จงตามเรามา
23–29 พฤศจิกายน อีเธอร์ 12–15: “ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์”


“23–29 พฤศจิกายน อีเธอร์ 12–15: ‘ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“23–29 พฤศจิกายน อีเธอร์ 12–15” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
อีเธอร์เข้าไปในถ้ำ

อีเธอร์ซ่อนอยู่ในซอกหิน โดย แกรีย์ เอิร์นเนสต์ สมิธ

23–29 พฤศจิกายน

อีเธอร์ 12–15

“ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์”

จุดประสงค์ของโครงร่างนี้ไม่ใช่เพื่อกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชั้นเรียน แต่เพื่อเสริม—ไม่ใช่แทนที่—การเปิดเผยส่วนตัว จงให้พระวิญญาณนำทางการศึกษาเป็นส่วนตัวและการเตรียมของท่าน แล้วดูว่ากิจกรรมในโครงร่างนี้จะช่วยให้สมาชิกค้นพบและแบ่งปันหลักธรรมสำคัญๆ ใน อีเธอร์ 12–15 ได้หรือไม่

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัว ท่านจะเขียนวลีต่างๆ บนกระดานเช่น “ฉันได้เรียนรู้ว่า …” “ฉันมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับ …” และ “ฉันเคยประสบ …” เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางสิ่งจาก อีเธอร์ 12–15 ที่จะทำให้ข้อความใดข้อความหนึ่งบนกระดานสมบูรณ์

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

อีเธอร์ 12:2–22

เราจะได้รับพยานถึงความจริงเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองความหมายของการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ท่านจะถามพวกเขาว่าพวกเขาเห็นภาพหรือนึกถึงคำพูดใดเมื่อได้ยินคำว่า ใช้ (ออกกำลัง) (ท่านอาจจะค้นหาคำนั้นในพจนานุกรม) การออกกำลังกายมีผลต่อร่างกายเราอย่างไร เราจะประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้กับศรัทธาได้อย่างไร เราจะ “ใช้ศรัทธา” ในพระคริสต์ในวิธีใด สมาชิกชั้นเรียนจะค้นคว้า อีเธอร์ 12:2–22 และสนทนาว่าผู้คนที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ใช้ศรัทธาอย่างไร เราจะทำตามแบบอย่างของพวกเขาได้อย่างไร ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ อะไรคือผลของการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

  • ตัวอย่างศรัทธาใน อีเธอร์ 12:7–22 ช่วยทบทวนเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจที่ท่านศึกษาด้วยกันมาแล้วในพระคัมภีร์มอรมอนได้เป็นอย่างดี สมาชิกชั้นเรียนอาจจะยกตัวอย่างอื่นของศรัทธาและสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากตัวอย่างเหล่านั้น (ตัวอย่างอื่นอยู่ใน ฮีบรู 11) พวกเขาจะยกตัวอย่างที่เปี่ยมด้วยศรัทธาจากประวัติครอบครัวหรือชีวิตพวกเขาเองด้วย ตัวอย่างเหล่านี้เสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์และพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร

  • อีเธอร์ 12 เต็มไปด้วยข้อคิดและความจริงเกี่ยวกับศรัทธา สมาชิกชั้นเรียนจะหาข้อในบทนี้ที่สอนพวกเขาเกี่ยวกับศรัทธา จากนั้นพวกเขาจะเขียนสิ่งที่ค้นพบไว้บนกระดาน

อีเธอร์ 12:1–9, 28, 32

ศรัทธานำไปสู่ “ความหวังสำหรับโลกที่ดีกว่า”

  • มีใครในชั้นเรียนจะอธิบายได้บ้างว่าเหตุใดสมอจึงสำคัญต่อเรือ ท่านจะให้ดูภาพเรือและสมอ (หรือวาดบนกระดาน) และสนทนาว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรือที่ไม่มีสมอ เกิดอะไรขึ้นกับเราเมื่อเราไม่มีความหวัง จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนจะอ่าน อีเธอร์ 12:4 และพูดคุยกันว่าความหวังเปรียบเสมือน “สมอให้จิตวิญญาณ [ของเรา]” อย่างไร พวกเขาจะอ่าน อีเธอร์ 12:1–9, 28 และ 32 ด้วยและแบ่งปันข้อคิดที่ได้เกี่ยวกับความหวัง เราควรหวังอะไร (ดู อีเธอร์ 12:4; โมโรไน 7:41; ดู ยอห์น 16:33 ด้วย)

อีเธอร์ 12:23–29

โดยผ่านพระคุณของพระเยซูคริสต์ สิ่งที่อ่อนแอจะกลับเข้มแข็ง

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนทำให้ความจริงที่โมโรไนเรียนรู้เกี่ยวกับความอ่อนแอและความเข้มแข็งใน อีเธอร์ 12 เป็นเรื่องใกล้ตัว ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงคนที่อาจจะรู้สึกท้อแท้เพราะความอ่อนแอของตน จากนั้นให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้า อีเธอร์ 12:23–29 เพื่อหาข่าวสารที่จะช่วยบุคคลนั้น ถ้าโมโรไนอยู่ที่นี่วันนี้ เขาจะพูดอะไรเพื่อให้กำลังใจบุคคลนั้น สมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตพวกเขาเองด้วยเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดได้ทรงช่วยให้ “สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา” (อีเธอร์ 12:27) การเปลี่ยนแปลงนี้แตกต่างอย่างไรจากการพยายามปรับปรุงตนเองที่บุคคลหนึ่งจะทำโดยไม่พึ่งพระผู้ช่วยให้รอด ดูหัวข้อนี้เพิ่มเติมได้จากคำกล่าวของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”

