คลังค้นคว้า
บทที่ 25: สงครามยูทาห์และการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์


บทที่ 25

สงครามยูทาห์และการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

คำนำ

ในช่วงทศวรรษ 1850 ความตึงเครียดและการสื่อสารผิดระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐชักนำให้เกิดสงครามยูทาห์ ปี 1857–1858 ในเดือนกันยายน ปี 1857 วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนจากเขตปกครองพิเศษทางตอนใต้ของยูทาห์และสมาชิกขบวนเกวียนที่ย้ายถิ่นฐานไปแคลิฟอร์เนียเกิดปะทะกัน แรงจูงใจอันเนื่องจากความโกรธและความกลัว วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจึงได้วางแผนสังหารหมู่ผู้ย้ายถิ่นราว 120 คน การกระทำอันโหดร้ายครั้งนี้ปัจจุบันเรียกกันว่าการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ริชาร์ด อี. เทอร์เลีย์ จูเนียร์, The Mountain Meadows Massacre, Ensign, Sept. 2007, 17–21

  • Peace and Violence among 19th-Century Latter-day Saints,Gospel Topics, lds.org/topics.

  • เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “150th Anniversary of Mountain Meadows Massacre,Sept. 11, 2007, mormonnewsroom.org/article/150th-anniversary-of-mountain-meadows-massacre

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสมัยเริ่มแรกกับรัฐบาลสหรัฐ

แจกสำเนา เอกสารแจก ที่อยู่ท้ายบทให้นักเรียนแต่ละคน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นชักนำให้เกิดสงครามยูทาห์”

ภาพ
เอกสารแจก สงครามยูทาห์และการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์
  • ถ้าท่านเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในปี 1857 และได้ยินว่าทหารกองใหญ่กำลังประชิดเมืองของท่าน ท่านจะกังวลเรื่องใด (นักเรียนอาจกล่าวว่าวิสุทธิชนถูกไล่ออกจากโอไฮโอ มิสซูรี และอิลลินอยส์อย่างรุนแรง หลายคนสูญเสียทรัพย์สินมีค่าและที่ดิน บางคนถูกฆ่าหรือไม่ก็เสียชีวิตระหว่างการข่มเหงเหล่านี้ ข่าวแจ้งว่ากองทหารกำลังมาทำให้วิสุทธิชนบางคนกังวลว่าเหตุการณ์เช่นนั้นอาจเกิดในยูทาห์เช่นกัน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “เตรียมป้องกันเขตปกครองพิเศษ”

ความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนกับสมาชิกในขบวนเกวียนของผู้ย้ายถิ่น

ภาพ
แผนที่ เส้นทางขบวนเกวียน

ให้ดู แผนที่ คล้ายกับแผนที่ด้านล่าง หรือวาดแผนที่บนกระดาน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “ความขัดแย้งกับขบวนเกวียนของผู้ย้ายถิ่น”

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาประสบความขัดแย้งกับอีกคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 12:25 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยมองหาหลักธรรมที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนซึ่งสามารถนำทางเราได้เมื่อเราประสบความตึงเครียดกับผู้อื่น

  • ท่านคิดว่าการ “ปรองดองกับปฏิปักษ์ของเจ้าโดยเร็ว” หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวลีนี้ ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบ

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็น

“พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า ‘จงปรองดองกับปฏิปักษ์ของเจ้าโดยเร็ว … ’ พระองค์ทรงบัญชาให้เราแก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆ เกลือกอารมณ์ชั่ววูบจะทวีขึ้นจนกลายเป็นความโหดร้ายทางร่างกายหรือทางอารมณ์ และเราจะตกเป็นทาสความโกรธ” (ดู “การให้อภัยจะเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 13)

  • ท่านจะสรุปคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 12:25ว่าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมคล้ายกันนี้บนกระดาน ถ้าเราแก้ไขความขัดแย้งกับผู้อื่นในวิธีของพระเจ้า เราสามารถหลีกเลี่ยงผลเสียของความขัดแย้งได้)

  • คนที่วางแผนทำร้ายคนในขบวนเกวียนจะประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “การปะทะบานปลาย”

