จงตามเรามา
9–15 พฤศจิกายน อีเธอร์ 1–5: “ฉีกม่านความไม่เชื่อ”


“9–15 พฤศจิกายน อีเธอร์ 1–5: ‘ฉีกม่านความไม่เชื่อ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“9–15 พฤศจิกายน อีเธอร์ 1–5” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
ชาวเจเร็ดเดินทางผ่านแดนทุรกันดาร

ชาวเจเร็ดออกจากบาเบล โดย อัลบิน เวเซลคา

9–15 พฤศจิกายน

อีเธอร์ 1–5

“ฉีกม่านความไม่เชื่อ”

ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างระหว่างศึกษา อีเธอร์ 1–5 เป็นส่วนตัวที่ท่านสามารถแบ่งปันให้คนที่ท่านสอนได้ ท่านจะเปิดโอกาสอะไรให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

พิจารณาวิธีที่สร้างสรรค์นี้ในการเชื้อเชิญให้แบ่งปัน: แจกก้อนหินให้สมาชิกชั้นเรียน 16 คน และเชิญสองสามคนแบ่งปันความจริงที่พวกเขาจำได้จากการศึกษา อีเธอร์ 1–5 เป็นส่วนตัวหรือกับครอบครัว พวกเขาจะทำอะไรเพราะสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

อีเธอร์ 1–3; 4:8–19

เมื่อเราเรียกหาพระเจ้าตลอดเวลา พระองค์จะทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์

  • พวกเราทุกคนดิ้นรนหาคำตอบให้กับคำถามหรือปัญหา ประสบการณ์ของพี่ชายเจเร็ดจะช่วยให้คนที่ท่านสอนเรียนรู้วิธีขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าได้อย่างไร ท่านอาจจะวาดตารางบนกระดานพร้อมกับคอลัมน์ที่เขียนว่า คำถามของพี่ชายเจเร็ด การกระทำของพี่ชายเจเร็ด และ การตอบรับของพระเจ้า จากนั้นท่านจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่มและมอบหมายให้กลุ่มละคอลัมน์ แต่ละกลุ่มจะทำงานด้วยกันเพื่ออ่าน อีเธอร์ 1:33–43 และ 2:16–3:6 และเขียนสิ่งที่พวกเขาพบไว้ในคอลัมน์ที่มอบหมาย หลังจากนั้นชั้นเรียนจะสนทนาคำถามทำนองนี้: เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิธีต่างๆ ที่พระเจ้าทรงเลือกช่วยเรา เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับบทบาทของเราในขั้นตอนของการได้รับการเปิดเผย สมาชิกชั้นเรียนอาจจะยกตัวอย่างอื่นจากพระคัมภีร์ที่สอนหลักธรรมคล้ายกัน คำกล่าวจากเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะให้ข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอน

  • คำสวดอ้อนวอนของพี่ชายเจเร็ดใน อีเธอร์ 3:1–5 อาจเป็นแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนประเมินการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของพวกเขา สมาชิกชั้นเรียนอาจจะสมมติว่าพวกเขากำลังให้คำแนะนำคนบางคนที่เพิ่งเรียนรู้วิธีสวดอ้อนวอน พวกเขาจะให้คำแนะนำว่าอย่างไร จากนั้นพวกเขาจะค้นคว้า อีเธอร์ 3:1–5 และสรุปแต่ละข้อด้วยหลักธรรมหรือเกร็ดความรู้หนึ่งหรือสองข้อเกี่ยวกับวิธีสวดอ้อนวอนอย่างมีประสิทธิภาพ ท่านอาจจะให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีนึกถึงการสวดอ้อนวอนของพวกเขาเองและพวกเขาจะทำตามแบบอย่างของพี่ชายเจเร็ดเพื่อทำให้การสวดอ้อนวอนของพวกเขามีความหมายมากขึ้นได้อย่างไร

  • หลังจากแบ่งปันประสบการณ์ได้รับการเปิดเผยของพี่ชายเจเร็ดใน อีเธอร์ 3 แล้ว โมโรไนให้คำแนะนำใน อีเธอร์ 4 เกี่ยวกับวิธีที่เราจะได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากคำแนะนำนี้ ท่านจะให้ดูภาพพระเยซูคริสต์และเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้า อีเธอร์ 4:8–10 เพื่อหาสิ่งที่สามารถขัดขวางเราไม่ให้ได้รับการเปิดเผยหรือความจริงจากพระเจ้า ขณะสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ ท่านจะใช้ผ้าหรือกระดาษปิดภาพพระคริสต์ทีละนิด เราจะหลีกเลี่ยงอุปสรรคทางวิญญาณเหล่านี้ในชีวิตเราได้อย่างไร ต่อจากนั้น สมาชิกชั้นเรียนจะค้นคว้า อีเธอร์ 4:7, 11–15 โดยหาดูว่าเราจะมีคุณสมบัติคู่ควรรับความจริงจากพระเจ้าได้อย่างไร ขณะสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ ให้ดึงผ้าหรือกระดาษออก “ใช้ศรัทธาใน … พระเจ้า … แม้ดังที่พี่ชายของเจเร็ดทำ” หมายความว่าอย่างไร (อีเธอร์ 4:7; ดู อีเธอร์ 3:1–9 ด้วย) “ฉีกม่านความไม่เชื่อ” ในชีวิตเราหมายความว่าอย่างไร (อีเธอร์ 4:15) เราจะช่วยให้คนอื่นๆ ทำแบบเดียวกันได้อย่างไร สมาชิกชั้นเรียนจะมองหาความจริงเกี่ยวกับการเปิดเผยส่วนตัวในข่าวสารของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเรื่อง “การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา” ด้วย (Ensign หรือ เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 93–96)

