จงตามเรามา
8–14 มิถุนายน แอลมา 8–12: พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาไถ่ผู้คนของพระองค์


“8–14 มิถุนายน แอลมา 8–12: พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาไถ่ผู้คนของพระองค์” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“8–14 มิถุนายน แอลมา 8–12” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
แอลมาสั่งสอน

สอนหลักคำสอนที่แท้จริง โดยไมเคิล ที. มาล์ม

8–14 มิถุนายน

แอลมา 8–12

พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาไถ่ผู้คนของพระองค์

เริ่มการเตรียมสอนของท่านโดยศึกษา แอลมา 8–12 จากนั้นทบทวนแนวคิดเพิ่มเติมจากโครงร่างนี้ที่จะกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในการศึกษาของพวกเขา

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีใคร่ครวญการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัวของพวกเขาสัปดาห์นี้ การศึกษาของพวกเขามีผลต่อการเลือกที่พวกเขาทำระหว่างสัปดาห์อย่างไร เชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

แอลมา 8

การพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณอาจเรียกร้องความบากบั่นอดทน

  • คนมากมายพบว่าการแบ่งปันพระกิตติคุณทำได้ยาก—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขารู้สึกถูกปฏิเสธเหมือนแอลมา แบบอย่างของแอลมาจะช่วยให้พวกเขาวางใจพระผู้เป็นเจ้าและกล้าแบ่งปันประจักษ์พยานกับผู้อื่นต่อไป พิจารณาคำถามสนทนาต่อไปนี้: เราเรียนรู้อะไรจากข่าวสารของเทพต่อแอลมาใน แอลมา 8:15 ตามที่พบใน แอลมา 8:14–32 ปฏิกิริยาของแอลมาต่อข่าวสารเป็นแรงบันดาลใจให้เราแบ่งปันพระกิตติคุณต่อไปแม้เมื่อเราถูกปฏิเสธอย่างไร เราจะให้คำแนะนำอะไรกับคนที่พยายามแบ่งปันพระกิตติคุณแต่ถูกปฏิเสธ คำแนะนำของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจช่วยในการสนทนาเรื่องนี้

  • เรื่องราวของแอลมากับอมิวเล็คแสดงให้เห็นว่าความพยายามของสมาชิกสำคัญเพียงใดต่องานเผยแผ่ศาสนา สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้อะไรจาก แอลมา 8:19–30 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในท้องที่กับผู้สอนศาสนาเต็มเวลา (ดู แอลมา 10:1–12ด้วย)

    ภาพ
    สองครอบครัวพบกัน

    การแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนที่เรารักเป็นประสบการณ์อันเปี่ยมปีติ

แอลมา 9:18–30

พระผู้เป็นเจ้าทรงพิพากษาบุตรธิดาของพระองค์ตามความสว่างและความรู้ที่พวกเขามี

  • มีคำเตือนที่จริงจังในข้อเหล่านี้ถึงสมาชิกทุกคนของศาสนจักร—เมื่อเราได้รับความสว่างและความรู้แล้ว เราถูกคาดหวังให้เห็นคุณค่า บำรุงเลี้ยง ดำเนินชีวิตตาม และใช้เพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนสำรวจความคาดหวังนี้ ท่านอาจจะขอให้พวกเขาอ่านคำสอนของแอลมาใน แอลมา 9:18–30 และแบ่งปันข่าวสารที่พบเกี่ยวกับความรับผิดชอบที่พวกเขามีเพราะสิ่งที่พวกเขารู้ เหตุใดจึงมีการกล่าวโทษที่หนักกว่าเดิมเมื่อเราทำบาปต่อความสว่างที่เจิดจ้ากว่า ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อซื่อตรงมากขึ้นต่อความสว่างและความรู้ที่พวกเขาได้รับแล้ว ท่านอาจจะเสนอแนะให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:24 ขณะพวกเขาไตร่ตรอง

แอลมา 11–12

แผนของพระผู้เป็นเจ้าคือแผนแห่งการไถ่

  • ท่านอาจจะเริ่มการสนทนาหลักคำสอนนี้โดยเชิญสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งออกมาวาดแผนภาพของแผนแห่งการไถ่บนกระดาน จากนั้นท่านจะแบ่ง แอลมา 11–12 เป็นตอนๆ ให้สมาชิกชั้นเรียนและให้พวกเขามองหาความจริงที่จะเติมเข้าไปในแผนภาพ ตัวอย่างเช่น แผนของพระผู้เป็นเจ้าไถ่เราจากอะไร (ดู แอลมา 11:38–45) การรู้ความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับแผนแห่งการไถ่เป็นพรแก่ชีวิตเราอย่างไร

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่า แอลมา 11–12 สอนอะไรพวกเขาเกี่ยวกับแผนแห่งการไถ่ ท่านอาจจะเขียนหัวข้อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: การตก พระผู้ไถ่ การกลับใจ ความตาย การฟื้นคืนชีวิต และ การพิพากษา สมาชิกชั้นเรียนจะเลือกหนึ่งหัวข้อและค้นคว้า แอลมา 11–12 เพื่อหาความจริงที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อนั้น เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนความจริงที่พวกเขาพบพร้อมพระคัมภีร์อ้างอิงไว้ใต้หัวข้อที่เหมาะสมบนกระดาน ให้ชั้นเรียนสนทนาว่าการรู้ความจริงเหล่านี้มีผลต่อชีวิตเราและการตัดสินใจที่เราทำอย่างไร

  • สมาชิกชั้นเรียนของท่านอาจได้ประโยชน์จากการสนทนา แอลมา 12:31–32 ที่แอลมาสอนว่าหลังจากการตก พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติให้อาดัมกับเอวา—แต่ หลังจาก ทรงสอนแผนของพระองค์ให้พวกท่านแล้วเท่านั้น การรู้เรื่องแผนส่งผลอย่างไรต่อวิธีที่เรามองหรือรู้สึกเกี่ยวกับพระบัญญัติ ท่านอาจจะพูดถึงพระบัญญัติบางข้อ เช่น การรู้เรื่องแผนของพระผู้เป็นเจ้าช่วยเรารักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์หรือเชื่อฟังกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศอย่างไร

  • สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจมีคำถามเกี่ยวกับ แอลมา 11:26–39 ที่อมิวเล็คกล่าวว่ามีพระผู้เป็นเจ้าเดียว พระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้ชี้แจงว่าสมาชิกในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์เป็น “พระผู้เป็นเจ้าเดียว” ขณะยังคงเป็นคนละองค์แยกกันอย่างไร: ยอห์น 17:20–23; 2 นีไฟ 31:21; และ 3 นีไฟ 19:29 คำกล่าวนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์อาจจะช่วยได้เช่นกัน “เราเชื่อว่าทั้งสามพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวในทุกแง่มุมที่สำคัญและเป็นนิรันดร์ที่พอจะนึกออก แต่ไม่ เชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นสามพระบุคคลที่รวมกันเป็นร่างเดียว” (ดู “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 49)

แอลมา 12:9–14

ถ้าเราจะไม่ทำใจแข็งกระด้าง เราจะได้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

  • ข่าวสารเรื่องหนึ่งที่แอลมากับอมิวเล็คสอนหลายครั้งคือสภาพของใจเรามีอิทธิพลต่อความจริงมากน้อยเพียงไรที่เราได้รับจากพระเจ้า เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนค้นพบความจริงของหลักธรรมนี้ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาจับคู่กันอ่าน แอลมา 12:9–14 หรืออ่านเป็นกลุ่มเล็ก และสนทนาผลของการมีใจแข็งกระด้าง (ท่านอาจจะขอให้พวกเขาอ่าน แอลมา 8:9–11; 9:5, 30–31; และ 10:6, 25ด้วย) การมีใจอ่อนโยนหมายความว่าอย่างไร (ดู เยเรมีย์ 24:7; แอลมา 16:16; ฮีลามัน 3:35) ใจที่อ่อนโยนช่วยให้เราเข้าใจพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าดีขึ้น

  • แอลมาสอนว่าเมื่อเราทำใจแข็งกระด้าง เราได้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า “น้อยลง” (แอลมา 12:10) สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันประสบการณ์จากพระคัมภีร์ที่อธิบายหลักธรรมนี้ พระเจ้าทรงทำให้ใจเราอ่อนลงเพื่อเราจะยังคงเรียนรู้จากพระองค์ได้มากขึ้นอย่างไร เราจะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวอะไรได้บ้าง

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจความหมายของการมีใจอ่อนโยน ท่านอาจจะแบ่งปันบางตัวอย่างใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน แอลมา 13–16 สัปดาห์นี้ ท่านจะบอกพวกเขาว่าพวกเขาจะค้นพบว่าถ้อยคำของแอลมาเกิดสัมฤทธิผลในชีวิตของซีเอสรอมและผู้คนของแอมันไนฮาห์อย่างไร

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

กล้ายืนหยัด

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ให้กำลังใจคนที่ถูกปฏิบัติไม่ดีเพราะแบ่งปันหรือปกป้องพระกิตติคุณดังนี้

“หากท่านยังไม่ได้อยู่ในจุดนั้น วันหนึ่งท่านจะพบตนเองถูกเรียกร้องให้ปกป้องศรัทธาของท่าน หรือบางทีแม้กระทั่งอดทนรับการข่มเหงส่วนตัวบางอย่างเพียงเพราะว่าท่านเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ช่วงเวลาเช่นนั้นจะต้องใช้ทั้งความกล้าหาญและมารยาทในส่วนของท่าน

“… ท่านอาจสงสัยว่าจะคุ้มค่าหรือไม่หากต้องกล้ายืนหยัดเพื่อผดุงศีลธรรมในโรงเรียนหรือไปรับใช้งานเผยแผ่เพียงเพื่อให้คนอื่นมาดูหมิ่นความเชื่อที่เรายึดมั่นที่สุด หรือต้องต่อสู้ในสังคมที่บางครั้งเย้ยหยันชีวิตที่อุทิศตนเพื่อศาสนา ใช่ สิ่งนี้คุ้มค่า …

“มิตรทั้งหลาย โดยเฉพาะมิตรรุ่นเยาว์ของข้าพเจ้า จงกล้าเถิด ความรักอันบริสุทธิ์เหมือนพระคริสต์ซึ่งหลั่งไหลมาจากความชอบธรรมที่แท้จริงสามารถเปลี่ยนโลกได้ …

“จงเข้มแข็ง ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างซื่อสัตย์ แม้ผู้คนรอบข้างไม่ได้ทำเช่นนั้นเลยก็ตาม ปกป้องความเชื่อของท่านด้วยมารยาทและการุณยธรรม แต่จงปกป้อง” ( “ราคา—และพร—ของการเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 6–9)

ใจพวกเขาอ่อนลง

คำปราศรัยจากการประชุมใหญ่สามัญต่อไปนี้ให้ตัวอย่างคนที่ใจพวกเขาอ่อนลงเพราะพระเจ้า

  • เรื่องราวของครอบครัวแฮทฟิลด์ในข่าวสารของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเรื่อง “ความมีค่าควรในพลังฐานะปุโรหิต” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 66-67)

  • เรื่องราวของฮาโรลด์ กอลลาเชอร์ในข่าวสารของประธานโธมัส เอส. มอนสันเรื่อง “การเรียกอันศักดิ์สิทธิ์แห่งการรับใช้” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 69)

  • เรื่องราวของเดวิดในข่าวสารของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟเรื่อง “เรียนรู้จากแอลมาและอมิวเล็ค” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 73–74)

ปรับปรุงการสอนของเรา

มองผ่านพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า พยายามมองสมาชิกชั้นเรียนของท่านเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทรงมองพวกเขา และพระวิญญาณจะทรงแสดงให้ท่านเห็นคุณค่าและศักยภาพอันสูงส่งของพวกเขา ขณะทำเช่นนี้ ท่านจะได้รับการนำทางในความพยายามช่วยพวกเขา (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด 6)