จงตามเรามา
15–21 มิถุนายน แอลมา 13–16: “เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า”


“15–21 มิถุนายน แอลมา 13–16: ‘เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“15–21 มิถุนายน แอลมา 13–16” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
แอลมากับอมิวเล็คเดินออกจากเรือนจำ

ภาพประกอบของแอลมากับอมิวเล็คได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำ โดย แอนดรูว์ บอสลีย์

15–21 มิถุนายน

แอลมา 13–16

“เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า”

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันยั่งยืนเรียกร้องมากว่าบทเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ที่สร้างแรงบันดาลใจสัปดาห์ละครั้ง จงกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแสวงหาประสบการณ์ส่วนตัวทางวิญญาณตลอดสัปดาห์

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

อะไรน่าจะกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้แบ่งปันประสบการณ์กับการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณให้กัน ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันข้อคิดที่พบใน แอลมา 13–16 ที่ทำให้พวกเขาประหลาดใจหรือพวกเขาไม่เคยคิดมาก่อน ขณะพวกเขาแบ่งปัน ถามพวกเขาว่าพวกเขารู้สึกว่าข้อคิดใหม่นี้จะสร้างความแตกต่างอย่างไรในชีวิตพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

แอลมา 13:1–19

ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตช่วยให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าได้รับการไถ่ผ่านพระเยซูคริสต์

  • สมาชิกบางคนในชั้นเรียนของท่านอาจพบบางอย่างที่ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของฐานะปุโรหิตมากขึ้นขณะพวกเขาศึกษา แอลมา 13 เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ ท่านอาจจะอ่าน ข้อ 2 และ 16 ด้วยกันและถามคำถามเช่น “ฐานะปุโรหิตและศาสนพิธีฐานะปุโรหิตช่วยให้ท่าน ‘ตั้งตารอพระบุตร [ของพระผู้เป็นเจ้า] เพื่อการไถ่’ อย่างไร” รายชื่อศาสนพิธีใน แน่วแน่ต่อศรัทธา, 207–208 อาจจะเป็นประโยชน์

    ภาพ
    เยาวชนชายที่โต๊ะศีลระลึก

    ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตช่วยให้เราหมายพึ่งการไถ่จากพระเยซูคริสต์

  • คนจำนวนมากในแอมันไนฮาห์เป็นผู้ติดตามนีฮอร์ผู้สอนแนวคิดผิดๆ เกี่ยวกับบทบาทของปุโรหิต เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะแท้จริงของฐานะปุโรหิต ท่านอาจจะขอให้พวกเขาเปรียบเทียบทัศนะของนีฮอร์เกี่ยวกับสิ่งที่ปุโรหิตควรทำ (ดู แอลมา 1:3–6) กับสิ่งที่แอลมาสอน (ดู แอลมา 13:1–12) คำสอนของนีฮอร์คล้ายกับทัศนะของโลกในด้านใดเกี่ยวกับอำนาจและการเป็นผู้นำ คำสอนของแอลมาต่างออกไปอย่างไร

  • การอ่าน แอลมา 13:1–19 อาจจะนำไปสู่การสนทนาเรื่องการถูก “เตรียมไว้นับจากการวางรากฐานของโลก” ให้พร้อมทำความรับผิดชอบของเราในงานของพระเจ้า แอลมา 13:3 บอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรมองหรือปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้ (ดู คพ. 138:56 ด้วย)

แอลมา 13

พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระองค์

  • แอลมาสอนว่าฐานะปุโรหิตช่วยให้เรา “เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า” (แอลมา 13:16) เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดนี้ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน แอลมา 13:6, 12–13, 16, และ 29 และแบ่งปันว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับ “สถานพักผ่อนของพระเจ้า” พวกเขาอาจจะบอกลักษณะของคนที่ “เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า” ด้วย เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อประสบสถานพักผ่อนของพระเจ้าในช่วงชีวิตมรรตัยของเรา

