จงตามเรามา
25–31 พฤษภาคม โมไซยาห์ 29–แอลมา 4: “พวกเขายังแน่วแน่และไม่หวั่นไหว”


“25–31 พฤษภาคม โมไซยาห์ 29–แอลมา 4: ‘พวกเขายังแน่วแน่และไม่หวั่นไหว’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“25–31 พฤษภาคม โมไซยาห์ 29–แอลมา 4” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
แอลมาผู้บุตรกำลังสั่งสอน

แอลมาผู้บุตรกำลังสั่งสอน โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

25–31 พฤษภาคม

โมไซยาห์ 29–แอลมา 4

“พวกเขายังแน่วแน่และไม่หวั่นไหว”

ในสมัยของแอลมา ครูสอนพระกิตติคุณไม่ได้ถือว่า “ดีไปกว่าผู้ฟัง, ทั้งผู้สอนก็ไม่ดีไปกว่าผู้เรียนแต่อย่างใด; และดังนั้นพวกเขาจึงเท่าเทียมกัน” (แอลมา 1:26) ขณะที่ท่านเตรียมสอน ให้ไตร่ตรองว่าจะประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้กับท่านและชั้นเรียนของท่านอย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

สมาชิกชั้นเรียนอาจสังเกตเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างเหตุการณ์ที่บรรยายไว้ใน โมไซยาห์ 29–แอลมา 4 กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้หรือชีวิตพวกเขาเอง ให้เวลาพวกเขาทบทวนบทเหล่านี้สองสามนาทีเพื่อหาตัวอย่าง เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบกับคนที่นั่งข้างๆ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

โมไซยาห์ 29:11–27; แอลมา 2:1–7

เราสามารถเป็นอิทธิพลดีในชุมชนของเรา

  • ถ้าจะให้สมาชิกชั้นเรียนได้ประโยชน์จากการสนทนาถึงวิธีเป็นอิทธิพลดีในสังคม ท่านอาจจะให้พวกเขานึกถึงประเด็นบางอย่างที่ชุมชนของท่านประสบและเขียนสองสามประเด็นบนกระดาน (หลีกเลี่ยงการสนทนารายละเอียดของประเด็นเหล่านี้) สมาชิกชั้นเรียนอาจจะทบทวน แอลมา 2:1–7 เพื่อหาว่าชาวนีไฟกำลังเผชิญประเด็นใดและพวกเขาทำอย่างไร อาจเกิดอะไรขึ้นถ้า “ผู้คนของศาสนจักร” ไม่ได้ออกเสียงของตน เราเรียนรู้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองดีจากเรื่องนี้ จาก โมไซยาห์ 29:26–27 และจากเรื่องเล่าใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” สมาชิกชั้นเรียนอาจต้องการนึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อเป็นอิทธิพลดีในชุมชนเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งบนกระดาน

แอลมา 1:2–9, 26

เราสามารถมองออกและปฏิเสธคำสอนเท็จ

  • แบบอย่างของกิเดียนต่อต้านนีฮอร์น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ชั้นเรียนของท่านได้ ท่านอาจจะขอให้บางคนทบทวนประวัติของกิเดียนล่วงหน้าและแบ่งปันให้กับชั้นเรียน (ดู โมไซยาห์ 19:1–8; 20:15–22; 22:1–9; และ แอลมา 1:2–9) จากการทบทวนครั้งนี้ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเขียนลักษณะพิเศษบางอย่างของกิเดียนที่สร้างแรงบันดาลใจ ตัวอย่างเช่น เมื่อกิเดียนได้ยินคำสอนเท็จของนีฮอร์ กิเดียนทัดทานนีฮอร์ “ด้วยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 9) ในการศึกษาส่วนตัว สมาชิกชั้นเรียนอาจพบข้อพระคัมภีร์ที่หักล้างคำสอนของนีฮอร์ใน แอลมา 1:3–6 เชิญพวกเขาแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่พบ หลายข้อมีบอกไว้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย เราจะเป็นเหมือนกิเดียนมากขึ้นในการปกป้องความจริงได้อย่างไร