  • ประสบการณ์ของโมโรไนเป็นหนึ่งในหลายประสบการณ์ในพระคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นว่าพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเปลี่ยนความอ่อนแอเป็นความเข้มแข็งได้อย่างไร การแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มๆ น่าจะเป็นประโยชน์ มอบหมายให้แต่ละกลุ่มเลือกบางคนในพระคัมภีร์ที่มีความอ่อนแอ และสนทนาว่าพระเจ้าทรงทำให้บุคคลนั้นเข้มแข็งอย่างไร มีบางตัวอย่างเสนอไว้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ท่านอาจจะเสนอให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวนนิยามของพระคุณใน Bible Dictionary หรือ แน่วแน่ต่อศรัทธา (หน้า 182–184) ตัวอย่างพระคัมภีร์ที่พวกเขาศึกษาแสดงให้เห็นพลังแห่งพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร เราเชื้อเชิญพลังนี้เข้ามาในชีวิตเราอย่างไร

  • เป็นธรรมดาที่เราจะเปรียบเทียบความอ่อนแอของเรากับความเข้มแข็งที่มองเห็นของอีกคนหนึ่ง เพราะแม้แต่โมโรไนก็รู้สึกว่าเขาเปรียบเทียบอย่างไม่พึงใจกับพี่ชายของเจเร็ด (ดู อีเธอร์ 12:24) เหตุใดการเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่นจึงเป็นอันตราย ตามที่กล่าวไว้ใน อีเธอร์ 12:26–27 พระเจ้าทรงต้องการให้เรามองความอ่อนแอของเราอย่างไร (ดูคำกล่าวของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) พระองค์ทรงต้องการให้เรามองความอ่อนแอของผู้อื่นอย่างไร (ดู อีเธอร์ 12:26)

อีเธอร์ 13–15

การปฏิเสธศาสดาพยากรณ์ก่อให้เกิดอันตรายทางวิญญาณ

  • เมื่อพิจารณาความจริงสำคัญๆ ที่สอนใน อีเธอร์ 12 ท่านอาจจะเลือกใช้เวลาในชั้นเรียนไม่มากกับ บทที่ 13–15 แต่การขอให้สมาชิกชั้นเรียนสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในบทเหล่านี้พอสังเขปอาจเป็นประโยชน์ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนพบข่าวสารที่มีความหมายในเรื่องนี้ ท่านจะขอให้พวกเขาเติมวลี “เราจึงเห็นดังนั้น …” ให้สมบูรณ์โดยใช้บทเรียนที่พวกเขาเรียนรู้จากการล่มสลายของชาวเจเร็ด การล่มสลายของชาวเจเร็ดคล้ายกับการล่มสลายของชาวนีไฟอย่างไร (ดูตัวอย่างใน อีเธอร์ 15:19 และ โมโรไน 8:28) พระเจ้าทรงต้องการให้เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องเหล่านี้ และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงชะตากรรมของชาวเจเร็ด สมาชิกชั้นเรียนจะทบทวนด้วยว่าตอนจบของหนังสืออีเธอร์เชื่อมโยงกับ ออมไน 1:19–22; โมไซยาห์ 8:8; และ โมไซยาห์ 28:11–18 อย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

สัปดาห์หน้าสมาชิกชั้นเรียนจะเริ่มศึกษาหนังสือของโมโรไน พวกเขาอาจจะอยากรู้ว่าเดิมทีโมโรไนไม่มีแผนจะเขียนสิ่งใดเพิ่มต่อจากหนังสือของอีเธอร์ แต่เขามีชีวิตนานกว่าที่เขาคาด สัปดาห์นี้พวกเขาจะเริ่มอ่านข้อความสุดท้ายที่โมโรไนได้รับการดลใจให้เขียนก่อนสิ้นชีวิต

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ความก้าวหน้าทางวิญญาณเรียกร้องให้มองเห็นความอ่อนแอของเรา

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แสดงความเห็นเกี่ยวกับ อีเธอร์ 12:27 โดยสอนว่า “โมโรไนกล่าวว่าเมื่อท่าน ‘ได้ยินถ้อยคำเหล่านี้’ ท่าน ‘ได้รับการปลอบโยน’ (อีเธอร์ 12:29) ถ้อยคำเหล่านี้สามารถปลอบโยนเราทุกคน ผู้ไม่เห็นความอ่อนแอของตนย่อมไม่ก้าวหน้า การรับรู้ความอ่อนแอของท่านเองเป็นพรเพราะจะช่วยให้ท่านยังคงนอบน้อมถ่อมตนและหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอด พระวิญญาณไม่เพียงปลอบโยนท่านเท่านั้น แต่พระองค์ทรงเป็นตัวแทนที่ทำให้การชดใช้เกิดผลและเปลี่ยนตัวตนของท่านด้วย แล้วสิ่งที่อ่อนแอจะกลับเข้มแข็ง” (ดู “เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 16)

ตัวอย่าง: คนอ่อนแอถูกทำให้เข้มแข็ง

ปรับปรุงการสอนของเรา

สอนว่า “เพราะเหตุใด” “บางครั้งผู้เรียน—โดยเฉพาะเยาวชน—สงสัยว่าหลักธรรมพระกิตติคุณเกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไรหรือเหตุใดพวกเขาจึงควรรักษาพระบัญญัติบางข้อ อย่างไรก็ตาม ถ้าพวกเขาเข้าใจแผนนิรันดร์ของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับความสุขของบุตรธิดาพระองค์ เหตุผลสำหรับหลักธรรมพระกิตติคุณและพระบัญญัติจะเห็นชัดขึ้นและแรงจูงใจให้เชื่อฟังจะเพิ่มขึ้น” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 20)