แอลมา 14

ในเวลาของการทดลองและความเศร้าสลด เราต้องวางใจพระเจ้า

  • แอลมา 14 อาจจะเป็นโอกาสให้สนทนาว่าเราจะตอบสนองอย่างซื่อสัตย์ได้อย่างไรเมื่อเราหรือคนที่เรารักประสบการข่มเหงหรือการทดลองทั้งที่เราพยายามเป็นคนชอบธรรม ท่านอาจจะเริ่มโดยเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสมมติว่าพวกเขาเป็นนักข่าวกำลังรายงานเหตุการณ์ใน แอลมา 14 พวกเขาจะถามคำถามแบบใดกับแอลมาหรืออมิวเล็คเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ตัวอย่างเช่น “เหตุใดพระเจ้าทรงยอมให้คุณกับคนชอบธรรมคนอื่นๆ ประสบความทุกข์” หรือ “คุณมีคำแนะนำอะไรให้คนที่กำลังประสบการทดลองยากๆ” ตามที่เรารู้จาก แอลมา 14 แอลมาหรืออมิวเล็คจะตอบคำถามเหล่านี้ว่าอย่างไร

  • พวกเราส่วนใหญ่สามารถเชื่อมโยงได้บ้างกับความรู้สึกของอมิวเล็คเมื่อเขาเห็นความทุกข์ทรมานของคนซื่อสัตย์ในแอมันไนฮาห์ นั่นคือ เรา “เจ็บปวดด้วย” (แอลมา 14:10) และเราปรารถนาว่าเราจะทำบางอย่างเกี่ยวกับความทุกข์นั้น เราเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่แอลมากล่าวในสถานการณ์นี้ (ดู แอลมา 14:8–13) ท่านอาจจะแบ่งปันคำกล่าวของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” สมาชิกชั้นเรียนอาจจะสรุปข่าวสารหลักจากคำกล่าวของประธานคิมบัลล์ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง

แอลมา 15:16, 18

การเป็นสานุศิษย์เรียกร้องการเสียสละ

  • โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว บอกสิ่งที่อมิวเล็คยอมทิ้งและสิ่งที่เขาได้เมื่อเขาน้อมรับพระกิตติคุณ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะยินดีแบ่งปันรายการที่พวกเขาเขียนไว้ หรือพวกเขาอาจจะเขียนด้วยกันในชั้น พระคัมภีร์เหล่านี้จะช่วยได้: แอลมา 10:4–5; 15:16, 18; 16:13–15; และ 34:8 เหตุใดอมิวเล็คจึงเต็มใจเสียสละเช่นนั้น เหตุใดเราจึงเต็มใจทำเช่นนั้น เราจะทำตามแบบอย่างของแอลมาผู้ “ทำให้ [อมิวเล็ค] มั่นคงขึ้นในพระเจ้า” ได้อย่างไร

แอลมา 16:1–10

ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์จะเกิดสัมฤทธิผล

  • แอลมา 16 ยกตัวอย่างคนที่วางใจศาสดาพยากรณ์และคนที่ไม่วางใจ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากตัวอย่างเหล่านี้ ท่านอาจจะเขียนสองหัวข้อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: โซรัม และ ผู้คนของแอมันไนฮาห์ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่าน แอลมา 16:1–10 เขียนคำและวลีที่พูดถึงเจตคติของคนเหล่านี้ต่อถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์แอลมาไว้ใต้แต่ละหัวข้อ เรากำลังทำอะไรเพื่อแสดงให้พระบิดาบนสวรรค์เห็นว่าเรามีศรัทธาในถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ท่านอาจจะถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาเคยปรารถนาให้ตนแบ่งปันพระกิตติคุณได้ดีขึ้นหรือไม่ การอ่าน แอลมา 17–22 สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเกิดแนวคิดที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงยับยั้งโศกนาฏกรรมเสมอไป

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมมากมายที่เกิดขึ้นในโลกซึ่งดูเหมือนอธิบายไม่ได้ ดังนี้

“พระเจ้าทรงยับยั้งโศกนาฏกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่ คำตอบคือได้ พระเจ้าทรงมีพระพลานุภาพอันไพศาล มีพลังอำนาจทั้งหมดที่จะควบคุมชีวิตเรา ช่วยให้เรารอดพ้นจากความเจ็บปวด ป้องกันอุบัติเหตุทุกอย่าง … แม้ [ป้องกันเรา] จากความตายถ้าพระองค์ประสงค์จะทำ แต่พระองค์จะไม่ทรงทำเช่นนั้น …

