พันธสัญญาใหม่ 2023
23–29 มกราคม มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3: “จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า”


“23–29 มกราคม มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3: ‘จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“23–29 มกราคม มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

ภาพ
ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาถวายบัพติศมาพระเยซู

หน้าต่างกระจกสีของพระวิหารนอวู อิลลินอยส์ โดย ทอม โฮลด์แมน

23–29 มกราคม

มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3

“จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า”

ขณะที่ท่านอ่านเรื่องยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและบัพติศมาของพระเยซูคริสต์ ให้บันทึกความประทับใจทางวิญญาณที่ท่านได้รับ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว สามารถช่วยให้ท่านเข้าใจพระคัมภีร์เหล่านี้ และช่วยให้ท่านสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กที่บ้าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อให้เด็กมีโอกาสแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้แล้ว ให้ดูภาพของพระเยซูกำลังรับบัพติศมา ขอให้พวกเขาบอกท่านว่าเกิดอะไรขึ้นในภาพและพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการรับบัพติศมา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

มัทธิว 3:13–17

ฉันสามารถรับบัพติศมาเหมือนพระเยซู

ท่านจะใช้เรื่องบัพติศมาของพระเยซูช่วยให้เด็กเตรียมรับบัพติศมาได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • สรุปเรื่องราวบัพติศมาของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู มัทธิว 3:13–17; ดู “บทที่ 10: พระเยซูทรงรับบัพติศมา,” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 26–29 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ ChurchofJesusChrist.org) อธิบายว่าพระเยซูทรงรับบัพติศมาด้วยการลงไปในน้ำทั้งพระวรกายโดยผู้มีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ทบทวนเรื่องนี้หลายๆ ครั้งและเชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันรายละเอียดที่พวกเขาจำได้

  • ให้ดูภาพพระเยซูทรงรับบัพติศมาและหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ให้เด็กชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงระหว่างสองภาพนี้ (ภาพพระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมาใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว)

  • ทบทวนสัญญาที่เด็กจะให้เมื่อพวกเขารับบัพติศมา (ดู โมไซยาห์ 18:8–10; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37; topics.ChurchofJesusChrist.org) ถามพวกเขาว่าในสัญญาเหล่านี้พวกเขาทำข้อใดอยู่แล้ว

  • เชิญสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการมาบอกเด็กๆ เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ก่อนพวกเขารับบัพติศมา

  • ร้องเพลงด้วยกันเกี่ยวกับบัพติศมา เช่น “บัพติศมา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 54–55) ท่านอาจจะขอให้เด็กคนหนึ่งนำเพลงขณะเด็กคนอื่นๆ ร้องเพลง

ภาพ
เด็กผู้หญิงรับบัพติศมา

เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระเยซูได้โดยการรับบัพติศมา

มัทธิว 3:11, 16

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยฉัน

นอกจากเตรียมรับบัพติศมาแล้ว เด็กกำลังเตรียมรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เช่นกัน ท่านจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ใช้ มัทธิว 3:11, 16 สอนเด็กว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาสถิตบนพระเยซูเมื่อพระองค์ทรงรับบัพติศมา (นกพิราบปรากฏเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นเหตุการณ์นี้) ให้ดูภาพ ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 105) และอธิบายว่าเราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเราได้รับการยืนยัน

  • นำกล่องบรรจุสิ่งต่างๆ เช่น ภาพพระเยซู ผ้าห่มอันอบอุ่น และเข็มทิศหรือแผนที่มาชั้นเรียน เชื้อเชิญให้เด็กเลือกของหนึ่งอย่างแล้วอธิบายว่าของแต่ละอย่างแทนวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยเราอย่างไร—พระองค์ทรงเป็นพยานถึงพระเยซู (ดู ยอห์น 15:26) ทรงปลอบโยนเรา (ดู ยอห์น 14:26) และแสดงให้เราเห็นทางที่ถูกต้อง (ดู 2 นีไฟ 32:5)

  • แบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองกับการได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เชื้อเชิญให้เด็กฟังวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยเราขณะที่พวกเขาร้องเพลงเกี่ยวกับพระองค์ เช่น “พระวิญญาณบริสุทธิ์” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 56)

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

มัทธิว 3

ฉันได้รับพรจากศาสนพิธีของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ดังนั้นการอ่านเกี่ยวกับเขาใน มัทธิว 3 จึงเป็นโอกาสดีที่จะสอนเด็กเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงพรและพลังที่เราได้รับโดยผ่านฐานะปุโรหิตนี้

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กๆ เขียนหน้าที่ต่างๆ ของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนออกมาเป็นข้อๆ โดยใช้ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:46, 58–60; 84:111 ขอให้เด็กมองหาตัวอย่างของยอห์นทำหน้าที่เหล่านี้ใน มัทธิว 3 เราทุกคนจะเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์เหมือนที่ยอห์นเชื้อเชิญได้อย่างไร?