  • ผู้นำศาสนจักรในเมืองซีดาร์ควรทำอะไรเมื่อวิลเลียม เดมแนะนำไม่ให้พวกเขาใช้ทหารอาสา การไม่ยอมรับคำแนะนำชักนำพวกเขาให้ทำอะไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราไม่สนใจคำแนะนำให้ทำสิ่งถูกต้อง เราจะทำการเลือกที่ไม่ดีแม้ถึงกับเป็นบาปได้ง่ายขึ้น) ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นเช่นกันว่ามีปัญญาอย่างยิ่งในระบบสภาซึ่งใช้ปกครองศาสนจักร)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “การโจมตีผู้ย้ายถิ่น” และเชื้อเชิญให้นักเรียนหาดูว่าผู้นำเมืองซีดาร์ยังคงเลือกสิ่งที่เป็นบาปต่อไปอย่างไรหลังจากไม่สนใจคำแนะนำที่ได้รับ

  • การที่ผู้นำเมืองซีดาร์ตัดสินใจไม่เชื่อฟังคำแนะนำของวิลเลียม เดมผู้บัญชาการทหารส่งผลอะไรบ้าง

  • ณ จุดนี้ คนที่รับผิดชอบการโจมตีเลือกทำอะไร (พวกเขาสามารถสารภาพว่าได้ทำอะไรลงไปและรับผลของการกระทำนั้น หรือพวกเขาจะพยายามปกปิดความผิดและบาปของตน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ท่านทำอะไรเมื่อท่านทำผิดบางอย่าง ท่านสารภาพสิ่งที่ท่านทำและรับผลของการกระทำนั้น หรือท่านพยายามปกปิดบาปผ่านการหลอกลวง

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนวางแผนและทำการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

อธิบายว่าสมาชิกศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีผู้ย้ายถิ่นได้เลือกปกปิดบาปของตน เชื้อเชิญให้นักเรียนฟังสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตัดสินใจนี้ขณะที่นักเรียนผลัดกันอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “การสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์” และ “ผลอันน่าสลดใจ”

อธิบายว่าการเลือกของผู้นำวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนและผู้ตั้งถิ่นฐานในเขตปกครองพิเศษทางตอนใต้ของยูทาห์ชักนำให้เกิดการสังหารหมู่อันน่าสลดใจที่เมาน์เทนเมโดวส์ ในทางตรงกันข้าม ผู้นำศาสนจักรและผู้นำเขตปกครองพิเศษซอลท์เลคซิตี้ยุติความขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐผ่านการเจรจาสงบศึกในปี 1858 ระหว่างความขัดแย้งครั้งนี้—ต่อมาเรียกว่าสงครามยูทาห์—กองทัพสหรัฐกับทหารอาสายูทาห์เกี่ยวข้องกับการรุกรานแต่ไม่เคยร่วมรบ

  • ท่านจะสรุปการเลือกที่ชักนำให้เกิดการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ว่าอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจากเรื่องสลดใจดังกล่าว (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่างๆ รวมทั้ง การเลือกปกปิดบาปสามารถชักนำเราให้ทำบาปมากขึ้น การเลือกปกปิดบาปสามารถทำให้เกิดความเสียใจและความทุกข์

รับรองกับนักเรียนว่าถ้าพวกเขาเริ่มไปตามเส้นทางของความผิดและบาป พวกเขาสามารถป้องกันความปวดร้าวและความเสียใจในอนาคตได้โดยหันมาหาพระเจ้าและกลับใจจากบาปของพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “ผู้นำศาสนจักรเรียนรู้จากการสังหารหมู่”

อธิบายว่าเพราะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในท้องที่จำนวนหนึ่งรับผิดชอบเรื่องวางแผนและทำการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ เหตุการณ์นี้ทำให้บางคนมีทัศนะด้านลบต่อศาสนจักรโดยรวม

  • เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ว่าการกระทำผิดของสมาชิกศาสนจักรบางคนไม่ได้ตัดสินความจริงของพระกิตติคุณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดในเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “ครบรอบ 150 ปี การสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์”

  • เราควรตอบสนองอย่างไรเมื่อเราเรียนรู้จากกรณีที่สมาชิกศาสนจักรไม่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีลามัน 5:12 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาและรักษาประจักษ์พยานของเราไว้เผื่อช่วงเวลายากลำบาก เช่น เมื่อเราเรียนรู้จากกรณีที่สมาชิกศาสนจักรไม่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ ศรัทธาของเราจะไม่สั่นคลอน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ฮีลามัน 5:12 เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาและรักษาประจักษ์พยานของเรา (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราจะพัฒนาประจักษ์พยานให้เข้มแข็งได้โดยสร้างศรัทธาของเราบนรากฐานของพระเยซูคริสต์)