“ถ้าคนป่วยทุกคนหายดีเมื่อเราสวดอ้อนวอน ถ้าคนชอบธรรมทุกคนได้รับความคุ้มครองและคนชั่วถูกทำลาย โปรแกรมทั้งหมดของพระบิดาย่อมเป็นโมฆะและหลักธรรมเบื้องต้นแห่งพระกิตติคุณกับสิทธิ์เสรีย่อมสิ้นสุด และไม่มีมนุษย์คนใดต้องดำเนินชีวิตด้วยศรัทธา …

“… ถ้าเราปิดประตูรับความเศร้าโศกและความอาดูร เราอาจจะกีดกันเพื่อนที่ยอดเยี่ยมที่สุดและผู้มีพระคุณของเราออกไป ความทุกข์ยากจะทำให้ผู้คนเป็นวิสุทธิชนขณะพวกเขาเรียนรู้ความอดทน ความอดกลั้น และการเป็นนายตนเอง …

“… ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งที่แม้จะผ่านฐานะปุโรหิตข้าพเจ้าก็ไม่สามารถรักษาคนป่วยทุกคนให้หายได้ ข้าพเจ้าอาจจะรักษาคนที่ควรเสียชีวิตให้หายได้ ข้าพเจ้าอาจจะบรรเทาทุกข์ผู้ที่ควรทนทุกข์ได้ แต่ข้าพเจ้าเกรงว่าจะทำให้จุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าล้มเหลว

“หากข้าพเจ้ามีพลังไร้ขีดจำกัด แต่มีวิสัยทัศน์และความเข้าใจจำกัด ข้าพเจ้าอาจจะช่วยชีวิตอบินาไดจากแปลวไฟเมื่อท่านถูกเผาทั้งเป็น และในการทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าอาจทำให้ท่านเสียหายโดยไม่สามารถชดเชยได้ ท่านเสียชีวิตเป็นมรณสักขีและได้รับรางวัลของมรณสักขี นั่นคือ ความสูงส่ง

“เป็นไปได้ว่าข้าพเจ้าจะคุ้มครองเปาโลให้พ้นภัยถ้าพลังของข้าพเจ้าไร้ขอบเขต ข้าพเจ้าจะรักษา ‘หนามใหญ่ในเนื้อ’ ของเขาแน่นอน [2 โครินธ์ 12:7] และในการทำเช่นนั้นข้าพเจ้าอาจจะขัดขวางโปรแกรมของพระเจ้า …

“ข้าพเจ้าเกรงว่าถ้าข้าพเจ้าอยู่ในคุกคาร์เทจเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1844 ข้าพเจ้าอาจจะเปลี่ยนวิถีกระสุนที่ทะลุร่างศาสดาพยากรณ์ [โจเซฟ สมิธ] และผู้ประสาทพร [ไฮรัม สมิธ] ข้าพเจ้าอาจจะช่วยพวกท่านให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากและความปวดร้าว แต่จะทำให้พวกท่านสูญเสียรางวัลและความตายเนื่องจากมรณสักขี …

“หากมีพลังที่ไม่ถูกควบคุม แน่นอนว่าข้าพเจ้าคงอยากปกป้องพระคริสต์จากความปวดร้าวในเกทเสมนี การเหยียดหยาม มงกุฎหนาม การสบประมาทในศาล และการทำร้ายร่างกาย ข้าพเจ้าอยากทำแผลให้พระองค์และรักษาแผลเหล่านั้น ให้น้ำเย็นแทนน้ำส้มสายชู ข้าพเจ้าอาจจะช่วยให้พระองค์รอดพ้นจากความทุกข์ยากและความตาย แต่โลกจะสูญเสียการเสียสละอันเป็นการชดใช้ของพระองค์ …

“ในการเผชิญโศกนาฏกรรมที่เห็นได้นั้น เราต้องวางใจพระผู้เป็นเจ้า โดยรู้ว่าแม้เราจะมีทัศนะจำกัด แต่จุดประสงค์ของพระองค์จะไม่ล้มเหลว” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006], 16–19, 22)

ปรับปรุงการสอนของเรา

เชิญชวนให้เรียนรู้อย่างพากเพียร “เมื่อท่านเตรียมสอน แทนที่จะคิดว่า ‘ฉันจะทำอะไรเพื่อสอน’ ให้ถามตัวเองว่า ‘สมาชิกชั้นเรียนของฉันจะทำอะไรเพื่อเรียน’” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 29)