พันธสัญญาใหม่ 2023
26 ธันวาคม–1 มกราคม เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง


“26 ธันวาคม–1 มกราคม เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“26 ธันวาคม–1 มกราคม เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

ภาพ
ครอบครัวกำลังดูอัลบั้มรูป

26 ธันวาคม–1 มกราคม

เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์ในโครงร่างนี้ ให้บันทึกความประทับใจทางวิญญาณที่ท่านได้รับ ท่านจะสังเกตเห็นว่าแต่ละโครงร่างในคู่มือนี้มีกิจกรรมให้เด็กเล็กและเด็กโต แต่ท่านสามารถปรับกิจกรรมให้เหมาะกับชั้นเรียนของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เมื่อเริ่มชั้นเรียนแต่ละชั้นท่านจะเปิดโอกาสให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณ ตัวอย่างเช่น สัปดาห์นี้ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันเรื่องที่ชอบมากเป็นพิเศษเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ฉันทำตามพระองค์

ปีนี้ท่านและเด็กจะอ่านเรื่องราวหลายเรื่องจากพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเหตุผลที่เราเรียนรู้เรื่องเหล่านี้คือเพื่อให้เราสามารถทำตามแบบอย่างที่ดีพร้อมของพระเยซูคริสต์ได้ดีขึ้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • เล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอด “จงตามเรามา” พบได้ที่ มัทธิว 4:18–22 ทำกิจกรรมที่เด็กคนหนึ่งทำท่าแล้วบอกให้เด็กคนอื่นๆ “ทำตามเรา” เชิญชวนให้เด็กคนอื่นๆ ทำท่าตาม

  • ให้ดูภาพคนติดตามพระผู้ช่วยให้รอดในวิธีต่างๆ ทั้งระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระองค์และในยุคสมัยของเรา ท่านสามารถหาภาพต่างๆ ได้ใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ หรือใน นิตยสารศาสนจักร ให้เด็กบอกว่าผู้คนกำลังติดตามพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

  • ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอด การร้องเพลง “เร่งแสวงหาพระเจ้า” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 67) อาจจะให้แนวคิดบางอย่างแก่พวกเขา ให้พวกเขาวาดรูปตนเองกำลังทำสิ่งเหล่านี้

ภาพ
เด็กชายอ่านพระคัมภีร์

เด็กสามารถได้รับประจักษ์พยานของตนเองเกี่ยวกับความจริงในพระคัมภีร์

พระคัมภีร์เป็นความจริง

เด็กสามารถได้รับประจักษ์พยานว่าพระคัมภีร์เป็นความจริงก่อนพวกเขาจะอ่านออกด้วยซ้ำ ขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์กับเด็กๆ ปีนี้ ท่านจะได้ช่วยให้พวกเขารู้ด้วยตนเองว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กพูดถึงของขวัญชิ้นโปรดที่พวกเขาเคยได้รับเนื่องในวันเกิดหรือโอกาสอื่น นำพระคัมภีร์ที่ห่อเป็นของขวัญมาชั้นเรียน ให้เด็กคนหนึ่งแกะของขวัญ และเป็นพยานว่าพระคัมภีร์เป็นของขวัญจากพระบิดาบนสวรรค์

  • ให้เด็กดูหนังสือบางเล่มที่เป็นเรื่องแต่ง และถามพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขาชอบเป็นพิเศษ ให้พวกเขาดูพระคัมภีร์และเป็นพยานว่าพระคัมภีร์มีพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเรา พระคัมภีร์บอกถึงผู้คนที่เคยมีชีวิตอยู่จริงและสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง

  • แบ่งปันข่าวสารที่พบใน 2 ทิโมธี 3:15 และ โมโรไน 10:3–5 โดยช่วยเด็กๆ พูดทวนบางวลี ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาสามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง

  • ซ่อนภาพพระผู้ช่วยให้รอด และบอกใบ้ให้เด็กช่วยกันหา ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าการค้นคว้าพระคัมภีร์จะช่วยให้เรารู้จักพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ให้เด็กผลัดกันซ่อนภาพและบอกใบ้ให้เด็กคนอื่นช่วยกันหา

  • ร้องเพลงด้วยกันเกี่ยวกับการเรียนรู้พระกิตติคุณ เช่น “ค้นหาไตร่ตรองและสวด” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 66) และช่วยเด็กคิดท่าประกอบคำร้อง แบ่งปันพระคัมภีร์ข้อโปรดของท่านหนึ่งหรือสองข้อกับเด็กๆ และบอกพวกเขาว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง ถ้าเด็กมีข้อพระคัมภีร์หรือเรื่องในพระคัมภีร์ที่ชอบมากเป็นพิเศษ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์และทำตามพระองค์

นึกดูว่าท่านรู้จักพระเยซูคริสต์อย่างไร ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้และทำตามพระองค์?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กพูดถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่พวกเขารู้จักและอธิบายว่าบุคคลนี้กลายเป็นเพื่อนได้อย่างไร อ่านและสนทนา ยอห์น 5:39 และ ยอห์น 14:15 เพื่อหาวิธีที่เราสามารถรู้สึกใกล้ชิดพระเยซู ขอให้เด็กแบ่งปันเวลาที่พวกเขารู้สึกใกล้ชิดพระองค์

  • พาชั้นเรียนของท่านไปเดินรอบๆ อาคารประชุม ระหว่างเดินด้วยกันให้เด็กยกมือเมื่อพวกเขาเห็นบางสิ่งที่เตือนให้พวกเขานึกถึงวิธีที่พวกเขาสามารถทำตามพระผู้ช่วยให้รอดได้ (เช่น อ่างบัพติศมาหรือรูปภาพ)

  • ร้องเพลงกับเด็กเกี่ยวกับการติดตามพระเยซูคริสต์ เช่น “จงตามเรามา” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 48) เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันเวลาที่พวกเขาทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด

ฉันสามารถศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเอง

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับเด็กๆ และถามคำถาม ท่านสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้พวกเขาได้ว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้จากพระคัมภีร์และพบสมบัติล้ำค่าของความรู้

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน ยอห์น 5:39 และ กิจการของอัครทูต 17:10–11 ด้วยกันและถามเด็กว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิธีศึกษาพระคัมภีร์

  • เลือกพระคัมภีร์ที่เรียบง่ายมีพลังสองสามข้อจากพันธสัญญาใหม่ เขียนแต่ละข้อบนกระดาษแต่ละแผ่น และซ่อนกระดาษ คิดคำใบ้ที่จะนำเด็กๆ “ตามล่าหาสมบัติ” ในห้องเรียนหรืออาคารศาสนจักรไปพบข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ หลังจากพวกเขาพบพระคัมภีร์แต่ละข้อ ให้สนทนาว่าพระคัมภีร์ข้อนั้นหมายความว่าอย่างไรและเหตุใดจึงเป็นสมบัติล้ำค่า

  • จากนั้นแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่ล้ำค่าสำหรับท่านสองสามข้อและอธิบายว่าเหตุใดจึงมีความหมายต่อท่าน ให้ชั้นเรียนเก็บรายการข้อพระคัมภีร์ล้ำค่าที่พวกเขาพบ—ที่บ้านหรือระหว่างปฐมวัย—ในพันธสัญญาใหม่ปีนี้

  • สนทนากับเด็กๆ ว่าเหตุใดบางครั้งเราจึงไม่อยากอ่านพระคัมภีร์ ขอให้เด็กแนะนำกันเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์ ขอให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ที่เคยมีกับพระคัมภีร์

  • ช่วยเด็กทำปฏิทินง่ายๆ ที่ใช้ทำเครื่องหมายได้ว่าพวกเขาอ่านพระคัมภีร์บ่อยเพียงใด ปฏิทินเหล่านี้จะเตือนให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์ทุกวัน

ฉันต้องมีประจักษ์พยานของฉันเอง

เด็กที่ท่านสอนจะต้องมีประจักษ์พยานของตนเองถึงพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเรียนรู้ความจริงด้วยตนเอง?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เล่าเรื่องหญิงพรหมจารีสิบคน (ดู มัทธิว 25:1–13; ดู “บทที่ 47: หญิงพรหมจารีสิบคน,” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 118–120 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ ChurchofJesusChrist.org ด้วย) ถามคำถามทำนองนี้กับเด็กว่า ประจักษ์พยานของเราเหมือนตะเกียงอย่างไร? เหตุใดการมีประจักษ์พยานของเราเองจึงสำคัญ?

  • สนทนาว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของเรา เชื้อเชิญให้เด็กค้นคว้าหาแนวคิดใน ยอห์น 7:17 และ โมโรไน 10:3–5 เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้ว่าเป็นความจริง

  • ขอให้เด็กช่วยท่านติดฉลากบนบล็อกตัวต่อโดยเขียนความจริงที่ประกอบเป็นประจักษ์พยานของเรา (ดู หัวข้อพระกิตติคุณ, “ประจักษ์พยาน,” topics.ChurchofJesusChrist.org) ปล่อยให้เด็กใช้บล็อกสร้างโครงสร้างที่เป็นตัวแทนประจักษ์พยาน

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ท่านจะกระตุ้นให้เด็กๆ และบิดามารดาเรียนรู้จากพันธสัญญาใหม่ที่บ้านได้อย่างไร? ตัวอย่างเช่น ท่านอาจเชื้อเชิญให้เด็กท่องจำพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่ท่านสนทนาในชั้นเรียน (ท่านอาจจะช่วยแบ่งพระคัมภีร์เป็นวลีสั้นๆ) และแบ่งปันข้อนั้นกับครอบครัวของพวกเขา

ปรับปรุงการสอนของเรา

ปรับกิจกรรมตามอายุของเด็กที่ท่านสอน เด็กเล็กต้องการคำอธิบายอย่างละเอียดและเรียนรู้จากวิธีสอนที่หลากหลาย เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาจะมีส่วนร่วมได้มากขึ้นและอาจจะแบ่งปันความคิดของพวกเขาได้เก่งขึ้น ให้โอกาสพวกเขาแบ่งปัน เป็นพยาน และมีส่วนร่วม ให้ความช่วยเหลือหากจำเป็น (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)