จงตามเรามา
1–7 มิถุนายน แอลมา 5–7: “ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?”


“1–7 มิถุนายน แอลมา 5–7: ‘ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“1–7 มิถุนายน แอลมา 5–7” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
พระเยซูทรงอุ้มลูกแกะ

เราไม่ลืมเจ้า โดย จอน แม็คนอตัน

1–7 มิถุนายน

แอลมา 5–7

“ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?”

ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 5–7 ให้นึกถึงสมาชิกชั้นเรียนที่เป็นแบบอย่างของคำสอนในบทเหล่านี้ คิดหาวิธีที่ท่านจะช่วยให้พวกเขามีส่วนในการสนทนาวันอาทิตย์ของท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีนึกถึงสิ่งที่พวกเขาอ่านใน แอลมา 5–7 และหาความจริงที่พวกเขาต้องการแบ่งปันในชั้นเรียน จากนั้นขอให้พวกเขาแบ่งปันกับคนที่นั่งข้างๆ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

แอลมา 5:14–33

เราต้องประสบ—และยังคงรู้สึกถึง—การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ

  • สมาชิกชั้นเรียนได้รับการเชื้อเชิญให้ใคร่ครวญคำถามใน แอลมา 5:14–33 ใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ท่านอาจจะเริ่มการสนทนาข้อเหล่านี้โดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าคำถามจากข้อเหล่านี้มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร จากนั้นท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทำงานเป็นกลุ่มเพื่อทบทวน แอลมา 5:14–33 และค้นพบว่าการประสบการเปลี่ยนแปลงในใจผ่านพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์หมายความว่าอย่างไร พวกเขาอาจจะมองหาพรซึ่งมาจากใจที่เปลี่ยนแล้วเช่นกัน มีอุปลักษณ์อะไรอีกบ้างที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่แอลมาพูดถึง (ดูตัวอย่างใน ยอห์น 3:1–7; 2 โครินธ์ 5:17; เดล จี. เรนลันด์ “ดำรงการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 119–122) เรารักษาการเปลี่ยนแปลงในใจไว้ตลอดชีวิตเราอย่างไร (ดู แอลมา 5:26)

    ภาพ
    เด็กหญิงสวดอ้อนวอนข้างเตียง

    เมื่อเราหันไปหาพระเจ้า เราจะประสบ “การเปลี่ยนแปลงในใจ”

แอลมา 5:44–51

เราสามารถได้รับพยานของเราเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เช่นเดียวกับแอลมา สมาชิกในชั้นเรียนของท่านได้รับประจักษ์พยานของตนเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ เพื่อช่วยให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งที่แอลมาทำเพื่อได้รับพยานผ่านพระวิญญาณ ท่านจะแจกแผ่นกระดาษที่เขียนว่า ประจักษ์พยาน ไว้ด้านบน สมาชิกชั้นเรียนจะทบทวน แอลมา 5:44–51 กับคู่และใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในข้อเหล่านี้เขียน “ตำรา” สำหรับประจักษ์พยาน ตัวอย่างเช่น “ส่วนผสม” ของตำรานี้อาจได้แก่ความจริงต่างๆ ที่ประกอบเป็นประจักษ์พยานของเรา “คำแนะนำ” สำหรับตำรานี้ได้แก่สิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้มีประจักษ์พยาน (ดูแนวคิดบางประการจากข่าวสารของเอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) พวกเขาจะเพิ่ม “ส่วนผสม” และ “คำแนะนำ” อะไรเข้าไปในตำราของพวกเขาจากประสบการณ์ของตนเองหรือของผู้อื่นในพระคัมภีร์ เชื้อเชิญให้คู่แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เพื่ออัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นพยานต่อพวกเขาถึงความจริง

แอลมา 6

เราในฐานะวิสุทธิชนมาชุมนุมกันเพื่อฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและทำงานของพระองค์

  • เพื่อเตือนสมาชิกชั้นเรียนเกี่ยวกับความสำคัญของการชุมนุมกันเป็นกลุ่มวิสุทธิชน ท่านจะเชื้อเชิญให้พวกเขาสมมติว่าคนที่พวกเขารู้จักรู้สึกว่าการเป็นสมาชิกของศาสนจักรไม่จำเป็น พวกเขาจะแบ่งปันอะไรจาก แอลมา 6 เพื่อสอนบุคคลนี้เกี่ยวกับพรบางประการของการเป็นสมาชิกศาสนจักร เราจะทำให้บรรลุจุดประสงค์ของการชุมนุมกันที่แอลมาพูดถึงมากขึ้นได้อย่างไร

แอลมา 7:7–16

พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุกข์ของเราไว้กับพระองค์

  • อาจจะมีคนในชั้นเรียนของท่านที่ต้องรู้สิ่งที่ แอลมา 7:7–16 สอนโดยด่วน—ว่าพระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงรับเอาบาปของเราไว้เท่านั้น แต่ทรงรับเอาความเจ็บปวด ความทุกข์ ความเจ็บไข้ และความทุพพลภาพของเราไว้ด้วย ท่านจะช่วยให้พวกเขาค้นพบสิ่งนี้อย่างไร ท่านอาจจะทำแผนภูมิบนกระดานโดยมีหัวข้อ สิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์ และ สาเหตุที่พระองค์ทรงทนทุกข์ ชั้นเรียนจะเติมแผนภูมิให้ครบถ้วนหลังจากอ่าน แอลมา 7:7–16 อาจช่วยได้เช่นกันถ้าพิจารณาสิ่งอื่นที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์ในระหว่างพระชนม์ชีพของพระองค์ (ดูตัวอย่างใน “แหล่งข้อมูลอ้างอิง”)

