งท่านจะได้รับพรแห่งความสัมพันธ์นิรันดร์ฉันครอบครัว” (ดู แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 28)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:1–21

การแต่งงานซีเลสเชียลมีความสำคัญยิ่งต่อความสูงส่ง

อธิบายว่าราวสองเดือนหลังจากโจเซฟ สมิธให้คำแนะนำสั่งสอนที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 131ท่านบอกให้เขียนการเปิดเผยที่รู้กันเวลานี้ว่าเป็น หลักคำสอนและพันธสัญญา 132 ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาคที่ 132 อธิบายว่าเราจะพูดถึงการปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคนในบทต่อไป เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:3–6 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม ระบุคำและวลีที่บอกความสำคัญของการเข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • คำและวลีใดในข้อเหล่านี้อรรถาธิบายความสำคัญของการแต่งงานนิรันดร์

  • อะไรคือผลของการปฏิเสธหลักคำสอนดังกล่าว (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคำ อัปมงคล หมายความว่าบุคคลนั้นถูกหยุดความก้าวหน้านิรันดร์ของตนเอง)

หมายเหตุ: ใช้เวลาสองสามนาทีชี้ให้นักเรียนเห็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่สำคัญของการสังเกตคำและวลีสำคัญ ทักษะที่พวกเขาเพิ่งใช้กับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:3–6 สำคัญที่ต้องสังเกตและเข้าใจคำและวลีเมื่อกำลังศึกษาพระคัมภีร์ กับ ข้อ 3–6 วลีต่อไปนี้สำคัญจนต้องเข้าใจ “รับและเชื่อฟัง” “ต้องเชื่อฟัง” “หากเจ้าหาปฏิบัติตามพันธสัญญานั้นไม่, เมื่อเป็นดังนี้เจ้าก็จะอัปมงคล” “ไม่มีใครจะปฏิเสธ” “ต้องและจะ” บางวลีเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการเชื่อมต่อแนวคิดในพระคัมภีร์เช่นกัน การเชื่อมต่อแสดงความสัมพันธ์หรือการเชื่อมโยงระหว่างแนวคิด ตัวอย่างเช่น ข้อ 3 แสดงการเชื่อมต่อระหว่างแนวคิดเรื่องการเตรียม รับ และเชื่อฟัง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:7–8 ในใจโดยมองหาเงื่อนไขในกฎของพระเจ้าที่ทำให้สามีภรรยาได้อยู่เป็นคู่แต่งงานหลังจากชีวิตนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เงื่อนไขอะไรจำเป็นต่อการทำให้การแต่งงานยั่งยืนชั่วนิรันดร์ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อทำพันธสัญญาผ่านสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่ถูกต้องและรับการผนึกโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา พันธสัญญานั้นจะยั่งยืนตลอดไป)

บอกนิยามต่อไปนี้ของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา “พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา (กิจการ 2:33) พระองค์ทรงยืนยันการกระทำที่ชอบธรรม ศาสนพิธี และพันธสัญญาของมนุษย์ดังเป็นที่ยอมรับต่อพระผู้เป็นเจ้า พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาเป็นพยานต่อพระบิดาว่าได้ปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอดอย่างถูกต้องและได้รักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องกัน” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา,” scriptures.lds.org)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้มากขึ้น ท่านอาจให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ผนึกคือ ยืนยัน รับรอง หรือ เห็นชอบ ด้วยเหตุนี้การกระทำซึ่งพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาทรงผนึกคือการกระทำซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยืนยัน คือการกระทำซึ่งพระเจ้าทรงเห็นชอบ และบุคคลที่รับข้อผูกมัดไว้กับตนพระวิญญาณจะทรงรับรองในสิ่งที่เขาทำ จะมีการผนึกรับรองและเห็นชอบการกระทำก็ต่อเมื่อคนที่ทำข้อตกลงมีค่าควรได้รับอนุมัติจากเบื้องบนเนื่องด้วยความชอบธรรมส่วนตัว” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 361–62)