  • คำสอนเท็จของนีฮอร์ตามที่บรรยายไว้ใน แอลมา 1:3–6 จะช่วยให้เรารับรู้กลยุทธ์ที่ซาตานใช้หลอกเรา ตัวอย่างเช่น เขามักจะซ่อนคำเท็จของเขาไว้ในความจริง ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้า แอลมา 1:3–4 ระบุคำเท็จที่ซาตานบอกและความจริงที่เขาใช้เพื่อทำให้คำเท็จของเขาดึงดูดใจ คำเท็จอะไรบ้างปะปนกับความจริงที่หลอกลวงผู้คนในปัจจุบัน เราจะช่วยให้ครอบครัวเราและคนที่เรารักแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จได้อย่างไร

  • สมาชิกชั้นเรียนอาจจะร้องหรืออ่านเพลงสวดเพลงหนึ่งเกี่ยวกับความอ่อนน้อมถ่อมตน เช่น “ท่านจงถ่อมใจ” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 55) และสนทนาว่าข่าวสารในนั้นต่างจากข่าวสารของนีฮอร์ใน แอลมา 1:2–9 อย่างไร พวกเขาอาจจะเปรียบเทียบสิ่งที่นีฮอร์สอนเกี่ยวกับครูสอนพระกิตติคุณกับสิ่งที่แอลมาและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ สอนและเป็นแบบอย่าง (ดู แอลมา 1:26; 4:15–20) แรงจูงใจของนีฮอร์คืออะไร ต่างจากแรงจูงใจของแอลมาอย่างไร กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองแรงจูงใจของพวกเขาเองสำหรับการรับใช้ในศาสนจักร แอลมา 1:26 บอกอะไรเกี่ยวกับความรับผิดชอบของเราในฐานะผู้เรียน

แอลมา 1:19–30; 4:6–15

ความจองหองทำให้เรา “เสื่อมในความก้าวหน้า [ของเรา]”

  • การสนทนา แอลมา 1 และ แอลมา 4 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าความจองหองส่งผลทั้งต่อบุคคลและศาสนจักรอย่างไร ท่านอาจจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่มและขอให้กลุ่มหนึ่งเรียนรู้เกี่ยวกับสถานะของศาสนจักรดังบรรยายไว้ใน แอลมา 1:19–30 ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเรียนรู้เกี่ยวกับถานะของศาสนจักรอีกไม่กี่ปีต่อมาดังบรรยายไว้ใน แอลมา 4:6–15 ขอให้แต่ละกลุ่มแบ่งปันว่าศาสนจักรและสมาชิกเป็นอย่างไรตามข้อที่พวกเขาอ่าน พวกเขาอาจจะวางแผนวิธีแบ่งปันอย่างสร้างสรรค์ด้วยกัน—ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะวาดรูปและเตรียมแสดงละครสั้น หลังจากกลุ่มแบ่งปันกันแล้ว ขอให้พวกเขาสนทนาว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับผลของความจองหองต่อศาสนจักรและสมาชิก และพรของความอ่อนน้อมถ่อมตน เรื่องราวเหล่านี้ให้บทเรียนอะไรแก่เราในปัจจุบัน

แอลมา 4:12–20

“พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” และ “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” สามารถเปลี่ยนแปลงใจได้

  • คนจำนวนมากสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่แอลมารู้สึกเมื่อเขา “สลดใจมาก” (แอลมา 4:15) กับความชั่วร้ายและความทุกข์ของผู้คน สมาชิกชั้นเรียนอาจจะนึกถึงคนที่พวกเขารักและห่วงใย และคิดถึงบุคคลนั้นขณะอ่าน แอลมา 4:12–20 หลังจากสมาชิกชั้นเรียนอ่าน ท่านอาจจะถามคำถามทำนองนี้เพื่อกระตุ้นการสนทนาข้อเหล่านี้: อะไรทำให้ผู้คนเกิดปีติในสภาวการณ์ยุ่งยากของพวกเขา วลี “พระวิญญาณของพระเจ้าไม่ได้ทรงทำให้ท่านผิดหวัง” มีความหมายต่อท่านอย่างไร (แอลมา 4:15) แอลมาเสียสละอะไรบ้างเพื่อช่วยผู้คนของเขา และบางครั้งเราได้รับการขอร้องให้เสียสละอะไรบ้าง เราเคยเห็นตัวอย่างอะไรบ้างของพลังแห่ง “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” (แอลมา 4:19) เราจะแบ่งปันประจักษ์พยานของเราโดยไม่บรรยายหรือตัดสินได้อย่างไร ท่านอาจจะให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนเขียนข่าวสารของประจักษ์พยานให้คนที่พวกเขารัก

