จงตามเรามา
30 พฤศจิกายน–6 ธันวาคม โมโรไน 1–6: “เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง”


“30 พฤศจิกายน–6 ธันวาคม โมโรไน 1–6: ‘เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“30 พฤศจิกายน–6 ธันวาคม โมโรไน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020

ภาพ
แอลมาให้บัพติศมาผู้คนในผืนน้ำแห่งมอรมอน

มิเนอร์วา ไทเชิร์ต (1888–1976) แอลมาให้บัพติศมาในผืนน้ำแห่งมอรมอน 1949–1951 สีน้ำมันบนแผ่นไม้เนื้อแข็ง ขนาด 35⅞ x 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ 1969

30 พฤศจิกายน–6 ธันวาคม

โมโรไน 1–6

“เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง”

โมโรไนบันทึกสิ่งที่เขาหวังว่าจะ “มีคุณค่า … สักวันหนึ่งในอนาคต” (โมโรไน 1:4) ท่านพบอะไรใน โมโรไน 1–6 ที่มีคุณค่าต่อท่าน บันทึกสิ่งที่ท่านค้นพบและแบ่งปันกับคนบางคนที่อาจคิดว่าสิ่งนี้มีคุณค่าเช่นกัน

บันทึกความประทับใจของท่าน

หลังจากจบบันทึกของชาวนีไฟและย่อบันทึกของชาวเจเร็ดจบแล้ว ตอนแรกโมโรไนคิดว่างานบันทึกของเขาเสร็จเรียบร้อยแล้ว (ดู โมโรไน 1:1) มีอะไรต้องพูดอีกบ้างเกี่ยวกับสองประชาชาติที่ถูกทำลายสิ้น แต่โมโรไนเห็นเวลาของเรา (ดู มอรมอน 8:35) และเขาได้รับการดลใจให้ “เขียนเพิ่มอีกเล็กน้อย, เพื่อว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะมีคุณค่า … สักวันหนึ่งในอนาคต” (โมโรไน 1:4) เขารู้ว่าการละทิ้งความเชื่อกำลังแพร่ไปทั่ว ทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและศาสนา นี่อาจเป็นสาเหตุที่เขาให้รายละเอียดเกี่ยวกับศีลระลึก บัพติศมา การมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และพรของการรวมกับผู้เชื่อเพื่อ “ให้ [กันและกัน] อยู่ในทางที่ถูกต้อง … โดยวางใจแต่ในคุณความดีของพระคริสต์, ซึ่งเป็นพระผู้ทรงลิขิตและพระผู้ทรงประสิทธิ์ศรัทธาของ [พวกเรา]” (โมโรไน 6:4) ข้อคิดที่มีค่าเหล่านี้ทำให้เรามีเหตุผลให้ขอบพระทัยที่พระเจ้าทรงปกปักรักษาชีวิตของโมโรไนเพื่อท่านจะได้ “เขียนเพิ่มอีกเล็กน้อย” (โมโรไน 1:4)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

โมโรไน 1

สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ยังคงซื่อสัตย์แม้มีการต่อต้าน

สำหรับบางคนการเป็นคนซื่อสัตย์ในยามสะดวกสบายย่อมง่ายกว่า แต่ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราต้องซื่อสัตย์เสมอแม้เมื่อเราประสบการทดลองและการต่อต้าน ขณะที่ท่านอ่าน โมโรไน 1 อะไรดลใจท่านเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของโมโรไนต่อพระเจ้าและการเรียกของเขา ท่านจะทำตามแบบอย่างของเขาได้อย่างไร

โมโรไน 2–6

ต้องประกอบศาสนพิธีฐานะปุโรหิตตามที่พระเจ้าทรงบัญชา

ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นมรรตัย พระองค์ทรงได้รับและประกอบศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ เช่น บัพติศมา (ดู มัทธิว 3:13–17; Joseph Smith Translation, John 4:1–3 [ใน Bible appendix]), การวางมือแต่งตั้งฐานะปุโรหิต (ดู มาระโก 3:13–19) และศีลระลึก (ดู มัทธิว 26:26–28) อย่างไรก็ดี เพราะการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ คนมากมายในปัจจุบันจึงสับสนว่าต้องประกอบศาสนพิธีอย่างไร—และจำเป็นต้องได้รับศาสนพิธีเหล่านั้นหรือไม่ ใน โมโรไน 2–6 โมโรไนให้รายละเอียดสำคัญๆ เกี่ยวกับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตบางอย่างที่สามารถช่วยขจัดความสับสนเหล่านั้น ท่านเกิดความประทับใจอะไรบ้างขณะเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนพิธีในบทเหล่านี้ ต่อไปนี้เป็นคำถามบางข้อที่ท่านอาจจะถามเพื่อช่วยให้ท่านเรียนรู้:

การยืนยัน (โมโรไน 2; 6:4)พระดำรัสแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดใน โมโรไน 2:2 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับศาสนพิธีการยืนยัน ท่านคิดว่า “อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระทำและชำระ” แล้วหมายความว่าอย่างไร (โมโรไน 6:4)

การวางมือแต่งตั้งฐานะปุโรหิต (โมโรไน 3)ท่านพบอะไรในบทนี้ที่จะช่วยให้คนบางคนเตรียมรับการวางมือแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิต ท่านพบอะไรที่จะช่วยคนบางคนประกอบศาสนพิธี