พระเจ้าทรงสรุปเงื่อนไขที่จำเป็นและพรของการแต่งงานนิรันดร์ต่อไป ดังที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19–21 มอบหมายให้นักเรียนศึกษาข้อนี้เป็นคู่ ขอให้คู่เขียนสองรายการ คือ (1) เงื่อนไขเพื่อให้การแต่งงานดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ และ (2) พรที่ได้รับเมื่อบรรลุเงื่อนไขเหล่านี้ เมื่อเขียนเสร็จแล้ว รายการอาจมีดังนี้

เงื่อนไขเพื่อให้การแต่งงานดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์

  • ต้องประกอบพิธีแต่งงานตามกฎของพระเจ้าและ “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ”

  • พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาต้องผนึกการแต่งงาน

  • ผู้ถือกุญแจแห่งฐานะปุโรหิตต้องประกอบพิธีแต่งงาน

  • คู่แต่งงานต้องปฏิบัติตามพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า

พรที่จะได้รับ

  • คู่แต่งงานจะออกมาในการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก

  • คู่แต่งงานจะสืบทอดบัลลังก์ อาณาจักร มณฑล พลังอำนาจ อำนาจการปกครอง ยอดสูงสุดและห้วงลึกทั้งปวง

  • การแต่งงานจะมีผลบังคับโดยสมบูรณ์หลังจากความตายทางร่างกาย

  • คู่แต่งงานจะผ่านเหล่าเทพ

  • คู่แต่งงานจะได้รับความสูงส่งและจะมีรัศมีภาพในสิ่งทั้งปวง

  • คู่แต่งงานจะมี “ความต่อเนื่องของพงศ์พันธุ์ทั้งหลายตลอดกาลและตลอดไป” (ครอบครัวและลูกหลานของพวกเขาจะดำเนินต่อเนื่องชั่วนิรันดร พวกเขาจะมีการเพิ่มพูนนิรันดร์

  • คู่แต่งงานจะเป็นผู้เป็นเจ้าและไม่มีที่สิ้นสุด

  • คู่แต่งงานจะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงและมีอำนาจทั้งหมด และสิ่งทั้งปวงจะขึ้นอยู่กับพวกเขา

สนทนาคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจเงื่อนไขที่จำเป็นและพรที่สัญญาไว้ของการแต่งงานนิรันดร์

  • ท่านคิดว่า “ปฏิบัติ” ตามพันธสัญญาการแต่งงานหมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าความหมายหนึ่งของคำว่า ปฏิบัติ คือคงอยู่หรือดำเนินต่อไป ทั้งยังหมายถึงการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพันธสัญญาด้วย)

  • เหตุใดการผนึกในพระวิหารอย่างเดียวจึงยังไม่พอให้บรรลุการแต่งงานนิรันดร์

  • ท่านมีความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างขณะพิจารณาสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงสัญญากับท่าน

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“การแต่งงานซีเลสเชียลเป็นส่วนสำคัญของการเตรียมรับชีวิตนิรันดร์ โดยเรียกร้องให้บุคคลแต่งงานกับคนที่ถูกต้อง ในสถานที่ถูกต้อง โดยผู้มีอำนาจถูกต้อง และเชื่อฟังพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์อย่างซื่อสัตย์ จากนั้นบุคคลนั้นจึงจะได้รับความสูงส่งในอาณาจักรซีเลสเชียลของพระผู้เป็นเจ้า” (ดู “การแต่งงานอาณาจักรชั้นสูง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 117)

  • ท่านจะอธิบายความสำคัญของการแต่งงาน “ในสถานที่ถูกต้อง โดยผู้มีอำนาจถูกต้อง” ให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักรว่าอย่างไร

  • เมื่อพิจารณาความสำคัญของหลักคำสอนเรื่องการแต่งงานนิรันดร์และครอบครัว ท่านจะทำอะไรในตอนนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแต่งงานนิรันดร์และสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาสิ่งที่พวกเขาอาจต้องเปลี่ยนแปลงในชีวิตเพื่อจะพร้อมมากขึ้นสำหรับการผนึกในพระวิหารหรือเพื่อรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการผนึก แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าการแสวงหาการแต่งงานนิรันดร์คุ้มค่ากับการเสียสละและความพยายามของเรา

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน