จงตามเรามา
2–8 พฤศจิกายน มอรมอน 7–9: “ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า”


“2–8 พฤศจิกายน มอรมอน 7–9: ‘ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“2–8 พฤศจิกายน แอลมา 7–9” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ

โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ โดย เดล คิลบอร์น

2–8 พฤศจิกายน

มอรมอน 7–9

“ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า”

ทบทวนความประทับใจที่ท่านบันทึกไว้ในช่วงศึกษา มอรมอน 7–9 เป็นส่วนตัวสัปดาห์นี้ ท่านรู้สึกว่าข้อความใดจากบทเหล่านี้จะมีความหมายมากที่สุดให้ทบทวนกับชั้นเรียนของท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อให้สมาชิกชั้นเรียนมีโอกาสแบ่งปันบางสิ่งจากการศึกษาเป็นส่วนตัวหรือกับครอบครัว ท่านจะกระตุ้นให้พวกเขาอ่าน มอรมอน 7–9 และบอกหนึ่งประโยค (หรือหนึ่งข้อ) ซึ่งพวกเขาสำนึกคุณที่มอรมอนหรือโมโรไนเลือกรวมไว้ในแผ่นจารึก

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มอรมอน 7:8–10; 8:12–22; 9:31–37

พระคัมภีร์มอรมอนมีค่าใหญ่หลวง

  • วิธีหนึ่งที่จะเกริ่นนำการสนทนาเกี่ยวกับคุณค่าใหญ่หลวงของพระคัมภีร์มอรมอนคือพูดคุยว่าเรากำหนดค่าของสิ่งๆ หนึ่งอย่างไร การรู้ค่าของบางสิ่งเปลี่ยนวิธีที่เราใช้สิ่งนั้นอย่างไร สมาชิกชั้นเรียนจะค้นคว้า มอรมอน 8:12–22 และแบ่งปันสิ่งที่โมโรไนกล่าวเกี่ยวกับคุณค่าของพระคัมภีร์มอรมอน (“บันทึกนี้”) พวกเขาจะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่แสดงให้พวกเขาเห็นคุณค่าของพระคัมภีร์มอรมอนเช่นกัน เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเราเห็นคุณค่าของพระคัมภีร์มอรมอน

    ภาพ
    พระคัมภีร์มอรมอนในภาษาต่างๆ

    พระคัมภีร์มอรมอนชี้แจงหลักคำสอนที่สอนในพระคัมภีร์ไบเบิล

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนรับรู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนกันอย่างไร ท่านจะเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน มอรมอน 7:8–10 และสรุปคำบรรยายของมอรมอนเกี่ยวกับบันทึกสองชุดนี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง (“บันทึกซึ่งจะมาสู่คนต่างชาติจากชาวยิว” หมายถึงพระคัมภีร์ไบเบิล) ท่านอาจจะวาดวงกลมเหลื่อมกันบนกระดานและเขียนบนวงกลมหนึ่งว่า พระคัมภีร์ไบเบิล และอีกวงหนึ่งว่า พระคัมภีร์มอรมอน สมาชิกชั้นเรียนจะเขียนความคล้ายคลึงระหว่างพระคัมภีร์สองเล่มนี้ในส่วนที่เหลื่อมกันและเขียนความต่างในส่วนอื่น (วีดิทัศน์เรื่อง “Bible and Book of Mormon” ที่ ChurchofJesusChrist.org ให้ข้อคิดหลายประการ) อีกทางเลือกหนึ่งคือท่านอาจจะเขียนความจริงพระกิตติคุณไว้หลายๆ ข้อบนกระดานและเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนดูใน คู่มือพระคัมภีร์ เพื่อหาข้อจากพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจความจริงเหล่านั้น