เพื่ออธิบายหลักธรรมนี้ ให้ดูข้อความต่อไปนี้และเชิญคนหนึ่งอ่านออกเสียง

“เจมส์ แซนเดอร์สเป็นเหลนชาย … ของเด็กคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ [และเป็นสมาชิกของศาสนจักรด้วย] … บราเดอร์แซนเดอร์ส … กล่าวว่า การทราบว่าบรรพชนของเขาเสียชีวิตในการสังหารหมู่ ‘ไม่ได้’ มีผลต่อศรัทธาของผม เพราะศรัทธาของผมอยู่บนฐานของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่คนในศาสนจักร’” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, The Mountain Meadows Massacre, Ensign, Sept. 2007, 21)

  • ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไรเมื่อเราเรียนรู้จากกรณีที่สมาชิกศาสนจักรไม่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านทำอะไรที่ช่วยให้ท่านสร้างศรัทธาบนรากฐานของพระเยซูคริสต์

เป็นพยานถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด โดยมีพื้นฐานศรัทธาของเราอยู่ที่พระองค์และพระกิตติคุณของพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะสร้างประจักษ์พยานบนรากฐานของพระเยซูคริสต์และตั้งเป้าหมายทำเช่นนั้นให้ดีขึ้นได้อย่างไร

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

  • Peace and Violence among 19th-Century Latter-day Saints,Gospel Topics, lds.org/topics

สงครามยูทาห์และการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

รากฐานของการฟื้นฟู—บทที่ 25

ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นชักนำให้เกิดสงครามยูทาห์

สามปีหลังจากผู้บุกเบิกวิสุทธิชนยุคสุดท้ายรุ่นแรกมาถึงหุบเขาซอลท์เลค รัฐบาลสหรัฐจัดตั้งเขตปกครองพิเศษยูทาห์และแต่งตั้งบริคัม ยังก์เป็นผู้ว่าการคนแรกของเขตนั้น กลางปี 1857 ผู้นำวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้ยินข่าวลือว่ารัฐบาลกลางอาจให้คนที่กองทหารสหพันธรัฐหลายคนให้การสนับสนุนมาเป็นผู้ว่าการคนใหม่ของเขตปกครองพิเศษยูทาห์แทนบริคัม ยังก์ วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1857 ประธานบริคัม ยังก์อยู่กับวิสุทธิชนกลุ่มหนึ่งกำลังฉลองการมาถึงหุบเขาซอลท์เลคครบ 10 ปีเมื่อท่านได้รับการยืนยันข่าวก่อนหน้านี้ว่ากองทหารกำลังมาที่ซอลท์เลคซิตี้

ในปีก่อนๆ ความขัดแย้งและการสื่อสารผิดส่งผลให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ วิสุทธิชนต้องการเลือกผู้นำมาปกครองพวกตน และไม่ยอมรับคนที่รัฐบาลกลางแต่งตั้งซึ่งมีค่านิยมแตกต่าง บางคนไม่ซื่อสัตย์ ทุจริตต่อหน้าที่ และผิดศีลธรรม เจ้าหน้าที่สหพันธรัฐบางคนเชื่อว่าการกระทำและท่าทีของวิสุทธิชนหมายความว่าพวกเขากบฏต่อต้านรัฐบาลสหรัฐ

เจมส์ บูคานันประธานาธิบดีสหรัฐส่งทหารประมาณ 2,500 นายมาที่ซอลท์เลคซิตี้เพื่อคุ้มกันผู้ว่าการคนใหม่ให้มาถึงยูทาห์อย่างปลอดภัยและปราบปรามวิสุทธิชนที่พวกเขาคิดว่าก่อกบฏ การตัดสินใจครั้งนี้ทำไปโดยปราศจากข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูทาห์ (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือครู, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003), 379–390)

เตรียมป้องกันเขตปกครองพิเศษ

ในโอวาทถึงวิสุทธิชน ประธานยังก์และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นพูดถึงกองทหารที่กำลังมาว่าเป็นศัตรู พวกท่านเกรงว่ากองทหารจะขับไล่วิสุทธิชนออกจากยูทาห์เช่นที่พวกเขาเคยถูกขับไล่ให้ออกจากโอไฮโอ มิสซูรี และอิลลินอยส์มาแล้ว ประธานยังก์ ผู้ขอให้วิสุทธิชนสะสมธัญพืชมาหลายปี ได้แนะนำเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อพวกเขาจะมีอาหารไว้ยังชีพหากต้องหลบหนีกองทหาร ในฐานะผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษยูทาห์ ท่านจึงสั่งการให้ทหารอาสาของเขตปกครองพิเศษเตรียมป้องกัน