อีเธอร์ 2:14–15

พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เรากลับใจและมาหาพระองค์ผ่านการตีสอนของพระองค์

  • แม้แต่ศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่เท่าพี่ชายของเจเร็ดก็ยังได้รับการตีสอนจากพระเจ้า อันที่จริง ส่วนหนึ่งที่ทำให้เขายิ่งใหญ่คือวิธีที่เขาตอบรับการตีสอน เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากแบบอย่างของพี่ชายเจเร็ด ท่านจะเชื้อเชิญให้พวกเขาจับคู่กันอ่าน อีเธอร์ 2:14–15 จากนั้นขอให้พวกเขาสมมติว่าคนหนึ่งเป็นพี่ชายของเจเร็ดและอีกคนหนึ่งเป็นคนที่เพิ่งได้รับการตีสอนจากผู้นำศาสนจักรหรือบิดามารดา ให้พวกเขาสนทนาหรือแสดงบทบาทสมมติว่าพี่ชายของเจเร็ดจะพูดอะไรเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาเองเพื่อช่วยบุคคลนี้ เขาจะให้คำแนะนำอะไรบ้าง เราเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างที่จะช่วยให้เราเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น ท่านจะสนทนาด้วยว่าการตีสอนของพระเจ้าและการตอบสนองของพี่ชายเจเร็ดน่าจะช่วยเตรียมเขาให้พร้อมรับประสบการณ์ใน อีเธอร์ 3:1–20 อย่างไร แหล่งข้อมูลอื่นต่อไปนี้สามารถช่วยได้: ข่าวสารของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันเรื่อง “เรารักผู้ใดเราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2011,122–126) หรือหัวข้อ “วินัย” ในข่าวสารของเอ็ลเดอร์ลินน์ จี. รอบบินส์เรื่อง “ผู้พิพากษาที่ชอบธรรม” (Ensign หรือ เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 96–97)

อีเธอร์ 5

พยานสามคนเป็นพยานถึงความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน

  • การเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของโมโรไนเกี่ยวกับพยานสามคนจะช่วยเสริมสร้างประจักษ์พยานของสมาชิกชั้นเรียนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน นักเรียนครึ่งชั้นเรียนอาจจะอ่าน อีเธอร์ 5 ส่วนอีกครึ่งชั้นจะอ่าน “ประจักษ์พยานของพยานสามคน” (ตอนต้นของพระคัมภีร์มอรมอน) และแบ่งปันกันว่าพวกเขารู้สึกว่าจุดประสงค์ของพระเจ้าคืออะไรในการให้พยานสามคนเห็นเทพและแผ่นจารึก) พวกเขาจะสนทนาตัวอย่างอื่นด้วยซึ่งพยานหลายคนสถาปนาความจริง (ดูตัวอย่างใน มัทธิว 3:13–17; 18:15–16; ยอห์น 5:31–47; คพ. 128:3) พยานอะไรในชีวิตเราเป็นแรงบันดาลใจให้เราเชื่อ “เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าและพระวจนะของพระองค์” “แสดง” ต่อเราอย่างไรในพระคัมภีร์มอรมอน (อีเธอร์ 5:4)

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสมมติว่าผู้นำทางการเมืองของพวกเขาต่างฝ่ายต่างก็จับกุมกันและสังหารกันเป็นประจำ ใน อีเธอร์ 6–11 พวกเขาจะอ่านว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับลูกหลานของเจเร็ดและพี่ชายเขาอย่างไร พวกเขาจะพบคำเตือนบางอย่างด้วยที่จะช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงปัญหาที่ชาวเจเร็ดพบเจอ

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

การรับรู้คำตอบของการสวดอ้อนวอน

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์สอนว่า

“เมื่อเราอธิบายปัญหาและทางออกที่คิดไว้ บางครั้งพระองค์ทรงตอบใช่ บางคราวทรงตอบไม่ใช่ บ่อยครั้งพระองค์ทรงยั้งคำตอบ ไม่ใช่เพราะขาดความห่วงใย แต่เพราะทรงรักเรา—อย่างสมบูรณ์ พระองค์ทรงต้องการให้เราประยุกต์ใช้ความจริงที่ประทานแก่เรา เพื่อให้เราเติบโตเราต้องวางใจว่าเราสามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง เราต้องทำสิ่งที่เรา รู้สึก ว่าถูกต้อง พระองค์จะทรงตอบเมื่อถึงเวลา พระองค์จะไม่ทรงทำให้เราผิดหวัง …

“… พระองค์ทรงต้องการให้เราได้รับประสบการณ์ที่จำเป็น

“เมื่อพระองค์ทรงตอบ ใช่ นั่นคือเพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่เรา

“เมื่อพระองค์ทรงตอบ ไม่ นั่นคือเพื่อป้องกันความผิดพลาด

“เมื่อพระองค์ทรง ยั้งคำตอบ นั่นคือเพื่อให้เราเติบโตผ่านศรัทธาในพระองค์ เชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ และเต็มใจกระทำตามความจริง พระองค์ทรงคาดหวังให้เรามีภาระรับผิดชอบโดยทำตามการตัดสินใจให้สอดคล้องกับคำสอนของพระองค์โดยไม่ต้องยืนยันก่อน เราต้องไม่นั่งรอเฉยๆ หรือพร่ำบ่นเพราะพระเจ้าไม่ตรัส เราต้องลงมือปฏิบัติ” (“Learning to Recognize Answers to Prayer,” Ensign Nov. 1989, 31–32)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ไปที่พระคัมภีร์ก่อน พระคัมภีร์ควรเป็นแหล่งช่วยอันดับแรกสำหรับการศึกษาและการเตรียมของท่าน อย่าลืมว่าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันเสริมงานมาตรฐานและเป็นพระคัมภีร์ด้วย (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 17–18)