มอรมอน 8:1–11

เราซื่อสัตย์ได้แม้เมื่อเราโดดเดี่ยว

  • บางคนในชั้นเรียนของท่านอาจรู้สึกโดดเดี่ยวขณะพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ พวกเขาสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของโมโรไนที่จะช่วยพวกเขาได้ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน มอรมอน 8:1–11 และคิดคำถามที่พวกเขาอยากจะถามโมโรไนเพื่อให้รู้ว่าเขายังคงซื่อสัตย์แม้อยู่ในสถานการณ์ยากๆ ได้อย่างไร อะไรสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเกี่ยวกับแบบอย่างของโมโรไน ขณะสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันความคิด ให้พวกเขาเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อพวกเขาหรือคนรู้จักยังคงซื่อสัตย์แม้เมื่อรู้สึกโดดเดี่ยว พระเจ้าทรงช่วยพวกเขาอย่างไร

มอรมอน 8:26–41; 9:1–30

พระคัมภีร์มอรมอนเขียนเพื่อยุคสมัยของเรา

  • ขณะท่านใกล้จบการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนของปีนี้ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะใคร่ครวญว่าเหตุใดพวกเขาจึงรู้สึกว่าพระคัมภีร์เล่มนี้เขียนเพื่อยุคสมัยของเรา ท่านจะเริ่มการสนทนาโดยอ่านคำกล่าวของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนจะประยุกต์ใช้คำถามของประธานเบ็นสันกับ มอรมอน 8:26–41 เหตุใดพระเจ้าทรงดลใจโมโรไนให้รวมถ้อยคำเหล่านี้ไว้ในบันทึก ถ้อยคำเหล่านี้ช่วยเราในยุคสมัยของเราอย่างไร

  • ตามที่สอนไว้ใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว มอรมอน 9:1–30 ประกอบด้วยข่าวสารของโมโรไนต่อการขาดความเชื่อในพระเยซูคริสต์ในยุคสมัยของเรา ท่านอาจจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่มและให้แต่ละกลุ่มหาคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในข้อเหล่านี้: 1–6 (ผลของการไม่เชื่อในพระคริสต์) 7–20 (ความสำคัญของการเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าแห่งการเปิดเผยและปาฏิหาริย์) และ 21–30 (คำแนะนำที่โมโรไนให้เรา)

  • ถึงแม้ มอรมอน 9:1–6 เขียนไว้ให้ “คนที่ไม่เชื่อในพระคริสต์” แต่จะเป็นประโยชน์ต่อเราทุกคนถ้านึกภาพว่าวันหนึ่งเราจะยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา ขอให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวนข้อเหล่านี้ โดยมองหาคำหรือวลีที่บรรยายว่าวันนั้นคนชั่วจะรู้สึกอย่างไร เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเหล่านี้ สมาชิกชั้นเรียนอาจพบข้อคิดที่เป็นประโชน์ในเรื่องที่ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์เล่าใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”

  • คนมากมายทุกวันนี้เชื่อว่าปาฏิหาริย์ยุติแล้ว ท่านจะใช้คำสอนของโมโรไนช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเชื่อใน “พระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์” ได้อย่างไร ท่านอาจจะเริ่มโดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวน มอรมอน 9:7–26 และมองหาปาฏิหาริย์ที่โมโรไนขอให้เราเชื่อ เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและงานของพระองค์ในยุคสมัยของเรา เราต้องทำอะไรเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ (ดู มอรมอน 9:20–21) เราเคยเห็นปาฏิหาริย์อะไรบ้าง

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

สมาชิกในชั้นเรียนของท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าพวกเขาจะเพิ่มพูนศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ถ้าเคย ให้พวกเขาค้นคว้า อีเธอร์ 1–5 เพื่อหาวิธีช่วยให้ศรัทธาของพวกเขาเติบโต

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

พระคัมภีร์มอรมอนเขียนเพื่อยุคสมัยของเรา

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันกล่าวว่า

“ชาวนีไฟไม่เคยมีหนังสือเล่มนี้ ชาวเลมันสมัยโบราณก็ไม่เคยมี แต่มีไว้เพื่อเรา …

“ผู้เขียนหลักแต่ละท่านของพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานว่าท่านเขียนเพื่ออนุชนรุ่นหลัง [ดู 2 นีไฟ 25:21; เจคอบ 1:3; มอรมอน 7:1; 8:34–35] …

