จงตามเรามา
23–29 พฤศจิกายน อีเธอร์ 12–15: “ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์”


“23–29 พฤศจิกายน อีเธอร์ 12–15: ‘ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“23–29 พฤศจิกายน อีเธอร์ 12–15” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020

ภาพ
อีเธอร์เข้าไปในถ้ำ

อีเธอร์ซ่อนตัวอยู่ในซอกหิน โดย แกรีย์ เออร์เนสต์ สมิธ

23–29 พฤศจิกายน

อีเธอร์ 12–15

“ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์”

การบันทึกความประทับใจจะทำให้ได้รับการเปิดเผยเพิ่มขึ้นและเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่าน อีกทั้งช่วยให้ท่านจดจำความประทับใจเหล่านั้นและแบ่งปันกับผู้อื่นในอนาคตด้วย

บันทึกความประทับใจของท่าน

คำพยากรณ์ของอีเธอร์ต่อชาวเจเร็ด “สำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์” (อีเธอร์ 12:5) ท่าน “บอกคนเหล่านั้นโดยแท้ถึงเรื่องทั้งปวง, นับจากกาลเริ่มต้นของมนุษย์” (อีเธอร์ 13:2) ท่านเห็น “วันเวลาของพระคริสต์” และเยรูซาเล็มใหม่ในยุคสุดท้ายล่วงหน้า (อีเธอร์ 13:4) และท่านพูดถึงความ “หวังได้อย่างแน่แท้เพื่อโลกที่ดีกว่านี้, แท้จริงแล้ว, แม้มีที่ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้า” (อีเธอร์ 12:4) แต่ชาวเจเร็ดปฏิเสธถ้อยคำของท่านเพราะเหตุผลเดียวกันกับที่ผู้คนมักปฏิเสธคำพยากรณ์ของผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าในปัจจุบัน—นั่นคือ “เพราะพวกเขาหาเห็นมันไม่” (อีเธอร์ 12:5) ต้องใช้ศรัทธาเพื่อเชื่อในคำสัญญาหรือคำเตือนเกี่ยวกับสิ่งที่เรามองไม่เห็น เฉกเช่นอีเธอร์ต้องใช้ศรัทธาเพื่อพยากรณ์ถึง “เรื่องสำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์” ต่อคนที่ไม่เชื่อ โมโรไนต้องใช้ศรัทธาเพื่อวางใจว่าพระเจ้าจะทรงเปลี่ยน “ความอ่อนแอในการเขียน” ของเขาให้เป็นความเข้มแข็ง (ดู อีเธอร์ 12:23–27) ศรัทธาเช่นนี้ทำให้เรา “มั่นคงและแน่วแน่, ทำงานดีมากมายอยู่เสมอ, อันจะนำไปสู่การสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า” (อีเธอร์ 12:4) และศรัทธาเช่นนี้ทำให้ “ทุกสิ่งสมบูรณ์” (อีเธอร์ 12:3)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

อีเธอร์ 12

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์จะทำให้เกิดปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่

คนมากมายในปัจจุบันเหมือนชาวเจเร็ดในสมัยของอีเธอร์คือต้องการเห็นหลักฐานก่อนจึงจะเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและเดชานุภาพของพระองค์ อย่างไรก็ดี โมโรไนสอนว่า “ศรัทธาคือสิ่งที่หวังไว้และมองไม่เห็น” และท่าน “ไม่ได้รับพยานจนหลังการทดลองศรัทธาของท่าน” (อีเธอร์ 12:6)

จงสังเกตทุกครั้งที่ท่านพบคำว่า “ศรัทธา” ใน อีเธอร์ 12 และบันทึกสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับศรัทธา มองหาคำตอบของคำถามทำนองนี้: ศรัทธาคืออะไร อะไรคือผลของชีวิตที่เปี่ยมด้วยศรัทธา ท่านจะบันทึกความคิดของท่านเกี่ยวกับพยานที่ท่านได้รับ “หลังการทดลองศรัทธาของท่าน” ด้วย (อีเธอร์ 12:6)

ดู ฮีบรู 11; แอลมา 32 ด้วย

อีเธอร์ 12:1–9, 28, 32

พระเยซูคริสต์ประทาน “ความหวังอันประเสริฐยิ่งกว่า” แก่เรา

นอกจากข้อคิดอันลึกซึ้งเกี่ยวกับศรัทธาแล้ว อีเธอร์ 12 ยังกล่าวไว้มากเช่นกันเกี่ยวกับความหวัง—ท่านอาจจะทำหมายเหตุทุกครั้งที่คำว่า “ความหวัง” ปรากฏ ความหวังมีความหมายต่อท่านอย่างไร อะไรคือเหตุผลที่อีเธอร์ต้อง “[หวัง] โลกที่ดีกว่า” (ดู อีเธอร์ 12:2–5) พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ “ความหวังอันประเสริฐยิ่งกว่า” อย่างไร (อีเธอร์ 12:32)

ไปที่ GiveThanks.ChurchofJesusChrist.org เพื่อฟังข่าวสารจากประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเกี่ยวกับวิธีพบสันติสุขและการเยียวยา—ไม่ว่าสภาวการณ์ของท่านจะเป็นอย่างไร

ดู โมโรไน 7:40–41; ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 21–24; สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 127 ด้วย

