พันธสัญญาใหม่ 2023
16–22 มกราคม ยอห์น 1: เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว


“16–22 มกราคม ยอห์น 1: เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“16–22 มกราคม ยอห์น 1,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

ภาพ
หญิงคนหนึ่งแบ่งปันพระกิตติคุณที่สถานีรถไฟ

16–22 มกราคม

ยอห์น 1

เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว

ขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 1 ให้บันทึกความประทับใจทางวิญญาณที่ท่านได้รับ โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว จะช่วยให้ท่านเข้าใจบทนี้ได้ กิจกรรมที่เสนอแนะต่อไปนี้จะให้แนวคิดท่านเกี่ยวกับวิธีช่วยให้เด็กเรียนรู้หลักธรรมใน ยอห์น 1 ท่านสามารถปรับกิจกรรมสำหรับเด็กโตให้เหมาะกับเด็กเล็กได้ตามต้องการ

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อช่วยให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับพระเยซู ให้ดูภาพของพระองค์ที่ทำให้บทบาทบางอย่างของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลซึ่งอธิบายไว้ใน ยอห์น 1 (เช่น การสร้างโลกหรือการสอนพระกิตติคุณ) เชื้อเชิญให้เด็กอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

ยอห์น 1:1–2

พระเยซูทรงอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ก่อนพระองค์ประสูติ

ยอห์นสอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาก่อนพระชนม์ชีพของพระองค์บนแผ่นดินโลก เราเองก็อยู่กับพระผู้เป็นเจ้าก่อนเราเกิด (ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org) ท่านจะสอนความจริงนี้ให้เด็กๆ อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • อธิบายว่า “พระวาทะ” ใน ยอห์น 1:1 หมายถึงพระเยซู อ่านออกเสียงข้อนี้ และขอให้เด็กพูด “พระเยซู” ทุกครั้งที่ท่านอ่าน “พระวาทะ” แสดงภาพประกอบที่ชื่อ “ชีวิตก่อนเกิด” (ChurchofJesusChrist.org; ดู จงดูเด็กเล็กๆ ของเจ้า [2008], 15) อธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ก่อนพระองค์เสด็จมาแผ่นดินโลก

  • ดึงจากแหล่งข้อมูลเหล่านี้เพื่อสอนเด็กเกี่ยวกับชีวิตของเรากับพระผู้เป็นเจ้าก่อนที่เราจะมายังแผ่นดินโลก: “บทนำ: แผนของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา” (ใน เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 1–5 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ ChurchofJesusChrist.org) หรือ “ชีวิตก่อนเกิด” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org)

  • เชิญพ่อหรือแม่ให้พาทารกมาชั้นเรียน ถามเด็กว่าวิญญาณของทารกนี้อยู่ที่ใดก่อนที่เขาจะเกิด ย้ำเตือนกับเด็กว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเป็นทารกและเป็นพยานว่าพวกเขาเคยอยู่ในสวรรค์กับพระบิดาบนสวรรค์ในฐานะลูกๆ ทางวิญญาณก่อนที่จะเกิด

ยอห์น 1:3

พระเยซูทรงสร้างสรรพสิ่ง

การรู้เกี่ยวกับบทบาทของพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้สร้างจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนมีความคารวะต่อพระองค์มากขึ้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน ยอห์น 1:3 กับเด็กๆ และให้ดูภาพจาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ช่วยเด็กท่องจำประโยคนี้ “พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาโดย [พระเยซูคริสต์]”

  • แสดงภาพงานสร้างของพระเจ้าให้เด็กคนหนึ่งดู ให้เขาอธิบายภาพนี้ให้เด็กคนอื่นฟังและขอให้พวกเขาเดาว่ากำลังอธิบายถึงอะไร

  • ขอให้เด็กแต่ละคนบอกชื่อสิ่งหนึ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงสร้าง ช่วยให้เด็กนึกถึงวิธีที่พวกเขาสามารถดูแลแผ่นดินโลกและงานสร้างอื่นๆ ของพระเจ้า

ภาพ
ดวงอาทิตย์ขึ้นในป่า

พระเยซูคริสต์ทรงสร้างโลกและทุกสิ่งในนั้น

ยอห์น 1:35–51

ฉันสามารถเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์และเรียนรู้จากพระองค์

ยอห์น 1 มีเรื่องราวของเหล่าสานุศิษย์ผู้เชื้อเชิญให้ผู้คน “มาดู” ว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็สามารถทำตามตัวอย่างนี้ได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • อธิบายว่าอันดรูว์เรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูอย่างไร และบอกว่าอันดรูว์สอนเปโตรอย่างไร (ดู ยอห์น 1:35–42) แบ่งปันว่าท่านเรียนรู้อย่างไรเกี่ยวกับศาสนจักร หรือเชิญสมาชิกใหม่คนหนึ่งมาแบ่งปันว่าเขาเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักรอย่างไร