ความขัดแย้งกับขบวนเกวียนของผู้ย้ายถิ่น

ขบวนเกวียนของผู้ย้ายถิ่นเดินทางจากอาร์คันซอมาแคลิฟอร์เนียจนถึงยูทาห์ขณะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกำลังเตรียมป้องกันเขตปกครองจากกองทหารสหรัฐที่กำลังมา บางคนในขบวนเกวียนเกิดความคับข้องใจเพราะพวกเขาไม่สามารถซื้อธัญพืชที่ต้องการอย่างมากจากวิสุทธิชนผู้ได้รับคำแนะนำให้สะสมธัญพืช ผู้ย้ายถิ่นเกิดความขัดแย้งกับวิสุทธิชนที่ไม่ต้องการให้ม้าและปศุสัตว์จำนวนมากของขบวนเกวียนใช้แหล่งอาหารและน้ำที่วิสุทธิชนต้องใช้สำหรับสัตว์ของตน

ความตึงเครียดปะทุในซีดาร์ซิตี้ ถิ่นฐานสุดท้ายในยูทาห์ระหว่างเส้นทางไปแคลิฟอร์เนีย การปะทะกันเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกบางคนของขบวนเกวียนกับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคน สมาชิกบางคนของขบวนเกวียนขู่ว่าจะสมทบกับกองทหารสหรัฐที่กำลังมาเพื่อต่อสู้กับวิสุทธิชน ถึงแม้หัวหน้าขบวนเกวียนจะตำหนิคนของตนที่ข่มขู่เช่นนั้น แต่ผู้นำและผู้ตั้งรกรากบางคนของซีดาร์ซิตี้กลับมองว่าผู้ย้ายถิ่นเป็นศัตรู ขบวนเกวียนออกจากเมืองหลังจากมาถึงเพียงหนึ่งชั่วโมง แต่ผู้ตั้งรกรากบางคนและผู้นำในซีดาร์ซิตี้ต้องการไล่ตามและลงโทษคนที่ยั่วโทสะพวกเขา

การปะทะบานปลาย

เพราะวิสุทธิชนเหล่านี้ไม่ยุติความขัดแย้งกับผู้ย้ายถิ่นตามวิธีของพระเจ้า สถานการณ์จึงร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม ไอแซค เฮจท์ผู้เป็นทั้งนายกเทศมนตรีซีดาร์ซิตี้ หัวหน้าทหารอาสา และประธานสเตคขออนุญาตจากผู้บัญชาการทหารอาสาซึ่งอยู่ในปาโรวันถิ่นฐานใกล้เคียง เรียกทหารอาสามาปะทะกับผู้รุกรานจากขบวนเกวียน วิลเลียม เดมผู้บัญชาการทหารอาสาซึ่งเป็นสมาชิกศาสนจักรได้แนะนำไอแซค เฮจท์ว่าอย่าสนใจคำขู่ของผู้ย้ายถิ่น แทนที่จะทำตามคำแนะนำ ไอแซค เฮจท์และผู้นำคนอื่นๆ ของซีดาร์ซิตี้กลับตัดสินใจชักชวนชาวอินเดียนแดงในท้องที่ให้โจมตีขบวนเกวียนและขโมยปศุสัตว์ของพวกเขาเพื่อเป็นการลงโทษผู้ย้ายถิ่น ไอแซค เฮจท์ขอให้จอห์น ดี. ลีสมาชิกศาสนจักรและหัวหน้าทหารอาสาให้นำการโจมตีครั้งนี้ และทั้งสองวางแผนจะโยนความผิดให้ชาวอินเดียนแดง