อีเธอร์ 12:23–29

พระเยซูคริสต์ทรงทำให้สิ่งที่อ่อนแอเข้มแข็ง

เมื่อเราอ่านงานเขียนอันเปี่ยมด้วยพลังของโมโรไน เรามักจะลืมว่าเขากังวลเกี่ยวกับ “ความอ่อนแอในการเขียน” ของตนและกลัวว่าผู้คนจะล้อเลียนถ้อยคำของเขา (ดู อีเธอร์ 12:23–25) แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรง “ทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง” สำหรับคนนอบน้อมถ่อมตน (ข้อ 27) และพลังทางวิญญาณในงานเขียนของโมโรไนเป็นหลักฐานยืนยันว่าพระเจ้าทรงทำให้สัญญานี้เกิดสัมฤทธิผล

หลังจากอ่าน อีเธอร์ 12:23–29 แล้ว ให้ไตร่ตรองเวลาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้ท่านรับรู้ความอ่อนแอของตนและทำให้ท่านเข้มแข็งแม้มีความอ่อนแอ อาจเป็นเวลาเหมาะจะนึกถึงความอ่อนแอที่ท่านกำลังเอาชนะอยู่ในปัจจุบัน ท่านรู้สึกว่าต้องทำอะไรจึงจะนอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระเจ้าและแสดงศรัทธาในพระองค์เพื่อให้ได้รับสัญญาของพระองค์ที่ว่า “จะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง” (อีเธอร์ 12:27)

ขณะท่านไตร่ตรองข้อเหล่านี้ ข้อคิดต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์อาจเป็นประโยชน์ “เมื่อเราอ่านเรื่อง ‘ความอ่อนแอ’ ของมนุษย์ในพระคัมภีร์ คำนี้รวมถึง … ความอ่อนแอที่อยู่ในสภาพมนุษย์ทั่วไปซึ่งเนื้อหนังมีผลกระทบต่อเนื่องต่อวิญญาณ (ดู อีเธอร์ 12:28–29) แต่ความอ่อนแอรวมถึงความอ่อนแอเฉพาะบุคคลด้วย ซึ่งคาดหวังให้เราเอาชนะ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:3; เจคอบ 4:7)” (Lord, Increase Our Faith [1994], 84)

ดู “Grace,” Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org ด้วย

อีเธอร์ 13:13–22; 14–15

การไม่ยอมรับศาสดาพยากรณ์ก่อให้เกิดอันตรายทางวิญญาณ

ประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าการเป็นกษัตริย์ของชาวเจเร็ดเป็นตำแหน่งที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโคริแอนทะเมอร์ เมื่อ “ผู้ทรงอำนาจ [มากมาย] … หมายมั่นจะทำลาย [เขา]” (อีเธอร์ 13:15–16) ใน อีเธอร์ 13:15–22 ให้สังเกตว่าโคริแอนทะเมอร์ทำอะไรเพื่อป้องกันตนเองและศาสดาพยากรณ์อีเธอร์แนะนำให้เขาทำอะไรแทน ขณะที่ท่านอ่านส่วนที่เหลือในหนังสือของอีเธอร์ ให้ไตร่ตรองผลของการไม่ยอมรับศาสดาพยากรณ์ เกิดอะไรขึ้นกับผู้คนเมื่อ “พระวิญญาณของพระเจ้าทรงละความเพียรกับพวกเขา”(อีเธอร์ 15:19)

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

อีเธอร์ 12:7–22

ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ด้วยกัน ท่านอาจจะทบทวนตัวอย่างศรัทธาที่สร้างแรงบันดาลใจที่ท่านเคยอ่านในพระคัมภีร์มอรมอน สิ่งนี้จะนำไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับตัวอย่างศรัทธาในประวัติครอบครัวของท่านหรือชีวิตท่านเอง—ท่านอาจจะบันทึกตัวอย่างเหล่านี้ถ้าท่านยังไม่ได้บันทึก

อีเธอร์ 12:27

เหตุใดพระเจ้าจึงประทานความอ่อนแอแก่เรา ส่วนของเราคืออะไรในการทำให้ “สิ่งอ่อนแอกลับเข้มแข็ง” ส่วนของพระผู้ช่วยให้รอดคืออะไร

อีเธอร์ 12:41

มีวิธีสนุกๆ ที่ท่านจะสอนบุตรธิดาของท่านให้ “แสวงหาพระเยซู” หรือไม่ วิธีหนึ่งคือซ่อนภาพพระเยซูและเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัว “แสวงหา” ภาพนั้นให้พบ เราแสวงหาพระเยซูอย่างไร และเราได้รับพรอย่างไรเมื่อเราพบพระองค์

อีเธอร์ 13:13–14; 15:19, 33–34

สมาชิกครอบครัวท่านอาจจะสนใจเปรียบเทียบประสบการณ์ของอีเธอร์กับประสบการณ์ของมอรมอนและโมโรไน (ดู มอรมอน 6; 8:1–10) ประสบการณ์ของพวกเขาคล้ายกันอย่างไร เส้นทางสู่ความพินาศของชาวนีไฟคล้ายกับเส้นทางของชาวเจเร็ดอย่างไร (เปรียบเทียบ อีเธอร์ 15:19 กับ โมโรไน 8:28) เราเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างที่สามารถช่วยเราหลีกเลี่ยงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

กระตุ้นให้ถามคำถาม เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ บางครั้งท่านอาจจะเห็นว่าคำถามของพวกเขาทำให้หันเหไปจากสิ่งที่ท่านกำลังพยายามสอน แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านควรมองเห็นว่าคำถามเป็นโอกาส คำถามเป็นตัวบ่งชี้ว่าเด็กพร้อมจะเรียนรู้—ให้ท่านเข้าใจข้อกังวลของเด็กและรู้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)

ภาพ
อีเธอร์คุกเข่าที่ปากถ้ำ

คำพยากรณ์ของอีเธอร์น่าอัศจรรย์ โดย วอลเตอร์ เรน