“หากท่านเหล่านั้นเห็นยุคของเราและเลือกสิ่งซึ่งจะมีคุณค่าต่อเรามากที่สุด นั่นมิใช่เหตุผลที่เราควรศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนหรอกหรือ เราควรถามตัวเราเสมอว่า ‘เหตุใดพระเจ้าทรงดลใจมอรมอน (หรือโมโรไนหรือแอลมา) ให้รวมเรื่องนั้นไว้ในบันทึกของท่าน ฉันสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรจากเรื่องนั้นเพื่อช่วยฉันดำเนินชีวิตในยุคสมัยนี้’” (“The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,” Ensign, Nov. 1986, 6)

เราไม่มีมลทินได้

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์เล่าเรื่องการเดินทางหกวันสมัยเป็นทหารวัยหนุ่มในรถไฟบรรทุกสินค้าที่ร้อนและมีควัน ไม่มีทางได้อาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า ที่สถานีหนึ่ง ทหารหิวโซเดินเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง

“ร้านนั้นแน่นมาก เราจึงต้องเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรอที่ว่าง ข้าพเจ้าเป็นคนแรก ยืนอยู่หลังผู้หญิงแต่งตัวดีบางคน แม้ไม่ได้หันมาดูแต่ผู้หญิงแต่งตัวภูมิฐานคนหนึ่งที่อยู่ข้างหน้าข้าพเจ้ารู้สึกได้ทันทีว่าพวกเราอยู่ตรงนั้น

“เธอเหลียวมามองพวกเรา จากนั้นก็หันมามองข้าพเจ้าตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่นั่นในเครื่องแบบเหม็นเหงื่อ สกปรก มีรอยเขม่า และยับยู่ยี่ เธอพูดด้วยน้ำเสียงแสดงความขยะแขยงว่า ‘ตายละ ทำไมถึงสกปรกอย่างนี้!” สายตาทุกคู่หันมามองเรา

“เห็นได้ชัดว่าเธอไม่อยากให้เรายืนอยู่ตรงนั้นเลย ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับเธอ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองสกปรก อึดอัด และน่าขายหน้า”

จากนั้นประธานแพคเกอร์อ้าง มอรมอน 9:4 และเปรียบเทียบประสบการณ์นี้กับความไม่สะอาดทางวิญญาณต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ท่านเป็นพยานว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เป็นวิธีเดียวที่ท่านจะสะอาดทางวิญญาณและกล่าวต่อจากนั้นว่า

“ท่านนึกภาพออกหรือไม่ว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไรเมื่อข้าพเจ้าเห็นในที่สุดว่าหากข้าพเจ้าทำตามเงื่อนไขใดก็ตามที่พระผู้ไถ่ทรงกำหนดไว้ ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องอดทนอยู่กับความปวดร้าวของการไม่สะอาดทางวิญญาณ ลองคิดถึงความรู้สึกดีอกดีใจ เป็นอิสระ และอุ่นใจที่จะมาถึงท่านเมื่อท่านเห็นความจริงของการชดใช้ และคุณค่าของการชดใช้ต่อท่านแต่ละคนในชีวิตประจำวัน” (“ถูกล้างสะอาดแล้ว,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 10–11)

ปรับปรุงการสอนของเรา

สวดอ้อนวอนให้สมาชิกชั้นเรียนของท่าน บางคนในชั้นเรียนของท่านกำลังต่อสู้ดิ้นรนหรือไม่ เฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงสวดอ้อนวอนให้เปโตร (ดู ลูกา 22:31–32) ท่านสามารถสวดอ้อนวอนให้คนที่ท่านสอนเข้มแข็งขึ้นเช่นกัน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 6)