จงตามเรามา
22–28 มิถุนายน แอลมา 17–22: “เราจะทำให้พวกเจ้าเป็นเครื่องมือ”


“22–28 มิถุนายน แอลมา 17–22: ‘เราจะทำให้พวกเจ้าเป็นเครื่องมือ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“22–28 มิถุนายน แอลมา 17–22” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
แอมันพูดกับกษัตริย์ลาโมไน

แอมันกับกษัตริย์ลาโมไน โดย สก็อตต์ เอ็ม. สโนว์

22–28 มิถุนายน

แอลมา 17–22

“เราจะทำให้พวกเจ้าเป็นเครื่องมือ”

ท่านต้องค้นพบความจริงในพระคัมภีร์ด้วยตัวท่านเองก่อนจึงจะสามารถช่วยให้ผู้อื่นค้นพบความจริง อ่าน แอลมา 17–22 พร้อมกับนึกถึงสมาชิกในชั้นเรียนของท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในการศึกษาเป็นส่วนตัวหรือกับครอบครัว ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกคนหนึ่งใน แอลมา 17–22 และเติมประโยคต่อไปนี้ให้สมบูรณ์: “เอบิชสอนฉัน ” หรือ “ลาโมไนสอนฉัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

แอลมา 17:1–4

ศรัทธาของเราแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเราหมั่นแสวงหาให้รู้ความจริง

  • สมาชิกชั้นเรียนคงเคยได้ยินความสำคัญของนิสัยพระกิตติคุณขั้นพื้นฐานหลายครั้ง แอลมา 17:1–4 จะช่วยให้พวกเขาเห็นผลอันทรงพลังของนิสัยเหล่านี้ต่อชีวิตเรา ท่านอาจจะขอให้นักเรียนครึ่งชั้นค้นคว้าข้อเหล่านี้เพื่อดูว่าพวกบุตรของโมไซยาห์ทำอะไรและอีกครึ่งชั้นค้นดูผลของสิ่งที่พวกเขาทำ อะไรคือผลของการทำสิ่งเหล่านี้ในชีวิตเรา

  • เพื่อสนทนาให้ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับนิสัยบางอย่างที่ทำให้พวกบุตรของโมไซยาห์เข้มแข็ง ท่านอาจจะเขียนบนกระดานว่า การค้นคว้าพระคัมภีร์ การสวดอ้อนวอน และ การอดอาหาร จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนอาจจะค้นคว้าพระคัมภีร์ที่สอนเกี่ยวกับพรที่มาจากการศึกษาพระคัมภีร์ การสวดอ้อนวอน และการอดอาหาร (Topical Guide หรือ คู่มือพระคัมภีร์ อาจจะช่วยได้) พวกเขาอาจจะเขียนสิ่งที่พบไว้บนกระดานและแบ่งปันแนวคิดให้กันเกี่ยวกับวิธีปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์ การสวดอ้อนวอน และการอดอาหารในวิธีที่ดึงพวกเขาเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

แอลมา 17–18

ความรักของเราสามารถช่วยคนอื่นๆ เตรียมรับพระกิตติคุณ

  • มีหลายวิธีให้แบ่งปันพระกิตติคุณ และทุกวิธีล้วนได้ผลเมื่อมีความรักเป็นแรงจูงใจ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะระบุข้อใน แอลมา 17–18 ที่แสดงให้เห็นว่าความรักจูงใจแอมันให้แบ่งปันพระกิตติคุณอย่างไร เราเรียนรู้ความจริงอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณจากแบบอย่างของแอมัน สมาชิกชั้นเรียนอาจจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งความรักที่จริงใจทำให้ใจบางคนอ่อนลงและทำให้เขารับข่าวสารพระกิตติคุณได้ง่ายขึ้น คำกล่าวของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจความสำคัญของการทำให้แน่ใจว่าความพยายามของเรามีพื้นฐานอยู่บนความรัก

ภาพ
แอมันช่วยชีวิตฝูงแกะของกษัตริย์

แอมันช่วยชีวิตฝูงสัตว์ของกษัตริย์ โดย มิเนอร์วา เค. ไทเชิร์ต

แอลมา 18–22

การสอนและการเรียนความจริงพระกิตติคุณอย่างมีประสิทธิภาพสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในใจ

  • ทันทีที่แอมันกับแอรันได้รับความไว้วางใจจากกษัตริย์ลาโมโนและบิดาของเขา พวกเขาสามารถช่วยให้คนทั้งสองเข้าใจความจริงพระกิตติคุณอันสำคัญยิ่ง น่าจะเป็นประโยชน์หากสมาชิกชั้นเรียนเขียนรายการความจริงที่แอมันสอนลาโมไน (ดู แอลมา 18:24–39) และเปรียบเทียบกับรายการความจริงที่แอรันสอนบิดาของลาโมไน (ดู แอลมา 22:1–16) นักเรียนครึ่งชั้นจะเขียนรายการหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งชั้นจะเขียนอีกรายการหนึ่ง เหตุใดการเข้าใจความจริงเหล่านี้จึงทำให้ลาโมไนกับบิดาของเขาเชื่อและวางใจพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์

  • เรื่องราวของแอรันกับแอมันสอนกษัตริย์ลาโมไนกับบิดาของเขาเปิดโอกาสให้ได้สนทนาเรื่องการสอนและการเรียนพระกิตติคุณที่มีประสิทธิภาพ สมาชิกชั้นเรียนสังเกตเห็นหลักธรรมใดของการสอน (ดูตัวอย่างใน แอลมา 18:24–28 และ แอลมา 22:7–13) พวกเขาพบหลักธรรมใดของการเรียนรู้ในตัวอย่างของกษัตริย์ลาโมไนกับบิดาของเขา (ดูตัวอย่างใน แอลมา 18:25–31; 22:17–18)

  • เพื่อเรียนรู้ว่าหลักคำสอนของพระกิตติคุณจะมีอิทธิพลต่อชีวิตเราได้อย่างไร สมาชิกชั้นเรียนจะค้นคว้า แอลมา 18:40–41; 20:1–15; และ แอลมา 22:15–18, 25–27 เพื่อหาดูว่ากษัตริย์ลาโมไนกับบิดาของเขารู้สึกและปฏิบัติอย่างไรหลังจากพวกเขาเข้าใจความจริงพระกิตติคุณและเปลี่ยนใจเลื่อมใส ความจริงเหล่านี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์อย่างไร เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ตัวเราเองและคนที่เรารักเข้าใจและดำเนินชีวิตตามความจริงเหล่านี้

แอลมา 19–22

ประจักษ์พยานของเราสามารถมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อผู้อื่น

  • ระหว่างศึกษา แอลมา 19–22 เป็นส่วนตัว สมาชิกชั้นเรียนอาจไตร่ตรองผลอันกว้างไกลที่ประจักษ์พยานของคนหนึ่งมีต่อผู้อื่น กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ เรื่องราวใน แอลมา 19–22 บอกอะไรเกี่ยวกับความพยายามของตัวเราในการแบ่งปันพระกิตติคุณ เรื่องเล่าของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะช่วยเน้นประเด็นนี้

  • ท่านจะแบ่งปันการเปรียบเทียบที่ดีอะไรได้บ้างเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราแบ่งปันประจักษ์พยานของเรากับผู้อื่น ตัวอย่างอาจได้แก่กรวดก้อนหนึ่งทำให้น้ำในทะเลสาบกระจายเป็นวงกว้างหรือยีสต์ช่วยให้แป้งฟู หลังจากทบทวนตัวอย่างของคนที่แบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาใน แอลมา 19–22 แล้ว สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันว่าประจักษ์พยานของผู้อื่นมีผลต่อพวกเขาอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ท่านอาจจะถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาเคยสงสัยหรือไม่ว่าจะทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขามั่นคงและยั่งยืนได้อย่างไร ใน แอลมา 23–29 พวกเขาจะอ่านเกี่ยวกับคนกลุ่มหนึ่งที่ยอมรับพระกิตติคุณและ “ไม่เคยตกไปเลย” (แอลมา 23:6)

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

แบ่งปันพระกิตติคุณด้วยความรัก

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แบ่งปันบทเรียนอันทรงคุณค่าที่ท่านเรียนรู้จากประสบการณ์สมัยเป็นเยาวชนชายดังนี้

“ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมสมาชิกที่แข็งขันน้อยคนหนึ่งซึ่งประสบความสำเร็จในงานอาชีพและอายุมากกว่าข้าพเจ้า เมื่อย้อนกลับไปดูการกระทำแต่หนหลัง ข้าพเจ้าตระหนักว่าตนเองรักและห่วงใยชายผู้นี้น้อยมาก ข้าพเจ้าทำไปตามหน้าที่ด้วยความปรารถนาจะรายงานว่าได้ทำการสอนประจำบ้าน 100 เปอร์เซ็นต์ คืนหนึ่งใกล้จะสิ้นเดือน ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปถามว่า ข้าพเจ้ากับคู่จะไปเยี่ยมเขาตอนนี้ได้หรือไม่ คำตอบเชิงตำหนิของเขาสอนบทเรียนที่ข้าพเจ้าไม่มีวันลืม

“‘ไม่ได้ครับ ผมไม่อยากให้คุณมาเยี่ยมคืนนี้’ เขาตอบ ‘ผมเหนื่อย และเปลี่ยนชุดเตรียมเข้านอนแล้ว ผมกำลังอ่านหนังสือและไม่อยากถูกขัดจังหวะเพียงเพื่อให้คุณรายงานการสอนประจำบ้านเดือนนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์’ คำตอบนั้นยังคงทิ่มแทงใจข้าพเจ้าเพราะเขาทำให้ข้าพเจ้ารู้เจตนาที่เห็นแก่ตัวของตนเอง

“ข้าพเจ้าหวังว่าจะไม่มีใครที่เราเชื้อเชิญให้ฟังข่าวสารของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูรู้สึกว่าเรากำลังทำเช่นนั้นด้วยเหตุผลซึ่งอยู่นอกเหนือความรักอันแท้จริงที่มีต่อเขาและความปรารถนาอันไม่เห็นแก่ตัวที่จะแบ่งปันสิ่งล้ำค่าที่เรารู้” (“การแบ่งปันพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, ม.ค. 2002, 8)

อิทธิพลของเรามักไม่มีใครรู้

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เล่าเรื่องหนึ่งซึ่งผู้สอนศาสนาคนหนึ่งรายงานต่อประธานคณะเผยแผ่ของเขาเมื่อจบการรับใช้ ผู้สอนศาสนาพูดว่า

“ผมไม่เห็นผลใดๆ จากการทำงานของผมเลย ผมเสียเวลาและทำให้คุณพ่อเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เสียเวลาจริงๆ … ผมให้บัพติศมาแค่คนเดียวในช่วงสองปีที่ผมอยู่ที่นี่ คนนั้นเป็นเด็กผู้ชายอายุสิบสองขวบอยู่ในชนบทไกลโพ้นของเทนเนสซี”

ประธานคณะเผยแผ่ตัดสินใจติดตามหาเด็กชายที่ผู้สอนศาสนาคนนี้ให้บัพติศมา เขาเติบใหญ่ แต่งงาน และย้ายไปไอดาโฮ ลูกๆ ของเขาไปเป็นผู้สอนศาสนาและหลานๆ ของเขาไปเป็นผู้สอนศาสนา ประธานคณะเผยแผ่เดินทางไปไอดาโฮและถามสมาชิกของครอบครัวนั้นเกี่ยวกับงานเผยแผ่ของพวกเขา ประธานคณะเผยแผ่กล่าวในภายหลังว่า “ผมค้นพบว่า เนื่องจากบัพติศมาของเด็กชายตัวเล็กคนนั้นในชนบทไกลโพ้นของเทนเนสซีโดยผู้สอนศาสนาคนหนึ่งที่คิดว่าตนล้มเหลว มีมากกว่า 1,100 คนเข้ามาในศาสนจักร” (Teachings of Gordon B. Hinckley [1997], 360–361)

ปรับปรุงการสอนของเรา

เผื่อเวลาให้ผู้เรียนได้แบ่งปัน “เมื่อผู้เรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ ไม่เพียงแต่พวกเขาจะสัมผัสถึงพระวิญญาณและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานของตนเองเท่านั้น แต่พวกเขากระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ ให้ค้นพบความจริงด้วยตนเองเช่นกัน … เผื่อเวลาไว้ให้นักเรียนแบ่งปันในทุกบทเรียน—ในบางกรณี ท่านอาจพบว่าการสนทนาเหล่านี้ คือ บทเรียน” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 30)