พันธสัญญาใหม่ 2023
16–22 มกราคม ยอห์น 1: เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว


“16–22 มกราคม ยอห์น 1: เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“16–22 มกราคม ยอห์น 1,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023

ภาพ
หญิงคนหนึ่งแบ่งปันพระกิตติคุณที่สถานีรถไฟ

16–22 มกราคม

ยอห์น 1

เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว

ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง ยอห์น 1 ให้บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ ท่านพบข่าวสารอะไรบ้างที่จะมีค่าต่อท่านและครอบครัวท่านมากที่สุด? ท่านจะแบ่งปันอะไรได้บ้างในชั้นเรียนศาสนจักรของท่าน?

บันทึกความประทับใจของท่าน

ท่านเคยสงสัยไหมว่าท่านจะยอมรับว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระองค์ทรงเป็นมรรตัย? ชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์ รวมทั้งแอนดรูว์ เปโตร ฟิลิป และนาธานาเอลสวดอ้อนวอนและรอคอยการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้นานหลายปี เมื่อพบพระองค์ พวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงเป็นองค์ที่พวกเขาแสวงหา? วิธีเดียวที่เราทุกคนจะรู้จักพระผู้ช่วยให้รอด—คือยอมรับพระดำรัสเชิญให้ “มาดู” ด้วยตัวเราเอง (ยอห์น 1:39) เราอ่านเกี่ยวกับพระองค์ในพระคัมภีร์ เราได้ยินหลักคำสอนของพระองค์ เราสังเกตวิธีที่พระองค์ดำเนินพระชนม์ชีพ เรารู้สึกถึงพระวิญญาณของพระองค์ ระหว่างนั้น เราค้นพบเช่นเดียวกับนาธานาเอลว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้จักเรา ทรงรักเรา และทรงต้องการเตรียมเราให้พร้อมรับ “เหตุการณ์ใหญ่กว่านั้น” (ยอห์น 1:50)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

ยอห์นเป็นใคร?

ยอห์นเป็นสานุศิษย์ของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและต่อมากลายเป็นผู้ติดตามรุ่นแรกคนหนึ่งของพระเยซูคริสต์และเป็นหนึ่งในอัครสาวกสิบสองของพระองค์ เขาเขียนกิตติคุณของยอห์น สาส์นหลายฉบับ และหนังสือวิวรณ์ ในกิตติคุณของเขา เขาเรียกตนเองว่าสาวก “ที่พระเยซูทรงรัก” และ “สาวกคนนั้น” (ยอห์น 13:23; 20:3) ความกระตือรือร้นของยอห์นในการสั่งสอนพระกิตติคุณแรงกล้ามากถึงขนาดเขาขออยู่บนแผ่นดินโลกจนถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเขาจะได้นำจิตวิญญาณมาหาพระคริสต์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 7:1–6)

ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ยอห์น

ยอห์น 1:1–5

ในปฐมกาลพระเยซูคริสต์ “ทรงอยู่กับพระเจ้า”

ยอห์นเริ่มกิตติคุณของเขาโดยพูดถึงงานที่พระคริสต์ทรงทำก่อนพระองค์ประสูติ: “ในปฐมกาล … พระวาทะ [พระเยซูคริสต์] ทรงอยู่กับพระเจ้า” ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อ 1–5 เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและงานของพระองค์? ท่านจะพบคำอธิบายที่เป็นประโยชน์ใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–5 (ใน คู่มือพระคัมภีร์) เมื่อท่านเริ่มศึกษาพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด เหตุใดการรู้จักงานก่อนมรรตัยของพระองค์จึงสำคัญ?

ยอห์น 1:1–18

พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “ความสว่างแท้” พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

ยอห์นได้รับการดลใจให้แสวงหาพระผู้ช่วยให้รอดเพราะประจักษ์พยานของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาผู้ประกาศว่าพระผู้เป็นเจ้า “มาเพื่อเป็นพยานให้แก่ … ความสว่างนั้น” (ยอห์น 1:8–9) ตัวยอห์นเองกล่าวคำพยานอันทรงพลังถึงพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกัน

ท่านอาจจะสนใจทำรายการความจริงที่ยอห์นรวมไว้ในประจักษ์พยานตอนต้นของเขาเกี่ยวกับพระคริสต์ (ข้อ 1–18; ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–19 [ท้ายคู่มือพระคัมภีร์] ด้วย) ท่านคิดว่าเหตุใดยอห์นจึงเริ่มกิตติคุณของเขาด้วยความจริงเหล่านี้? ท่านอาจเขียนคำพยานของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์—ท่านต้องการแบ่งปันอะไร? ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านได้รู้จักและติดตามพระผู้ช่วยให้รอด? ใครจะได้รับพรเมื่อได้ยินประจักษ์พยานของท่าน?