  • หลังจากสนทนาสิ่งที่แอลมาสอนใน แอลมา 7:7–16 แล้ว สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเหลือพวกเขา ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงช่วยพวกเขา (ดูตัวอย่างวิธีที่พระเยซูทรงช่วยเหลือเราใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) ท่านอาจจะแบ่งปันคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้ของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ด้วย “พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยว่าพระองค์ ‘เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง’ (ค&พ. 88:6) … เราอาจบอกได้ว่าการเสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงทำให้พระองค์ทรงอยู่ในตำแหน่งสมบูรณ์ที่สุดที่จะยกเราและประทานพละกำลังที่เราต้องมีเพื่ออดทนต่อความทุกข์ของเรา เราเพียงแต่ต้องขอ” (“จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 64)

  • แอลมาประกาศว่าการเสด็จมาของพระผู้ไถ่ “สำคัญกว่า” สิ่งอื่น สมาชิกชั้นเรียนจะสมมติว่าพวกเขาอยู่ในชั้นเรียนประวัติศาสตร์กำลังสนทนาเหตุการณ์สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ พวกเขาอยากแบ่งปันข้อใดจาก แอลมา 7 เพื่อสนับสนุนคำอ้างของแอลมาใน ข้อ 7 แอลมาให้คำแนะนำอะไรแก่ผู้คนของเขาที่สามารถช่วยเราเตรียมรับการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน แอลมา 8–12 ท่านอาจจะแบ่งปันกับพวกเขาว่าบทเหล่านี้เล่าเรื่องชายสองคน คนหนึ่งเฉยเมยไม่สนใจศาสนจักร และอีกคนเป็นผู้ข่มเหงใจกล้า แต่ทั้งคู่กลายเป็นผู้กล้าปกป้องความเชื่อ

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

การมีประจักษ์พยานของเราเอง

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟให้รูปแบบพระคัมภีร์ต่อไปนี้สำหรับการ “ได้รับประจักษ์พยานส่วนตัวที่หยั่งรากลึกในคำพยานถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์”:

หนึ่ง: ปรารถนาที่จะเชื่อ พระคัมภีร์มอรมอนกระตุ้นเราดังนี้ ‘หากท่านจะตื่นและปลุกพลังของท่าน, แม้มาสู่การทดลองคำพูดข้าพเจ้า, และใช้อนุภาคหนึ่งของศรัทธา, … แม้หาก [ท่าน] ทำไม่ได้มากไปกว่าปรารถนาที่จะเชื่อ’ (แอลมา 32:27) … พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาความช่วยเหลือจากเบื้องบนให้เรา แม้เราจะมีเพียงความปรารถนาที่จะเชื่อ แต่จะต้องเป็นความปรารถนาที่แท้จริงไม่ใช่เสแสร้ง

สอง: ค้นคว้าพระคัมภีร์ ถ้ามีคำถามขอให้ท่านศึกษาหาคำตอบในพระคัมภีร์ พระคัมภีร์มอรมอนมีคำแนะนำที่ดีให้เรา ‘หาก [ท่าน] ให้ที่เพื่อจะปลูกเมล็ดพืชในใจของท่าน’ ผ่านการศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างขยันหมั่นเพียร เมล็ดดี ‘จะเริ่มพองอยู่ในอกของท่าน’ หากท่านไม่ต่อต้านด้วยความไม่เชื่อ เมล็ดดีนี้จะ ‘ทำให้จิตวิญญาณ [ของท่าน] ขยาย’ และ ‘ทำให้ความเข้าใจ [ของท่าน] สว่าง’ (แอลมา 32:28)

สาม: ทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าโดยการรักษาพระบัญญัติ … เราจะต้องมาหาพระคริสต์และทำตามคำสอนของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า ‘คำสอนของเราไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นของผู้ทรงใช้เรามา ถ้าผู้ใด ตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์ ผู้นั้นก็จะรู้ … คำสอนนั้น’ [ยอห์น 7:16–17; เน้นตัวเอน] …

สี่: ไตร่ตรอง อดอาหาร และสวดอ้อนวอน เพื่อจะรับความรู้จากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราต้องทูลขอความรู้นั้นจากพระบิดาบนสวรรค์ [ดู แอลมา 5:45–46; โมโรไน 10:3–4]” (“พลังของประจักษ์พยานส่วนตัว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 48–49)

พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์อะไร

พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบความทุกข์อะไรอีก

พระเยซูคริสต์ทรงช่วยเหลือเราอย่างไร

พระเยซูทรงช่วยเหลือเราในด้านใดอีกบ้าง

ปรับปรุงการสอนของเรา

ปรับปรุงการเป็นครูเหมือนพระคริสต์ ในฐานะครู สำคัญที่ต้องไตร่ตรองวิธีที่ท่านสามารถช่วยให้ผู้เรียนสร้างศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ท่านอาจจะใช้คำถามประเมินตนเองใน หน้า 37 ของ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ท่าน