การโจมตีผู้ย้ายถิ่น

ไอแซค เฮจท์เสนอแผนการโจมตีขบวนเกวียนต่อสภาผู้นำท้องที่ในศาสนจักร ชุมชน และทหารอาสา สมาชิกสภาบางคนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแผนนั้นและถามเฮจท์ว่าเขาหารือกับประธานบริคัม ยังก์เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือยัง เฮจท์บอกว่ายัง และตกลงจะส่งเจมส์ แฮสแลมนำจดหมายอธิบายสถานการณ์และถามว่าควรทำอย่างไรไปซอลท์เลคซิตี้ อย่างไรก็ตาม เพราะซอลท์เลคซิตี้ห่างจากซีดาร์ซิตี้ประมาณ 250 ไมล์ จึงต้องใช้เวลาขี่ม้าราวหนึ่งสัปดาห์กว่าจะถึงซอลท์เลคซิตี้และกลับมาซีดาร์ซิตี้พร้อมคำแนะนำของประธานยังก์

ไม่นานก่อนไอแซค เฮจท์จะส่งจดหมายของตนไปกับผู้ส่งสาร จอห์น ดี. ลีและชาวอินเดียนแดงกลุ่มหนึ่งได้โจมตีค่ายผู้ย้ายถิ่นตรงที่เรียกว่าเมาน์เทนเมโดวส์ ลีนำการโจมตีและพรางตัวเพื่อให้ดูเหมือนว่าคนที่เกี่ยวข้องมีเพียงชาวอินเดียนแดงเท่านั้น ผู้ย้ายถิ่นบางคนเสียชีวิตหรือไม่ก็บาดเจ็บ และคนที่เหลือต่อสู้กับผู้โจมตีจนลีและชาวอินเดียนแดงต้องล่าถอย ผู้ย้ายถิ่นขับเกวียนมาล้อมเป็นวงอย่างรวดเร็วเพื่อเป็นการป้องกัน เกิดการโจมตีอีกสองครั้งในช่วงโอบล้อมขบวนเกวียนห้าวัน

ครั้งหนึ่ง ทหารอาสาของซีดาร์ซิตี้รู้ว่ามีผู้ย้ายถิ่นสองคนอยู่นอกวงล้อมของเกวียน พวกเขาจึงยิงสองคนนั้น และคนหนึ่งเสียชีวิต อีกคนหนีรอดและแจ้งข่าวกับค่ายขบวนเกวียนว่าคนผิวขาวเกี่ยวข้องกับการโจมตีพวกเขา คนที่วางแผนการโจมตีตอนนี้ถูกจับได้แล้วว่าหลอกลวง ถ้ายอมให้ผู้ย้ายถิ่นเดินทางต่อไปถึงแคลิฟอร์เนีย ข่าวจะแพร่สะพัดไปว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายต้องรับผิดชอบเรื่องการโจมตีขบวนเกวียน ผู้สมคบคิดเกรงว่าข่าวนี้จะส่งผลเสียต่อตนและคนของตน

การสังหารหมู่ที่เมาน์เทนมีโดวส์

เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ข่าวรั่วไหลว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเกี่ยวข้องกับการโจมตีขบวนเกวียน ไอแซค เฮจท์, จอห์น ดี. ลี ผู้นำในท้องที่ของศาสนจักร และหัวหน้าทหารอาสาคนอื่นๆ จึงวางแผนฆ่าผู้ย้ายถิ่นที่เหลือทั้งหมดยกเว้นเด็กเล็ก เพื่อดำเนินการตามแผน จอห์น ดี. ลีเข้าไปหาผู้ย้ายถิ่นและบอกว่าทหารอาสาจะคุ้มครองไม่ให้พวกเขาถูกโจมตีอีกโดยจะนำพวกเขากลับไปซีดาร์ซิตี้อย่างปลอดภัย ขณะผู้ย้ายถิ่นกำลังเดินไปซีดาร์ซิตี้ ทหารอาสาก็หันมายิงคนเหล่านั้น ชาวอินเดียนแดงบางคนที่ผู้ตั้งรกรากเกณฑ์มาช่วยต่างรีบออกจากที่ซ่อนมาร่วมโจมตี จากผู้ย้ายถิ่นประมาณ 140 คนที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนเกวียนมีเด็กเล็กเพียง 17 คนที่รอดชีวิต

สองวันหลังจากการสังหารหมู่ เจมส์ แฮสแลมมาถึงซีดาร์ซิตี้พร้อมสารของประธานยังก์ โดยแนะนำให้ผู้นำในท้องที่ยอมให้ขบวนเกวียนผ่านไปอย่างสงบ “เมื่อเฮจท์อ่านคำตอบของประธานยังก์ เขาสะอื้นไห้ราวกับเด็ก และพูดได้แต่เพียงว่า ‘สายเกินไปแล้ว สายเกินไปแล้ว’” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, The Mountain Meadows Massacre, Ensign, Sept. 2007, 20)

