จงตามเรามา
23–29 พฤศจิกายน อีเธอร์ 12–15: “ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์”


“23–29 พฤศจิกายน อีเธอร์ 12–15: ‘ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“23–29 พฤศจิกายน อีเธอร์ 12–15” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
อีเธอร์เข้าไปในถ้ำ

อีเธอร์ซ่อนตัวอยู่ในซอกหิน โดย แกรีย์ เอิร์นเนสต์ สมิธ

23–29 พฤศจิกายน

อีเธอร์ 12–15

“ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์”

ขณะที่ท่านอ่าน อีเธอร์ 12–15 ให้นึกถึงเด็กที่ท่านสอน แนวคิดกิจกรรมในโครงร่างนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านเกิดแนวคิดอื่นที่จะช่วยตอบรับความต้องการของเด็กในชั้น

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ช่วยให้เด็กนึกถึงเรื่องราวพระคัมภีร์เกี่ยวกับผู้คนที่แสดงศรัทธาอย่างมาก บางตัวอย่างอยู่ใน อีเธอร์ 12:11–22

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

อีเธอร์ 12:6–22

ศรัทธาคือการเชื่อในสิ่งที่เรามองไม่เห็น

โมโรไนยกตัวอย่างหลายตัวอย่างของคนที่ทำสิ่งใหญ่โตสำเร็จเพราะศรัทธาของพวกเขา พิจารณาว่าท่านจะใช้ตัวอย่างเหล่านี้สอนเด็กได้อย่างไรว่าศรัทธาคืออะไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่านจาก อีเธอร์ 12:6 ให้เด็กฟังว่า “ศรัทธาคือสิ่งที่หวังไว้และมองไม่เห็น” และขอให้พวกเขาพูดวลีนี้ตามท่าน บอกเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านเชื่อแม้ท่านมองไม่เห็น และช่วยให้พวกเขาคิดตัวอย่างเพิ่ม เพลง “ศรัทธา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 50–51) หรืออีกเพลงหนึ่งเกี่ยวกับศรัทธาจะช่วยได้

  • ให้ดูภาพที่แสดงให้เห็นตัวอย่างของศรัทธาใน อีเธอร์ 12:13–15, 20–21 (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 7885 และหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) ให้เด็กบอกสิ่งที่พวกเขาเห็นในภาพและสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ว่าพวกเขาแสดงศรัทธาอย่างไรและเกิดอะไรขึ้นเพราะศรัทธาของพวกเขา

  • เล่นเกมทายชื่อคนกับเด็กๆ ให้คำใบ้เกี่ยวกับคนที่เปี่ยมด้วยศรัทธาใน อีเธอร์ 12:13–15, 19–20 จนกว่าเด็กจะทายได้ว่าเป็นใคร จากนั้นให้เด็กเล่นเกมอีกครั้งโดยผลัดกันใบ้คำเกี่ยวกับคนเดิม (หรือคนอื่นที่เปี่ยมด้วยศรัทธา) ขณะเด็กที่เหลือทาย แบ่งปันสิ่งที่ท่านชื่นชมเกี่ยวกับศรัทธาของคนเหล่านี้

อีเธอร์ 12:23–27

พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้ฉันเข้มแข็งได้

บางครั้งเด็กพบเจอสถานการณ์ซึ่งพวกเขารู้สึกอ่อนแอเช่นเดียวกับโมโรไน ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งที่โมโรไนเรียนรู้—นั่นคือ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถ “ทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง” (อีเธอร์ 12:27)

กิจกรรมที่ทำได้

  • พูดให้เด็กฟังถึงงานที่ต้องใช้แรงกายมากจึงจะทำสำเร็จ เชื้อเชิญให้พวกเขายกตัวอย่างสิ่งที่พวกเขาไม่แข็งแรงพอจะทำตอนนี้ เราจะแข็งแรงมากพอจะทำงานเหล่านี้ให้สำเร็จได้อย่างไร อธิบายว่าเรามีงานทางวิญญาณให้ทำเช่นกัน แต่บางครั้งเรารู้สึกอ่อนแอทางวิญญาณ โมโรไนรู้สึกแบบนี้กับการเขียนบนแผ่นจารึก อ่าน อีเธอร์ 12:27 ให้เด็กฟัง พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับคนที่รู้สึกอ่อนแอ

  • แบ่งปันประสบการณ์หนึ่งซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านหรือคนรู้จักทำบางอย่างที่ยาก เป็นพยานต่อเด็กว่าถ้าพวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเยซู พระองค์จะทรงช่วยให้พวกเขาเข้มแข็งได้แม้เมื่อพวกเขารู้สึกอ่อนแอ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

อีเธอร์ 12:5–6

ศรัทธาคือการเชื่อในสิ่งที่เรามองไม่เห็น

เด็กที่ท่านสอนกำลังสร้างรากฐานประจักษ์พยานของพวกเขา คำแนะนำของโมโรไนเกี่ยวกับศรัทธาใน อีเธอร์ 12:6 สามารถช่วยพวกเขาได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • อธิบายว่าศาสดาพยากรณ์อีเธอร์พยายามสอน “เรื่องสำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์” แก่ชาวเจเร็ดแต่พวกเขาไม่เชื่อสิ่งที่ท่านพูด เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน อีเธอร์ 12:5 เพื่อหาดูว่าเหตุใดพวกเขาไม่เชื่อ พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราเชื่อเรื่องใดบ้างแม้เรามองไม่เห็น อ่าน อีเธอร์ 12:6 ด้วยกัน โมโรไนสอนอะไรคนที่จะไม่เชื่อความจริงทางวิญญาณเพราะพวกเขามองไม่เห็น