  • เล่าเรื่องของฟีลิปชวนนาธานาเอล “มาดู” (ยอห์น 1:43–51) ซ่อนภาพพระเยซูไว้ในกล่อง และให้เด็กคนหนึ่ง “มาดู” แล้วบอกเด็กคนอื่นๆ ว่าเขาเห็นอะไร

  • ให้เด็กระบายสีหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ กระตุ้นให้พวกเขาใช้รูปนั้นเชื้อเชิญคนบางคนให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซู

  • ขอให้เด็กคนหนึ่งพูดถึงเวลาที่เขาแบ่งปันบางอย่าง เช่น ของเล่นหรือของขวัญ ให้กับบางคน เราจะแบ่งปันพระกิตติคุณได้อย่างไร? เล่าเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่แบ่งปันพระกิตติคุณกับเพื่อนเช่น “เพื่อนและผู้สอนศาสนา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2018, 70–71

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

ยอห์น 1:1–5

พระเยซูคริสต์ทรงอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ก่อนพระองค์ประสูติ

พระเยซูคริสต์ทรงมีบทบาทสำคัญในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ตั้งแต่ก่อนพระองค์ประสูติ ขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 1:1–5 ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับงานก่อนประสูติของพระคริสต์?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ถามเด็กๆ ว่าพวกเขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูทรงทำก่อนพระองค์ประสูติ เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาคำตอบใน ยอห์น 1:1–5 อาจจะช่วยได้ถ้าให้ดูใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–5 (ในคู่มือพระคัมภีร์)

  • แบ่งปันบางส่วนจาก “บทนำ: แผนของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา” (ใน เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 1–5 หรือวีดิทัศน์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ ChurchofJesusChrist.org) ถามเด็กว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

  • สองสามวันล่วงหน้าเชื้อเชิญให้เด็กบางคนเตรียมบรรยายหรือให้ดูสิ่งที่พวกเขาสร้าง ให้ดูภาพงานสร้างบางอย่างของพระเจ้าและใช้ ยอห์น 1:3 อธิบายว่าพระเยซูทรงสร้างแผ่นดินโลกและสรรพสิ่งในนั้น

ยอห์น 1:4–9

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างของฉัน

สัญลักษณ์ของความสว่างจะช่วยให้เด็กเข้าใจพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กแสวงหาความสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อโลกดูมืดมนได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน สดุดี 27:1; ยอห์น 1:4–9; โมไซยาห์ 16:9; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 39:1–2 โดยมองหาวลีที่ข้อเหล่านี้มีเหมือนกัน พระเยซูคริสต์เปรียบเหมือนความสว่างอย่างไร?

  • ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งของบางอย่างที่ให้ความสว่าง เช่น ไฟฉาย พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบเหมือนสิ่งของเหล่านี้อย่างไร? เราจะแบ่งปันความสว่างของพระองค์ให้ผู้อื่นได้อย่างไร? ร้องเพลง “พระเจ้าเป็นแสงฉัน” ด้วยกัน (เพลงสวด, บทเพลงที่ 37) หรือร้องอีกเพลงหนึ่งเกี่ยวกับความสว่างของพระกิตติคุณ

  • ถามเด็กว่าพวกเขาทำอะไรเมื่ออยู่ในความมืดหรือรู้สึกกลัว เป็นพยานว่าพวกเขาสามารถหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดได้ตลอดเวลาเมื่อพวกเขากลัว

ยอห์น 1:35–51

ในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ ฉันเชื้อเชิญให้ผู้อื่นติดตามพระองค์ได้

พิจารณาว่าท่านจะใช้ตัวอย่างใน ยอห์น 1:35–51 กระตุ้นให้เด็กเชิญชวนคนอื่นๆ มาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยเด็กค้นคว้า ยอห์น 1:35–51 เพื่อหาสิ่งที่ผู้คนกล่าวเชิญชวนผู้อื่นให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด ให้พวกเขาฝึกว่าจะพูดอย่างไรเพื่อเชิญชวนเพื่อนให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์

  • ขอให้เด็กใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ทำบัตรเชิญที่พวกเขาจะใช้เชิญชวนเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

  • เปิดโอกาสให้เด็กบอกชั้นเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขารัก ช่วยให้เด็กเห็นว่าการแบ่งปันพระกิตติคุณจะเหมือนกับการแบ่งปันสิ่งอื่นๆ ที่เราชื่นชอบได้

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

กระตุ้นให้เด็กเชิญชวนคนที่พวกเขารักมาเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้โสตทัศนอุปกรณ์ ค้นหาวิธีที่จะช่วยให้เด็กเห็นภาพสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ในพระคัมภีร์ ท่านสามารถทำเช่นนี้ได้กับศิลปะพระกิตติคุณ ภาพวาด วีดิทัศน์ หุ่นกระบอก หรือการแสดงละคร