  • ให้ดูภาพผู้ดำรงฐานะปุโรหิตปฏิบัติศาสนพิธีบัพติศมาและศีลระลึก (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 103–104, 107–108) สนทนาว่าศาสนพิธีเหล่านี้เตรียมเราให้พร้อมรับพระเยซูคริสต์และพรของการชดใช้ของพระองค์อย่างไร

  • อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1 ด้วยกันและเป็นพยานว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนให้แก่โจเซฟ สมิธ ถามเด็กว่าพวกเขาได้รับพรเพราะฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนได้รับการฟื้นฟูอย่างไร

มัทธิว 3:13–17; มาระโก 1:1–11; ลูกา 3:2–18

ฉันสามารถรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของฉัน

การเรียนรู้เรื่องราวบัพติศมาของพระเยซูเป็นโอกาสดีที่จะช่วยเด็กทบทวนพันธสัญญาบัพติศมาของพวกเขาและให้คำมั่นอีกครั้งว่าจะรักษาพันธสัญญาเหล่านั้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันอ่านข้อต่างๆ จาก มาระโก 1:1–11 สนทนาว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เรารับบัพติศมา? เพราะเหตุใดพระเยซูทรงรับบัพติศมาแม้ว่าไม่จำเป็นที่พระองค์ต้องทรงชำระล้างจากบาป? ช่วยให้เด็กพบคำตอบสำหรับคำถามนี้ใน มัทธิว 3:13–15 และ 2 นีไฟ 31:6–7

  • ทบทวนพันธสัญญาที่เด็กทำเมื่อรับบัพติศมาใน โมไซยาห์ 18:8–10 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 เชื้อเชิญให้เด็กเขียนพระคัมภีร์อ้างอิงเหล่านี้ไว้ในหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้

  • เตรียมบัตรหลายๆ คู่ที่มีวลีหรือภาพคู่กันที่ใช้แทนพันธสัญญาบัพติศมาของเรา วางบัตรคว่ำหน้า ให้เด็กๆ ผลัดกันหงายบัตรทีละสองใบโดยมองหาบัตรที่คู่กัน หลังจากจับคู่ได้แล้ว ให้เด็กบอกวิธีที่พวกเขารักษาพันธสัญญานั้น

  • แบ่งปันว่าการรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของท่านเป็นพรแก่ท่านอย่างไร

มัทธิว 3:11, 16

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถนำทางฉัน

เด็กกำลังเรียนรู้วิธีรับรู้และทำตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการรักษาพันธสัญญาบัพติศมาจะช่วยให้พวกเขามีค่าควรรับการนำทางของพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กแต่ละคนอ่านพระคัมภีร์ข้อหนึ่งจากพระคัมภีร์ต่อไปนี้และอธิบายว่าข้อนั้นสอนวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับเราอย่างไร: ฮีลามัน 5:30; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:23; 8:2–3; 11:12–13

  • ขอให้เด็กคนหนึ่งอ่าน มัทธิว 3:11 พระวิญญาณบริสุทธิ์เปรียบเสมือนไฟอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น ไฟให้ความอบอุ่น และไฟให้แสงสว่างนำทางเรา (ดู ยอห์น 15:26; 2 นีไฟ 32:5)

  • ให้เด็กหลับตาและแบมือ จากนั้นให้นำขนนกหรือเชือกปัดฝ่ามือพวกเขาเบาๆ ให้พวกเขาบอกท่านเมื่อพวกเขารู้สึกถึงสิ่งนั้น กิจกรรมนี้สอนอะไรเกี่ยวกับการรับรู้ความประทับใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์?

  • เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เหตุใดการรักษาพันธสัญญาของเราจึงช่วยให้เราได้รับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์?

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

กระตุ้นให้เด็กแต่ละคนถามพ่อแม่ สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ หรือเพื่อนเกี่ยวกับบัพติศมาของพวกเขา

ปรับปรุงการสอนของเรา

แสวงหาการดลใจของท่านเอง อย่ามองว่าโครงร่างเหล่านี้เป็นคำแนะนำที่ต้องทำตามขณะสอน แต่จงใช้เป็นแนวคิดเพื่อจุดประกายความคิดของท่านเองขณะท่านไตร่ตรองความต้องการของเด็กที่ท่านสอน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 7)