  • ให้เด็กคนหนึ่งดูภาพๆ หนึ่งโดยไม่ให้เด็กคนอื่นเห็น และขอให้เด็กคนนั้นบรรยายภาพให้เด็กที่เหลือฟัง หากเวลาเอื้ออำนวย ให้เด็กคนอื่นๆ ผลัดกันทำแบบเดียวกันกับภาพต่างๆ จากนั้นให้พวกเขาอ่าน อีเธอร์ 12:6 และหาวลี “ศรัทธาคือสิ่งที่หวังไว้และมองไม่เห็น” เราแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไรในเมื่อเรามองไม่เห็นพระองค์

  • ขอให้เด็กอ่านวลีนี้ใน อีเธอร์ 12:6: “ท่านไม่ได้รับพยานจนหลังการทดลองศรัทธาของท่าน” ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติ เราจะรู้ว่าพระบัญญัติเป็นความจริง ขอให้พวกเขานึกถึงหลักธรรมพระกิตติคุณที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เรามีประจักษ์พยาน เช่น การจ่ายส่วนสิบ การรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ หรือการดำเนินชีวิตตามพระคำแห่งปัญญา จากนั้นให้เขียนบนกระดานว่า เพื่อให้มีประจักษ์พยานใน ฉันต้อง แบ่งปันว่าท่านใช้ศรัทธาเพื่อให้มีประจักษ์พยานในความจริงเหล่านี้และอื่นๆ ของพระกิตติคุณอย่างไร

อีเธอร์ 12:4, 32

ความหวังเป็นเหมือนสมอให้จิตวิญญาณเรา

ช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเข้าใจว่าเราสามารถ “หวังได้อย่างแน่แท้เพื่อโลกที่ดีกว่านี้” เพราะศรัทธาของเราในพระคริสต์ (อีเธอร์ 12:4)

กิจกรรมที่ทำได้

  • บอกเด็กๆ เกี่ยวกับนิยามของความหวังใน “หวัง (ความ)” (คู่มือพระคัมภีร์ scriptures.ChurchofJesusChrist.org) ตามนิยามนี้และ อีเธอร์ 12:4, 32 เราควรหวังอะไร (ดู โมโรไน 7:40–42 ด้วย) ช่วยให้เด็กนึกถึงคำอื่นของ ความหวัง พร้อมกับคำที่มีความหมายตรงข้ามกับ ความหวัง แบ่งปันความจริงพระกิตติคุณบางข้อที่ให้ความหวังแก่ท่าน และเชื้อเชิญให้พวกเขาทำแบบเดียวกัน

  • ให้ดูภาพเรือและสมอ (หรือวาดบนกระดาน) เหตุใดเรือต้องมีสมอ อะไรจะเกิดขึ้นกับเรือที่ไม่มีสมอ อ่าน อีเธอร์ 12:4 ด้วยกันและถามเด็กว่าความหวังเหมือนสมออย่างไร เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพเรือและสมอของตนเองเอาไว้ใช้สอนครอบครัวของพวกเขาเกี่ยวกับความหวัง

อีเธอร์ 12:23–29

พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้ฉันเข้มแข็งได้

เมื่อเด็กอายุมากขึ้น พวกเขาจะรู้ความอ่อนแอของตนมากขึ้น ใช้ข้อเหล่านี้สอนพวกเขาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้ “สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง” ได้อย่างไร (อีเธอร์ 12:27)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กอ่าน อีเธอร์ 12:23–25 เพื่อหาดูว่าเหตุใดโมโรไนจึงกังวล ถามว่าพวกเขาเคยรู้สึกคล้ายกันหรือไม่ จากนั้นให้พวกเขาอ่าน ข้อ 26–27 เพื่อหาดูว่าพระเจ้าทรงให้กำลังใจโมโรไนอย่างไร เราต้องทำอะไรเพื่อพระเจ้าจะทรงสามารถช่วยให้เราเข้มแข็งเมื่อเรารู้สึกอ่อนแอ แบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่านเข้มแข็งมากพอจะทำเรื่องยากบางอย่าง

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพบางอย่างที่อ่อนแอและบางอย่างที่เข้มแข็ง จากนั้นให้พวกเขาเติมบางคำและบางวลีจาก อีเธอร์ 12:23–29 เข้าไปในภาพวาดของพวกเขาที่สอนพวกเขาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเราเปลี่ยนความอ่อนแอเป็นความเข้มแข็งได้อย่างไร กระตุ้นให้เด็กนึกถึงความอ่อนแอที่พวกเขาอาจจะมีแล้วขอให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้เป็นความเข้มแข็ง

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กจดความจริงประการหนึ่งที่พวกเขาต้องการมีประจักษ์พยานในความจริงนั้น ช่วยพวกเขาตั้งเป้าหมายว่าจะใช้ศรัทธาเพื่อให้ได้รับพยานถึงความจริงดังกล่าว

ปรับปรุงการสอนของเรา

พยายามเข้าใจเด็กที่ท่านสอน “จงมองหาวิธีที่จะเข้าใจภูมิหลัง ความสนใจ พรสวรรค์ และความต้องการของคนที่ท่านสอน ถามคำถาม ตั้งใจฟัง และสังเกตสิ่งที่ผู้เรียนพูดและทำในสถานการณ์ต่างๆ … ให้ถามความเห็นพ่อแม่ของพวกเขา เหนือสิ่งอื่นใด สวดอ้อนวอนขอความเข้าใจที่พระวิญญาณจะทรงให้ได้เท่านั้น” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด,7)