  • สมาชิกชั้นเรียนอาจจะได้ประโยชน์จากการสนทนาว่า “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” คืออะไร วีดิทัศน์เรื่อง “Apostle Testimony Montage” (ChurchofJesusChrist.org) มีตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม ประจักษ์พยานเหล่านี้ หรืออื่นๆ ที่เราเคยได้ยิน “ปลุกเร้า [พวกเรา] ให้นึกถึงหน้าที่ [ของเรา]” อย่างไร (แอลมา 4:19) ประจักษ์พยานเหล่านี้ช่วยให้เราเอาชนะความจองหองและความขัดแย้งอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ท่านอาจจะอธิบายให้สมาชิกชั้นเรียนฟังว่าใน แอลมา 5–7 พวกเขาจะอ่าน “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” และเห็นผลของประจักษ์นั้นต่อผู้คน (ดู แอลมา 4:19)

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

“จงทำให้ผู้อื่นรู้สึกถึงอิทธิพลของคุณ”

ไม่นานหลังจากซิสเตอร์เบลล์ เอส. สแพฟฟอร์ดได้รับเรียกเป็นประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญในปี 1945 ผู้นำสมาคมสงเคราะห์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมของสภาสตรีแห่งชาติที่มีชื่อเสียง ผู้นำสมาคมสงเคราะห์ระดับสามัญเป็นสมาชิกของสภานี้มานานหลายปี แต่รู้สึกว่าไม่นานมานี้สภาปฏิบัติต่อพวกเธอไม่ดี หลังจากสนทนากับที่ปรึกษา ซิสเตอร์สแพฟฟอร์ดเสนอต่อประธานจอร์จ อัลเบิร์ต สมิธประธานศาสนจักรว่าสมาคมควรยุติการเป็นสมาชิกในสภา

ขณะสนทนากันเกี่ยวกับข้อเสนอนี้ ซิสเตอร์สแพฟฟอร์ดพูดว่า “ประธานสมิธคะ ท่านก็ทราบว่าเราไม่ได้อะไรจากสภา”

ต่อมาเธอเล่าว่า

“ท่านประธานมองดิฉันด้วยความประหลาดใจ ท่านพูดว่า ‘ซิสเตอร์สแพฟฟอร์ดครับ คุณคิดตลอดเลยหรือครับว่าคุณต้องได้อะไร คุณไม่คิดบ้างหรือครับว่าคุณต้องให้อะไร ผมเชื่อนะครับ’ ท่านกล่าวต่อ ‘ว่าสตรีมอรมอนมีบางอย่างให้สตรีของโลก และพวกเธอจะได้เรียนรู้จากสตรีเหล่านั้นเช่นกัน แทนที่คุณจะยุติการเป็นสมาชิก ผมแนะนำให้คุณพาสมาชิกคณะกรรมการที่เก่งที่สุดของเราหลายๆ คนกลับไปการประชุมนี้’

“จากนั้นท่านพูดเน้นว่า ‘จงทำให้ผู้อื่นรู้สึกถึงอิทธิพลของคุณ’” (Belle S. Spafford, A Woman’s Reach [1974], 96–97)

ซิสเตอร์สแพฟฟอร์ดเชื่อฟังคำแนะนำนี้ เธอรับใช้หลายปีในสภาและสุดท้ายได้รับเลือกเป็นผู้นำคนหนึ่งของสภา

พระคัมภีร์ที่หักล้างคำสอนเท็จของนีฮอร์

ปรับปรุงการสอนของเรา

พึงแน่ใจว่าท่านกำลังสอนหลักคำสอนที่แท้จริง “ถามตัวเองอย่างต่อเนื่องว่า ‘สิ่งที่ฉันกำลังสอนช่วยสมาชิกชั้นเรียนเสริมสร้างศรัทธาในพระคริสต์ กลับใจ ทำและรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร’” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 20)