ยอห์น 1:11–13

พระเยซูคริสต์ประทาน “สิทธิให้เป็น” บุตรและธิดาของพระผู้เป็นเจ้าแก่เรา

ถึงแม้เราทุกคนจะเป็นบุตรและธิดาทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา แต่เมื่อเราทำบาปเราเหินห่างหรือแยกจากพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงเสนอทางกลับให้เราผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ ไตร่ตรองสิ่งที่ ยอห์น 1:11–13 สอนเกี่ยวกับการเป็นบุตรและธิดาของพระผู้เป็นเจ้า พิจารณาด้วยว่าพระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราได้รับของประทานนี้: โรม 8:14–18; โมไซยาห์ 5:7–9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:1 การมี “สิทธิให้เป็น” บุตรและธิดาของพระผู้เป็นเจ้ามีความหมายต่อท่านอย่างไร?

ยอห์น 1:18

พระบิดาทรงบันทึกเรื่องพระบุตรของพระองค์

ยอห์น 1:18 กล่าวว่าไม่มีใครเคยเห็นพระผู้เป็นเจ้า อย่างไรก็ตาม งานแปลของโจเซฟ สมิธของข้อนี้ชี้แจงว่า “ไม่มีมนุษย์คนใดเคยเห็นพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าเวลาใด, เว้นแต่พระองค์รับสั่งคำพยานไว้ถึงพระบุตร” ท่านอาจทบทวนกรณีต่อไปนี้ซึ่งได้ยินพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงบันทึกเรื่องพระบุตร: มัทธิว 3:17; 17:5; 3 นีไฟ 11:6–7; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17

เหตุใดการมีเรื่องเหล่านี้จึงเป็นพร? เรื่องนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระเยซูคริสต์กับพระบิดาของพระองค์?

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

ภาพ
เด็กหญิงกำลังอ่านพระคัมภีร์

ขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์ เราจะได้รับการดลใจสำหรับชีวิตเรา

ยอห์น 1:4–10ท่านจะช่วยให้ครอบครัวเห็นภาพสิ่งที่พวกเขาอ่านเกี่ยวกับความสว่างในข้อเหล่านี้ได้อย่างไร? ท่านอาจจะให้สมาชิกครอบครัวผลัดกันฉายไฟในห้องมืดและแบ่งปันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแสงสว่างของชีวิตพวกเขาอย่างไร จากนั้นขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 1:4–10 สมาชิกครอบครัวอาจจะมีข้อคิดเพิ่มเติมในประจักษ์พยานของยอห์นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นแสงสว่างของโลก

ยอห์น 1:35–36เหตุใดยอห์นผู้ถวายบัพติศมาจึงเรียกพระเยซูว่า “พระเมษโปดกของพระเจ้า”? เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้จากข่าวสารของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ “จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้า” หรือข่าวสารของเอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองเรื่อง “พระเมษบาลผู้ประเสริฐ พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า”? (เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 44–46, 97–101)

ยอห์น 1:35–46อะไรเป็นผลจากประจักษ์พยานของยอห์น? ครอบครัวท่านเรียนรู้อะไรจากผู้คนที่ข้อเหล่านี้กล่าวถึงเกี่ยวกับวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณ?

ยอห์น 1:45–51นาธานาเอลทำอะไรที่ช่วยให้เขาได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด? เชื้อเชิญให้สมาชิกในครอบครัวพูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาได้รับประจักษ์พยาน

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงสวดที่แนะนำ: “พระเจ้าเป็นแสงฉันเพลงสวด บทเพลงที่ 37

ปรับปรุงการสอนของเรา

แบ่งปันบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง เชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวหาอุปกรณ์จริงที่พวกเขาจะใช้ช่วยให้เข้าใจหลักธรรมในพระคัมภีร์ที่ท่านกำลังอ่านกับครอบครัว ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะใช้เทียนไขแทนแสงสว่างของพระคริสต์ (ดู ยอห์น 1:4)

ภาพ
พระเยซูคริสต์ทรงสร้างโลก

พระเยโฮวาห์ทรงสร้างโลก โดย วอลเตอร์ เรน