จงตามเรามา
26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน มอรมอน 1–6: “ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ”


“26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน มอรมอน 1–6: ‘ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน มอรมอน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
มอรมอนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ

มอรมอนย่อแผ่นจารึก โดย ทอม โลเวลล์

26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน

มอรมอน 1–6

“ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ”

เหตุการณ์ที่บรรยายไว้ใน มอรมอน 1–6 อาจจะเข้าใจยากสำหรับเด็ก แต่พวกเขายังคงสามารถเรียนบทเรียนจากเรื่องราวการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมของมอรมอนในโลกที่ชั่วร้าย ท่านจะใช้ประสบการณ์ของเขาสอนเด็กให้รู้วิธีซื่อสัตย์แน่วแน่ต่อพระกิตติคุณได้อย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เด็กรู้อะไรเกี่ยวกับมอรมอน เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่รู้หรือเรียนรู้กับครอบครัว การให้ดูภาพมอรมอนเหมือนภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว จะช่วยพวกเขาได้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

มอรมอน 1:1–3

ฉันสามารถเป็นคนชอบธรรมเหมือนมอรมอน

แม้เด็กที่ท่านสอนจะอายุยังน้อย แต่พวกเขาสามารถพัฒนาคุณสมบัติทางวิญญาณและดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน มอรมอน 1:1–3 ให้เด็กฟัง หรือใช้ “บทที่ 49: มอรมอนและคำสอนของท่าน” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 138–142 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ ChurchofJesusChrist.org) เชื้อเชิญให้พวกเขาฟังว่ามอรมอนอายุเท่าไรเมื่อแอมารอนให้ทำพันธกิจพิเศษ จากนั้นขอให้พวกเขาชูนิ้วเท่าอายุนั้น เพื่อช่วยให้เด็กเห็นภาพมอรมอนเมื่ออายุยังน้อย ให้พวกเขาดูภาพเด็กอายุ 10 ขวบ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจคุณสมบัติที่แอมารอนเห็นในมอรมอนเมื่อเขาอายุยังน้อย และเป็นพยานว่าเด็กๆ สามารถเป็นเหมือนมอรมอนได้เมื่อพวกเขาทำตามพระเยซูคริสต์

  • เล่นเกมซึ่งเด็กทำท่าง่ายๆ ซ้ำๆ ตามที่ท่านทำ จากนั้นให้ดูภาพสิ่งที่พระเยซูทรงทำ และพูดคุยกันว่าเราจะทำตามพระองค์ได้อย่างไร (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 33–35, 41–42) สนทนาด้านต่างๆ ที่มอรมอนทำตามพระเยซูคริสต์—ตัวอย่างเช่น การสอนพระกิตติคุณ กระตุ้นให้ผู้คนเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าและรักผู้อื่น

มอรมอน 3:3, 9

พระบิดาบนสวรรค์ประทานพรมากมายแก่ฉัน

คำสอนของมอรมอนจะช่วยให้เด็กรับรู้พรที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่พวกเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน มอรมอน 3:3 และ 9 ให้เด็กฟัง และอธิบายว่าชาวนีไฟไม่รับรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ประทานพรแก่พวกเขา ช่วยให้เด็กนึกถึงพรที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่พวกเขา ให้ดูภาพหรือสิ่งของเพื่อให้แนวคิดแก่พวกเขา วันนี้เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงว่าเราขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับพรของเรา

  • ช่วยให้เด็กนึกถึงพรที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่พวกเขา และขอให้พวกเขาวาดภาพพรบางอย่างเหล่านั้น เชื้อเชิญให้พวกเขาแขวนภาพไว้ที่บ้านตรงที่มองเห็นได้และจดจำว่าพระบิดาบนสวรรค์ประทานพรพวกเขาในหลายๆ ด้าน ท่านจะให้พวกเขาระบุพรที่มาจากพระบิดาบนสวรรค์ด้วยขณะพวกเขาร้องท่อนแรกของเพลง “พระบิดาที่รัก ข้าพระองค์ขอบพระทัย” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 9)

มอรมอน 3:12

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันรักทุกคน

ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนมีความปรารถนาจะรักคนรอบข้างได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กแต่ละคนวาดภาพคนๆ หนึ่งไว้บนกระดาน และอธิบายว่าแต่ละคนที่พวกเขาวาดดูต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร วาดภาพหัวใจขนาดใหญ่ล้อมภาพวาดทั้งหมด ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เรารักทุกคน อ่าน มอรมอน 3:12 โดยเน้นคำว่า “รัก” มอรมอนทำอะไรเพื่อแสดงความรักต่อผู้อื่น

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับการรักผู้อื่น เช่น “พระเยซูตรัสจงรักทุกคน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 39) ขณะให้ดูภาพเด็กๆ จากทั่วโลก เป็นพยานถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ ทำหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้กับเด็กๆ ให้ครบถ้วน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