ศีลระลึก (โมโรไน 4–5; 6:6)สังเกตคำสัญญาในคำสวดอ้อนวอนศีลระลึก (ดู โมโรไน 4:3; 5:2) และไตร่ตรองว่าท่านกำลังทำอะไรเพื่อรักษาสัญญาของท่าน เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้อิทธิพลของพระวิญญาณแรงกล้ามากขึ้นขณะที่เรามีส่วนร่วมในศีลระลึก

บัพติศมา (โมโรไน 6:1–3)ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีคุณสมบัติสำหรับบัพติศมาตรงตามที่ให้ไว้ในข้อเหล่านี้อย่างต่อเนื่องแม้หลังจากท่านรับบัพติศมาแล้ว ข้อเหล่านี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับความหมายของการเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์

จากที่ท่านเรียนรู้ ท่านจะเปลี่ยนวิธีที่ท่านคิด มีส่วนร่วม หรือเตรียมผู้อื่นให้พร้อมรับศาสนพิธีเหล่านี้อย่างไร เหตุใดจึงสำคัญที่ต้อง “ปฏิบัติ [ศาสนพิธีเหล่านี้] ตามพระบัญญัติของพระคริสต์”(โมโรไน 4:1)

ดู “Ordinances,” Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org ด้วย

ภาพ
เยาวชนหญิงกำลังรับพร

พระเยซูทรงสอนว่าควรประกอบศาสนพิธีอย่างไร

โมโรไน 6:4–9

สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ดูแลความผาสุกของจิตวิญญาณในกันและกัน

แม้จะเป็นความจริงที่ว่าเราทุกคน “ทำให้ความรอดเกิดขึ้นสำหรับ [ตัวเรา] เอง” (มอรมอน 9:27) แต่โมโรไนสอนด้วยว่าการ “ประชุมกันบ่อย” กับเพื่อนผู้เชื่อจะช่วยให้เราอยู่ “ในทางที่ถูกต้อง” (โมโรไน 6:4–5) ขณะที่ท่านอ่าน โมโรไน 6:4–9 ให้ไตร่ตรองพรที่มาจากการ “นับ [พวกเรา] อยู่ในบรรดาผู้คนของศาสนจักรของพระคริสต์” (โมโรไน 6:4) ท่านจะช่วยทำให้ประสบการณ์ที่ท่านและผู้อื่นมีที่โบสถ์เหมือนประสบการณ์ที่โมโรไนบรรยายได้อย่างไร ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้นำหรือผู้เข้าร่วมก็ตาม

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

โมโรไน 1; โมโรไน 6:3

“ปฏิเสธพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร (โมโรไน 1:2–3) เราจะแสดง “ความตั้งใจที่จะรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่” ได้อย่างไร (โมโรไน 6:3) ยกตัวอย่างคนรู้จักที่มีความตั้งใจจะรับใช้พระองค์

โมโรไน 4:3; โมโรไน 5:2

การอ่านคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกเป็นครอบครัวจะนำไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับการปฏิบัติศีลระลึกด้วยความคารวะมากขึ้น สมาชิกชั้นเรียนอาจจะสนทนาวลีต่างๆ จากคำสวดอ้อนวอนเหล่านี้ที่มีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษ พวกเขาจะบันทึกความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับวลีเหล่านี้ด้วยหรือวาดภาพที่ช่วยให้พวกเขาคิดถึงพระผู้ช่วยให้รอด พวกเขาจะนำสิ่งที่พวกเขาเขียนหรือวาดมาการประชุมศีลระลึกเพื่อช่วยให้พวกเขาจดจ่อความคิดอยู่กับพระองค์ บอกครอบครัวท่านว่าท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับศีลระลึกและการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด

โมโรไน 6:1–4

“มีใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” หมายความว่าอย่างไร (โมโรไน 6:2) สิ่งนี้ช่วยเราเตรียมรับบัพติศมาอย่างไร จะช่วยเราหลังจากเรารับบัพติศมาได้อย่างไร

โมโรไน 6:4–9

ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พรใดบ้างที่มาจากการ “นับ [พวกเรา] อยู่ในบรรดาผู้คนของศาสนจักรของพระคริสต์” (โมโรไน 6:4) เหตุใดเราจึงต้องมีศาสนจักร

โมโรไน 6:8

ข้อนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการกลับใจ แสวงหาการให้อภัยด้วย “เจตนาแท้จริง” หมายความว่าอย่างไร (โมโรไน 6:8) ท่านอาจจะร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับการให้อภัย เช่น “พระบิดาโปรดช่วยฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 52)

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

หาหลักฐานยืนยันความรักของพระผู้เป็นเจ้า ประธานเอ็ม.รัสเซลล์ บัลลาร์ดสอนว่า “พระกิตติคุณเป็นพระกิตติคุณแห่งความรัก—รักพระผู้เป็นเจ้าและรักกัน” (“God’s Love for His Children,” Ensign, May 1988, 59) ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์ ท่านอาจจะบันทึกหรือทำเครื่องหมายหลักฐานยืนยันความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อท่านและบุตรธิดาทุกคนของพระองค์

ภาพ
โมโรไนซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ

โมโรไนในถ้ำ โดย จอร์จ ค็อคโค