ผลอันน่าสลดใจ

การสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ไม่เพียงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 120 คนเท่านั้น แต่ทำให้เด็กที่รอดชีวิตและญาติคนอื่นๆ ของผู้เสียชีวิตทุกข์ใจอย่างแสนสาหัสเช่นกัน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนรับเด็กผู้ย้ายถิ่นที่รอดจากการสังหารหมู่ไปดูแล คริสต์ศักราช 1859 เจ้าหน้าที่สหพันธรัฐรับเด็กเหล่านี้ไปดูแลและส่งคืนให้ญาติๆ ของพวกเขาในอาร์คันซอ ชาวอินเดียนแดงเผ่าไพยูททุกข์ใจจากการถูกประณามอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน

ผู้นำศาสนจักรเรียนรู้จากการสังหารหมู่

“ถึงแม้บริคัม ยังก์และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นในซอลท์เลคซิตี้ทราบเรื่องการสังหารหมู่หลังจากเกิดขึ้นไม่นาน แต่พวกท่านเข้าใจขอบเขตความเกี่ยวข้องของผู้ตั้งรกรากและรายละเอียดที่น่ากลัวของการทำผิดครั้งนี้เมื่อเวลาล่วงเลยไปพอสมควรแล้ว คริสต์ศักราช 1859 พวกท่านปลดไอแซค เฮจท์ประธานสเตคและผู้นำศาสนาจักรที่โดดเด่นคนอื่นๆ ในซีดาร์ซิตี้ผู้มีบทบาทในการสังหารหมู่จากการเรียกของพวกเขา คริสต์ศักราช 1870 พวกท่านปัพพาชนียกรรมไอแซค เฮทจ์และจอห์น ดี. ลีจากศาสนจักร

“คริสต์ศักราช 1874 คณะลูกขุนประจำเขตปกครองพิเศษดำเนินคดีเก้าคนที่มีส่วนในการสังหารหมู่ ในที่สุดพวกเขาส่วนใหญ่ก็ถูกจับกุมแต่มีเฉพาะลีที่ถูกไต่สวน ถูกพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ชายอีกคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีกลับคำให้การ [อาสาเป็นพยานและให้การขัดแย้งกับผู้กระทำผิดคนอื่นๆ] และอีกหลายคนใช้เวลาหลบหนีกฎหมายหลายปี ทหารอาสาคนอื่นๆ ที่ร่วมในเหตุการณ์สังหารหมู่ทำงานหนักตลอดชีวิตที่เหลือภายใต้ความรู้สึกผิดที่ตามหลอกหลอนและฝันร้ายซ้ำๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขารู้เห็นและทำลงไป” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, The Mountain Meadows Massacre, Ensign, Sept. 2007, 20)

ครบ 150 ปีการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวดังนี้

“ความรับผิดชอบต่อ [การสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์] ตกอยู่กับผู้นำในท้องที่ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในเขตใกล้เมาน์เทนเมโดวส์ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการทหารและตกอยู่กับสมาชิกศาสนจักรที่ปฏิบัติการภายใต้คำสั่งของพวกเขา …

“… พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่เรารับไว้ เกลียดชังการเข่นฆ่าชายหญิงและเด็กอย่างเลือดเย็น โดยแท้แล้ว พระกิตติคุณสนับสนุนความสงบสุขและการให้อภัย สิ่งที่สมาชิกศาสนจักรทำไว้นานแล้ว [ที่เมาน์เทนเมโดวส์] แสดงให้เห็นว่าพวกเขาฝ่าฝืนคำสอนและความประพฤติแบบชาวคริสต์อย่างรุนแรงจนไม่อาจยกโทษให้ได้ … ความยุติธรรมของพระเจ้าจะลงโทษผู้รับผิดชอบการสังหารหมู่ครั้งนี้อย่างสาสม …

“… ขอพระผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ ผู้ซึ่งเราทุกคนเป็นบุตรและธิดาของพระองค์ ทรงอวยพรเราเมื่อเราให้เกียรติผู้เสียชีวิตที่นี่โดยแสดงความรักที่บริสุทธิ์ต่อกันและให้อภัยกันซึ่งพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ทรงเป็นแบบอย่าง” (“150th Anniversary of Mountain Meadows Massacre,Sept. 11, 2007, mormonnewsroom.org/article/150th-anniversary-of-mountain-meadows-massacre)