จงตามเรามา
2–8 พฤศจิกายน มอรมอน 7–9: “ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า”


“2–8 พฤศจิกายน มอรมอน 7–9: ‘ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“2–8 พฤศจิกายน มอรมอน 7–9” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ

โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ โดย เดล คิลบอร์น

2–8 พฤศจิกายน

มอรมอน 7–9

“ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า”

ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 7–9 ให้พิจารณาว่าท่านปรารถนาจะให้เด็กที่ท่านสอนรู้อะไรมากที่สุด วางแผนสอนความจริงที่ท่านรู้สึกว่าจะเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขา

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ส่งพระคัมภีร์มอรมอนเวียนไปรอบๆ เมื่อเด็กคนใดถือพระคัมภีร์ ให้เด็กคนนั้นแบ่งปันหนึ่งอย่างที่ได้เรียนรู้จากพระคัมภีร์เล่มนี้ หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ท่านจะเตือนให้พวกเขานึกถึงสิ่งที่เรียนรู้เมื่อเร็วๆ นี้ในชั้นเรียน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

มอรมอน 7:8–10

พระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ไบเบิลต่างเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

มอรมอนสอนว่าพระคัมภีร์มอรมอนเขียนไว้เพื่อช่วยให้เราเชื่อพระคัมภีร์ไบเบิลและคนที่เชื่อพระคัมภีร์ไบเบิลจะเชื่อพระคัมภีร์มอรมอน

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดู ปกในของพระคัมภีร์มอรมอน และชี้ให้ดูคำต่างๆ ในชื่อขณะที่ท่านอ่าน โดยเน้นคำว่า อีกเล่มหนึ่ง ช่วยให้เด็กนึกถึงพระคัมภีร์เล่มอื่นที่สอนเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แสดงให้พวกเขาเห็นว่าพระคัมภีร์ไบเบิลมีพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ช่วยเด็กพูดคำว่า “พันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่” เมื่อท่านชี้ไปที่พระคัมภีร์ไบเบิลและ “พยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่ง” เมื่อท่านชี้ไปที่พระคัมภีร์มอรมอน

  • ให้ดูแผนที่โลกหรือหน้ากิจกรรมสำหรับโครงร่างนี้พร้อมด้วยพระคัมภีร์ไบเบิลกับพระคัมภีร์มอรมอน ใช้สิ่งเหล่านี้สอนเด็กว่าพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นบันทึกคำสอนของพระเยซูในเยรูซาเล็มและโดยรอบ ส่วนพระคัมภีร์มอรมอนเป็นบันทึกคำสอนของพระองค์ในอเมริกา

  • เลือกหลายๆ เหตุการณ์และความจริงหลายข้อที่ทั้งพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานถึง เช่น การประสูติ การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู ให้ดูภาพจาก หนังสือภาพพระกิตติคุณ ที่บรรยายเหตุการณ์และความจริงเหล่านี้ ขอให้เด็กบรรยายสิ่งที่พวกเขาเห็นในภาพ และบอกพวกเขาว่าทั้งพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนสอนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้

มอรมอน 8:3

ฉันสามารถเลือกความถูกต้องแม้เมื่อฉันรู้สึกโดดเดี่ยว

โมโรไนเป็นชาวนีไฟที่ชอบธรรมคนสุดท้าย แต่ยังคงแน่วแน่ต่อประจักษ์พยานของเขา ช่วยให้เด็กเรียนรู้จากแบบอย่างของเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน มอรมอน 8:3 โดยเน้นว่าโมโรไนอยู่คนเดียว แต่เขายังคงรักษาพระบัญญัติ รวมทั้งพระบัญชาให้เขียนพระคัมภีร์มอรมอนให้จบ เล่าเวลาที่ท่านซื่อสัตย์แม้เมื่อท่านรู้สึกโดดเดี่ยว

  • หลังจากสนทนาตัวอย่างของโมโรไนแล้ว ให้พูดถึงสถานการณ์บางอย่างที่เด็กต้องตัดสินใจว่าจะเลือกทำสิ่งถูกต้องหรือไม่ถึงแม้ไม่มีใครเห็น โมโรไนจะทำอย่างไร

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งกับเด็กเกี่ยวกับการเลือกทำสิ่งถูกต้อง เช่น “ยืนหยัดความถูกต้อง” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 81) เหตุใดการเลือกทำสิ่งถูกต้องตลอดเวลาจึงสำคัญแม้เมื่อท่านอยู่คนเดียว

มอรมอน 9:7–21

พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็น “พระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์”

ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าปาฏิหาริย์มีความสำคัญในงานของพระผู้เป็นเจ้าและพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำปาฏิหาริย์เมื่อผู้คนมีศรัทธา

กิจกรรมที่ทำได้

  • อธิบายว่าปาฏิหาริย์คือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเพื่อแสดงเดชานุภาพของพระองค์และเป็นพรแก่ชีวิตเรา (ดู Bible Dictionary, “Miracles”) อ่านคำและวลีจาก มอรมอน 9:11–13, 17 ที่พูดถึงปาฏิหาริย์บางอย่างของพระผู้เป็นเจ้า ช่วยให้เด็กนึกถึงปาฏิหาริย์อื่นๆ ที่พบในพระคัมภีร์ (ภาพจาก หนังสือภาพพระกิตติคุณ เช่น ภาพที่ 26, 40, 41 และ 83 จะช่วยพวกเขาได้) เป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ในสมัยโบราณและยังทรงทำงานปาฏิหาริย์ในปัจจุบัน