มอรมอน 1:1–3; 2:1, 23–24; 3:1–3, 12, 17–22

ฉันสามารถเป็นคนชอบธรรมเหมือนมอรมอน

มอรมอนอายุน้อยมากเมื่อแอมารอนรับรู้ว่าเขามีความรับผิดชอบมากพอจะดูแลบันทึกศักดิ์สิทธิ์ได้ ท่านเห็นคุณสมบัติอันชอบธรรมอะไรบ้างในเด็กที่ท่านสอน

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่านข้อต่อไปนี้คนละข้อและช่วยให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับมอรมอน: มอรมอน 1:1–3; 2:1, 23–24; และ 3:1–3, 12, 20–22 จากนั้นให้บอกคุณสมบัติอันชอบธรรมที่ท่านเห็นในเด็กแต่ละคน

  • ให้ดูภาพมอรมอน (ดูภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ช่วยให้เด็กเห็นว่าเพราะมอรมอนมีความรับผิดชอบและไว้ใจได้มากพอจะเก็บรักษาบันทึกชาวนีไฟ ทุกวันนี้เราจึงมีพระคัมภีร์มอรมอน พูดคุยกับเด็กว่าการเป็นคนรับผิดชอบและไว้ใจได้หมายความว่าอย่างไร เชื้อเชิญให้พวกเขาไตร่ตรองวิธีที่เราจะเป็นคนมีความรับผิดชอบมากขึ้น

    ภาพ
    มอรมอนเมื่อยังเด็ก

    มอรมอน อายุ 10 ขวบ โดย สก็อตต์ เอ็ม. สโนว์

มอรมอน 2:8–15; 5:10–11

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ

มอรมอนเห็นว่าชาวนีไฟที่ชั่วร้ายเสียใจ แต่ความเสียใจของพวกเขาไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขากลับใจ (ดู มอรมอน 2:13) ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจความแตกต่างระหว่างความเสียใจตามความประสงค์ของโลกกับความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนหัวข้อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ความเสียใจที่นำไปสู่การกลับใจ และ ความเสียใจที่ไม่นำไปสู่การกลับใจ เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันอ่านข้อต่างๆ จาก มอรมอน 2:8, 10–15 ช่วยพวกเขาเขียนสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับความเสียใจใต้หัวข้อที่เหมาะสมบนกระดาน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความเสียใจที่เรารู้สึกต่อบาปของเรานำเราให้เปลี่ยนแปลง

  • เชิญสมาชิกท่านหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือบิดาหรือมารดาของเด็กคนหนึ่งมาแบ่งปันกับชั้นเรียนว่าความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าสามารถช่วยให้เราเปลี่ยนเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรับรู้ว่าเรารู้สึกเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าหรือตามความประสงค์ของโลก ให้เด็กค้นคว้า มอรมอน 2:12 เพื่อหาเหตุผลว่าเหตุใดการกลับใจจึงควรทำให้ “ใจ [เรา] … ชื่นชมยินดี” (มอรมอน 2:12)

มอรมอน 3:12

ฉันสามารถรู้สึกถึงความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อผู้อื่น

รักคนที่รักเราและเป็นเหมือนเรามักจะทำได้ไม่ยาก แต่มอรมอนแสดงให้เห็นว่าด้วยความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ เราสามารถรักคนที่เชื่อและทำต่างจากเราได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยให้เด็กคนหนึ่งอ่าน มอรมอน 3:12 และเชื้อเชิญให้เด็กเขียนหนึ่งประโยคเพื่อสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากมอรมอนเกี่ยวกับการรักผู้อื่น ให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่เขียนไว้ เราจะรู้สึกถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อผู้อื่นได้อย่างไร (ดู โมโรไน 7:48) เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงความรักต่อคนในชั้นเรียนของเราและในครอบครัวเรา

  • เชื้อเชิญให้เด็กทำหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ให้ครบถ้วน ช่วยให้พวกเขานึกถึงวิธีหยิบยื่นความรักให้คนที่อาจจะต่างจากเรา

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

กระตุ้นให้เด็กติดหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ไว้สักแห่งในบ้านเพื่อเตือนให้พวกเขาแสดงความรักต่อผู้อื่น เปิดโอกาสให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่ทำในชั้นเรียนคราวหน้า

ปรับปรุงการสอนของเรา

ปรับกิจกรรมให้เหมาะกับอายุของเด็กที่ท่านสอน เด็กเล็กต้องการคำอธิบายอย่างละเอียดและเรียนรู้จากวิธีสอนที่หลากหลาย เมื่อเด็กเติบโตขึ้น พวกเขาจะมีส่วนมากขึ้นและอาจจะแบ่งปันความคิดของพวกเขาได้เก่งขึ้น เปิดโอกาสตามอายุให้เด็กทุกคนแบ่งปัน เป็นพยาน มีส่วนร่วม และให้ความช่วยเหลือตามต้องการ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)