  • แบ่งปันประสบการณ์เมื่อท่านเห็นปาฏิหาริย์ในศาสนจักรปัจจุบันหรือในชีวิตท่านเอง แสดงประจักษ์พยานของท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็น “พระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์” (มอรมอน 9:11)

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

มอรมอน 7:8–10

พระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ไบเบิลต่างเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

มอรมอนสอนว่า “พระกิตติคุณของพระคริสต์ … จะมีไว้ให้เรา” ทั้งในพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอน พิจารณาว่าท่านจะสอนเด็กอย่างไรว่าพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองเล่มนี้สำคัญต่อเรา

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียน มอรมอน 7:9 ไว้บนกระดาน แต่เว้นช่องว่างตรงคำว่า นี้ และ นั้น เขียนบนกระดานด้วยว่า นี้ = พระคัมภีร์มอรมอน และ นั้น = พระคัมภีร์ไบเบิล เชื้อเชิญให้เด็กอ่านออกเสียง มอรมอน 7:9 และใช้วลีต่างๆ บนกระดานเติมช่องว่าง เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนจากข้อนี้

  • ให้ดูพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ไบเบิล เล่าสองสามเรื่องจากพระคัมภีร์แต่ละเล่ม ให้ดูภาพด้วยถ้ามี (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ) ให้เด็กชี้พระคัมภีร์ที่มีเรื่องนั้น เหตุใดเราจึงต้องมีพระคัมภีร์ทั้งสองเล่ม

  • เขียนหลักแห่งความเชื่อข้อแปดลงในกระดาษคำละแผ่น แจกให้เด็กคนละคำสองคำ และให้พวกเขาช่วยกันเรียงคำให้ถูกต้อง จากนั้นขอให้พวกเขาพูดทวนหลักแห่งความเชื่อข้อนี้หลายๆ ครั้ง หลักแห่งความเชื่อข้อนี้สอนอะไรเรา

    ภาพ
    พระคัมภีร์มอรมอนในภาษาต่างๆ

    พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

มอรมอน 8:1–7

ฉันสามารถเลือกความถูกต้องแม้เมื่อฉันรู้สึกโดดเดี่ยว

ความตั้งใจของโมโรไนว่าจะ “ดำเนินตามคำสั่งของบิดา [ของเขา]” ถึงแม้บิดาสิ้นชีวิตแล้ว แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน มอรมอน 8:1–7 กับเด็กและเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าพวกเขาเป็นโมโรไน ขอให้พวกเขาดู ข้อ 1, 3 และ 4 อีกครั้งเพื่อหาสิ่งที่โมโรไนได้รับบัญชาให้ทำ โมโรไน “ดำเนินตามคำสั่งของบิดา [ของเขา]” อย่างไร เราจะเป็นเหมือนโมโรไนมากขึ้นได้อย่างไร

  • เชื้อเชิญให้เด็กเขียนคนละหนึ่งสถานการณ์ซึ่งพวกเขาต้องทำการเลือกระหว่างถูกหรือผิดเมื่อไม่มีใครเห็น ใส่แนวคิดของพวกเขาไว้ในภาชนะแล้วให้ผลัดกันเลือกคนละหนึ่งสถานการณ์และแบ่งปันว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อเป็นเหมือนโมโรไน

มอรมอน 8:24–26; 9:7–26

พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็น “พระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์”

มีคนมากมายในทุกวันนี้ที่ไม่เชื่อว่าปาฏิหาริย์ยังคงเกิดขึ้น ใช้คำสอนของโมโรไนในข้อเหล่านี้สอนเด็กว่าเมื่อเรามีศรัทธา เราจะได้เห็นพระผู้เป็นเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ในชีวิตเรา

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดูตำราอาหาร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าท่านไม่ใส่ส่วนผสมที่จำเป็น เชื้อเชิญให้เด็กค้นคว้า มอรมอน 8:24 และ 9:20–21 เพื่อหา “ส่วนผสม” จำเป็นที่เราต้องมีก่อนพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำปาฏิหาริย์ ยกตัวอย่างของปาฏิหาริย์ต่างๆ—ใหญ่หรือเล็ก—ที่ท่านเคยเห็นในศาสนจักรหรือในชีวิตท่าน เชื้อเชิญให้เด็กยกตัวอย่างของพวกเขาเอง

  • แบ่งเด็กออกเป็นสองทีม ให้แต่ละทีมหาตัวอย่างของปาฏิหาริย์ในพระคัมภีร์เหล่านี้บางข้อหรือทั้งหมด: มอรมอน 8:24; 9:11–13, 16–18, 21–25 เราจะพูดอะไรกับคนที่คิดว่าปาฏิหาริย์ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว (ดู มอรมอน 9:9, 15–21)

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กขอให้สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวพูดถึงปาฏิหาริย์ที่เสริมสร้างประจักษ์พยานของเขา

ปรับปรุงการสอนของเรา

เด็กสามารถรับรู้อิทธิพลของพระวิญญาณ สอนเด็กว่าความรู้สึกสงบ ความรัก และความอบอุ่นที่พวกเขามีเมื่อพวกเขาพูดหรือร้องเพลงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 11)